เวียนว่ายอยู่ในหัว

โดย เรจินัลด์ เรย์ เขียน
วิจักขณ์ พานิช ถักทอและร้อยเรียง
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 กันยายน 2549

การภาวนาในบริบทของสังคมยุควัตถุนิยม บริโภคนิยม มักจะหนีไม่พ้นการเผชิญหน้ากับปัญหาความไม่อยู่กับเนื้อกับตัวของผู้ปฏิบัติ บ่อยครั้งที่เรานั่งสมาธิโดยให้ความสนใจแต่เพียงส่วนคอขึ้นไป พักจิตให้ว่ายเวียนวนอยู่ในหัว ตัดขาดจากชีวิตส่วนอื่นๆ การภาวนาจึงกลับกลายเป็นหนทางแยกขาดออกจากการดำเนินชีวิตในแต่ละวันไปโดยปริยาย เราภาวนาด้วยความเชื่อที่ว่า การฝึกจิตในลักษณะนี้จะเป็นหนทางให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ ความเจ็บปวดทางกาย ความวุ่นวายโกลาหล หรือความไม่แน่นอนของชีวิต หารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้ว นั่นมิใช่หัวใจแห่งการฝึกฝนตนเองที่แท้แต่อย่างใด เพราะวิถีแห่งการภาวนา คือหนทางที่จะนำเราไปสู่การมีสติอยู่กับเนื้อกับตัวทั่วทุกสรรพางค์ เปิดรับเรียนรู้ชีวิตในทุกธรรมสภาวะแห่งความเป็นมนุษย์ จนสามารถเผชิญทุกสัมผัสแห่งชีวิตด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

คุณอาจจะค้านว่าพระพุทธองค์สอนธรรมะเพื่อเป้าหมายแห่งการพ้นทุกข์ไม่ใช่หรือ ซึ่งก็ถูกของคุณ แต่ปัญหาก็คือ ในโลกสมัยใหม่ผู้คนกำลังสับสนระหว่างเป้าหมายกับเส้นทางการปฏิบัติ เราปักใจตีความเอาคำสอนของพระพุทธองค์อย่างเป็นเป้าหมายตายตัว ผลก็คือ พอเราเอาเป้าหมายนั้นมาปฏิบัติ ในหัวกลับเต็มไปด้วยความฟุ้งซ่านที่จะหลุดพ้นท่าเดียว แต่ลึกๆ กลับไม่พบความเติบโตทางจิตวิญญาณจากภายในใดๆ เลย

แม้แต่เมื่อการภาวนาถูกใช้เพื่อฝึกจิตให้สงบ ซึ่งหากเรามีความชำนาญมากพอ ก็อาจจะค้นพบหนทางที่จะภาวนาแล้วหลีกหนีจากความทุกข์ที่รุมเร้า พักจิตไว้ในสมาธิขั้นใดขั้นหนึ่ง รับรู้ถึงความสุขสงบอันเป็นที่พึงใจ แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งที่เราพยายามฝึกนั้น กลับไม่ใช่หัวใจของการภาวนาแต่อย่างใด เรายิ่งพยายามแยกชีวิตออกเป็นสองส่วน ชีวิตทางโลก กับชีวิตทางธรรม อันเป็นรูปแบบหนึ่งของทวินิยม (Dualism) ที่ยังห่างไกลจากความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ในศักยภาพความเป็นมนุษย์ในทางจิตวิญญาณที่แท้จริง



การมองโลกแบบทวินิยมนั้นเป็นความเคยชินพื้นฐานของจิตที่คับแคบ (อัตตา) ทวินิยมเป็นแรงขับเคลื่อนของวงล้อสังสารวัฎ จิตที่แบ่งแยกเป็นเขาเป็นเรา เวียนว่ายอยู่ในหัว ตัดขาดจากการปฏิสัมพันธ์กับโลกรอบตัว ตัดสินผู้คนในกรอบที่คับแคบของความดีเลว สูงต่ำ ดำขาว ฯลฯ รวมถึงการขีดเส้นแบ่งแยกประสบการณ์ทางธรรมกับทางโลก ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ทวินิยมสะท้อนถึงความคิดที่ว่า เป้าหมายทางจิตวิญญาณ คือการหนีออกจากเรื่องโลกๆ เพื่อเข้าสู่ภพภูมิเบื้องบนที่ “สูง” กว่า หากสังเกตดูให้ดี วิถีชีวิตแบบวัตถุนิยม บริโภคนิยม หรือแม้แต่แนวคิดกระแสหลักทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการศึกษา ก็กำลังเดินตามแนวคิดทวินิยมที่ว่านี้ เรากำลังอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน การแบ่งแยก การชิงดีชิงเด่น เพื่อความสำเร็จภายนอก เพื่อชีวิตที่ดีกว่า “สูง” กว่า แม้แต่เป้าหมายของการศึกษาก็กลายเป็นเรื่องนอกตัว เป็นเรื่องของความสำเร็จที่ดูจะตัดขาดจากผู้คนรอบข้าง จากความสมบูรณ์ในชีวิตของเราเอง ณ ปัจจุบันขณะ

