เชื่อมโยง นพลักษณ์ ประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) จิตวิทยา พุทธธรรม



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 พฤศจิกายน 2556

นพลักษณ์ มีความเย้ายวน เหมือนวิชาหมอดู แต่ไม่ถึงกับทำนายอนาคต ตรงที่ทำให้คนเราสามารถมีเงื่อนไขให้ได้พูดถึงตัวเอง และคนเราก็ชอบพูดถึงตัวเอง

จริงๆ แล้วนพลักษณ์เป็นการมาพบกันของศาสตร์โบราณกับจิตวิทยา เหมือนกับนักจิตวิทยารุ่นเก่าชั้นเซียน ที่เป็นทั้งปราชญ์และผู้ฝึกฝนทางจิตวิญญาณ ได้นำเอาความพร่องของมนุษย์ในแบบต่างๆ หลอมรวมเป็นลักษณ์ทั้งเก้า ในปัญญาสามฐาน คือฐานกาย-สัญชาตญาณ ฐานใจ-อารมณ์ความรู้สึก และฐานหัว-ความคิด น่าจะเป็นทั้งการสังเกตธรรมชาติของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง และศึกษาความพร่องทางจิตวิทยาของฐานต่างๆ อีกด้วย

มีการนำเสนอนพลักษณ์ในแนวทางที่ว่า ลักษณ์ต่างๆ แท้จริงคือกับดัก และการนำเสนอนพลักษณ์ที่แท้จริง คนสร้างมันขึ้นมา ต้องการให้เราหลุดออกจากกับดักทางจิตวิทยาของตัวเอง น่าสนใจที่ฐานทั้งสามคือ โลภ โกรธ หลงนั้นเอง โดยฐานคิดหลงและติดอยู่กับความกลัว ฐานใจติดอยู่กับความอยากหรือความโลภ และฐานกายมีปัญหากับเรื่องความโกรธ

จะเห็นว่า ในระดับโดยเฉลี่ยและป่วย (unhealthy) ของแต่ละลักษณ์นั้น คำทำนายบุคลิกภาพจะเที่ยงตรงมาก และทั้งหมดมีร่องรอยของความพร่องทางการเชื่อมโยงของสมองด้วย ความพร่องทางจิตวิทยาเหล่านี้ คือการที่สมองเติบโตหรือไม่เติบโตอย่างขาดสมดุล และได้เกิดความพร่องทางกายภาพที่ปรากฏอยู่ในเนื้อสมอง ในวงจรของสมองด้วย

แต่หากได้พัฒนาตัวเองขึ้นมาในระดับแข็งแรง (healthy) คนคนนั้นจะกลับมาเป็นบุคลิกภาพแบบปะปนและข้ามลักษณ์ ซึ่งในระบบนพลักษณ์จะมีปีกและลูกศรอยู่ด้วย คือความเป็นลักษณ์ค่อยๆ เบลอ ค่อยๆ จางกลายเป็นการพัฒนาระดับจิตวิญญาณ ซึ่งเอาเข้าจริงคือการหลอมรวมปัญญาสามฐานเข้ามาเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน


ประโยชน์ชั้นต้นของนพลักษณ์

ประโยชน์ชั้นต้นของนพลักษณ์จะคล้ายประโยชน์ของผู้นำสี่ทิศ เหมือนกัน ในแง่ที่ว่ามันทำให้เราเห็นว่า คนแต่ละคนนั้นต่างกัน ไม่ใช่จะไปเปลี่ยนให้ทุกคนมาเหมือนตัวเอง

เมื่อเรียนนพลักษณ์จนเข้าใจรายละเอียดอันสุขุมมากขึ้น ก็อาจจะเห็นวิธีปฏิบัติกับคนอื่นๆ ที่มีลักษณ์แตกต่างไปจากเรา และไม่เหมาเอาว่า พวกเขาต้องรับรู้ ตอบสนองเหมือนกับเรา ความแตกต่างจะกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้ และที่สำคัญเราจะตื่นรู้ที่จะรับรู้ถึงความแตกต่างเหล่านั้นมากขึ้น ไปถึงขั้นยอมรับความแตกต่างได้ และเลือกที่จะออกจาก "ความเป็นปฏิกิริยา" ไปสู่การตอบสนองด้วยสติปัญญาและความรัก

นี่เป็นอีกหนึ่งหนทางของการฝึกการตื่นรู้ในทางพุทธธรรมได้ไหม?


ตัวตนในวอยซ์ไดอะล็อค

วอยซ์ไดอะล็อค ไม่แบ่งเป็นลักษณ์ หรือเป็นแบบแผนของตัวตนต่างๆ แต่บอกว่าเราทั้งหมด คือแต่ละคน ประกอบด้วยบุคลิก หรือส่วน หรือเสี้ยวส่วนต่างๆ ที่ก่อประกอบขึ้นมาเป็นตัวเรา เช่นลูกจีนอาจจะมีตัวขยัน ส่วนลูกไทยจะมีตัวสบายๆ แล้วจะเห็นได้ว่าสองตัวนี้ ตัวขยันกับตัวสบายๆ เป็นคู่ตรงข้ามกัน เป็นหยินกับหยาง วอยซ์ไดอะล็อคเป็นทฤษฎีที่แสวงหาความสมดุล และแสวงหาความเป็นอิสระจากตัวตนหรือบุคลิกภาพต่างๆ ที่ครองเราอยู่เช่นเดียวกับที่กล่าวถึงไปแล้วในกรณีนพลักษณ์ ซึ่งในที่สุดแล้วเราต้องการพ้นไปจากการกักกันของลักษณ์

