ถ้า...เป้าหมายชีวิตคือความสุขที่พอเพียง



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 มีนาคม 2556

ปัญหาของคนส่วนใหญ่ทั่วโลกที่ถูกครอบงำด้วยระบบคิดและวิถีปฏิบัติของ “เศรษฐกิจเสรีทุนนิยม” คือการมุ่งแสวงหาความเกินพอดี

นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงทั้งที่เปิดเผยและแอบแฝง ภายใต้วาทกรรมอำพรางที่ฟังแล้วดูดี มีเหตุผล เช่น การแข่งขันเสรี (ที่ผู้ได้เปรียบ สร้างกฏ กติกา รักษาความได้เปรียบอย่างเป็นระบบ) มาตรฐานสากล (ที่ประเทศได้เปรียบกำหนดให้ประเทศต่างๆ ต้องยอมรับและทำตาม ซึ่งเป็นที่มาของวลี “ฟรีแต่ไม่แฟร์”) คุณภาพชีวิตและความปลอดภัย (ของประเทศที่เจริญกว่าใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันประเทศที่ด้อยกว่า) ...

ปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกในทุกระบอบสังคม เกิดจากการดิ้นรนอย่างขาดสติ เพื่อความเกินพอดี มากเข้าไว้ ใหญ่อย่างต่อเนื่อง ทำให้เฟื่องฟู มุ่งสู่ความเป็นที่หนึ่ง พึ่งพิงและติดกับดักเงินตรา แสวงหาและรักษาอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง ทั้งสิ้น

ลองมาพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมที่ครอบงำไปทั่วโลก

การเมือง มุ่งเน้นการเอาชนะฝ่ายตรงกันข้ามหรือคู่แข่ง เพื่อจะได้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ฝ่ายค้านจะได้ไม่มีพลังมากพอที่จะตรวจสอบและถ่วงดุล นักการเมืองจำนวนหนึ่งไหลไปรวมกันตามผลประโยชน์ อำนาจ และเงินตรา แบบเกินความพอเพียงทั้งสิ้น แล้วใช้วาทกรรมอำพรางให้เคลิ้มตามว่า “รวมเพื่อชาติ” “เพื่อให้ประเทศเดินไปได้ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย”

การเลือกตั้ง (ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย+ทุนนิยม) มีการ (ลงทุน) ใช้เงินมหาศาล มีการโจมตีและพยายามทำลายคู่แข่งในทุกรูปแบบ เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งอ้างความเป็นผู้นำเรื่องประชาธิปไตย ใช้เงินจำนวนมากอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งคล้ายกันในทุกประเทศที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย และโดยเฉพาะที่เมืองไทย นักการเมืองและพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งลงทุนเพื่อหวังจะได้มาซึ่งอำนาจ แล้วเข้ามาฉกฉวยผลประโยชน์ ใช้เงินภาษีของประชาชน และทรัพย์สมบัติของชาติ ในลักษณะที่บิดเบือน ยึกยัก และทึกทักเสมือนหนึ่งว่าเป็นเงินและทรัพย์สมบัติของรัฐบาลหรือของตนเอง

ทำให้การเมืองกลายเป็นธุรกิจการเมือง ลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนสูงสุด มีการใช้อำนาจในการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม มีการคอร์รัปชั่นทางนโยบาย และบ่อยครั้งมีการโกงกินทั้งซึ่งหน้าและลับหลัง

หากการเมืองเป็นเช่นที่เป็นอยู่ และถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย เราน่าจะต้องหาระบบอื่นที่ดีกว่าปัจจุบัน ที่สามารถคัดกรองหรือสะกัดกั้นไม่ให้คนไม่ดีเข้ามามีอำนาจ ในขณะเดียวกัน ต้องเป็นระบบที่สามารถคัดกรองและสนับสนุนให้คนดีเข้ามาทำหน้าที่

