โดย
วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2560
ขอเริ่มต้นด้วยคำว่า ค่าผันแปรของชีพจร (heart rate variability) ปัจจุบัน วิทยาศาสตร์สุขภาพมีวิธีตรวจวัดค่าการผันแปรชีพจรออกมา และบอกว่าหากชีพจรมีการผันแปร นับเป็นเรื่องดีกับสุขภาพ คนที่ไม่ค่อยมีการผันแปรหรือค่าผันแปรต่ำกลับกลายเป็นคนที่จะมีปัญหาสุขภาพ
ผมจะไม่ลงรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวว่าคืออะไร วัดอย่างไร ถ้าสนใจให้ไปหาค้นคว้าศึกษาเอาเอง แต่ผมจะกล่าวถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่ทำให้ผมสนใจเรื่องนี้
ค่าผันแปรชีพจรที่ดี แสดงถึง หนึ่ง สุขภาพทางกายที่ดี มีประสิทธิภาพ สอง อารมณ์ดี มีความผาสุก สาม ประสิทธิภาพการทำงานของสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองส่วนหน้า (executive brain) อันหมายถึงเจตจำนง ความสามารถที่จะวางแผนและกระทำการตามแผนได้ สี่ การมีชีวิตที่ยืนยาว ห้า ความสามารถในการปรับตัวกับความเครียดและการฟื้นคืนจากความเครียดกลับสู่สภาพปกติได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
กับคำว่าบรรสาน
มีคำว่า coherence ผุดขึ้นมา คือธรรมชาติพื้นฐานของชีวิตหรือระบบชีวิตเป็นระบบที่บรรสานกันอยู่แล้ว เมวัน โฮ นักชีวฟิสิกส์คนสำคัญของโลกผู้ล่วงลับ ได้ระบุว่า องค์ประกอบทั้งหมดของชีวิตเป็นผลึกเหลว (liquid crystalline) ที่ไหลเลื่อน เคลื่อนที่ เปลี่ยนแปลง เชื่อมโยงอย่างมีระเบียบสูงสุด แต่ร่างกายเรามีทั้งสภาวะที่บรรสานและไม่บรรสาน เวลาสูญเสียความบรรสาน พลังจะรั่วไหล ความไม่ลงรอยและความขัดแย้งของระบบต่างๆ ทำให้พลังงานถูกใช้ไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เกิดการสูญเสียมากมาย
ปกติในสภาวะบรรสาน พลังงานจะถูกหมุนเวียนส่งกลับมาให้ใช้งานได้อย่างเหลือเฟือ ไม่ร่อยหรอ เป็นช่วงที่เรามีพลังงานดีที่สุด ระบบขับเคลื่อนเป็นไปได้อย่างดีที่สุด โดยใช้พลังน้อยที่สุด และในขณะเดียวกัน ระบบย่อยอาหารและระบบซ่อมแซมฟื้นคืนพลังก็ทำงานได้ดี
ทำอย่างไรจึงจะเกิดชีพจรผันแปรที่ดีได้
หนึ่ง
คิดให้น้อยและเข้าสู่ความว่าง ออกจากความคิดฟุ้งซ่าน ตั้งประเด็นให้ชัด แล้วกลับสู่ความว่าง คือไม่ต้องคิดมาก วางความคิดลง และรอให้ญาณปัญญาผุดพรายขึ้นมาเอง ถ้าเป็นไปได้ ด้วยการฝึกฝน เราทำจิตให้ว่าง ปล่อยวางความวิตกกังวล คิดให้น้อยลง ให้จิตเป็นเรือนว่าง ให้ญาณปัญญาที่ผุดพรายขึ้นมาเป็นเข็มทิศนำทาง แล้วชีวิตเราจะบรรสานสอดคล้อง
สอง
