จุดอ่อนของความหลง



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 พฤศจิกายน 2560

ธรรมชาติพื้นฐานอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิตก็คือพยายามอยู่รอดให้ได้และเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อารมณ์อกุศลก็มีธรรมชาติคล้ายๆ กัน มันพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวมันเติบใหญ่และแพร่ขยายไปเรื่อยๆ มันจะสั่งให้เราทำทุกอย่างเพื่อเราจะได้จมอยู่ในอารมณ์นั้นนานๆ เวลาเราโกรธใคร บางครั้งเรากลัวว่าจะลืมโกรธเขา จึงต้องตอกย้ำ เช่น สักชื่อเขาไว้ที่แขนบ้าง เขียนชื่อติดกระจกในห้องนอนบ้าง เพื่อย้ำเตือนว่าไอ้นี่มันเลว จะต้องโกรธมันชั่วฟ้าดินสลาย

ในทำนองเดียวกัน เวลาเราเศร้า ความเศร้าจะบงการให้เราอยู่ในอำนาจของมันไปเรื่อยๆ สังเกตไหมเวลาเศร้าเราอยากฟังเพลงอะไร อยากฟังเพลงสนุกหรือเปล่า ไม่อยากหรอก เราอยากฟังเพลงเศร้า เพื่ออะไร เพื่อเศร้าหนักขึ้นๆ ถามว่าอะไรสั่งให้เราฟังเพลงเหล่านั้น ความเศร้ามันสั่ง มันสั่งใจเราว่าให้เปิดแต่เพลงเศร้าๆ มันจะได้ครองจิตใจเราไปนานๆ นี้คืออุบายของมัน

สุดท้ายมันก็จะบงการให้เราคอยปกปักรักษามันไม่ให้อ่อนแรง เวลาเราโกรธใครบางคน ถ้าหากมีเพื่อนแนะนำเราว่า ให้อภัยเขาไปเถอะ ความโกรธมันจะสั่งให้เราเล่นงานเพื่อนคนนั้นทันที เช่น ต่อว่าเขา หาว่าเขาเป็นพวกเดียวกับคนนั้น เขาไม่รักเราจริง ฯลฯ ความโกรธมันสั่งให้เราทำเช่นนั้น ก็เพราะมันรู้ว่าถ้าเราทำตามคำแนะนำของเขา คือให้อภัย ความโกรธก็จะจืดจางหรือเลือนหายไป


มีผู้หญิงคนหนึ่งเป็นห่วงแม่ซึ่งอายุ ๗๐ กว่า แม่เป็นคนที่นิสัยดี มีเมตตา แต่เวลาพูดถึงผู้ชายคนหนึ่งจะโกรธมาก พฤติกรรมจะเปลี่ยนไปเลย เหมือนกับเปลี่ยนเป็นคนละคน ไม่ใช่เหล้าเท่านั้น ความโกรธก็เปลี่ยนนิสัยคนได้ พอแม่นึกถึงหรือพูดถึงชายคนนั้นก็จะโกรธมาก เพราะอุตส่าห์ช่วยเหลือเขามากมาย แต่เขากลับเนรคุณ ส่วนลูกก็กลัวว่าสักวันหนึ่งแม่อาจจะเส้นเลือดในสมองแตก หรือกลัวว่าแม่จะไปอบายถ้าหากว่าตายไปโดยที่ยังมีความโกรธหรือความพยาบาทคาใจอยู่ ลูกจึงขอร้องแม่ว่าให้อภัยเขาไปเถิด เรื่องมันก็นานมาแล้ว ผ่านไปแล้วตั้ง ๓๐ ปี ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น

พอลูกแนะนำแม่เช่นนั้น แม่กลับโกรธลูก ราวกับว่าลูกจะมาแย่งชิงของรักของหวงไปจากแม่ ถามว่าความโกรธนี้น่าหวงแหนที่ไหน ถ้าลูกพยายามเอาที่ดิน เงินทอง เอาเพชรเอาพลอยไปจากแม่ ก็น่าโกรธ แต่สิ่งที่ลูกพยายามทำคือช่วยให้แม่หายโกรธ ความโกรธมันไม่ชอบที่ลูกพูดแบบนี้ จึงสั่งให้แม่ด่าลูก ตกลงแม่กลายเป็นองครักษ์พิทักษ์ความโกรธไปเสียแล้ว ทำทุกอย่างเพื่อให้ความโกรธครองใจอยู่ต่อไป

ความเศร้าก็เช่นกัน เวลาเศร้ามากๆ ถ้าเราเพียงแต่ออกไปเที่ยวบ้าง เปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนบรรยากาศบ้าง ความเศร้าก็จะคลี่คลายลง นี่คือสิ่งที่ความเศร้ากลัว ดังนั้นมันจึงสั่งเราว่า อย่าทำ อย่าไปเที่ยว ให้นั่งเจ่าจุกต่อไป ให้นึกถึงแต่เรื่องที่เศร้าต่อไป ความเศร้ามันจะได้ครองใจเราไปนานๆ จะได้หลงต่อไป หากมีใครมาชวนให้เราไปเที่ยว เรากลับจะไม่พอใจเขาด้วย

