ฟินด์ฮอร์น ชุมชนทางเลือกชายฝั่งทะเลเหนือ



โดย ประชา หุตานุวัตร
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 เมษายน 2560

ผมมาถึงชุมชนทางเลือกชื่อฟินด์ฮอร์น ทางเหนือของสกอตแลนด์ ในวันที่ ๒๕ มีนาคม ศกนี้ เป็นวันเปลี่ยนเวลาพอดี ทำให้เวลาที่ต่างจากประเทศไทยเหลือ ๖ ชั่วโมงแทน ๗ ชั่วโมง บ่งบอกการสิ้นสุดฤดูหนาว ก้าวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิอย่างเต็มตัว อากาศสดใส ฟ้าสีครามไร้เมฆ แดดเจิดจ้า แต่อากาศนอกบ้านหนาวจับใจ ปีนี้ ดอกแดฟโฟดิลกำลังผลิบาน ตามหน้าบ้านและตามริมทางสาธารณะทั่วไปแลเหลืองสะพรั่ง ดอกสโนว์ดร็อบสีขาวเรี่ยดินก็โผล่ขึ้นมาตามโคนไม้ใหญ่ตรงนั้นตรงนี้ ทิวลิบกำลังแย้ม อีกไม่กี่วันคงอวดสีสดฉูดฉาดแข่งกับดอกไม้หลากสีของฤดูกาลนี้

ที่นี่อยู่ทางตอนเหนือของสกอตแลนด์ ชายฝั่งทะเลเหนือ เป็นชุมชนที่ฝรั่งเรียกว่าผู้คนตั้งใจสร้างขึ้นใหม่ และภายหลังได้ชื่อเพิ่มว่าเป็นชุมชนนิเวศด้วย เมื่อเกิดชุมชนแบบนี้ทั่วยุโรป จึงรวมตัวกันเป็นเครือข่ายชุมชนนิเวศของโลกและพยายามเผยแพร่การจัดตั้งชุมชนแบบนี้ ในฐานะเป็นคำตอบหนึ่งของการหาทางออกให้แก่มนุษยชาติ เพื่อไปพ้นจากวิกฤตหลายด้านที่กำลังเผชิญอยู่

ผู้นำชุมชนหลายคนจากชุมชนเหล่านี้ทั่วยุโรป เคยมาประชุมร่วมกันที่อาศรมวงศ์สนิท เพื่อปรึกษาหารือกันเรื่องหลักสูตรที่จะให้การศึกษาเพื่อขยายชุมชนแบบนี้ อาศรมวงศ์สนิทก็เลยได้ชื่อเป็นชุมชนนิเวศไปด้วย และทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกันมา

ชุมชนฟินด์ฮอร์นสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยผู้ก่อตั้งสามคน คือ ปีเต้อ แคดดี้ (Peter Caddy) กับภรรยาคือ ไอลีน แคดดี้ (Eileen Caddy) และโดโรธี แมคเคน (Dorothy Mcclain) ไอลีนนั้นสามารถสื่อกับเทพชั้นสูงได้ ส่วนโดโรธีสามารถสื่อกับรุกขเทวากับสัตวเทวาได้ ถ้าพูดภาษาบ้านเรา สตรีทั้งสองท่านนี้ก็เป็นคนทรงนั่นเอง ส่วนปีเต้อนั้นเป็นคนเชื่อ และเป็นคนปฏิบัติ นำสิ่งที่สตรีทั้งสองรับสื่อมา ออกสู่การปฏิบัติเป็นประจำวัน


ในช่วงที่ก่อตั้งชุมชนนั้น ความเชื่อแบบนี้ถือว่านอกรีต เป็นที่หวาดกลัวและรังเกียจของชาวบ้านรอบๆ ถิ่นที่พวกเขาลากรถคาราวานมาก่อตั้งชุมชนแห่งนี้ แต่เป็นที่สนใจของบุปผาชนคนแสวงหาทางออกใหม่ๆ จากทั่วโลก

ต่อจากผู้ก่อตั้งสามคนนี้ กลุ่มคนที่เข้ามาร่วมสร้างชุมชนกลุ่มแรกจึงได้แก่ ฮิปปี้จากทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกา ตอนนี้สองสามีภรรยาเสียชีวิตไปแล้ว เหลือแต่โดโรธีที่อายุเก้าสิบกว่า ยังดำรงชีวิตวัยชราอยู่อย่างสงบที่นี่ ในส่วนบุปผาชนรุ่นแรกก็อายุกว่าเจ็ดสิบกันทั้งนั้น หลายคนยังอยู่ต่อเนื่องกันมาจนกลายเป็นผู้อาวุโสของ “เผ่า” คอย ให้ปรึกษาของคนรุ่นใหม่ๆ ที่เขามาร่วมอยู่อาศัยกันในที่นี้อย่างไม่ขาดสาย

