กล้าที่จะสอน (The Courage to Teach)



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

ในที่สุด หนังสือ กล้าที่จะสอน ที่ พาร์คเกอร์ พาล์มเมอร์ เขียน ก็ได้รับการตีพิมพ์ในภาษาไทย (โดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา) และออกวางตลาดแล้ว หลังจากที่หลายคนรอคอยมาหลายปี หนังสือเล่มนี้ พาล์มเมอร์เขียนมาจากประสบการณ์ของความเป็นครูที่ยาวนานถึง ๓๐ ปี และใช้เวลาเขียนถึง ๑๐ ปี เรียกได้ว่าเป็นการเจียระไนประสบการณ์มาเป็นเรื่องเล่าและแนวคิดที่มีพลังอย่างยิ่ง

เมื่อผมได้เปิดอ่านเมื่อหลายปีก่อนถึงกับวางไม่ลงเลยทีเดียว เพราะเขียนได้อย่างเปิดเผยและลงลึกถึงแก่นแท้ความเป็นมนุษย์ของตัวเอง และความเป็นครู รวมทั้งนำเสนอมุมองที่ลึกซึ้งในเรื่องการสอนที่สร้างความมนุษย์ ซึ่งผมคิดว่าเป็นหนังสือเล่มสำคัญในการนำเสนอทางออกให้กับการปฏิรูปการศึกษาของสังคมโลกอย่างเป็นรูปธรรม (ทำได้จริง) และรักษาจิตวิญญาณเดิมแท้ของการศึกษาไว้ได้อย่างสง่างาม

หัวใจสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือ การฟื้นฟูและหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ของครู ที่อาจตกหล่น เหือดหายไปในระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นเพียงแต่เป้าหมายเชิงรูปธรรม ผลลัพธ์ที่วัดผลได้เท่านั้น และการเติบโตทางวิชาชีพ

พาล์มเมอร์พูดถึงหัวใจความเป็นมนุษย์ที่รู้จักและเข้าใจสิ่งที่ตัวเองเป็น รวมทั้งความใฝ่ฝันและ เป้าหมายของตัวเอง (identity) และมีความซื่อตรงต่อตัวเอง (integrity) โดยกล้าใช้ชีวิตตามความเชื่อ ความฝันและแรงบันดาลใจภายใน อย่างไม่กดข่มเพื่อสยบยอมกับระบบการศึกษาที่กำลังเป็นไปอย่างลุ่มหลงเมามันกับวัตถุภายนอกโดยละเลยคุณค่าของจิตใจ

นอกจากนั้น พาล์มเมอร์ก็ยังพูดถึงตัววิชาความรู้และกระบวนการเรียนรู้ที่จำต้องได้รับการปรับปรุงฟื้นฟู โดยเอา “ชีวิต” หรือ “สิ่งที่เรียน” เป็นตัวตั้ง มากกว่า “ข้อมูล” เกี่ยวกับ “สิ่งที่เรียน” ที่เราเรียกว่า “ความรู้” เป็นตัวตั้ง ยิ่งอิทธิพลของแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่ถือเอาเหตุผลและสิ่งที่วัดผล จับต้องได้ทางรูปธรรมเป็นตัวตั้งในระบบการศึกษา ก็ยิ่งทำให้ผู้เรียนมอง “สิ่งที่เรียน” ว่าเป็นเพียง “วัตถุ” หรือ “วิชา” มากกว่าการเข้าถึงแก่นสารของสิ่งที่ศึกษา จนถึงกับต้องตัดเอา “ความรู้สึก” ส่วนตัวออกไปจากกระบวนการเรียนรู้แทบทุกแขนงเลยทีเดียว เมื่อไม่รู้สึกก็ไร้ความสัมพันธ์ เมื่อไร้ความสัมพันธ์ ชีวิตก็แบ่งแยกและแห้งแล้ง

ในหัวข้อข้างต้น มีรายละเอียดที่ลึกซึ้งมาก แต่ผู้เขียนคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องทำความเข้าใจ หากเราต้องการฟื้นฟูหรือปฏิรูปการศึกษาให้กลับมามีพลัง มีส่วนร่วม มีชีวิตชีวา และส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนค้นพบศักยภาพภายในตัวเอง และรู้ตำแหน่งหน้าที่ รวมถึงคุณค่าที่ตัวเองมีต่อสังคมอย่างถ้วนหน้า อย่างไม่เลือกเฟ้นเฉพาะ “เด็กเก่ง” แบบ “แพ้คัดออก” แล้วสร้าง (แล้วทิ้ง) เด็กที่รู้สึกด้อยค่าที่กลายเป็นเหยื่อจำนวนมากของระบบการศึกษา

