โดย
เดวิด สปินเลน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 สิงหาคม 2549
ผมมาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๙๖๒ ตอนนั้นผมไม่คุ้นกับถ้อยคำหรือความคิดเรื่องการเสียหน้า เมื่อได้ยินเรื่องนี้ ผมจะสงสัยว่าจริงๆ แล้วผู้คนหมายถึงอะไรกันแน่เมื่อพวกเขาพูดว่าบางคนเสียหน้า คนเหล่านั้นเก้อเขินในสิ่งที่พวกเขาพูดหรือกระทำเช่นนั้นหรือ พวกเขาละอายใจที่ได้กระทำผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย หรือทุจริตเช่นนั้นหรือ
ในเวลา ๔๔ ปีนับแต่ผมเดินทางมาถึง ผมได้ใช้ชีวิต ทำงาน และเกษียณตัวเองหลังจากอยู่ในเอเชียนาน ๓๑ ปีเต็ม เนื่องจากผมได้เปลี่ยนแปลงไป มีวุฒิภาวะและตระหนักถึงสภาวะทางจิตวิญญาณของตนเองมากขึ้นปีแล้วปีเล่า มุมมองของผมในเรื่องการเสียหน้าจึงเปลี่ยนแปลงไปด้วย ประสบการณ์เรื่องเสียหน้าครั้งหนึ่งในชีวิตของผม แม้ว่าผมจะไม่เคยใช้ถ้อยคำนี้ก็ตาม เกิดขึ้นเมื่อผมอายุสิบขวบ ในตอนนั้น (ปลายทศวรรษที่ ๔๐) โรงภาพยนตร์ท้องถิ่นจะฉายภาพยนตร์คาวบอยเป็นพิเศษสำหรับเด็กๆ โดยเฉพาะในบ่ายวันเสาร์ และผมชอบดูภาพยนตร์เหล่านั้น อย่างไรก็ตาม ในวันเสาร์ที่พิเศษนี้ พ่อกับแม่ไม่เคยให้เงินผมไปดูภาพยนตร์เลย ราคาตั๋วภาพยนตร์สำหรับเด็กคือ ๑๕ เซนต์ ซึ่งอาจมีมูลค่าเทียบเป็นเงินไทยในสมัยนั้นแค่ไม่กี่สลึง เช้าวันนั้นผมไปเล่นที่บ้านลูกพี่ลูกน้อง โดยที่รู้ว่าเขามีกระปุกออมสินรูปหมูตัวเล็กๆ ใบหนึ่งซึ่งผมเรียกว่าธนาคารหมูน้อย ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งผมจัดการเขย่าเหรียญ ๑๕ เซนต์ออกมาจากกระปุกใบนั้นโดยที่ลูกพี่ลูกน้องของผมไม่ทันสังเกตเห็น จากนั้นผมจึงหาข้ออ้างเพื่อขอตัวกลับ แต่ความจริงแล้วไปดูภาพยนตร์ เมื่อผมกลับถึงบ้านช้ากว่าที่ควรจะเป็น พ่อกับแม่ถามว่าผมไปไหนมา หลังจากกุเรื่องขึ้นมา ๒-๓ เรื่อง ในที่สุดผมยอมรับว่าไปดูภาพยนตร์มา เมื่อพวกท่านคาดคั้นผมให้บอกว่าเอาเงินมาจากไหน ผมยอมรับในที่สุดว่าเอามาจากลูกพี่ลูกน้องของผม พ่อกับแม่พาผมกลับไปที่บ้านหลังนั้นทันที ท่านให้ผมยอมรับว่าเอาเงินไปและกล่าวคำขอโทษ จำได้ว่าผมร้องไห้แล้วร้องไห้อีกด้วยความละอาย ต่อมาพ่อกับแม่พาผมไปที่โบสถ์คาทอลิก (พวกท่านเป็นคาทอลิกที่เคร่งครัดมาก) และให้ผมสารภาพบาปกับบาทหลวง ประสบการณ์อันเจ็บปวดยิ่งนี้สอนบทเรียนที่สำคัญบทหนึ่งให้กับผมว่า เมื่อคุณทำบางสิ่งผิดพลาด คุณต้องยอมรับสิ่งนั้นกับตัวคุณเองก่อนและกับผู้อื่นในเวลาต่อมา