เมื่อปี ๒๕๔๒ ชุมชนแห่งนี้ได้รับการยกย่องจากสหประชาชาติให้เป็น Best Practice in Improving the Living Environment แถมปี ๒๕๔๗ คุณยายไอลีน ยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ MBE จากพระราชินีอังกฤษ ทั้งนี้ เพราะเธอมีงานหนังสือออกมากอย่างต่อเนื่อง สอนเรื่องการดำรงชีวิตที่เป้าหมายทางจิตวิญญาณนั่นเอง จะถือว่าหนังสือของเธอคืองานเขียนผ่านเธอที่เป็นร่างทรงของเทพก็ได้ เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไป สิ่งที่วันหนึ่งมหาชนเคยเห็นว่าผิดว่าบ้า ก็กลายเป็นเรื่องดีงามขึ้นมาได้ หลังจากผ่านการพิสูจน์มาแล้วหลายสิบปี และมติมหาชนเปลี่ยนไป

เกรก กิ๊บสัน (Craig Gibson) ผู้อาวุโสที่นี่ ผู้มีรกรากเดิมอยู่ออสเตรเลียเล่าว่า ปัจจุบันนี้ ชาวชุมชนส่วนมากนับถือศาสนาพุทธหลากหลายนิกาย ทั้งเถรวาท (สายโกเอ็นกา) ธิเบตหลายสำนัก และมหายาน (สายหมู่บ้านพลัม) คนส่วนมากก็เชื่อเรื่องการทรงและโลกทางจิตวิญญาณพร้อมกันไปด้วย รวมทั้งมีการฟื้นลัทธิความเชื่อพิธีกรรมเก่าก่อนศาสนาคริสต์ด้วย (Paganism)

การที่ยังมีคนรุ่นใหม่เข้ามาอยู่ร่วมชุมชนอย่างไม่ขาดสาย ก็เพราะชุมชนแห่งนี้ได้จัดการศึกษาอย่างเผยแพร่วิถีชีวิตและแนวทางปฏิบัติทางจิตวิญญาณของตนอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา จนจัดตั้งวิทยาลัยฟินด์ฮอร์นขึ้น ยิ่งระยะหลัง มาเน้นเรื่องการสร้างชุมชนนิเวศและวิถีชีวิตแบบยั่งยืน และแบบจิตวิญญาณ ผู้คนใหม่ๆ จากทั่วโลกก็เข้าเรียนไม่ขาดสาย ถือได้ว่าเป็นศูนย์ศึกษาความเชื่อทางจิตวิญญาณอย่างใหม่ (New Age) สำคัญของโลกก็ว่าได้ ในฐานะคนถือพุทธ ผมเห็นว่าบางอย่างก็เป็นงมงายเกินไป บางอย่างก็น่าศึกษาดี

คำถามง่ายๆ ก็คือ ชุมชนทางเลือกนี้ต่างจากสังคมกระแสหลักอย่างไรบ้าง ประการแรก ชุมชนนี้โดยเฉลี่ยมีรอยเท้านิเวศ (Ecological Footprint) น้อยกว่าสังคมกระแสหลักครึ่งหนึ่ง แปลง่ายๆ ว่า คนที่นี่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉลี่ยน้อยกว่าคนทั่วไปครึ่งหนึ่ง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

คนจำนวนไม่น้อยใช้ระบบรถร่วม คือมีรถจำนวนหนึ่งที่คนกลุ่มหนึ่งเป็นเจ้าของร่วมกัน พอใช้เสร็จก็เอามาจอดไว้ สมาชิกที่เหลือใครต้องการก็เอาไปใช้ได้ ใครใช้ก็จดจำนวนไมล์ที่ใช้ไว้ ส่วนมากโครงการนี้เป็นรถไฟฟ้า พอใช้เสร็จก็เอามาเสียบไฟฟ้า ณ ลานจดรถของกลุ่ม

บ้านจำนวนไม่น้อยเป็นบ้านร่วม มีหลายลักษณะ บ้างก็เป็นอาคารเดียว มีหลายห้อง สมาชิกก็อยู่ในห้องของตนเอง มีห้องน้ำในตัว แต่มีครัวกลาง มีห้องนั่งเล่นกลาง เครื่องซักผ้ากลาง เครื่องทำความร้อนกลาง บ้างก็เป็นหลายอาคารหรือบ้านหลายหลังสร้างหันบางส่วนมาชนกัน และมีห้องกลางเป็นห้องซักผ้า ห้องติดตั้งเครื่องทำความอบอุ่นของบ้าน หรือห้องนั่งเล่น

ที่โดดเด่นเพราะเห็นชัดแต่ไกลก็คือกังหันลมขนาดใหญ่ ๔ ตัว ที่ปั่นไฟฟ้ามาใช้สำหรับชุมชน บางฤดูกาลก็เหลือใช้ ส่งเข้าสายไฟฟ้ากลางสาธารณะได้ บางฤดูที่ลมไม่พอก็ใช้ไฟฟ้าจากไฟฟ้ากลาง ทำให้ลดการใช้ไฟฟ้าที่มาจากพลังงานฟอสซิลไปได้มาก

