ปฏิบัติการ “กล้าที่จะสอน” (๒)



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 เมษายน 2560

จากผลของการจัดหลักสูตร “กล้าที่จะสอน” ๖ ประการดังได้กล่าวไปในบทความก่อนหน้าแล้ว (ตีพิมพ์ใน มติชนรายวัน ๑ เมษายน ๒๕๖๐) ในฐานะกระบวนกร ผมรู้สึกว่าครูทั้งหลายเปิดรับและมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ทั้งสองโมดุลอย่างเต็มที่ และได้รับประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนแบ่งปันและทักษะการดูแลตัวเองและการสื่อสารกับคนอื่นได้อย่างตั้งอกตั้งใจ จนนำไปประยุกต์กับการสอนในชั้นเรียนอย่างได้ผลเกินความคาดหมาย คิดว่ากิจกรรมอีกสองโมดุลข้างหน้า จะยิ่งเพิ่มศักยภาพและทักษะในการเป็นครูกล้าสอน กล้าให้พื้นที่กับชีวิตและธรรมชาติทั้งภายในตัวเองและในตัวผู้เรียนได้อย่างมีพลัง ซึ่งจะตอบโจทย์การเรียนรู้ที่เอาศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และพลิกกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียนให้มีชีวิตชีวาและมีประสิทธิภาพ

การทำงานครั้งนี้ ยังทำให้มีความเข้าใจมากขึ้นในระบบการศึกษานั่นคือ

๑. สังคมยังมีคนที่มีใจจะสอน อยากเห็นลูกศิษย์หรือเยาวชนเติบโตทั้งทางจิตใจ มุมมอง และความสามารถทางการศึกษา และเชื่อว่าครูเหล่านี้มีความสามารถและความรู้ที่สามารถจะสอนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ เพียงต้องการพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยน ทบทวนชีวิต และวิธีการสอนของตัวเอง เพื่อเพิ่มพลังใจในวิชาชีพครู ดังนั้น โครงการจึงเน้นความสำคัญที่การเรียนรู้จากกันและกันมากกว่าการให้ความรู้แบบการอบรมสัมมนา ที่เน้นการรับความรู้จากวิทยากรเป็นหลัก


๒. ในมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียน พื้นที่การสนทนาส่วนใหญ่เน้นไปที่เป้าหมาย ผลลัพธ์ของการทำงานมากกว่าการแบ่งปันความรู้สึก และประสบการณ์การสอนที่สะท้อนถึงชีวิตด้านในของครู อันเป็นโอกาสของการฟื้นฟูคุณค่า พลังชีวิต และความสัมพันธ์ของครู

๓. เส้นทางชีวิตของครูที่ต้องการสอนเพื่อสร้างคนและความรู้ จำต้องอาศัยพลังชีวิต แต่ในความเป็นจริง ครูกลับต้องใช้พลังงานและเวลาไปในเรื่องอื่นๆ ที่อาจไม่เกี่ยวกับการสอนเพื่อศิษย์ เช่น การทำวิจัยหรือการสร้างวิทยฐานะ ทำให้ไม่ได้ใช้เวลากับสิ่งที่จะสร้างบัณฑิตได้อย่างเต็มที่

๔. มหาวิทยาลัยกลายเป็นองค์กรที่ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาเพื่อการแข่งขันเชิงปริมาณ มากกว่าการมุ่งเน้นคุณภาพการสอนและการเรียนรู้เพียงอย่างเดียว

๕. ครูต้องการชุมชนมากกว่าการอยู่อย่างโดดเดี่ยว แยกส่วน มหาวิทยาลัยขาดมิติของการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่ทำได้มากกว่าการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ นั่นคือมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จริงของชีวิต และการสอนอย่างไม่ต้องพยายามปกป้องภาพลักษณ์หรือสถานภาพของตัวเอง ซึ่งจะสร้างความสัมพันธ์ที่แท้จริงที่เอื้อต่อการเติบโตทางจิตใจและปัญญาร่วมกัน

๖. ครูจำนวนมากแม้จะมีเจตนาที่ดีในการสอนและถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียน แต่ยังคงคุ้นเคยหรือเชื่อวิธีการสอนแบบเดิมๆ ที่มองว่า การสอนคือการถ่ายทอดข้อมูล (ที่เรียกว่าความรู้) มากกว่ากระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งเริ่มต้นจากการให้คุณค่าและสนับสนุนความสนใจใคร่รู้ที่เป็นธรรมชาติของผู้เรียน

๗. ครูในระดับอุดมศึกษาจำต้องมีบทบาทการเยียวยาบำบัดอาการอัมพาตทางการเรียนรู้ ที่เป็นผลมาจากระบบการศึกษาในระดับประถมและมัธยมศึกษาเป็นลำดับ ที่ละเลยหัวใจความเป็นมนุษย์และกระการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนมาโดยตลอด ทำให้ขาดแรงบันดาลใจ เป้าหมายชีวิต และการรู้จักตัวเองของนักศึกษา

๘. การที่ครูมาร่วมแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์การทำงาน จะช่วยทำให้เข้าใจสภาพปัญหาที่คล้ายๆ กันหรือเหมือนๆ กัน และเห็นภาพโดยรวมของระบบการศึกษาของสังคม และค้นหาทางออกที่เหมาะสมต่อการแก้ปัญหาระยะยาวและระยะสั้นมากขึ้น

๙. การเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาที่จะช่วยทำให้นักเรียนเข้าถึงศักยภาพของความเป็นมนุษย์ได้อย่างเต็มที่ โดยมีความมั่นใจและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน และมีความสนใจเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง รวมถึงมีสำนึกรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคมนี้ ไม่สามารถรอคอยให้เกิดขึ้นในระดับโครงสร้างหรือนโยบาย ด้วยเหตุที่ยังมีลักษณะการใช้อำนาจที่เหนือกว่า มากกว่าการให้คุณค่าผู้ปฏิบัติงานทางการศึกษา เราเชื่อว่า ครูทุกคนสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่ภายในตัวเอง แล้วนำไปสู่การเปลี่ยนทัศนคติและวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักศึกษา จนถึงการริเริ่มให้เกิดมิตรภาพและชุมชนแห่งการเรียนรู้ในกลุ่มครูอาจารย์ด้วยกัน

โดยสรุปแล้ว หากหลักสูตรนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาที่เอาชีวิตครูเป็นตัวตั้ง และสร้างพลังแห่งการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการสร้างความเป็นชุมชน และความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นในชีวิตครู อย่างได้ผลลัพธ์ที่ดีและเป็นรูปธรรม ทั้งในชีวิตครูเองและในการปรับเปลี่ยนกระบวนการสอนและเรียนรู้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กระบวนการพัฒนาครูในฐานะต้นแบบทางการศึกษา จะมีทิศทางที่ชัดเจนและให้คุณค่ากับจิตใจและจิตวิญญาณครู ที่มีสัญชาตญาณแห่งการเป็นผู้ให้ และผู้หล่อเลี้ยงการเติบโตของลูกศิษย์มากยิ่งๆ ขึ้นไป

Back to Top