เรื่องที่สาม ที่ผมคิดว่าสำคัญไม่แพ้สองหัวข้อแรก คือการสร้างชุมชนและองค์กรที่ส่งเสริม หล่อเลี้ยง การเรียนรู้ของครูและนักเรียน ที่มีการบริหารจัดการที่เป็นมิตร สร้างสรรค์และเป็นธรรม มากกว่าการบริหารจัดการแบบอำนาจนิยมที่ยึดเอาวาระของตัวเองเป็นหลักและไม่พยายามรับรู้ความต้องการของครู

อุปสรรคในเรื่องวัฒนธรรมและการบริหารจัดการขององค์กรแบบเก่านี้ พบได้หลากหลาย ไม่จำเพาะองค์กรทางการศึกษาเท่านั้น องค์กรประชาชน ภาครัฐและภาคธุรกิจอื่นๆ ก็มีลักษณะโครงสร้างอำนาจคล้ายๆ กัน และก่อให้เกิดผลกระทบคล้ายๆ กัน นั่นคือสร้างช่องว่างในความสัมพันธ์และปิดกั้นการสื่อสาร แบ่งพรรคแบ่งพวก ปกป้องอาณาเขตตัวเองภายใต้อิทธิพลของความกลัว จนส่งผลถึงแรงบันดาลใจในการสอนหรือการทำงานของสมาชิกในองค์กร

สิ่งที่ผมชอบมากเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้คือ นอกจากผู้เขียนจะเขียนจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง ของครู และนักการศึกษาที่เขาได้พูดคุยสัมภาษณ์มาเป็นจำนวนมากในอเมริกาแล้ว เขายังเสนอทางออกอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเขาเองก็ได้ดำเนินการตามแนวทางที่ตัวเองและเพื่อนๆ ตั้งใจไว้แล้วอย่างได้ผลยิ่ง จนมีงานวิจัยแสดงถึงผลลัพธ์ดังกล่าวออกมา และมีเครือข่ายของศูนย์เพื่อการฟื้นฟูกำลังใจและความกล้า ที่มีชื่อว่า Center for Courage and Renew ที่ไม่เพียงจัดโปรแกรมฟื้นฟูกำลังใจให้กับครูเท่านั้น แต่ยังแพร่หลายไปถึงผู้คนในวิชาชีวิตอื่นๆ ด้วย โดยมีการจัดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา ๒ ปีต่อหนึ่งรุ่น (รุ่นละ ๓๐ คน) จนทำให้เกิดชุมชนกัลยาณมิตรที่ส่งเสริมการใช้ชีวิตที่ “ไม่แบ่งแยก” แต่สอดคล้องกับธรรมชาติภายในของตัวเองอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา

จากข้อสังเกตของพาล์มเมอร์ แยกแยะลำดับของการแปรเปลี่ยนระบบการศึกษาไว้ ๔ ระยะ ได้แก่

ระยะที่ ๑ บุคลากรทางการศึกษาตระหนักรู้ถึงพลังและคุณค่าภายในตัวเอง และเลือกที่จะใช้ชีวิต อย่างสอดคล้องกับคุณค่าและแรงบันดาลใจนั้น

ระยะที่ ๒ สร้างชุมชนและเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันในกลุ่มของผู้ที่เลือกจะใช้ชีวิตอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติภายในของตัวเอง สนับสนุนและฝึกฝนทักษะในการสื่อสารเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงร่วมกัน

ระยะที่ ๓ เปิดตัวและสื่อสารต่อสาธารณะในวงกว้างออกไป เพื่อเชื้อเชิญให้เกิดการมีส่วนร่วมที่แพร่หลายมากขึ้น โดยไม่กล่าวโทษหรือทำลายใคร

ระยะที่ ๔ สร้างระบบทางเลือกที่เกื้อกูลและตอบแทนหน้าที่และวิชาชีพใหม่ที่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา

หนังสือเล่มนี้ได้เสนอสิ่งที่อาจถูกละเลยในการปฏิรูปการศึกษา นั่นคือ หัวใจของครู ท่ามกลาง บรรยากาศของความวุ่นวาย ความเหนื่อยหน่ายและสิ้นหวังของการปฏิรูปการศึกษา การเปลี่ยนแปลงที่ดีๆ อาจจะเกิดจากจุดเล็กๆ ในพื้นที่ของการดูแลจิตใจของครู ที่อาจไม่ใช่ “การอบรม” ไม่ว่าจะเป็นการอบรมเรื่องเทคนิคการสอน การวัดผลประเมินผล หรือการใช้สื่อในรูปแบบต่างๆ หรืออบรม “คุณธรรม” ที่มีมากมายก่ายเกลื่อนอยู่แล้ว แต่เป็นดูแลใส่ใจ ส่งเสริมการสำรวจและเรียนรู้โลกภายในชีวิตครู เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์การสอนที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณมนุษย์ได้อย่างแท้จริง

Back to Top