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องจักรที่มีชีวิต คือระบบบำบัดน้ำเสียที่เป็นอาคารเรือนกระจก ปลูกต้นไม้ตลอดปี และระบายน้ำเสียของชุมชนผ่านระบบนี้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องยนต์ไฟฟ้าเลย ต้นไม้ต่างๆ ที่เลือกมาก็จะบำบัดน้ำให้กลายเป็นน้ำปกติที่ปล่อยออกสู่ธรรมชาติได้ ทางการท้องถิ่นรับรอง อาคารก็โดดเด่นเป็นสง่าไว้อวดคนมาเที่ยวได้

ในทางวัฒนธรรม ชุมชนแห่งนี้มีหอประชุมใหญ่ที่เรียกว่า Universal Hall ใช้เวลาค่อยๆ สร้าง ๑๐ ปี ปัจจุบันกลายเป็นหอแสดงดนตรีและละครที่มีชื่อเสียงของประชาชนในเมืองแถบนี้ คณะละครและดนตรีที่มีชื่อเสียง เวลาผ่านมาทางแถบนี้ก็มักมาเปิดแสดงที่นี่ คนในเมืองแถบนี้ก็จะมาดูกัน ที่สำคัญกว่านั้น ที่นี่เป็นที่ประชุมเรื่องสำคัญๆ ที่ทางชุมชนจัดเองหลายครั้งหลายหน คนมาร่วมประชุมจากทั่วโลก นักคิดสำคัญๆ ที่คิดเรื่องทางเลือกใหม่ๆ มาพูด มาแสดงความคิดความเห็นที่นี่กันไม่น้อย

แต่ที่สำคัญที่สุดคือเป็นศูนย์วัฒนธรรมของชุมชน มีการฉายหนังดีๆ ให้ดูกันเป็นประจำ นอกจากการเต้น และร้องรำทำเพลงต่างๆ ของชาวชุมชนเอง

นอกจากนี้ ชุมชนยังมีห้องทอผ้า ห้องทำงานปั้นดิน ห้องทำงานศิลปะที่ใช้ได้ทั้งคนในชุมชนและแขกที่มาเยี่ยม

พอชุมชนกลายเป็นศูนย์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นแถบนี้ เมื่อสองสามปีก่อน ก็มีการหาทุนมาสร้างหอศิลป์ขนาดกลาง เป็นที่แสดงงานศิลปะและมีห้องเรียนศิลปะด้วย

ทั้งหมดนี้ ทำให้ชุมชนนี้เป็นแหล่งวัฒนธรรมอันรุ่มรวย และจรรโลงชีวิตของชุมชนให้มีสีสัน นอกเหนือจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ร้านขายของชำ ร้านกาแฟ โรงอบขนมบัง ร้านพิซซ่าวันสุดสัปดาห์ ของในร้านทั้งหมดนี้เป็นออร์แกนิค แถมชุมชนนี้ยังมีเงินตราเสริม (Complementary Currency) ของตนเองชื่อ ECO ด้วย

สุดท้ายที่โดดเด่นของชุมชนคือ ความงามของการออกแบบบ้านเรือน พอเดินเข้ามาในชุมชนก็รู้สึกเหมือนเมืองในเทพนิยายกลายๆ บ้านทรงแปลกหลายหลังแทรกอยู่ทั่วไป ในภูมิทัศน์ที่ลงตัวพอสมควร

ในยุคบุปผาชนนั้น ทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกามีคนออกจากกระแสหลักมาสร้างชุมชนใหม่กันมากมาย นับหมื่นนับแสนชุมชน ส่วนมากก็ล้มหายตายจากไป ช้าบ้างเร็วบ้าง กว่าครึ่งศตวรรษผ่านไป ชุมชนที่ยังอยู่รวมทั้งฟินด์ฮอร์นแห่งนี้ ก็เริ่มกลายเป็นแหล่งสร้างสรรค์สติปัญญาอย่างใหม่ และเป็นหน่ออ่อนของการผสมผสานสังเคราะห์เพื่อหาวัฒนธรรมใหม่สำหรับสังคมตะวันตก ที่อารยธรรมกระแสหลักที่สืบต่อมาจากยุคฝรั่งตรัสรู้ กำลังถูกประเมินค่าใหม่อย่างถอนรากถอนโคน

ในยุคที่รัฐและทุนใหญ่โตเทอะทะและปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงได้ยากยิ่ง จนไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตหลักๆ ที่มนุษย์ชาติกำลังเผชิญอยู่ได้ ชุมชนทางเลือกเหล่านี้อาจจะเป็นทางออกที่สำคัญอย่างหนึ่ง สำหรับการหาทิศทางสำหรับอนาคต

Back to Top