สภาวะผ่อนคลาย คลื่นสมองถอยเข้าสู่คลื่นอัลฟ่า อันเหนี่ยวนำให้เกิดคลื่นสมองแบบจิตตื่นรู้ ที่คลื่นเบต้า อัลฟ่า เทต้า เดลต้าอยู่ครบและบรรสานกัน ทำให้เราสามารถรับรู้ ตื่นรู้ความเป็นไปของโลกภายในของเราเอง ตื่นรู้กับความคิด อารมณ์ และการกระทำของเรา
สาม ลมหายใจบรรสานกับชีพจร คือการหายใจประมาณห้าถึงเจ็ดรอบต่อนาที
สี่ หายใจด้วยกระบังลม คือหายใจแบบโยคะ หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องแฟบ
ห้า ฝึกฝนตนเองให้สามารถเข้าสู่ระบบประสาทอัตโนมัติแบบ parasympathetic (ตรงข้ามกับ sympathetic ที่เป็นการเร่งเร้า) คือสภาวะผ่อนคลาย ลดอัตราเร่งเร้าต่างๆ ลง ระบบย่อยอาหารจะทำงานได้ดี ร่างกายจะซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ภูมิคุ้มกันจะเสริมสร้างตัวเอง
หก โดยรวมสอดคล้องกับหลักการฝึกสมาธิภาวนาแบบโลกตะวันออก มีวิธีการต่างๆ หลากหลายให้เลือกฝึกฝนได้ตามอัธยาศัย
การออกจากนิสัยและการเสพติด
ผมอ่านหนังสือ
The Little Book of Big Change ของเอมมี จอห์นสัน (Amy Johnson) เธอศึกษาเรื่องการถอยออกจากจิตยถากรรม (คำของผมเอง) คือการออกจากการเสพติดใดๆ ปัญหาของเราคือ เราไปยึดติดความคิดเป็นจริงเป็นจังเกินไป อันเป็นทิฏฐุปาทาน คืออุปาทานยึดมั่นในความคิด
ในศาสตร์ทางสมองล่าสุด ความคิด อารมณ์ และอาการที่สัมผัสได้ทางกาย (bodily sensations) เชื่อมโยงกันเป็นระบบ เวลาคิดแล้วมีอารมณ์และความรู้สึกในร่างกายด้วย ทำให้ความคิดยิ่งเป็นจริงเป็นจังขึ้น และเราจะถูกติดตรึงอยู่ในความคิดนั้นๆ อย่างแนบแน่น
ทิเบตใช้คำว่า เชนปา คือเวลาเราเจ็บปวด หนึ่ง คือความเจ็บปวดโดยธรรมชาติ เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย ความพลัดพราก เป็นต้น แต่เรากลับเน้นย้ำซ้ำเติมความเจ็บปวดนั้นด้วยความคิดวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า นั่นคือเชนปา ซึ่งมีคุณสมบัติสองประการ คือ หนึ่ง เป็นขอเกี่ยวเราเอาไว้ไม่ให้เป็นอิสระ สอง นำความเจ็บปวดมาให้เรา ทั้งจำขังและทำให้เจ็บปวด สภาวะของเชนปา คือ “ความไม่บรรสานสอดคล้อง” อันนำเราไปสู่การสูญเสียพลังงาน และเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของการเสื่อมโทรมทางสุขภาพ
การหลุดออกจากห้วงทุกข์และการเสพติดทั้งหลาย