ไม่ว่าความเศร้า ความโกรธหรืออารมณ์อกุศลใดๆ ก็ตาม ไม่ใช่สิ่งที่น่าหวงแหนเลย แต่เป็นเพราะเราหลง ลืมตัว เราก็เลยหวงแหนมัน อันนี้เป็นเพราะเราปล่อยให้ความหลงบงการจิตใจเรา มันมีอุบายร้อยแปดที่หากเราไม่รู้ทัน มันก็จะครองจิตใจเราได้นาน

ธรรมชาติของมันอีกอย่างหนึ่งคือมันดื้อด้านมาก เวลาโกรธ เวลาเศร้า ยิ่งเราพยายามกดข่มมัน มันกลับยิ่งมีกำลัง ยิ่งมีอำนาจมากขึ้น

ลองสังเกตดู ความโกรธ ความเศร้า หรือความอยาก ถ้าเราพยายามกดข่มมัน มันไม่ได้หายไปไหน ยังคงอยู่ และอยู่แบบยั่งยืน แถมมีกำลังมากขึ้นด้วย หลายคนไม่ชอบเวลามีความโกรธหรือความเศร้าเกิดขึ้น รวมทั้งไม่ชอบนิสัยบางอย่าง เช่น ความเห็นแก่ตัว ความเจ้าอารมณ์ แต่มักใช้วิธีกดข่มมัน แต่กดข่มอย่างไรก็ไม่สำเร็จ เพราะว่ามันดื้อด้าน

ความคิดหรือความฟุ้งซ่านก็เช่นกัน เคยมีการทดลองให้อาสาสมัครนั่งอยู่ในห้องคนเดียว ผู้ทดลองบอกกับอาสาสมัครว่า เมื่ออยู่ในห้องนี้คุณจะคิดอะไรก็ได้ มีอย่างเดียวที่ห้ามคิดคือ หมีขาว ถ้าคุณนึกถึงหมีขาวเมื่อไหร่ให้กดกริ่งทันที ไม่ทันไรเสียงกริ่งก็ดังระงม เพราะอะไร ก็เพราะพอถูกสั่งว่าห้ามคิดถึงหมีขาว คนส่วนใหญ่กลับคิดถึงทันที ถ้าไม่ห้ามก็ไม่คิดถึง แต่พอห้ามก็คิดเลย จึงกดกริ่งกันใหญ่ ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ

มีการทดลองอีกคราวหนึ่ง ให้อาสาสมัครลองนึกถึงสิ่งที่ไม่ชอบหรือสิ่งที่รบกวนจิตใจ มาสักเรื่องหนึ่ง จากนั้นแบ่งอาสมัครเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งก่อนนอนให้พยายามกดข่มความคิดนั้น หรือพยายามบังคับจิตไม่ให้คิดเรื่องนั้น อีกกลุ่มหนึ่งปล่อยตามสบาย เมื่อตื่นนอนขึ้นมาก็ให้อาสาสมัครแต่ละคนเขียนถึงความฝันของตัว เขาพบว่าคนที่ได้รับคำสั่งให้กดข่มความคิดหรือเรื่องที่ไม่ชอบนั้น จะฝันถึงเรื่องเหล่านั้นมากกว่าคนที่ไม่ได้รับคำสั่งให้กดข่มความคิดเหล่านั้น นั่นหมายความว่า เมื่อพยายามไม่คิดถึงมัน พยายามกดข่มมันเอาไว้ มันไม่ได้หายไปไหน แต่ไปโผล่ในความฝันทันที

อารมณ์และความคิดเหล่านี้ฉลาดมากและดื้อด้านมาก แต่ก็มีจุดอ่อนคือมันกลัวการถูกรู้ถูกเห็น มันกลัวเรารู้ทัน ถ้าเรารู้ทันหรือเห็นมันเมื่อใด มันจะล่าถอยไป วูบไปทันที

เคยมีคนถามหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ซึ่งเป็นพระลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของหลวงปู่มั่น ใครๆ ก็เชื่อว่าท่านเป็นพระอรหันต์ วันหนึ่งมีคนถามหลวงปู่ว่า ทำอย่างไรถึงจะตัดความโกรธให้ขาดได้ หลวงปู่ตอบว่า “ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทัน เมื่อรู้ทันมันก็ดับไปเอง”

ถ้าเราเห็นว่าความหลงหรืออารมณ์อกุศลเป็นปัญหาที่ทำให้เราไม่พบความสุข ความสงบเย็น ก็ต้องหมั่นสร้างตัวรู้ หรือสติ ซึ่งช่วยให้เรารู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่ลืมตัว ทำให้เรามีเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับอารมณ์เหล่านี้ มันเป็นภูมิคุ้มกันจิตที่วิเศษมาก ร่างกายเรามีภูมิคุ้มกันที่คอยสู้กับเชื้อโรค จิตใจเราก็มีภูมิคุ้มกัน ชื่อว่าสติ สตินี้เองที่จะเพิ่มกำลังให้แก่ตัวรู้จนมีอานุภาพ สามารถรับมือ และเล่นงานจุดอ่อนของอารมณ์เหล่านี้ได้

Back to Top