เปลี่ยนแปลงสังคมและตนเองผ่านงานเขียน



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 พฤษภาคม 2553

ความผาสุกของสังคมใดก็ตามมิได้ขึ้นอยู่กับการมีระบอบเศรษฐกิจการเมืองที่ก้าวหน้าเท่านั้น หากยังขึ้นอยู่กับคุณภาพของผู้คนด้วย จริงอยู่คุณภาพของผู้คนนั้น ด้านหนึ่งขึ้นอยู่กับระบบเศรษฐกิจการเมืองสังคมที่แวดล้อมตัวเขา แต่อีกส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับคุณค่าที่สังคมนั้นยึดถือร่วมกันจนเป็นวัฒนธรรมของสังคม หากวัฒนธรรมของสังคมหรือคุณค่าที่ผู้คนยึดถือนั้นเป็นไปเพื่อส่งเสริมความเห็นแก่ตัว การเอารัดเอาเปรียบหรือแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกัน คุณภาพของผู้คนก็ถดถอยและบั่นทอนสังคมให้อ่อนแอ จนนำไปสู่วิกฤตต่าง ๆ มากมาย

สังคมไทยวันนี้กำลังถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมสองกระแสใหญ่ ๆ ซึ่งอาตมาขอเรียกว่าวัฒนธรรมแห่งความละโมบ และวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง วัฒนธรรมแห่งความละโมบนั้นได้ปลุกกระตุ้นให้ผู้คนถือเอาวัตถุเป็นสรณะ มีชีวิตเพื่อการเสพสุข เพราะเชื่อว่าความสุขจะได้มาก็ด้วยการเสพและครอบครองวัตถุ ยิ่งมีมากเท่าไรก็เชื่อว่าจะมีความสุขมากเท่านั้น ภายใต้วัฒนธรรมดังกล่าว ผู้คนจึงมีความต้องการอย่างไร้ขีดจำกัดและไม่รู้จักพอ ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกันอย่างกว้างขวาง นำไปสู่ช่องว่างที่ถ่างกว้างระหว่างผู้คน ตอกย้ำความไม่เป็นธรรมในสังคม ทำให้การทุจริตคอรัปชั่น และอาชญากรรมนานาชนิดแพร่ระบาด รวมทั้งก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ขณะเดียวกันวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง ได้ปลุกเร้าให้ผู้คนเป็นปฏิปักษ์ต่อกันเพียงเพราะมีความแตกต่างทางความเชื่อ ศาสนา อุดมการณ์ ชาติพันธุ์ รวมทั้งสถานะทางสังคม ความกลัวและความหวาดระแวง ทำให้มองผู้ที่คิดต่างจากตนเป็นศัตรู ทุกวันนี้การแบ่งฝักฝ่ายขยายตัวจนกระทั่งมองเห็นคนที่ใส่เสื้อคนละสีกับตน เป็นคนเลว เพราะปักใจเชื่อล่วงหน้าเอาไว้แล้วว่า มีแต่คนเลว ไม่รักชาติ เหยียดหยามประชาชน อกตัญญูต่อสถาบันเท่านั้น ที่สวมใส่เสื้อสีนั้น ๆ หรือสมาทานความเชื่อทางการเมืองที่ผูกติดกับสีนั้น ต่างฝ่ายต่างติดป้ายติดฉลากให้แก่กันจนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ผลก็คือพร้อมที่จะห้ำหั่นประหัตประหารกัน

หากวัฒนธรรมแห่งความละโมบ แวดล้อมอยู่ที่คำว่า กิน กาม เกียรติ วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง ก็รวมศูนย์อยู่ที่คำว่า โกรธ เกลียด กลัว ทั้ง ๖ ก. นี้กำลังบ่อนทำลายสังคมไทยและกัดกินจิตวิญญาณของผู้คนอย่างไม่เคยมีมาก่อน ในสภาพเช่นนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันเสริมสร้างพลังทางจิตวิญญาณให้แก่ผู้คน เพื่อต้านทานการครอบงำของวัฒนธรรมสองกระแสใหญ่ดังกล่าว ด้านหนึ่งก็ด้วยการฟื้นฟูคุณค่าอันดีงามเพื่อให้ประชาชนยึดถือและเป็นหลักในการดำเนินชีวิต แต่เท่านั้นย่อมไม่พอ หากควรส่งเสริมให้ผู้คนได้เข้าถึงความสุขทางจิตใจ อันเป็นความสุขที่ประณีตและประเสริฐกว่าความสุขทางวัตถุ ผู้ที่เข้าถึงความสุขดังกล่าวนอกจากจะไม่หวั่นไหวต่อการเย้ายวนของกิน กาม เกียรติแล้ว ยังพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เพราะประจักษ์แก่ใจว่า การให้ความสุขแก่ผู้อื่น ย่อมทำให้ตนมีความสุขด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นการลดละความยึดติดถือมั่นใน “ของกู” จึงทำให้จิตใจเบาสบาย สงบเย็น

