โดย
ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 มิถุนายน 2560
สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์เข้าร่วมกระบวนการพัฒนาคุณธรรม หรือศักยภาพด้านในของมนุษย์มาบ้าง จะเข้าใจได้ว่าจุดร่วมของกระบวนการในลักษณะนี้ คือ นำพาแต่ละคนเข้าไปสำรวจ เรียนรู้เข้าใจตนเอง ด้วยการสร้างสิ่งแวดล้อมและเงื่อนไขที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าหลังจบกระบวนการ หลายคนพบว่าการนำกระบวนการเรียนรู้มาใช้ในชีวิตประจำวันกลับเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง
สถานการณ์นี้นำไปสู่ประเด็นคำถามที่ว่า กระบวนการพัฒนาคุณธรรม หรือศักยภาพด้านในของมนุษย์สามารถนำมาปฏิบัติจริงในพื้นที่ทางสังคม (ที่มีความสลับซับซ้อนกว่าช่วงเข้าร่วมกระบวนการ) ได้อย่างไร และมีเงื่อนไขอะไรที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้ดำรงอยู่ได้
ผู้เขียนนำประเด็นคำถามข้างต้นไปสอบถามกับกระบวนกร/ นักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และวิทยากรที่เชิญมาร่วมจัดกระบวนการในงานประชุมวิชาการ “คุณธรรมในพื้นที่ทางสังคม: ความงอกงามผ่านประสบการณ์ตรง” ที่จัดโดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ซึ่งประกอบไปด้วย คุณอลงกรณ์ วินัยกุลพงค์ และทีมกระบวนกรจากเครือข่ายพุทธิกา คุณธนัญธร เปรมใจชื่น จากสถาบัน Sevenpresents และ รศ.นพ. ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยแต่ละท่านช่วยให้ความรู้และแลกเปลี่ยนเรื่องงานกระบวนการที่นำมาใช้การพัฒนาคุณธรรม หรือศักยภาพด้านในของมนุษย์ในมุมมองที่หลากหลายกันไป
คุณอลงกรณ์ และทีมกระบวนกรจากเครือข่ายพุทธิกา เล่าถึง
“เกมวารีพินาศ” ว่า เป็นการหยิบยกสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งคนส่วนใหญ่มีประสบการณ์ร่วมกันในปี ๒๕๕๔ มาพัฒนาเป็นบอร์ดเกม มีสถานการณ์น้ำท่วมเป็นตัวเดินเรื่องในเกม ซึ่งจะทำให้เห็นปรากฏการณ์ และพฤติกรรมที่สะท้อนจากความคิดของแต่ละคน และที่สำคัญ คือกระบวนการชวนคิดชวนคุยหลังเล่นเกม ซึ่งทำให้ “เกมวารีพินาศ” มีมากกว่าความสนุก “ ถ้าพูดถึงเกม สิ่งที่ต้องมีคือความสนุก แต่อาจไม่ใช่เล่นแค่สนุกอย่างเดียว แต่จะได้กลับไปคิดอะไรบางอย่าง บางประเด็นที่เชื่อมโยงในชีวิตของเขา ไม่ว่าจะภาพเล็กหรือภาพใหญ่ ถ้าคุณมาเล่น จะสนุก เป็นการสนุกเพื่อฉุกคิด เพื่อเป็นการกระตุกความคิด แต่ละวงที่เล่นผลจะออกมาไม่เหมือนกันทั้งหมด เชื่อว่าคนที่ชอบเล่นเกม และชอบการเรียนรู้จะชอบ”
“เกมวารีพินาศ” จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของการออกแบบกระบวนการที่มีบอร์ดเกมเป็นตัวดึงความสนใจให้คนกลับมาใคร่ครวญและทบทวนตนเอง
