ตื่นรู้ในกายเพื่อจิต สู่ความผาสุกและอิสรภาพที่แท้จริงของชีวิต



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 เมษายน 2560

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The Practicing Mind: Developing Focus and Discipline in Your Life ของธอมัส สเติร์นเนอร์ (Thomas M. Sterner) ผมยกให้เป็นหนังสือดีที่สุดเล่มหนึ่งที่ได้อ่านในรอบหนึ่งปี

ธอมัส สเติร์นเนอร์ เป็นนักดนตรีแจ๊สและช่างจูนเปียโน ตอนหนึ่ง เขาเล่าเรื่องการจูนเปียโน ว่าด้วยการฝึกฝนตนเอง แทนที่จะใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ อย่างไม่ตั้งใจ อย่างไม่ตื่นรู้ ก็เปลี่ยนมาเป็นการใช้ชีวิตที่ตั้งใจและตื่นรู้ สังเกตความเป็นไปของชีวิต ณ ขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพียงการล้างหน้า การบริหารร่างกายเล็กๆ น้อยๆ เมื่อตื่นนอนก็ตาม หากเราใส่ใจ เราสามารถนำมาเป็นการปฏิบัติได้ทั้งสิ้น

ธอมัสเล่าว่า วันนั้น เขาต้องจูนเปียโนสองตัว ตัวใหญ่สำหรับนักแสดงเปียโน ตัวเล็กสำหรับวงออเครสต้าที่จะเล่นล้อไปกับนักแสดง นับว่างานหนักเอาการ เพราะการจูนเปียโนเป็นงานที่ละเอียดอ่อนและซ้ำซาก ต้องจูนสายเปียโนไปทีละสาย กว่าจะเสร็จต้องใช้เวลานานมาก

ธอมัสมีไอเดียว่าเขาจะทำงานให้ช้าลง นี่แหละครับเป็นจุดเริ่มต้นของความแตกต่าง เขาเริ่มจากเปียโนตัวแรกสำหรับนักแสดง ปกติเขาจะรวบเครื่องมือเอามากองแล้วเริ่มทำงาน แต่วันนี้ เขาค่อยๆ หยิบเครื่องมือแต่ละตัวออกมาวางเรียงอย่างเป็นระเบียบ แล้วเริ่มจูนเปียโนทีละสายอย่างช้าๆ อย่างตั้งใจไปเรื่อยๆ จนจบงาน


เมื่อจูนเปียโนตัวใหญ่เสร็จ เขาสังเกตตัวเองว่าต่างจากทุกครั้ง รู้สึกถึงการทำงานที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษ ไหล่หลังไม่เมื่อยล้าเหมือนทุกครั้งที่ทำงานมากขนาดนี้ เมื่อทำเปียโนตัวแรกเสร็จ เขายังรู้สึกดีกับตัวเอง รู้สึกมีพลัง พร้อมจะเริ่มทำตัวที่สอง ไม่เหมือนทุกครั้งที่เขาต้องล้าและอาจจะไม่อยากทำงานต่อ

ตัวที่สอง เขาก็เริ่มอย่างตัวแรก ค่อยๆ เอาเครื่องมือบรรจงใส่กล่องก่อน ย้ายกล่องมา แล้วค่อยๆ เอาเครื่องมือออกมาเรียงอย่างเป็นระเบียบทีละชิ้น แล้วเริ่มจูนเปียโนทีละสาย ช้าๆ ไม่รีบร้อนอะไร

เมื่อทำงานเสร็จ เขายังรู้สึกสดชื่น ไม่เหนื่อยล้า รู้สึกดีกับตัวเองมาก เมื่อไปยังรถและจะสตาร์ทรถ เขาเห็นนาฬิกาที่รถแล้วรู้สึกแปลกใจว่า เขาทำงานได้เร็วกว่าเดิมมาก คือการทำงานช้าๆ แต่กลับเสร็จเร็วกว่าเดิม เป็นไปได้อย่างไร


คำนั้นสำคัญไฉน?

ผมอ่านหนังสือหลายเล่มพร้อมๆ กันไป ผมอาจจะโยงหนังสือหลากเล่มด้วยการเอาถ้อยคำหลักต่างๆ มาร้อยเรียงกัน เริ่มจากสามคำที่ก่อประกอบเป็นหนังสือ Charisma ของโอลิเวีย ฟอกซ์ คาเบน (Olivia Fox Cabane) ซึ่งในบทความ เราจะเอามาเพียงสองคำก่อน

มีคำสามคำว่า presence, power และ warmth

คำแรก “presence” เมื่อเราปฏิบัติธรรมก็ดี ฝึกแบบธอมัส สเติร์นเนอร์ ก็ดี หรือฝึกการดำรงอยู่กับปัจจุบันขณะแบบหมู่บ้านพลัมก็ดี เราจะได้สภาวะเพรสเซนซ์ คือการดำรงอยู่ตรงนั้น สำหรับโอลิเวีย นั่นคือองค์ประกอบหนึ่งของคาริสมา เสน่ห์ของคนที่มีบารมี

“power” เธอใช้ในทางบวก ไม่ใช่อำนาจเหนือ แต่เป็นอำนาจที่จะยืนหยัดในความเป็นตัวของตัวเอง เธอใช้คำนี้ในมิติของการเข้าสู่สิทธิอำนาจ เข้าสู่อำนาจอันชอบธรรม การขึ้นสู่บัลลังก์แห่งตนอย่างหนักแน่นไม่หวั่นไหว เหมือนพระพุทธเจ้าทรงชี้นิ้วลงสู่แม่พระธรณี แล้วประกาศว่าพื้นที่ตรงนี้ พระองค์ทรงครองและไม่ยอมถอยให้พญามาร

