เจ็ดขวบปี สุนทรียสนทนา
ปลอดภัย เปราะบาง เปลี่ยนแปลง

โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 กรกฏาคม 2550

เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สถาบันขวัญเมืองได้รับโอกาสให้ไปนำเสนอเรื่องราวการทำงานผ่านสุนทรียสนทนาในช่วง ๗ ปีที่ผ่านมาในวงสนทนาประจำเดือนของกลุ่มจิตวิวัฒน์ ทำให้พวกเรา มี วิศิษฐ์ วังวิญญู นพ.วิธาน ฐานะวุฒฑ์ และผู้เขียน ได้ใคร่ครวญร่วมกันในหลายแง่มุม โดยในที่นี้ ผู้เขียนจะขอเสนอแง่มุมของตนเองในฐานะที่เป็นกระบวนกรสุนทรียสนทนา

หากมองย้อนกลับไปในช่วง ๗ ปีที่ผ่านมา พวกเราได้พัฒนางานสุนทรียสนทนาขึ้นมาอย่างเข้มข้นและใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ เปรียบได้กับคนสวนที่ใส่ใจกับเหตุปัจจัยที่จะทำให้ต้นไม้และสวนเติบโต พวกเราช่วยกันเฝ้ามองว่ามีเหตุปัจจัยอะไรบ้างที่จะช่วยหล่อเลี้ยงให้จิตวิญญาณของเราเองและเพื่อนมนุษย์ในสังคมงอกงามไปพร้อมๆ กันในยุคสมัยที่ท้าทายเช่นนี้

จริงๆ แล้วก่อนหน้าที่ผู้เขียนจะมาสนใจงานของ เดวิด โบห์ม ผู้เขียนสนใจกระบวนการเรียนรู้แนวชนเผ่าพื้นเมืองและแนวสันติวิธีในสำนักต่างๆ ที่มีมิติความศักดิ์สิทธิ์และจิตวิญญาณ เพราะในวิถีของชนเผ่าบางเผ่าในอเมริกาเหนือ การนั่งล้อมวงฟังเสียงของกันและกันอย่างใส่ใจนั้น เปรียบเสมือนการรับฟังเสียงของบรรพบุรุษและเสียงของแผ่นดินแม่ที่มีชีวิต เรียกได้ว่าเป็น สภาแผ่นดิน (Earth Council) ที่สติปัญญาของมนุษย์นั้นไม่ได้มาจากเพียงการนั่งคิดร่วมกัน แต่มาจากการเปิดโอกาสให้กับญาณทัศนะที่ดำรงอยู่ในข่ายใยแห่งชีวิตอันยิ่งใหญ่ไม่มีประมาณ

แม้ชาวคริสตชนเควกเกอร์ (Quaker) ที่เชื่อเรื่องสันติวิธีหรือความไม่รุนแรงและความเสมอภาค ก็มีวิธีการเข้าโบสถ์ที่ต่างจากจารีตอื่นๆ กล่าวคือ จะนั่งรวมกันในความเงียบ ฟังเสียงของความเงียบ แล้วหากมีความรู้สึกนึกคิดอันใดที่ผ่านเข้ามาในใจและอยากจะบอกกล่าว ก็ให้ลุกขึ้นพูด เมื่อพูดจบก็นั่งลง แล้วความเงียบก็กลับคืนสู่โบสถ์อีกครั้งหนึ่ง คล้ายๆ กับการรอเสียงพระเจ้าหรือจิตใหญ่ที่จะพูดผ่านเราในภาษามนุษย์นั่นเอง

มาภายหลัง เมื่อพวกเราได้นำเอางานของ เดวิด โบห์ม มาศึกษา ก็เห็นว่าปฏิบัติการทางความคิดและการสื่อสารนั้นมีความสำคัญยิ่งต่อวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ ดังที่ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ได้กล่าวว่า ทุกวันนี้ หากเทียบกันแล้ว ปฏิสัมพันธ์ที่ผู้คนมีต่อกันส่วนใหญ่คือการสนทนา คือวจีกรรม จะทุกข์หรือสุขก็ขึ้นอยู่กับการสื่อสารและสนทนากัน การทำงานหรือบริหารงานส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่ต้องผ่านการประชุม เพื่อนำไปสู่ปฏิบัติการร่วมกันอย่างเป็นทีม หากคุยกันไม่เป็นทีมแล้วจะหวังถึงการทำงานเป็นทีมอย่างมีพลังนั้นเห็นจะยาก ส่วนกายกรรมนั้นก็เป็นไปในเรื่องการงานเสียมากกว่า เพราะเราก็ไม่ได้ทำร้ายกันทางกายสักเท่าไร ส่วนใหญ่จะเป็นทางคำพูดและความคิด (มโนกรรม) จะอยู่ร่วมอย่างแบ่งแยกหรือบรรสานนั้นล้วนผ่านสองทางดังกล่าวเป็นหลัก