ทวินิยมยังเป็นเหตุปัจจัยสำคัญของความไม่อยู่กับเนื้อกับตัวของผู้คนสมัยนี้ ยิ่งสติของเราไม่อยู่กับเนื้อกับตัวมากเท่าไร จิตใจก็ขาดสมดุลมากขึ้นเท่านั้น แนวโน้มนี้ค่อยๆ ปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้น จากคุณลักษณะที่น่าสังเกตของวัฒนธรรมโลกยุคใหม่ เช่น การกระตุ้นให้ผู้คนขาดความเป็นตัวของตัวเอง การกดขี่สตรีเพศ และดูถูกพลังแห่งสตรี (feminine qualities) การเลี้ยงลูกน้อยราวกับเป็นวัตถุกลวงๆ ไร้คุณค่า ความพยายามที่จะกำจัดและลบล้างวัฒนธรรมพื้นเมืองอันเก่าแก่ การทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเลวร้าย การมองร่างกายเป็นเครื่องจักร เป็นต้น

แม้แต่ในเรื่องของการภาวนา อิทธิพลของหลักทวินิยมก็ยังส่งผลมาถึง ซึ่งในที่นี้จะขอแยกผลกระทบออกเป็นสามส่วน คือ ในทางปริยัติ (ความเข้าใจเชิงหลักการ) ปฏิบัติ (เส้นทางการฝึกฝน) และปฏิเวธ (การเปลี่ยนแปลงภายใน)

๑) ปริยัติ (ความเข้าใจเชิงหลักการ)

ความเข้าใจเชิงหลักการที่มีต่อการภาวนา ว่าเป็นเรื่องของการฝึกจิตที่แยกออกจากกาย นำมาซึ่งความเข้าใจที่ว่า การฝึกจิตเป็นเรื่องนามธรรมที่ไม่สามารถจับต้องได้ นั่นคือสัญญาณที่บ่งบอกว่าเรากำลังหลงอยู่ในความคิดยึดมั่นที่ว่า การภาวนาคือการถอดถอนตัวเองออกจากกิเลส สิ่งสกปรกทั้งหลายที่มีอยู่ในสภาวะจิตที่ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ยิ่งไปกว่านั้นทุกครั้งที่เรานั่งลงบนเบาะฝึกสมาธิ เราได้นำเอามายาภาพของสภาวะอุดมคติที่เราเสกสร้างขึ้นในหัวไปด้วย ทำให้เราไม่สามารถที่จะค้นพบความหมายของการเรียนรู้ที่แท้ ด้วยจิตใจที่เต็มไปด้วยเมฆหมอกของความคิดเชิงหลักการล่วงหน้า อาจเป็นเพราะเราเลือกที่จะเลียนแบบสิ่งภายนอกที่เราเห็นในธรรมาจารย์ ความทรงจำของประสบการณ์การได้ฝึกฝนกับท่าน หรือสิ่งที่เราได้ยินมาหรืออ่านมาจากหนังสือธรรมะ ผลก็คือ มายาภาพของสภาวะจิตที่เราสร้างขึ้นจะติดตัวเราไปขวางกั้นทุกกระบวนการการปฏิบัติ ไม่ให้เราได้เผชิญหน้ากับพื้นที่ว่างด้านในแห่งการเรียนรู้ที่แท้ อาจเรียกได้ว่า มันคือข้อจำกัดแห่งตัวตนทางจิตวิญญาณที่ถูกสร้างขึ้นจากความยึดมั่นทางความคิด แม้ว่าจะเป็นความคิดต่อการปฏิบัติก็ตามที เราเลือกที่จะจำกัดศักยภาพของตัวเอง ด้วยการว่ายวนอยู่กับความคิดเหล่านั้นในหัว แทนที่จะปล่อยวางความคิดแล้วเปิดใจเพื่อการค้นหา เรียนรู้ จากประสบการณ์ตรงในทุกลมหายใจเข้าออกอย่างแท้จริง

๒) ปฏิบัติ (เส้นทางการฝึกฝนตนเอง)