โอลีเวียใช้กระบวนการบอดี้เอ็มพาวเวอร์เมนต์ ด้วยการกลับมาทำความรู้สึกที่หัวนิ้วเท้าข้างใดข้างหนึ่ง คือกายานุปัสสนา คือการหยั่งรากลงสู่กายของเราเอง ณ ขณะนั้น จิตดิ่งลงสู่สมาธิ ความหวั่นไหวทั้งปวงปลาสนาการไป เราหยั่งลงสู่ความเป็นตัวของตัวเอง และครองสิทธิในพื้นที่นั้นอย่างไม่คลอนแคลน อันเป็นการตั้งแกนและให้ความมั่นคงที่แท้จริงแก่ตัวเอง

ส่วนของ warmth ผมจะยกยอดเอาไว้สำหรับบทความตอนต่อไป มาดูคำหลักอีกสามคำจากสามแหล่งที่มาสามแหล่ง

urge & resilience & body budgets

เชื่อมโยงอีกสามคำ คือคำว่า เอิร์จ (urge) กับ รีซิลเลียนซ์ (resilience) กับ (บอดี้บัดเจ็ตส์) body budgets แต่ละคำมาจากสามแหล่ง คำแรกมาจากหนังสือ A Little Book of Change โดยเอมี จอห์นสัน (Amy Johnson) คำที่สองมาจากหนึ่งในสี่องค์ประกอบที่ก่อให้เกิดความผาสุก เป็นงานวิจัยของดร. ริชาร์ด เดวิดสัน และคำที่สามมาจากหนังสือ How Emotions Are Made โดยลิซา เฟลด์แมน บาร์เรตต์ (Lisa Feldman Barrett)

ทั้งสามคำมีจุดเชื่อมเดียวกัน คือกลับมาที่ “กาย” กล่าวคือ ที่จริงร่างกายไม่ใช่ “กายภาพ” เท่านั้น เราได้แบ่งกายกับจิตออกจากกันโดยสิ้นเชิงมานานสองสามศตวรรษ ละเลยไปว่ากายกับจิตแท้จริงแล้วหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นเหรียญเดียวกันเพียงแต่ว่าจะมองด้านก้อยหรือหัว

เอิร์จ คือแรงกระเพื่อมเล็กๆ ไปจนถึงความบีบคั้นใหญ่ๆ ในร่างกายของเรา เมื่อเรามีแรงขับดันให้กระทำการต่างๆ ในหนังสือ A Little Book of Change เอมี จอห์นสัน ได้บอกเล่าว่า แรงขับดันนี้ ทำให้เราต้องเสพอะไรต่ออะไร ให้เราต้องกระทำการหลายสิ่งหลายอย่างโดยไม่ตั้งใจหรือปรารถนาอย่างแท้จริง แต่เหมือนถูกแรงขับเหล่านี้พัดพาไปอย่างไม่เป็นตัวของตัวเอง

เธอเสนอทางออกด้วยเพียงการรับรู้และอยู่กับมัน ไม่หลุดไปในเรื่องราวของมัน (เพราะถ้าหลุดไปอยู่ในเรื่องราว แรงขับนั้นจะยิ่งทรงพลัง และความเป็นตัวของตัวเองจะถูกม้วนกลืนกินหายสูญไป) เช่นเดียวกัน เมื่อเราสามารถดำรงอยู่กับกายอย่างตื่นรู้ ด้วยสัมปชัญญะ ด้วยสติและปัญญา เราจะมีสมาธิและสามารถอยู่กับแรงขับนั้นได้ และแรงขับนั้นจะค่อยๆ อ่อนกำลังลงไปคือ “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป” ตามธรรมชาติของมันเอง

รีซิลเลียนซ์ กับ บอดี้บัดเจ็ตส์ เวลาจิตของเราดูแลแรงขับทั้งหลายได้แล้ว จิตจะสงบรำงับ คือการเข้าสู่รีซิลเลียนซ์ ร่างกายได้ผ่อนพัก ได้คืนพลังจากความสงบ ได้สะสมพลัง ทุกครั้งที่เราเข้าสู่สภาวะสงบ ร่างกายปราศจากแรงขับต่างๆ ปลอดโปร่ง สบาย สงบ สุข ระบบร่างกายดำรงอยู่ในสภาวะของพาราซิมพาเทติก (parasympathetic) ซึ่งร่างกายได้ผ่อนพักและฟื้นคืนพลัง หรือรีคัฟเวอร์ (recover) คือการกลับมาสู่ความเป็นปกติ สู่ความสงบสุข สู่ภาวะการพัก คือช่วงเวลาแห่งการบูรณะซ่อมแซม เพิ่มพลัง เพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายและทางจิต หรือจิตกายเป็นหนึ่งเดียว คือเราเข้าสู่เรือนว่าง อันเป็นภาวะทรงพลังที่สุด

ตอนที่หนึ่งแห่งตื่นรู้ในกายเพื่อรักษาจิต จุดมุ่งหมายคือการกลับมาสู่กายอย่างมีสติ ตื่นรู้ ด้วยปัญญาและความรัก นี่คือทั้งหมดของการเดินทางสู่ความผาสุกได้อย่างเป็นจริง และคือบาทฐานเบื้องต้นแห่งการเดินทางสู่อิสรภาพที่แท้จริงของชีวิตด้วย

Back to Top