การทำงานกับสุนทรียสนทนา (Dialogue) ชวนให้เรากลับมาดูว่า เราพูดคุยกันอย่างไร ไม่เพียงแต่ใส่ใจว่าเราคุยกันเรื่องอะไร หรือมีข้อสรุปอย่างไร สาระเชิงกระบวนการที่สำคัญ ที่ทางสถาบันขวัญเมืองได้พัฒนาขึ้นมาเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปงอย่างเป็นสมุหภาพนั้น คือ สภาวะ ๓ ป. คือ ปลอดภัย เปราะบาง เปลี่ยนแปลง

ความปลอดภัย เป็นความต้องการพื้นฐานของชีวิต มนุษย์ต้องการมากกว่าความปลอดภัยทางกาย เราอาจอยู่รอดได้ ไม่มีภัยคุกคามทางกาย (โดยเฉพาะในองค์กรทั่วไป) แต่อาจไม่ปลอดภัยทางใจ นั่นคือยังอาจเกรงกลัวการถูกทำให้ด้อยค่า เสียหน้า อับอาย หรือถูกพิพากษาให้เป็นสิ่งต่างๆ ที่ตนไม่ได้เป็น การเรียนรู้จะเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติได้เมื่อผู้คนรู้สึกได้ถึงความปลอดภัยนี้

ในการจัดการความรู้แบบสถาบันขวัญเมืองนั้นจำต้องดูแลความลดหลั่นทางสังคม (Social Hierarchy) ที่มีแนวโน้มกดทับมากกว่าเกื้อหนุนการเรียนรู้ โดยพยายามสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง มีความมั่นใจ วางใจ และเชื่อมั่น ซึ่งถือเป็นประตูบานแรกในการก้าวผ่าน โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยที่มีปัญญาเชิงปฏิบัติสั่งสมอยู่ในตัวแต่ไม่กล้าแสดงออก ในแง่หนึ่งนี่เป็นความพยายามถอดถอนสิ่งที่ผู้คนเรียนรู้มาอย่างผิดๆ จากอดีต เช่น ความรู้สึกกลัวการถูกลงโทษ หรือให้คะแนนติดลบ หรือถูกเปรียบเทียบ และการแข่งขันแบบเอาตัวเองรอดและไร้ความกรุณา ซึ่งเป็นอุปสรรคขวางกั้นการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติของมนุษย์

เมื่อเกิดความปลอดภัยและเชื่อมั่นแล้ว สุนทรียสนทนายังช่วยหล่อเลี้ยงให้เกิดความใกล้ชิดสนิทสนม ไปจนถึงความผูกพัน เสริมแรงบวกของสมองชั้นกลางของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกและสัมพันธภาพแล้ว สมองชั้นนอกก็จะเปิดกว้าง สร้างสรรค์ เกิดนวัตกรรมการเรียนรู้มากมายในพื้นที่หรือวัฒนธรรมกลุ่มที่ปลอดภัย

และเมื่อพูดถึงความรู้ เรามักคิดว่าเป็นสิ่งที่แยกออกจากความสัมพันธ์ เป็น “สิ่ง” ที่ดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศ เช่น อยู่ในตำรับตำราหรืออยู่ในผู้คนที่เราจะสามารถดึงออกมาใช้งานได้ แต่ในสมมติฐานที่ว่า สรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงและเป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน ความรู้ก็มีเงื่อนไขการดำรงอยู่ไม่ต่างกัน คือเป็นไปตามเหตุปัจจัยของความสัมพันธ์ เราสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ อย่างไร จะส่งผลต่อมุมมองหรือความเข้าใจที่เรามีต่อสิ่งต่างๆ อย่างนั้น นอกจากนี้ สัมพันธภาพยังส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนความรู้ของผู้คนในองค์กรหรือสังคมอีกด้วย

