โดย
วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 มีนาคม 2556
ในระยะหลังหรือในการจัดงานกระบวนการรุ่นใหม่ๆ ผมจะให้ความสำคัญกับ “ทางลัด” เป็นพิเศษ หากจะถามว่า ด้วยเหตุใดหรือจึงให้ความสำคัญกับทางลัด คงตอบได้หลายประเด็นเลยทีเดียว ประการแรก การเรียนรู้ในแนวทางนี้ แม้ดูเหมือนจะเป็นการเรียนแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ช่วงที่เกิดการเรียนรู้จริงๆ มันเป็นไปอย่างฉับพลัน มันจะเข้าใจเข้าถึงแบบทันทีทันใด แต่มันจะมาถึงการเรียนรู้แบบฉับพลันไม่ได้ หากไม่มีการบ่มเพาะมาก่อน คือ “บ่มเพาะ” กับ “ฉับพลัน” มันมาอยู่ด้วยกัน มันเป็นคู่กัน หากไม่บ่มเพาะ ก็จะไม่มีการเรียนรู้แบบระเบิดออกมา แบบเข้าถึงอย่างฉับพลันเกิดขึ้น คือคำสองคำนี้มีความหมายแย้งกัน แต่ต้องอยู่ด้วยกัน กระบวนการเรียนรู้อย่างนี้จึงจะเกิดขึ้นได้
ถ้าพูดเปรียบเทียบกับเรื่องของสมอง เราทุกคนมีฮาร์ดแวร์หรือโครงสร้างหลักๆ พื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน หากพูดโดยย่นย่อ ก็อาจจะพูดแบบประสานผสมวิทยาการข้ามแขนงได้ว่า มนุษย์เรามีฮาร์ดแวร์อย่างที่จะตรัสรู้ได้เลย ปลดตัวเองให้มีอิสระ ประสบความสำเร็จและมีความสุขได้เลย แต่มันยังไม่ใช่ฮาร์ดแวร์อย่างที่ตรัสรู้มาแล้ว มันเป็นเพียงฮาร์ดแวร์อย่างที่มีศักยภาพจะปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระได้เท่านั้น แล้วอะไรเป็นอุปสรรค อะไรเป็นตัวเอื้อล่ะ เพื่อที่เราจะเดินไปในเส้นทางแห่งการปลดปล่อยนั้น
พื้นฐานคือความเป็นปกติ
เราอาจเริ่มบ่มเพาะให้เกิดความเป็นปกติ ด้วยความเข้าใจทางสมองที่มีโหมดปกติกับโหมดปกป้องนั้น สมองได้มีโครงสร้างที่จะรับรู้ภัยอันตรายเอาไว้อยู๋แล้ว โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่อมิกดาลาในสมองชั้นกลางซึ่งไวมาก และตั้งค่าไว้ที่ความระแวงระวังตลอดเวลา เราจึงตื่นตัวตลอดเวลาที่มองเห็นว่าอะไรเป็นภัย อีกนัยหนึ่ง เราจะระแวงระวังคนอื่นตลอดเวลาด้วย แม้เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม แม้จะไม่มีภัยอันตรายมากมายขนาดนั้นแล้วก็ตาม
เชื่อมโยงการปฏิบัติธรรมกับความรู้เรื่องสมอง
นอกจากนี้ ความรู้เรื่องสมองเกี่ยวกับระบบประสาทอัตโนมัติ จะมีสองวงจร คือ ซิมพาเธติค (sympathetic) กับ พาราซิมพาเธติค (parasympathetic) โดยวงจรซิมพาเธติคจะเป็นตัวเร่ง ตัวคันเร่ง ที่จะไปเร่งเร้าให้ร่างกายตื่นตัว พร้อมต่อการเผชิญภัยอันตรายต่างๆ ส่วนพาราซิมพาเธติคจะเป็นตัวคลายออก ทำให้ระบบต่างๆ ช้าลง เหมือนเบรก หรือการผ่อนคันเร่ง ที่จริงวงจรทั้งสองต้องทำงานผสานกันอย่างพอดี แต่แล้ว ความที่แนวโน้มของจิตจะมุ่งไปในทางหวาดระแวง มันก็จะออกแนวคิดลบอย่างน้อยๆ ไปจนถึงคิดลบอย่างใหญ่หลวง เมื่อแนวโน้มของสมองจะคิดไปทางลบอยู่แล้ว พร้อมจะเห็นเรื่องลบๆ ก่อประกอบเรื่องลบๆ ขึ้นมาอยู่แล้ว ก็ไม่ยากที่จะทึกทักให้เรื่องอะไรต่ออะไรกลายเป็นเรื่องลบใหญ่ๆ ขึ้นมา