พวกเราทุกคนที่ทำผิดพลาดจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยอมรับผิด สารภาพ และแก้ไข หรือชดใช้ความผิดพลาดเหล่านั้น นั่นคือสิ่งที่ผู้ใหญ่หรือมนุษย์ที่มีวุฒิภาวะพึงกระทำ ในพิธีมิซซา ทุกๆ คนรวมทั้งบาทหลวงจะสวดภาวนาร่วมกันว่า ข้าฯ ของขอสารภาพต่อพระบิดาและพี่น้องว่า ข้าฯ เป็นคนบาป เมื่อเร็วๆ นี้ผมพบข้อความนี้จากพระสูตรซึ่งดูเหมือนจะกล่าวถึงบางสิ่งคล้ายๆ กันว่า สัตว์ทั้งหลายล้วนวิกลจริต (สัพเพ สัตตา อุมมัตตะกะ) พระพุทธองค์ยังสอนว่าเราทั้งหลายเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เหตุแห่งทุกข์คือความเห็นแก่ตัว ความเป็นตัวกูของกู
นี่คือสิ่งที่ผมเข้าใจได้อย่างยากลำบากว่า พวกเราคือคนบาป วิกลจริต และเพื่อนร่วมทุกข์ คุณเสียหน้าจากการยอมรับสิ่งนี้อย่างไรได้ ในการปฏิบัติแบบเซน อาจารย์เซน (โรชิ) จะถามลูกศิษย์เสมอๆ ว่า แสดงใบหน้าเดิมแท้ของพวกเธอก่อนที่จะเกิดให้ฉันเห็นหน่อยเถิด ในนิกายเซน ใบหน้าเดิมแท้ก็คือพุทธภาวะนั่นเอง แน่นอนว่า พวกเราไม่ตระหนักถึงใบหน้าเดิมแท้เนื่องจากพวกเราได้กลืนตัวเองเข้ากับหน้ากากที่สวมใส่อยู่ โดยคิดว่านี้คือใบหน้าที่แท้จริง คุณไม่รู้หรือว่าฉันคือใคร ฉันคือซีอีโอผู้มั่งคั่ง! ฉันมาจากครอบครัวนี้! ฉันจบจากมหาวิทยาลัยนี้! ฉันเป็นเจ้าของแมนชั่นแห่งนี้และรถเบนซ์คันนี้ ฉันเป็นนายกรัฐมนตรี ฉันเป็นนายพล ฉันเป็นดาราภาพยนตร์ เมื่อหน้ากากกลายเป็นตัวตนของคุณ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคุณไม่สามารถเสียหน้าได้ ถ้าคุณเชื่อว่าหน้ากากของคุณคือคนที่คุณเป็นจริงๆ เมื่อมันถูกถอดออก คุณจะรู้สึกเหมือนแตกออกเป็นเสี่ยงๆ เนื่องจากพบความว่างเปล่าที่อยู่เบื้องหลังมัน หากคุณถอดหน้ากากที่แสนจะเปราะบางและผ่านความว่างเปล่านั้นเข้าสู่ใบหน้าเดิมแท้ของคุณ พุทธภาวะของคุณ คุณไม่จำเป็นจะต้องสวมหน้ากากใดๆ เลย