บางกรณีกระบวนการพัฒนาศักยภาพด้านในของมนุษย์เป็นเรื่องที่เรียบง่าย แต่กลับปฏิบัติได้ยากในเงื่อนไขสังคมปัจจุบัน คือ “การฟัง” คุณธนัญธรกล่าวถึงกระบวนการเรียนรู้การฟังในชื่อ
“ฟังด้วยใจขยายความเป็นไปได้ใหม่ในสังคม” ว่า คนจำนวนมากชอบคิดว่าการฟังเป็นแค่การนั่งนิ่งๆ แต่ในกระบวนการจะทำให้เข้าใจและแยกออกว่า การฟังอย่างลึกซึ้งจริงๆ เป็นอย่างไร ไม่ใช่แค่ฟังเพื่อจับประเด็น หรือเพื่อโต้ตอบตามความคุ้นชิน แต่ฟังเพื่อให้เกิดความเข้าอกเข้าใจคนอื่น ซึ่งมีความสำคัญมาก
“เมื่อคุณฟังอย่างลึกซึ้งจริงๆ คุณจะรู้ว่าโลกภายในระหว่างคนหนึ่งกับอีกคนหนึ่งมีบางอย่างเชื่อมโยงกัน และเมื่อไหร่ที่คุณสามารถเข้าอกเข้าใจกันได้ คุณจะเริ่มเข้าใจคนข้างในตัวคุณเอง แล้วเมื่อไหร่ที่คุณเริ่มเข้าใจตัวของคุณเอง ทุกอย่างจะง่ายขึ้นเยอะ”
คุณธนัญธร ยังกล่าวถึงบทบาทสำคัญของงานกระบวนการ คือการสร้าง “แรงบันดาลใจ” ซึ่งเป็นจุดเริ่มของพลังเล็กๆที่สามารถขยายออกไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้
“สิ่งที่กระบวนการทำได้ดีมากคือ สร้างแรงบันดาลใจในการอยากเปลี่ยน อยากกระทำการ อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับเล็กๆ เช่น กลับไปฟังคนที่รักให้ดีขึ้น เริ่มเข้าใจพ่อกับแม่มากขึ้น แรงเหวี่ยงภายในเหมือนการตั้งหลักใหม่ เป็นเรื่องของการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ
ที่ว่าพฤติกรรมจะเปลี่ยนได้จริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ว่าจะมีโอกาสเจอแรงเหวี่ยงไหม ตอนเรียนใหม่ๆ ก็อาจจะรู้สึกว่าดี เหมือนเป็นชิงช้า ถ้ามีคนแกว่งก็มีแรง เหมือนมีคนมาไกวชิงช้าให้เรา อีกสักพักก็จะเฉื่อยตามร่องที่คุ้นชิน ยกเว้นคนบางคนที่มีแรงบันดาลใจ ชอบเรื่องนี้ สนใจเรื่องนี้มาก เป็นหมุดสุดท้ายที่มาตอกพอดี แล้วมันก็พลิก เกิดแรงบันดาลใจอยากสร้างเส้นทางใหม่ๆ ในชีวิต อยากกลับไปทำชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น เป็นแรงบันดาลใจในการอยากขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลง”
กระบวนการพัฒนาคุณธรรม หรือศักยภาพด้านในของมนุษย์ในบางกรณีมุ่งไปที่ “แก่นแท้” ของการพัฒนาจิตใจ คือ การฝึกสติ รศ.นพ. ชัชวาลย์ เริ่มบทสนทนาด้วยการตั้งคำถามว่า “เมื่อสติเป็นแก่น ภาวนาเป็นแก่น เราจะทำเรื่องการเจริญสติให้เป็นเรื่องเข้าใจง่ายๆ หรือเรื่องธรรมดาได้ไหม”
รศ.นพ. ชัชวาลย์ กล่าวถึงกระบวนการ
เจริญสติ (Mindfulness Practice) ว่า “การปฏิบัติไม่ใช่การกระทำ ปฏิบัติคือการรู้ รู้ครั้งหนึ่งก็ปฏิบัติทีหนึ่ง รู้อะไร รู้สิ่งที่ปรากฏ ด้วยกาย ด้วยใจของเรา เขาเรียกว่าปฏิบัติ แต่เราเข้าใจผิด การปฏิบัติต้องขยับ ต้องเพ่ง ต้องท่อง ต้องนั่ง คนที่นั่งแน่ใจหรือว่าเขาปฏิบัติ แล้วอะไรล่ะที่เป็นเครื่องยืนยัน ใจเขาต่างหาก ใจที่รู้เรียกว่าปฏิบัติ รู้อะไร รู้ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร เพราะปกติเราไม่รู้ แต่เราฝึกจนกระทั่งจำได้