ความรู้อันเกิดมาแต่ความใกล้ชิดสนิทสนม (Intimate knowledge) ระหว่างคนในองค์กรเป็นสิ่งที่หาได้ยาก ท่ามกลางการแบ่งแยก ความลดหลั่น และช่องว่างทางสังคม ภายใต้โครงสร้างองค์กรแนวดิ่ง มีส่วนทำให้ผู้คนสัมพันธ์กันอย่างผิวเผิน ห่างเหิน โดยยึดเอากรอบคิดแบบระบบมาตรฐานและผู้เชี่ยวชาญนิยมเป็นสรณะ ในภาวการณ์เช่นนี้ การที่จะสร้างสรรค์ให้บรรยากาศแห่งการเรียนรู้ได้ฟื้นคืนกลับมานั้นจึงต้องการสัมพันธภาพที่ดีเป็นสำคัญ ดังที่ มาการ์เร็ต วีทเล่ย์ ได้กล่าวว่า มนุษย์มักจะเลือกแบ่งปันความรู้แก่กันและกันในสัมพันธภาพที่ดี กล่าวโดยง่ายก็คือ เราเลือกคุยกับคนที่เราชอบหรือไว้วางใจนั่นเอง

เมื่อเราได้สัมพันธ์กับโลกอย่างใกล้ชิด เราจะได้เรียนรู้โลกทัศน์หรือมุมมองและความเชื่อที่แตกต่างหลากหลาย และเมื่อความเชื่อเดิมที่เรายึดมั่นอย่างตายตัวมาตลอดถูกท้าทาย ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะเปราะบาง ที่อาจทำให้รู้สึกหมิ่นเหม่ ไม่มั่นใจ อึดอัด ปั่นป่วน โกลาหล ซึ่งถือเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นได้ก่อนการแปรเปลี่ยนด้านใน ทั้งนี้การเรียนรู้ที่สำคัญจะเกิดขึ้นเมื่อเราสืบค้นเข้าไปในโลกภายในของเราเอง จนเห็นข้อจำกัด หรือจุดบอด หรือมุมมืดภายในที่เรามองไม่เห็นมาก่อนนั่นเอง เราไม่สามารถบังคับหรือใช้อำนาจในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านในของผู้คนได้ แต่เราเชื้อเชิญและช่วยสร้างโอกาสเหล่านี้ได้
ดังนั้น ภารกิจหลักคือการโฮส (เป็นเจ้าภาพ) หรือดูแลพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ยอมรับความปลอดภัย เปราะบาง และเปลี่ยนแปลง โดยเจ้าภาพช่วยทำหน้าที่เชื้อเชิญให้ผู้คนได้มาหันหน้าเข้าหากัน เปิดใจเรียนรู้จากกันและกันด้วยความเคารพ ในขณะที่บรรยากาศหลักของสังคมปัจจุบันคือการแก่งแย่งแข่งขัน การสื่อสารเชิงลบที่กระตุ้นความวิตกกังวลและความกลัว พื้นที่ของสุนทรียสนทนาจึงเป็นเสมือนบ่อน้ำในทะเลทราย ที่นิ่งใส สงบเย็น ปลอดภัย ดังที่คำว่า HOST อาจขยายความได้เป็น Human Oasis for Spiritual Transformation หรือ แอ่งน้ำเพื่อความงอกงามแห่งจิตวิญญาณมนุษย์

โดยหากเราร่วมกันสร้างพื้นที่เหล่านี้ขึ้นมาในสังคม ให้เป็นที่ที่ผู้คนสามารถหันหน้าเข้าหากัน สื่อสารและสัมพันธ์กันได้อย่างแท้จริง ตามวาระเรื่องราวที่แต่ละคนถือว่าสำคัญอย่างแท้จริงในชีวิต รับฟังและใส่ใจในกันและกันได้อย่างเกื้อกูล อารยธรรมแห่งการเรียนรู้ผ่านการสนทนาของสังคมยุคใหม่ก็อาจได้รับการฟื้นฟูให้เกิดขึ้นได้ และไม่เป็นเพียงตำนานที่เราโหยหา หรือดำรงอยู่ในเพียงบางเสี้ยวส่วนของสังคมอีกต่อไป

Back to Top