มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2548
ณ วันนี้ วันที่เทคโนโลยีเจริญเติบโตถึงขีดสุด ยังมีเหตุการณ์วิกฤตหลายต่อหลายเหตุการณ์บนโลก เช่น ภัยธรรมชาติ โรคระบาด การก่อความไม่สงบ ความขัดแย้งในสังคมและสงคราม ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรัง ประดุจความทุกข์ของมวลมนุษย์ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ชวนให้คิดเสมอๆ ว่า “ฤา ความรู้ของมนุษย์จะยังไม่เพียงพอ” แต่เมื่อไตร่ตรองดีๆ แล้ว ศาสตร์ต่างๆ อาจเพียงพอแล้วก็ได้ แต่มนุษย์เราอาจจะขาดความรู้อย่างอื่น ซึ่งก็คือ “ความรู้ในการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน”
ในหนังสือเรื่อง A History of Knowledge: Past, Present, and Future โดย ชาร์ลส์ แวน ดอเรน (Charles Van Doren) อดีตบรรณาธิการของสารานุกรมชื่อดัง Britannica ได้เขียนบรรยายความรู้และวิทยาการของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงแนวโน้มของความรู้ในอนาคต โดย แวน ดอเรน ได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง ความรู้ทั่วไปและความรู้เฉพาะเจาะจง รวมทั้งความรู้ที่พยายามเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างความรู้และความสุข (Relationship between Knowledge and Happiness) ทำให้ผู้อ่านได้เห็นความเพียรของมนุษย์ ในการศึกษาค้นคว้า เพื่อขจัดความไม่รู้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งการเตรียมการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาเดิมๆ เช่น ภัยธรรมชาติ โรคระบาด และสงคราม อย่างไรก็ตาม เราจะได้เห็นความรู้ชุดใหม่ๆ ในการเชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆ มากขึ้น ดังที่องค์กรหลายๆ กลุ่มทั่วโลก เช่น สถาบัน IONS (Institute of Noetic Sciences) และมหาวิทยาลัยนาโรปะ สหรัฐอเมริกา กำลังสนใจ ในเรื่องของจิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) อันจะเป็นการแก้ไขวิกฤตการณ์ปัญหาใหญ่ๆ ในปัจจุบัน
โดยเฉพาะโลกในตะวันตกนั้น มีการศึกษาในเรื่อง จิตวิญญาณ (Spirituality) กันอย่างจริงจัง มีการศึกษาเชื่อมโยงกับศาสตร์ต่างๆ รวมทั้งมีการเขียนและตีพิมพ์หนังสือที่เกี่ยวกับจิตสำนึกใหม่มากมาย เช่น หนังสือเรื่อง Paths beyond Ego โดย โรเจอร์ วอลฌ์ (Roger Walsh) และ ฟรานเซส วอฮาน (Frances Vaughan) ซึ่งพูดถึงการวิจัยในด้านจิตสำนึกที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญกันทั่วโลกในขณะนี้ เช่นเรื่องการเจริญเติบโตทางด้านจิตใจของมนุษย์ การบำบัดและการแปรเปลี่ยน ความฝัน วิทยาศาสตร์และจิตวิญญาณ ปรัชญา ความรัก ประสบการณ์ใกล้ตาย การรับใช้ และนิเวศวิทยา
หรือหนังสือเรื่อง The Quantum and the Lotus : A Journey to the Frontiers Where Science and Buddhism Meet ที่เป็นการสนทนาระหว่าง มัธธิเยอร์ ริคาร์ (Matthieu Ricard) นักบวชทิเบตอดีตนักเคมีและ ตรินฮ์ ซวน ธวน (Trinh Xuan Thuan) นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง บนโจทย์ที่ว่า “จริงหรือที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถตอบรับกับความต้องการทางจิตวิญญาณของมนุษย์ที่จะหยุดความทุกข์ และความเข้าใจในตัวตนของมนุษย์” และ “จะเป็นไปได้อย่างไรในการที่จะให้ค้นหาความหมายของจิตวิญญาณในเชิงศาสนาเมื่อวิทยาศาสตร์เป็นแหล่งความรู้แหล่งเดียวบนโลก” ริคาร์ บอกว่าทั้งวิทยาศาสตร์และพุทธเข้าหาความจริงบนทางที่แตกต่างกัน ธวนเห็นด้วยกับความคิดที่มนุษย์ต้องการความรู้ทางจิตวิญญาณพอๆ กับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เมื่อเราได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะได้อ่านเรื่อง บิ๊กแบง (Big Bang) กลศาสตร์ควันตัม ธรรมชาติของเวลา คอมพิวเตอร์และความคิด และธรรมชาติของจิตสำนึก ซึ่งล้วนมีธรรมชาติของความสัมพันธ์ ธวนบอกว่า การเกิดของสะเก็ดดาวในจักรวาล ทำให้สรรพสิ่งล้วนมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน ทั้งมนุษย์ สัตว์โลก และพืชไพร เราต่างเชื่อมโยงกันผ่านห้วงของเวลาและสถานที่
นอกจากนี้ยังมีหนังสือที่คลาสสิกยาวนานกว่า ๑๐ ปี ได้แก่เรื่อง Transformations of Consciousness โดย เคน วิลเบอร์ (Ken Wilber) ที่ผสมผสานเรื่องจิตวิทยาและจิตวิญญาณเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของมนุษย์ ด้วยถ้อยคำพื้นฐานที่เข้าใจง่าย เชื่อมโยงวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน หลุดพ้นจากพันธนาการด้วยจิตวิญญาณที่เติบใหญ่ เป็นคู่มือสำหรับหลายต่อหลายคนทั่วโลก
รวมทั้งหนังสือที่กล่าวขวัญกันยาวนานอีกเล่มชื่อ The Global Brain Awakens โดย ปีเตอร์ รัสเซลล์ (Peter Russell) นักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่กล่าวถึงภาวะคุกคามสรรพชีวิตบนโลก อันเกิดจากมายาและภาพลวงตา โดยเชื่อมโยงเรื่องกายวิภาคและสังคมศาสตร์ รวมทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่และศาสตร์โบราณต่างๆ เข้าด้วยกัน รัสเซลล์อธิบายถึงศักยภาพของมนุษย์ในการมองเห็นที่มากกว่าการมองเห็นด้วยตา โดยผ่าน “จิตสำนึก” ทำให้สามารถเชื่อมโยงมวลมนุษย์เข้าด้วยกันเหมือนเซลล์สมอง ผ่านการสื่อสารและเครือข่ายต่างๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างเป็นรูปธรรม
เหล่านี้เป็นหนังสือที่กลุ่มจิตวิวัฒน์ได้รวบรวมขึ้น และได้รับความอนุเคราะห์จากห้องสมุดประชาชนแสงอรุณในการดูแลหนังสือ โดยผู้ที่สนใจสามารถขอยืมอ่านได้จาก ห้องสมุดประชาชนแสงอรุณ เลขที่ ๖๔ ซ.สาธร ๑๐ ถ.สาธรเหนือ เขตบางรัก กรุงเทพฯ โทรศัพท์ ๑-๒๒๓๗-๐๐๘๐ ต่อ ๑๐๑ ทุกวันจันทร์-เสาร์ ตั้งแต่ ๐๙.๐๐-๑๘.๐๐ น.
ยังมีหนังสือที่น่าอ่านและน่าศึกษาอีกมากมายหลายร้อยเล่ม ซึ่งผู้เขียนไม่สามารถยกขึ้นมาได้ทั้งหมด จึงอยากเชิญชวนผู้ที่สนใจ สมัครเป็น Book Reviewer หรือผู้ถอดบทเรียนหนังสือ โดยมาร่วมอ่านร่วมเรียนรู้กับกลุ่มจิตวิวัฒน์ เพื่อเป็นก้าวต่อก้าวในการสั่งสมความรู้และศาสตร์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างเชื่อมโยงกัน อันจะสร้างความเข้าใจและความสุขให้กับพี่น้องเพื่อนพ้องมนุษยชาติบนโลกแห่งความแตกต่างนี้ ได้ในราคาถูก
หากท่านสนใจสามารถขอรายชื่อหนังสือและสอบถามรายละเอียดได้ที่โครงการจิตวิวัฒน์ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ๑๑๖๘ ถนนพหลโยธิน ๒๒ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐ โทรศัพท์ ๐๒-๕๑๑-๕๘๕๕
แสดงความคิดเห็น