ควบคู่กับการส่งเสริมให้ผู้คนเข้าถึงความสุขทางจิตใจ ก็คือการส่งเสริมให้ผู้คนมีสติรู้เท่าทันความโกรธ-เกลียด-และกลัวในใจ รวมทั้งเห็นถึงโทษของความยึดติดถือมั่นในอุดมการณ์ ซึ่งนอกจากทำให้จิตใจคับแคบแล้ว ยังทำให้เกิดทิฏฐิมานะหนาแน่น จนอัตตาครองใจ ไม่เพียงทำให้ตนมีความทุกข์เท่านั้น หากยังสามารถก่อความทุกข์นานัปการแก่ผู้อื่น รวมทั้งการทำลายล้างกัน เมื่อใดก็ตามที่มีสติ ความโกรธ-เกลียด-กลัวย่อมครองใจได้ยาก ทำให้สามารถเห็นความเป็นมนุษย์ของผู้ที่อยู่คนละฝ่ายกับตน เห็นความทุกข์ของเขา เห็นแม้กระทั่งความดีของเขา เมื่อนั้นก็พร้อมจะให้อภัยและสามารถให้ความรักความเมตตากับเขาได้ เพราะถึงที่สุดแล้วเขาก็เป็นเพื่อนที่รักสุขเกลียดทุกข์เช่นเดียวกับเรา แม้จะยังมีความขัดแย้งกันอยู่จะเป็นเพราะความแตกต่างทางด้านความคิดหรือผลประโยชน์ก็ตาม แต่ก็จะแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ยิ่งกว่าที่จะใช้ความรุนแรงต่อกัน

อาตมาตระหนักดีว่า หากปรารถนาสังคมที่สงบสุข จำเป็นต้องขับเคลื่อนให้มีการเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความเสมอภาค ยุติธรรม และเป็นประชาธิปไตย แต่การเปลี่ยนแปลงสังคมมิได้มีแต่มิติด้านการเมืองเศรษฐกิจเท่านั้น มิติทางจิตวิญญาณก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน จะว่าไปแล้วมิติทั้งสองแยกจากกันไม่ออก จิตวิญญาณของผู้คนมิอาจเจริญงอกงามได้หากอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจการเมืองที่เลวร้าย ในทางกลับกันระบบเศรษฐกิจการเมืองย่อมไม่อาจเจริญงอกงามได้หากจิตวิญญาณของผู้คนถดถอย อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ของสองมิติดังกล่าวมักจะถูกมองข้ามไป ทำให้การเปลี่ยนแปลงสังคมในปัจจุบันละเลยมิติด้านจิตวิญญาณ ส่วนผู้ที่ใส่ใจกับมิติด้านจิตวิญญาณก็มักจะไม่สนใจสังคม หมกมุ่นอยู่กับเรื่องเฉพาะตน ด้วยเหตุนี้สิ่งหนึ่งที่อาตมาพยายามทำก็คือการเชื่อมโยงทั้งสองมิติให้ประสานกัน

แน่นอนว่าในฐานะพระภิกษุ ย่อมไม่มีอะไรดีกว่าการพยายามนำพาผู้คนให้ตระหนักถึงมิติด้านจิตวิญญาณ และช่วยกันเสริมสร้างพลังทางจิตวิญญาณเพื่อขับเคลื่อนชีวิตและสังคมให้เป็นไปในทางที่ดีงาม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการกระตุ้นเชิญชวนให้ผู้คนเห็นศักยภาพภายในที่สามารถนำพาตนให้บรรลุถึงอิสรภาพทางจิตใจได้ ขณะเดียวกันก็เปิดมุมมองเพื่อให้เห็นคุณงามความดีและความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามร่วมกันโดยสันติวิธี เมื่อคำนึงถึงความสามารถที่มีอยู่อาตมาได้เลือกเอาการเขียนหนังสือเป็นหนทางหนึ่งในการบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว อาตมาเชื่อว่าภารกิจดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะในยามที่ผู้คนพากันประดิษฐ์ถ้อยคำห้ำหั่นกัน ใส่ร้ายป้ายสี หรือกระตุ้นความเกลียดชังกันอยู่ในขณะนี้ สิ่งที่สังคมไทยต้องการก็คือถ้อยคำที่เชิญชวนให้ผู้คนมีเมตตาต่อกัน เข้าใจความทุกข์ของกันและกัน รวมทั้งเชื่อมั่นในพลังแห่งความรักยิ่งกว่าพลังแห่งความโกรธเกลียด