จากความเข้าใจผิดเชิงหลักการที่กล่าวไปข้างต้น เส้นทางการฝึกฝนก็เช่นเดียวกันที่อาจจะถูกบิดเบือน ยกตัวอย่างเช่น “การกำหนดตามลมหายใจ” อาจถูกเข้าใจว่าเป็นความพยายามที่จะกีดกั้นเอาประสบการณ์ สัญชาตญาณ ความรู้สึก ความตื่นรู้ในกาย การไหลเลื่อนของพลังงาน อารมณ์ แง่มุมทั้งหลายของความเป็นมนุษย์ออกไปให้หมดสิ้น จนเหลือแต่ “สติที่ลมหายใจ” เป็นความสงบนิ่ง สูงส่งเหนือสิ่งใดๆ ทั้งปวง อารมณ์หรือความรู้สึกทางกาย ถูกมองเป็นเรื่องต่ำๆ ทางโลก ที่ไม่มีความสำคัญใดๆ ต่อการเรียนรู้ ส่งผลให้เรามองการภาวนาแยกขาดออกจากชีวิตทางโลกในที่สุด

๓) ปฏิเวธ (การเปลี่ยนแปลงภายใน)

เมื่อเส้นทางการฝึกฝนเป็นไปเพื่อการแยกตัวเองออกจากชีวิต จากความ “ธรรมดา” ของความเป็นมนุษย์ที่มีเลือด มีเนื้อ มีอารมณ์ ความรู้สึกรู้สา แม้มันอาจจะพาเราให้ได้เข้าไปสัมผัสสภาวะจิตของความสะอาดหมดจน ปราศจากความเจ็บปวด ทุกข์โศกใดๆ อันช่างดูน่าปรารถนาเสียเหลือเกิน แต่ในระยะยาวหาใช่เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะอะไรน่ะหรือ? ก็เพราะคุณรู้ดีว่าหาได้มีการเปลี่ยนแปลงภายในเกิดขึ้นกับตัวคุณอย่างแท้จริงแต่ประการใด คุณยังเลือกที่จะ “หนีให้พ้น” แทนการเรียนรู้ที่จะ “เผชิญ” กับทุกแง่มุมของชีวิต ร่างกายทุกๆ ส่วนที่ถูกละเลย เต็มไปด้วยความเครียด ปราศจากการเปลี่ยนแปลงทางจิตสำนึกของผู้คนสมัยนี้ บ่งบอกถึงความไม่ใส่ใจในการเรียนรู้กับรายละเอียดของประสบการณ์ชีวิตในแต่ละขณะ

การฝึกฝนทางจิตวิญญาณเช่นนี้ คือความหายนะเลยทีเดียวก็ว่าได้ เพราะเส้นทางการฝึกฝนตนเองจะเปล่งประกายแห่งคุณค่าและความหมายออกมา ก็ต่อเมื่อเราพร้อมที่จะเปิดใจเข้าสู่โลกแห่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงภายใน อันเกิดจากการให้คุณค่ากับการเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตในทุกขณะ ตรงกันข้ามความพยายามที่จะแยกตัวเองออกจากชีวิต จะยิ่งพาเราออกมาจากคุณค่าและความหมายของการมีชีวิตอยู่ที่แท้ เราอาจจะสามารถดำรงจิตอยู่ในสภาวะไม่อยู่กับเนื้อกับตัวได้พักใหญ่ แต่เมื่อพลังนั้นถูกใช้หมดลง เราก็จะตกกลับมาสู่อวิชชา ความไม่รู้เดิมๆ ที่จะนำมาซึ่งลักษณะนิสัย พฤติกรรมที่ยังถูกขับดันด้วยวงจรทวินิยมแห่งแบบแผนคุ้นชินทางความคิด ท้ายที่สุดมันอาจจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่น่าเศร้า นั่นคือเราจะเริ่มไม่เชื่อในกระบวนการฝึกตน ในผู้คนรอบข้าง ในครูบาอาจารย์ หรือในทุกสิ่งทุกอย่างในสากลจักรวาลเอาเสียเลยทีเดียว

จึงจำเป็นที่เราต้องตระหนักถึงปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นในวิถีแห่งพุทธะ ว่าไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะกับเทคนิคการฝึกภาวนาเพียงอย่างเดียว ลึกลงไปยิ่งกว่านั้น ปัญหาได้เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจในหลักพื้นฐาน ด้วยการไปยึดเอาวิธีคิดแบบทวินิยมแยกส่วนทางจิตวิญญาณ การฝึกฝนจิตแบบไม่อยู่กับเนื้อกับตัว และการใส่ใจให้คุณค่ากับผลลัพธ์ความสำเร็จแทนที่ประสบการณ์แห่งกระบวนการ ผลก็คือ การเป็นชาวพุทธเพียงแต่ชื่อ ไม่รู้จักการเรียนรู้จักตนเองและผู้อื่น ใช้ชีวิตอย่างคับแคบ “เวียนว่ายอยู่ในหัว” ปราศจากการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงภายในใดๆ

Back to Top