ให้ผมเล่าเรื่องย่อๆ เกี่ยวกับการเสียหน้ากับคุณอีกสักเรื่องหนึ่ง มันเป็นเรื่องจริงและมีรายละเอียดที่ชัดเจนแม่นยำ ผมรู้เพราะมันเป็นเรื่องราวของผมเอง เช้าวันหนึ่งเมื่อต้นปี ๑๙๘๐ ผมตื่นขึ้นมาในโรงแรมราคาถูกแห่งหนึ่งบนถนนสุรวงศ์ กรุงเทพฯ ผู้หญิงที่ผมอยู่ด้วยทั้งคืน จากไปพร้อมกับขโมยเงินทั้งหมดของผมไปด้วย ผมรู้สึกไม่สบายเนื่องจากดื่มเหล้ามากเกินไป คนส่วนใหญ่จะรู้จักผมในฐานะบุรุษที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งผู้หนึ่ง มีการศึกษาดีเยี่ยม ได้เหรียญตราจากกองทัพ มีงานการที่ดี และอื่นๆ ผมเข้าไปในห้องน้ำ มองลึกเข้าไปในดวงตาของผมในกระจกและอาเจียน ผมอาเจียนเพราะผมได้ถอดหน้ากากออกและเห็นสิ่งที่ผมเป็นจริงๆ ผมสูญเสียความเคารพและสำนึกในเกียรติของตนเองอย่างสิ้นเชิง ผมละอายใจต่อตัวเองที่สุด ผมเสียหน้าหรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือผมถอดหน้ากากออก นี่เป็นขั้นตอนแรกที่ยากยิ่งในการหยุดโกหกตัวเอง จากนั้นในขั้นตอนที่สองซึ่งยากพอๆ กัน ผมไปพบแพทย์และบอกความจริงว่า ผมมีปัญหาเรื่องติดเหล้า เมื่อผมกลับไปทำงานที่กรุงวอชิงตัน คุณหมอได้แนะนำให้ผมเข้ารับการรักษา เพื่อจะทำสิ่งนี้ ผมต้องไปสารภาพปัญหากับหัวหน้า เป็นการเสียหน้าครั้งที่สอง ผมกลับไปวอชิงตันและเข้าร่วมโปรแกรมการปรับเปลี่ยนนิสัยสำหรับผู้ป่วยนอก (outpatient rehabilitation program) เป็นเวลาหนึ่งปี รวมทั้งยังเข้าร่วมประชุมกลุ่มสุรานิรนาม (Alcoholics Anonymous - AA) อย่างสม่ำเสมออีกด้วย ในขั้นตอนแรกของโปรแกรมที่ประสบความสำเร็จอย่างมากนี้ คุณต้องปฏิญาณตามนี้ว่า ข้าพเจ้าขอสารภาพว่า ข้าพเจ้าไร้พลังที่จะต่อกรกับเครื่องดื่มมึนเมาและไม่สามารถจัดการชีวิตของตนเองได้
ปัจจุบันเมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัย ผมคิดว่าสำหรับหลายๆ คน บางทีอาจจะสำหรับคนส่วนใหญ่ ถ้าพวกเขาต้องการเป็นมนุษย์ที่แท้ ต้องการเห็นใบหน้าเดิมแท้ของตนเอง พวกเขาจะต้องรู้จักเสียหน้า จำไว้ว่าถ้าคุณไม่ต้องการเผชิญกับความรู้สึกผิด ละอายใจ และเก้อเขินของการถอดหน้ากากออก แน่ใจได้เลยว่าเมื่อคุณตาย หน้ากากของคุณจะถูกถอดออกไปอยู่ดี คุณจะเลือกเสียหน้าแต่ตอนนี้หรือรอจนเมื่อคุณตายเสียก่อนล่ะ
อีกอย่างหนึ่ง ในวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๙ นี้ จะเป็นวันครบรอบ ๒๖ ปีที่ผมไม่ได้ดื่มเหล้าอีกเลย ถ้าผมไม่เสียหน้าในตอนนั้น ตอนนี้ผมคงตายไปแล้วอย่างแน่นอน
แสดงความคิดเห็น