ที่จริงพาราซิมพาเธติคนี้เป็นระบบประสาทที่ดีมาก กระบวนการปฏิบัติธรรมทั้งหมดล้วนเป็นการเพิ่มพาราซิมพาเธติคทั้งนั้น เพียงรู้ตัว ดำรงอยู่กับปัจจุบัน การหายใจด้วยกระบังลมก็ใช่ การหายใจออกยาวๆ ก็ใช่ การหาวก็ใช่ การคลายลิ้นก็ใช่ การกำหนดรู้อยู่กับกายทุกอย่างก็ใช่ การปฏิบัติธรรมทั้งหมดจึงเป็นการบ่มเพาะให้เราสามารถกลับมาดำรงอยู่ในความเป็นปกติ นับว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก
ความสนิทชิดเชื้อ
โครงสร้างทางชีวะและระบบประสาทของมนุษย์นั้นสร้างมาให้มนุษย์ดำรงอยู่ร่วมกัน ดังจะเห็นได้จากวิวัฒนาการของสัตว์ ที่ยิ่งวิวัฒน์สูงขึ้น ก็ยิ่งดำรงอยู่ร่วมกันมากขึ้น เรียนรู้ร่วมกันมากขึ้น เกื้อกูลกันในครอบครัว ชุมชน และสังคม บางทีผมฟันธงได้เลยว่าพื้นฐานในความเป็นมนุษย์คือการดำรงอยู่ร่วมกัน หรืออยู่อย่างเป็นสมุหภาพ หรือที่เรียกว่าชุมชน คือเมื่อมนุษย์ดำรงอยู่อย่างเป็นปัจเจก หลายครั้งที่คิดอะไรไม่ออก หากได้ตั้งวงสนทนา เราก็คิดเรื่องนั้นๆ ได้ ยิ่งได้มาศึกษาจิตวิทยาสายคาร์ล จุง ยิ่งได้ค้นพบความเป็นไปของการดำรงอยู่ร่วมกันมากขึ้น แน่นอนปัจเจกภาพย่อมมีอยู่ แต่เหนือกว่านั้นก็ยังมีสมุหภาพใช่หรือไม่?
ตัวขับเคลื่อน
ตัวขับเคลื่อนหรือเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้ให้เกิดสภาวะการเรียนรู้ที่ดีที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด (Optimum Learning State) ผมเห็นอยู่สองชนิด ซึ่งหากติดตั้งได้แล้ว เครื่องก็จะเดินไปได้เอง
เครื่องหนึ่งคือ ความเป็นองค์กรจัดการตัวเอง อันนี้เป็นไปในระดับปัจเจก แต่เงื่อนไขเบื้องต้นที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเช่นนี้ได้ ยังต้องอาศัยเครื่องยนต์ตัวที่สอง
เครื่องที่สองก็คือ การเชื่อมต่อ การต่อท่อกับอีกคนหนึ่งอย่างสนิทชิดเชื้อ อย่างรับรู้ในกันและกันแบบสมองซีกขวาต่อสมองซีกขวา คือแบบใจถึงใจ ที่เซลล์กระจกในสมองจะสะท้อนกันและกัน เหมือนเข้าถึงลึกๆ ภายในของกันและกัน ต้องมีการฟังอย่างจูนรับความเป็นไปทั้งหมด (attuned listening) ไม่เพียงฟังเฉพาะถ้อยคำเท่านั้น การสื่อสารก็สื่อจากสมองซีกขวา อันเป็นภาษาของอารมณ์ความรู้สึก ภาษาที่เข้าถึงได้ด้วยตัวตนทั้งหมดของเรา
เมื่อเครื่องทั้งสองนี้ทำงานเต็มพิกัดของมันแล้ว ชีวิตเราก็สบายขึ้น เครื่องทั้งสองก็จะขับเคลื่อนไปเอง อันนี้เรียกว่าทางลัดหรือเปล่า?