สิ่งที่เราฝึกฝนไม่ใช่ของใหม่ ทุกคนเคยมีประสบการณ์ เคยไหมที่นั่งใจลอยอยู่แล้วนึกขึ้นมาว่าใจลอย นั่นแหละอันเดียวกัน เราต้องการทำสิ่งนั้นให้งอกงาม คือทักษะในการตื่นแล้วพาใจกลับเข้าบ้าน ฝึกให้รู้ทันความใจลอย ฝึกให้รู้ทันความคิด ไม่ใช่ฝึกสติเพื่อห้ามความคิด ใช้เวลาฝึกฝนซ้ำๆ ในระยะเวลาไม่นานหลังจากนี้จะเกิดเป็นอัตโนมัติ เป้าหมายของเราคือฝึกให้มีตัวช่วย มีตัวสะกิดข้างในของเราเอง ไม่ใช่จากข้างนอก”
บทสนทนาที่มีต่อกระบวนกร/ นักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และวิทยากร สะท้อนให้เห็นความหลากหลายของกระบวนการพัฒนาคุณธรรม หรือศักยภาพด้านในของมนุษย์ ซึ่งแสดงถึงความหลากหลายของผู้คนไปสังคมไปในเวลาเดียวกัน
ท่ามกลางกระบวนการพัฒนาคุณธรรม หรือศักยภาพด้านในของมนุษย์ที่หลากหลาย และเปิดกว้างให้แต่ละบุคคลเลือกทดลองปฏิบัติตามความถนัดของตนเองนั้น ต่างมีจุดร่วมกันที่เป็นเครื่องมือช่วย “กระตุก” “สร้างแรงบันดาลใจ” หรือ “สะกิด” ให้กลับมาใคร่ครวญ ทบทวนกับตนเอง
ถ้ามองย้อนกลับไปที่คำถามที่ว่ากระบวนการพัฒนาคุณธรรม หรือศักยภาพด้านในของมนุษย์สามารถนำมาปฏิบัติจริงในพื้นที่ทางสังคมได้อย่างไร และมีเงื่อนไขอะไรที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้ดำรงอยู่ได้ คำถามนี้คงไม่มีคำตอบสำเร็จรูปที่ตายตัว
แต่ถ้าพิจารณาจากงานกระบวนการอาจมองได้ว่า งานกระบวนการเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สนับสนุนให้คุณธรรมเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้จริงในพื้นที่ทางสังคม โดยเริ่มจากการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติผ่านประสบการณ์ตรง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจระดับบุคคล ก่อนแผ่ขยายไปยังชุดความสัมพันธ์อื่นในพื้นที่ทางสังคม
เงื่อนไขสำคัญหนึ่งที่หล่อเลี้ยงคุณธรรมให้ดำรงอยู่ได้นั้น คือการมี “พื้นที่กลาง” ที่มีปฏิบัติการของการเรียนรู้ร่วมกัน และนำไปสู่การเชื่อมโยงเครือข่ายที่ขับเคลื่อนงานร่วมกันต่อไป ซึ่ง “พื้นที่กลาง” รูปแบบหนึ่งที่ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) พยายามผลักดันให้เกิดขึ้น และอยากเชิญชวนมาเรียนรู้ร่วมกัน คือ งานประชุมวิชาการ “คุณธรรมในพื้นที่ทางสังคม: ความงอกงามผ่านประสบการณ์ตรง” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ณ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดและลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่เว็บไซต์ศูนย์คุณธรรม http://www.moralcenter.or.th และที่เฟซบุ๊ก Moral Spaces
แสดงความคิดเห็น