ในวอยซ์ไดอะล็อคจะบอกว่า เราจะเอียงข้างไปทางใดทางหนึ่งมาก และติดอยู่ตรงนั้นได้เหมือนกัน เช่น ติดกับตัวขยัน และหากขยันมากๆ มันไม่เพียงขยัน แต่มันบ้างานจนเครียด ผลักดันตัวเองจนป่วยไม่สบายก็มี เป็นต้น เช่นเดียวกัน พวกรักสบายก็อาจจะผ่อนคลายจนเกินพอดี ไม่ทำมาหากินเป็นเรื่องเป็นราว ก็อาจจะมีปัญหาความอยู่รอดได้


พัฒนาการของตัวตนต่างๆ ในวอยซ์ไดอะล็อค

ตัวตนต่างๆ ในวอยซ์ไดอะล็อคมีส่วนคล้ายลักษณ์ในเรื่องพัฒนาการ มีระดับแข็งแรง ป่วย และ โดยเฉลี่ย เหมือนๆ กันกระมัง ตัวตนหลัก (primary selves) ต่างๆ นั้นมีที่มา คือพวกเขามาปกป้องเด็กน้อยผู้เปราะบาง (นี้เป็นเรื่องใหญ่ในวอยซ์ไดอะล็อคอีกเรื่องหนึ่ง คงยังไม่ขยายความในบทความสั้นๆ นี้) หากตัวตนหลักต่างๆ มาด้วยอาการปกป้องมากน้อยแค่ไหน ก็จะอยู่แบบปกป้องหรือปกติ แข็งแรงหรือป่วย มากน้อยแค่นั้นเช่นกัน

หากป่วยมาก ปกป้องมาก เราก็จะยึดฉวย กอดรัดตัวตนนั้นๆ บุคลิกนั้นๆ ไว้หนาแน่นมาก อันเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นคล้ายๆ กันในนพลักษณ์นั้นเอง

วอยซ์ไดอะล็อคมีวิธีการพัฒนาเพื่อให้เกิด aware ego ซึ่งคำว่า ego ไม่ได้แปลว่าอัตตาตัวตนที่ใช้ในพุทธศาสนา แต่แปลว่า ผู้กระทำการ หรือ การกระทำการ มากกว่า ที่มาก่อเกิดความตื่นรู้ ความรู้เท่าทัน หรือจะเรียกว่าตัวรู้ก็ได้ วอยซ์ไดอะล็อคต้องการพัฒนาตัวรู้นี้ให้ รู้ ตื่นรู้ รู้เท่าทัน และสามารถ "แยก" (separate) ออกจากตัวตนหลัก แยกออกจากไม่ได้หมายความว่า ทิ้งไป เราไม่ทิ้งตัวตนหลัก แต่เมื่อเราเป็นอิสระจากตัวตนหลักได้เท่าไร ตัวตนหลักก็จะแข็งแรงได้มากเท่านั้น และเราเป็นผู้เลือกใช้ ไม่ได้เป็นทาสตัวตนหลักอีกต่อไป


จิตวิทยากระบวนการและพุทธธรรม

จิตวิทยากระบวนการ (process psychology) ของอาร์โนลด์ มินเดล ยิ่งให้อิสรภาพมากขึ้นไปอีก คือแทนที่จะกล่าวถึงส่วนต่างๆ ด้วยตัวตนต่างๆ กลับกล่าวถึงส่วนต่างๆ ในนามของกระบวนการ คือเห็น ส่วนต่างๆ เป็นพลวัตมากขึ้นไปอีก

ส่วนพุทธธรรมตั้งอยู่บนฐานของความไม่มีตัวตนตั้งแต่แรก แต่ไประบุ หรือใส่ชื่อให้กับองค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นกระบวนการต่างๆ อันกำลังเป็นไปในจิตของเรา ที่ประชุมกันขึ้น เป็นครั้งๆ คราวๆ ไป เช่น ตัวโกรธ ตัวเมตตา ตัวสมาธิ ตัวสติ เป็นต้น อภิธรรมบ้านเราเรียกว่าเจตสิก ทางมหายานเรียกพีชะ ที่อาจจะแปลว่าเมล็ดพันธุ์ก็น่าจะได้

ในความเข้าใจแบบพุทธธรรม การเคลื่อนย้าย แปรเปลี่ยน และการประชุมพลกันขึ้น ของพีชะ หรือเมล็ดพันธุ์ต่างๆ เหล่านี้ ผมได้อาศัยหนังสือ Understanding Our Mind ของหลวงปู่นัทฮันห์ แห่งหมู่บ้านพลัม หรือฉบับแปลของ ส. ศิวรักษ์ ที่ใช้ชื่อว่า สู่ชีวิตอันอุดม เป็นหลัก ช่วงหลังมานี้ ผมกลับเอามาเทียบเคียงกับแนวคิดเรื่องจิตสำนึกกับจิตไร้สำนึกในประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) อีก อย่างสนุกสนาน โดยเทียบให้อัตโนมัติที่หลับใหลอันเราไปหลงยึดเป็นตัวเป็นตนของเราว่าเป็น "มนัส" และการตื่นรู้เพื่อสร้างอัตโนมัติที่ตื่นรู้ ว่าเป็นอิสรภาพที่ "มโนวิญญาณ" หรือ จิตสำนึก จะทำงานได้อย่างไร้ขอบเขตเงื่อนไขจำกัดโดยตรงกับ "อาลัยวิญญาณ" หรือจิตไร้สำนึกร่วม (collective unconscious)

ซึ่งคงจะต้องเขียนถึงในโอกาสต่อไป


1 ศาสตร์แห่งการรู้จักตนเอง แบ่งอุปนิสัยของคนออกเป็น ๙ ลักษณ์ หรือนพลักษณ์ (http://www.enneagramthailand.org)

Back to Top