ความทรงจำแฝงเร้น
ความทรงจำแฝงเร้นนี้เองที่ทำให้เครื่องจักรตัวที่สองไม่ทำงาน
ทำไม? ความทรงจำแฝงเร้น (implicit memory) นี้ มาจากบาดแผลหรือปมในอดีต อันเกิดจากแบบแผนความสนิทชิดเชื้อ (attachment) ทั้งแบบแผนความสัมพันธ์แบบมั่นคง หรือที่ให้ความมั่นคงทางจิตใจได้ (secure attachment) กับแบบแผนความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคง (insecure attachment) ซึ่งมีอยู่สามแบบแผน แบบแรกคือ แบบหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์ หรือตัดความสัมพันธ์ (avoidance attachment) กล่าวคือคนใกล้ชิดที่น่าจะสนิทสนมกัน แม้จะรัก แต่ก็ไม่ได้ต่อติดสมองซีกขวากับซีกขวา หรือไม่ได้เปิดรับอารมณ์ความรู้สึก เพื่อจะปฏิสัมพันธ์อย่างตอบสนองต่อความรู้สึกในทุกขณะได้อย่างเป็นปัจจุบัน แบบที่สองคือ ความสัมพันธ์แบบต่อท่อได้บ้าง ไม่ได้บ้าง (anxious attachment) เวลาที่ไม่ได้ก็คือช่วงเวลาที่คนใกล้ชิดนั้นกำลังตกไปอยู่ในโหมดปกป้อง ที่ไม่สามารถจะจูนการรับรู้อย่างพร้อมตอบสนองได้ สุดท้ายเป็นแบบแผนที่เลวร้ายที่สุด เกิดจากคนดูแลที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และทำร้ายเด็ก (disorganized attachment หรือ chaotic attachment) จะทำให้เด็กอยู่ในความกลัว แต่ก็ไม่อาจไม่พึ่งพาผู้ใหญ่คนนั้นๆ ได้
สำหรับวัฒนธรรมและความเป็นไปของผู้คนในยุคสมัยนี้ คงมีน้อยมากที่จะได้รับแบบแผนความสัมพันธ์อย่างมั่นคง เพราะฉะนั้น เครื่องจักรตัวที่สองจะเดินไปได้ ก็ต้องเยียวยาความเจ็บปวดที่เกิดจากแบบแผนความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคงเหล่านี้
ความทรงจำแฝงเร้นเมื่อมันเข้ามา มันไม่ได้มีป้ายบอกเวลากำกับว่าเกิดที่ไหนเมื่อไร แต่เมื่อมีอะไรมากระตุ้น มันก็โผล่หัวออกมาอาละวาด อย่างเป็นปัจจุบัน และมันมาจากจิตไร้สำนึก ทำให้กลายเป็นว่าเราจะรู้สึกเลวร้ายต่อโลกไปทั้งหมด ต่อผู้คนไปทั้งหมด เรามองโลกบิดเบี้ยวไปทั้งหมด ที่เกิดจากความรู้สึกแย่ๆ ที่ไม่มีราก ไม่มีที่มา (เพราะเราไม่อาจรับรู้) แต่มาแปะกับทุกๆ เรื่องราวที่เข้ามาในชีวิตของเรา
การเยียวยาความทรงจำแฝงเร้น จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เครื่องยนต์เครื่องที่สองทำงานได้ และหากเครื่องที่สองยังทำงานไม่ได้ เครื่องที่หนึ่งก็ไม่อาจทำงานได้เช่นกัน
แสดงความคิดเห็น