เอมมี จอนห์สัน บอกว่า แค่คิดเอาไม่สามารถหลุดออกไปจากห้วงทุกข์และการเสพติดได้ หากต้องลงลึกไปกว่านั้น คือต้องเกิดญาณปัญญา หรือญาณทัศนะ หรือปิ๊งแว้บ (insight) คือการระลึกรู้ต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง ประมาณว่าผุดบังเกิด โผล่ปรากฏขึ้นเอง โดยไม่ได้อยู่ในกระบวนการคิด มันคือ “อ๋อ เออ นั่นแหละ” ญาณปัญญาเช่นนี้ ทำให้เกิดการรู้แน่แก่ใจ หนักแน่นกว่าความคิดมาก และมักจะเป็นการพลิกมุมมอง เมื่อมุมมองพลิกเปลี่ยนไป เราจะเห็นโลกแตกต่างออกไปจากเดิม ความทุกข์ที่สุดในชีวิตเมื่อครู่ ไม่ได้มีค่าความหมายหรือมีพิษสงกับเราอีกต่อไปแล้ว เราจะหัวเราะกับตัวเองได้ คือเราได้หลุดจากขอเกี่ยวที่ทำให้เราไร้อิสรภาพและเจ็บปวด คือหลุดออกจากเชนปา พลิกสภาพจากความไม่บรรสานมาเป็นความบรรสาน
เริ่มจากจุดไหนก็ได้
เราอาจจะเริ่มสังเกตที่ฐานกาย ดูว่ามีความไม่สบายกายอะไรเกิดขึ้นบ้าง เช่น มวนที่ท้อง อึดอัดที่หน้าอก หายใจไม่สะดวก เกร็งที่ไหล่และคอ ร้อนวูบวาบตามร่างกายส่วนต่างๆ เป็นต้น ทั้งหมดจะเกิดควบคู่กับความคิดบางอย่าง อาจจะเป็นความวิตกกังวลหรือความกลัว
จากจุดที่เราเพ่งดูอาการทางกาย สิ่งที่เกิดควบคู่กันไปคือ เราได้ย้ายศูนย์บัญชาการจากสมองส่วนล่างมาเป็นสมองส่วนบน สมองส่วนล่างคือสมองสัตว์เลื้อยคลานที่ทำการเพื่อความอยู่รอด และสมองส่วนกลางที่ทำการเพื่อความอยู่ร่วมหรือได้ความรักจากคนอื่นๆ เวลาเราวิตกกังวล เรามักจะกระทำการจากสมองสองส่วนนี้ เพราะเมื่อผู้คนรักเรา เราจะคิดว่าเราอยู่รอด จึงเกิดความไม่บรรสานและสูญเสียพลังงาน แต่เมื่อเราเพ่งดูอาการทางกาย จิตเกิดสมาธิ แปลว่าเราได้ย้ายศูนย์การทำงานของสมองส่วนหน้าแล้ว
เมื่อเราเพ่งดูแล้วปล่อยวางความคิดฟุ้งซ่านต่างๆ ลงด้วย นี่คือวิธีปฏิบัติ พอเอาความใส่ใจมาไว้ที่อาการทางกาย การเกาะเกี่ยวอยู่ในความคิดฟุ้งซ่านจะอ่อนตัวลง ทำให้เราวางความคิดได้ง่ายขึ้น
หากเราได้เรียนรู้ ฝึกฝนการผ่อนคลายร่างกายด้วยการสังเกตดูและใส่ใจจุดตึงเครียดต่างๆ ด้วยความอ่อนโยน เราจะปรับตัวเข้าสู่ระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งทำให้ผ่อนคลายและบรรสานยิ่งขึ้น เอาการหายใจด้วยกระบังลมเข้ามาร่วมด้วย ผ่อนลมหายใจยาวๆ ให้ได้ห้าหรือเจ็ดรอบต่อนาที ทั้งหมดจะนำเราไปสู่การบรรสานสอดคล้อง ทำให้ร่างกายและจิตของเราเป็นเรือนว่าง พร้อมน้อมรับญาณปัญญาอันนำมาซึ่งการพลิกมุมมอง คือสัมมาทิฐิที่จะเกิดจากแก่นแกนของชีวิต นำทางเราออกสู่อิสรภาพที่แท้จริงด้วยปัญญาและความรัก
ทั้งหมดเป็นการย่นย่อกระบวนการเยียวยาตัวเอง เพียงเริ่มต้นด้วยความใส่ใจ เฝ้าสังเกตธรรมชาติที่เกิดกับจิต คือธรรมชาติของความคิด และความสัมพันธ์ของความคิดกับอารมณ์ความรู้สึกและอาการทางกาย เราจะเห็นทางออกจากความทุกข์ซ้ำซากดังที่กล่าวมาแล้ว
แสดงความคิดเห็น