ชีวิตการเขียนของอาตมาเริ่มก่อนมานานก่อนที่จะอุปสมบท นั่นคือเมื่อ ๓๘ ปีก่อน เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยม เช่นเดียวกับคนหนุ่มสาวทั้งหลายที่ตื่นมารับรู้ถึงปัญหานานาชนิดที่เกาะกินบ้านเมืองเวลานั้น อาตมาปรารถนาที่จะเห็นสังคมไทยมีความยุติธรรม เสมอภาค เป็นประชาธิปไตย จึงใช้งานเขียนเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นมโนธรรมสำนึกของผู้คนให้ตื่นตัวมารับใช้สังคม ควบคู่กับการวิพากษ์สังคม ความปรารถนาที่จะเห็นสังคมเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีงาม เอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อทุกชีวิต เป็นความปรารถนาพื้นฐานที่ผลักดันให้เกิดงานเขียนออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่งานเขียนก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ควบคู่กันไปก็คือการทำกิจกรรมทางสังคม ไม่ว่างานสิทธิมนุษยชน สันติวิธี อนุรักษ์ธรรมชาติ ทั้งนี้เพราะอาตมาไม่ได้ถือตัวว่าเป็นนักเขียน หากเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมมากกว่า แม้เมื่ออุปสมบทแล้ว จะเปลี่ยนบทบาทไป แต่ก็ไม่ทิ้งงานเขียนและงานกิจกรรมอีกหลายอย่าง เป็นแต่ว่าระยะหลังจุดเน้นได้เปลี่ยนไป มาให้ความสำคัญกับมิติทางจิตวิญญาณหรือประเด็นทางศาสนธรรมมากขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่ขาดหายไปมากในขบวนการเปลี่ยนแปลงสังคม

การได้บวชเป็นพระภิกษุและบำเพ็ญภาวนา หันมามองตนอย่างจริงจัง ทำให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมกับการเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน ดุลยภาพระหว่างงานภายนอกกับงานภายในเป็นสิ่งจำเป็น ที่ช่วยให้กิจกรรมทางสังคมเป็นไปเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง มิใช่เพื่อสนองอัตตาของตนเอง ขณะเดียวกันก็ทำให้มีความสงบเย็นเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจให้มีความสุข ไม่หวั่นไหวกับโลกธรรม และไม่ยี่หระต่อสิ่งเย้ายวนหรือยั่วยุ ไม่ว่ากิน กาม เกียรติ รวมทั้งไม่พลัดตกไปในความโกรธ-เกลียด-กลัวด้วย

ความเข้าใจดังกล่าวยังทำให้อาตมาเห็นชัดว่า การทำงานเพื่อสังคมกับการฝึกฝนพัฒนาตน มิใช่เป็นสิ่งที่ต้องแยกออกจากกัน พูดอย่างท่านอาจารย์พุทธทาสก็คือ “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม” ด้วยเหตุนี้จากเดิมที่เคยมองว่าการเขียนหนังสือเป็นปฏิบัติการทางสังคมอย่างหนึ่ง บัดนี้ได้เห็นกว้างขึ้นว่าการเขียนยังเป็นการปฏิบัติธรรมด้วยในเวลาเดียวกัน จริงอยู่การเขียนนั้นมองในแง่หนึ่งก็คือการประกาศตัวตน แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นการฝึกฝนพัฒนาตนด้วยในเวลาเดียวกัน เมื่อคน ๆ หนึ่งเขียนหนังสือ เขาได้นำเอาความคิดความรู้สึกที่อยู่ภายในออกมาสู่ที่สาธารณะ ให้ผู้คนได้รับรู้และวิพากษ์วิจารณ์ นักเขียนที่ดีย่อมต้องเปิดใจกว้างรับฟังคำวิจารณ์ มิใช่รับแต่คำชื่นชมสรรเสริญเท่านั้น แต่จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องลดทิฐิมานะหรือลดความยึดติดถือมั่นใน “ตัวกูของกู” ให้ได้มากที่สุด หรืออย่างน้อยก็ต้องมีสติรู้ทันความกระเพื่อมของใจเมื่อได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ นี้คือกระบวนการฝึกฝนตนอย่างหนึ่งที่ช่วยลดอัตตาได้มาก

ครั้งหนึ่งท่านอาจารย์พุทธทาสเคยเขียนถึงศรีบูรพาว่า “การปฏิบัติธรรมนั้น ที่แท้ก็คือการประพันธ์นั่นเอง” มองในอีกแง่หนึ่ง คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า “การประพันธ์นั้นที่แท้ก็คือการปฏิบัติธรรมนั่นเอง” ในข้อนี้อาตมาประทับใจคำพูดประโยคหนึ่งของ โรเบิร์ต ฟรอสต์ กวีชาวอเมริกันซึ่งเตือนใจได้ดีมาก เขากล่าวไว้ว่า “การศึกษาคือความสามารถในการฟังสิ่งต่าง ๆ ได้โดยไม่เสียความรู้สึกหรือเสียความมั่นใจในตนเอง” นี้คือทัศนะของการศึกษาซึ่งใกล้เคียงกับพุทธศาสนามาก กล่าวคือบัณฑิตหรือผู้มีการศึกษาย่อมต้องวางใจเป็นปกติต่อคำวิจารณ์ได้ แม้อาตมาจะยังไม่สามารถทำได้อย่างที่ว่า แต่ก็ตระหนักว่าบัณฑิตหรือผู้มีการศึกษาตามนัยนี้แหละที่อาตมาควรก้าวไปให้ถึง โดยมีงานเขียนเป็นหนทางหนึ่งในการพัฒนาตนไปถึงจุดดังกล่าว

(บางส่วนจาก “สุนทรกถาในโอกาสรับรางวัลศรีบูรพา”เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์)

Back to Top