จิตวิญญาณสหกรณ์ (๒): สานต่อให้ถูกต้อง



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 ตุลาคม 2560

เมื่อผู้ที่ทำงานสหกรณ์รู้ เข้าใจ และศรัทธาในอุดมการณ์ หลักการ แนวคิดและแนวปฏิบัติของสหกรณ์ เขาและเธอก็จะคิด พูด และทำงานสหกรณ์ด้วยจิตอาสา อย่างมีจิตสำนึกสาธารณะ คำนึงถึงประโยชน์สุขส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง จึงจะได้ชื่อว่าเป็นนักสหกรณ์ที่มีจิตวิญญาณสหกรณ์

ผู้บริหารสหกรณ์จึงควรต้องเป็น หรือพร้อมที่จะเป็นผู้เรียนรู้ เพื่อให้เป็นผู้รู้ ผู้เข้าใจ และศรัทธาในอุดมการณ์และหลักการของสหกรณ์ ทำงานด้วยการยึดมั่นในอุดมการณ์และหลักการของสหกรณ์ ไม่ใช่เข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง หรือสร้างอาณาจักรของตนเอง

สมาชิกสหกรณ์พึงต้องเรียนรู้ เข้าใจ และศรัทธาในอุดมการณ์และหลักการของสหกรณ์ เรียนรู้ เข้าใจ และปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่ของการเป็นสมาชิกตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์ ไม่ใช่เข้ามาเพียงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน เรียกร้องปันผลและเงินเฉลี่ยคืนสูงๆ เท่านั้น แต่ต้องรักษา ใช้สิทธิและหน้าที่ทั้งในฐานะสมาชิกและเจ้าของสหกรณ์

เครือข่ายสหกรณ์ทุกรูปแบบและทุกลักษณะต้องยึดมั่นในอุดมการณ์และหลักการของสหกรณ์ โดยเฉพาะการให้ความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือระหว่างกัน


หน่วยเหนือที่ทำหน้าที่ควบคุม กำกับ ดูแลสหกรณ์ จำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และมีความจริงใจในการทำงานกับสหกรณ์ภายใต้อุดมการณ์ หลักการ และแนวปฏิบัติของสหกรณ์ ที่รวมเรียกว่าจิตวิญญาณสหกรณ์อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่ในการควบคุม และกำกับสหกรณ์ด้วยการออกกฎเกณฑ์ที่ไปลดทอนศักยภาพของสหกรณ์ในการช่วยเหลือตนเอง การช่วยเหลือเพื่อนสหกรณ์ ชุมชนและสังคมในวงกว้าง แต่ควรดูแล ด้วยการออกกฎหมายหรือมาตรการที่จะเอื้อให้สหกรณ์ทุกประเภทและทุกขนาดสามารถทำงาน และพัฒนาสหกรณ์ให้เป็นไปตามอุดมการณ์และหลักการของสหกรณ์ได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนไป ตามศักยภาพของแต่ละสหกรณ์ มากกว่าการออกกฎหมายหรือมาตรการสกัดกั้นการทำงาน และความเจริญเติบโตของสหกรณ์ เพียงเพราะมีผู้บริหารบางคนของบางสหกรณ์ (ซึ่งเป็นส่วนน้อยนิด) ที่ขาดจิตวิญญาณสหกรณ์สร้างปัญหาขึ้นมา ซึ่งโดยหลักการก็ควรเข้าไปจัดการเฉพาะคน เฉพาะสหกรณ์ที่มีหรือสร้างปัญหา ไม่ใช่เอาปัญหาของคนหรือสหกรณ์ที่มีปัญหา มาสร้างปัญหาให้กับสหกรณ์ที่ไม่มีปัญหา

สหกรณ์ที่ไม่มีปัญหาน่าจะได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพให้สามารถปกครองตนเอง มีความเป็นอิสระ และมีความพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือสหกรณ์ที่มีปัญหาได้ ตามอุดมการณ์และตามหลักการของสหกรณ์ โดยเฉพาะหลักการข้อที่ ๔ (การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ) และ ๖ (ความร่วมมือระหว่างสหกรณ์) มากกว่าการออกมาตรการมาสกัดกั้นด้วยข้ออ้างว่าเพื่อป้องกันปัญหา

กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยเฉพาะผู้บริหารในทุกระดับ ต้องเป็นหรือพร้อมที่จะเป็นผู้เรียนรู้เพื่อให้เป็นผู้รู้ ผู้เข้าใจ และมีศรัทธาต่ออุดมการณ์และหลักการของสหกรณ์ ท่านต้องบริหารจัดการสหกรณ์อย่างผู้ที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณสหกรณ์ ไม่ใช่บริหารตามตัวอักษรเท่านั้น เพราะบริบทและสถานภาพของสหกรณ์แต่ละประเภทและแต่ละขนาดมีความแตกต่างกันออกไป ความท้าทายของผู้บริหารจึงอยู่ที่ว่า จะบริหารอย่างไรจึงจะ “ส่งเสริม” และ “เอื้ออำนวย” ให้สหกรณ์สามารถ “สร้างความสำเร็จ” ให้กับสหกรณ์ได้ภายใต้อุดมการณ์และหลักการของสหกรณ์ มากกว่าการ “สกัดกั้น” “อุดรูรั่ว” หรือการตาม “แก้ปัญหา”

โดยสรุป ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรหยุดใคร่ครวญทบทวนบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของตนเอง ทั้งในงานส่วนตน และงานส่วนที่ต้องสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผู้อื่นอย่างมีสติ และใช้ปัญญา แสวงหาแนวโน้มทางเลือกที่หลากหลาย เป็นไปได้ และพึงประสงค์ในอนาคต แล้วร่วมกันหาทางสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้น มากกว่าการติดกับดักอยู่กับการตามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต

การสร้างความสำเร็จที่พึงประสงค์ร่วมกัน มีคุณอนันต์มากกว่าการตามล่าหาแพะรับบาป การค้นพบความบกพร่องผิดพลาด หรือความล้มเหลวของผู้อื่น

สังคมไทยกำลังจะเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยในอนาคตอันใกล้ สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่พึงประสงค์ควรจะเป็นเช่นไร จึงจะเอื้อให้ทุกฝ่าย ทุกวัย อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขอย่างพอเพียง สหกรณ์ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญอย่างหนึ่งในสังคม จะมีบทบาทอย่างไรในการเอื้อและช่วยสร้างสังคมที่พึงประสงค์นั้นให้เกิดขึ้น

สังคมสุขภาวะ และสังคมใส่ใจดูแลและแบ่งปันกัน ผนวกกับสังคมสูงวัย เป็นโจทย์ที่ท้าทายและรอคอยให้เพื่อนๆ ชาวสหกรณ์ มารวมตัว ร่วมคิด มารวมใจ ร่วมทำ สานฝันให้สังคม ๓ส. (สูงวัย สุขภาวะ ใส่ใจดูแลและแบ่งปัน) เกิดเป็นจริงได้ในสังคมไทย

ผมอยากเห็นสหกรณ์ไทยเป็นต้นแบบหนึ่งของสหกรณ์สร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creative and Innovative Cooperatives) ให้กับสังคมโลกครับ

Back to Top