ด้านเศรษฐกิจ ก็มุ่งเน้นการแข่งขัน เพื่อหวังผลกำไรสูงสุด ทุ่มเทโฆษณา ประชาสัมพันธ์สรรพคุณของสินค้าเกินจริง มากกว่าคุณภาพที่แท้จริงของตัวสินค้า เช่นเครื่องดื่มบำรุงกำลัง อาหารเสริมชนิดต่างๆ สินค้าแบรนด์เนมทั้งหลาย ที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ การขาดจิตสำนึกสาธารณะ หวังลดต้นทุนของตนเองเพื่อผลกำไร ด้วยการปล่อยหรือนำของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตออกสู่ลำคลอง แม่น้ำ และที่สาธารณะอย่างไม่มีความรับผิดชอบ

การศึกษาและสื่อ แทนที่จะช่วยเตือนสติ ให้สติ กับประชาชน ก็กลับไปตอบสนอง “ทุนนิยม” อย่างขาดสติ ยัดเยียดข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ ภายใต้แนวคิดและวิถีปฏิบัติของระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมแบบไม่ฉุกคิด จึงมุ่งเน้นแต่การแข่งขัน (เอาชนะผู้อื่น) ยกเว้นการเอาชนะกิเลสตัณหาของตนเอง

ทั้งหมดเป็นผลของความคิดความเชื่อของคนในกระแส (ทุน) โลกาภิวัตน์ ที่กำลังวิ่งไปสู่โลกาวิบัติ

หากยังคิดและทำตามกระแส เราก็จะประสบกับปัญหาที่สลับซับซ้อนมากขึ้น จนถึงจุดวิกฤตในที่สุด

ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า “ปัญหาหนึ่งใด ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีคิด (จิตสำนึก) ระดับเดียวกับที่สร้างปัญหานั้นขึ้นมา...เราจำเป็นต้องมีวิถีคิดแบบใหม่อย่างแท้จริงหากมนุษย์ปรารถนาที่จะอยู่รอด”

และที่สำคัญเราจะต้องมีสติ ไม่สับสนปนเประหว่างการแก้ปัญหาที่คำนึงถึงผลระยะสั้นกับผลกระทบระยะยาว ระหว่างผลประโยซน์เฉพาะคนเฉพาะกลุ่มกับผลประโยชน์สาธารณะ ระหว่างการแก้ไขปัญหาหรือความล้มเหลวในอดีตกับการสร้างความสุขความสำเร็จในอนาคต

ถึงเวลาที่เราต้องมาช่วยกันคิดเพื่อสร้างระบบการเมือง เศรษฐกิจ และการศึกษา โดยการนำปรัชญาพอเพียงของในหลวงมาเป็นพื้นฐานการพัฒนาอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง แล้วเผยแพร่ไปทั่วโลก

สิ่งที่ยากที่สุด ท้าทายมากที่สุด คือการเปลี่ยนความคิดความเชื่อของคน ด้วยการทำให้คนเรียนรู้เท่าทันทั้งแนวคิดและวิถีปฏิบัติของระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ตลอดจนเรียนรู้ปรัชญาพอเพียง เพื่อให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างมีความสุขบนพื้นฐานของความพอเพียง

ระบบการศึกษาเป็นระบบแรกที่จำเป็นจะต้องมีการปฏิรูป ไม่ใช่เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ แต่เพื่อให้รู้เท่าทันตนเอง ผู้อื่น สังคมไทย สังคมโลก และสรรพสิ่ง

การให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างและพัฒนาคน โดยเฉพาะการเรียนรู้ผ่านระบบการศึกษาและสื่อสารมวลชน จึงต้องเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือ ช่วยกันคิดช่วยกันทำ

หากเราสามารถเปลี่ยน (Transform) ฐานความคิดความเชื่อของคนผ่านระบบการศึกษาในทุกรูปแบบ ประเภท และระดับการศึกษา จากการถูกครอบด้วยแนวคิดและแนวปฏิบัติของทุนนิยม ไปสู่แนวคิดและแนวปฏิบัติของความพอเพียงได้ คนเหล่านี้ก็จะมีส่วนร่วมในการสร้างและพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และระบบต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์คนและสังคมให้มีความสุขบนฐานของปรัชญาพอเพียงของพ่อหลวงของปวงชาวไทย

เพื่อนำไปสู่...เป้าหมายของชีวิตคือ ความสุขที่พอเพียง

Back to Top