จิตตปัญญาศึกษากับการบ่มเพาะญาณทัศนะ

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 22 กันยายน 2550

ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์นี้ ผมยังรู้สึกว่าอยากจะเขียนเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับจิตตปัญญาศึกษาอยู่ดี เพราะคิดว่ายังเป็นเรื่องราวที่มีความสำคัญมากต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับสังคมในอนาคตอันใกล้นี้ หลายๆ ท่านพยายามขอให้ช่วย “นิยาม” หรือขอช่วย “ให้คำจำกัดความ” ซึ่งดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผ่านๆ มาหลายๆ ท่านก็อาจจะไปเข้าใจว่า “จิตตปัญญาศึกษา” คือ “การนั่งสมาธิ” หลายๆ แห่ง หลายๆ โรงเรียน หลายๆ หน่วยงานก็จะมีหลักสูตรให้นักเรียนนักศึกษา “ไปเข้าวัดแบบเจ็ดวันเจ็ดคืน” ซึ่งการทำแบบนั้นก็อาจจะ “ทั้งใช่และไม่ใช่” “จิตตปัญญาศึกษา” ในแนวทางที่ผมเข้าใจ

เพราะถ้าจะถามความเห็นของผมเป็นการส่วนตัวอย่างสั้นที่สุดว่า “อะไร” คือ “ข้อแตกต่าง” สำคัญที่สุดที่ “จิตตปัญญาศึกษา” แตกต่างไปจากระบบการศึกษาทั่วไป

ผมอยากจะขอตอบด้วยคำๆ เดียวว่า “ญาณทัศนะ”

กล่าวคือระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยโดยทั่วไปไม่ได้เน้นหรือนำพาหรือหล่อเลี้ยงหรือเอื้อที่จะทำให้เกิด “การบ่มเพาะญาณทัศนะ” แต่ใน “จิตตปัญญาศึกษา” คือระบบการศึกษาที่เน้นถึงการหล่อเลี้ยงให้ก่อเกิดและนำพา “ญาณทัศนะ” มาใช้

“ญาณทัศนะคืออะไร?” ผมคงจะไม่สามารถอธิบายได้โดยละเอียดในบทความชิ้นนี้ แต่ญาณทัศนะเป็นคุณสมบัติเป็นศักยภาพที่มีอยู่แล้วในมนุษย์ทุกคน เหมือนกับเป็น “ความรู้สึกพิเศษ” ที่ปิ๊งแว้บออกมาในสภาวะที่เหมาะสม นักปราชญ์และนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ต่างก็อาศัย “ญาณทัศนะ” ในการทำงานและค้นพบ “งานชิ้นโบว์แดง” ของตัวเองมาทั้งหมดทั้งสิ้น

แต่มนุษย์ในปัจจุบัน “ถูกทำให้เชื่อ” เฉพาะเรื่อง “เหตุและผลในเชิงเส้นตรง” เท่านั้น และค่อยๆ ให้ความสำคัญกับ “ญาณทัศนะ” น้อยลงไปเพราะคิดว่าไม่มีเหตุมีผล ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว “ญาณทัศนะ” มีเหตุและมีผลแต่เป็นไปในเชิงที่ซับซ้อนและไม่เป็นเส้นตรง เป็นสมการหลายชั้น

ในบทความชิ้นนี้ผมอยากจะเน้นให้เห็นถึง “ความสำคัญ” ของ “ญาณทัศนะ” ที่ระบบการศึกษาทั่วไปได้ละเลย จนทำให้การเรียนรู้ในเรื่องนี้ตกหล่นและขาดหายไป

ถ้าเราจะลองมาดูเรื่อง “ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของมนุษย์” ของดรายฟัสแอนด์ดรายฟัสที่ได้ทำวิจัยไว้ และพบว่าเราพอจะแบ่ง “ประสิทธิภาพการเรียนรู้” ออกมาได้เป็นห้าขั้นดังต่อไปนี้คือ

ขั้นแรก เมื่อเราเริ่มเรียนรู้อะไรสักอย่างหนึ่ง เราก็จะเริ่มจากการเป็น “เด็กฝึกงาน” ก่อน เด็กฝึกงานก็จะทำอะไรตามขั้นตามตอน ตามกติกาทุกอย่าง เถรตรง เช่น เมื่อเริ่มเรียนดนตรีเราก็จะเริ่มจากการฝึกทำเสียงเบสิกต่างๆ

ขั้นที่สอง เป็น “เด็กฝึกงานก้าวหน้า” ก็จะเริ่มพลิกแพลงได้มากขึ้น เริ่มมีสถานการณ์บางอย่างเข้ามาทำให้เราไม่ต้องเถรตรงตามทฤษฎีตามขั้นตอนที่กำหนด เพราะเราเริ่มเรียนรู้แล้วว่า เออ ... มันพอจะพลิกแพลงได้บ้างแล้วนะ มันไม่ได้เสียหายอะไรนะ อะไรทำนองนั้น

ขั้นที่สาม เป็น “คนทำงานเป็น” คือเมื่อทำงานไปก็เริ่มสามารถก่อเกิดเป็น “ประสบการณ์” ในการทำงานที่มากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ทั้งสามขั้นที่ว่านี้ก็เป็นเพียง “การเรียนรู้” ที่อาศัยการทำงานเชิง “เหตุและผล” ที่ใช้เพียงสมองซีกซ้ายที่ทำงานเกี่ยวกับตรรกะเหตุผลเท่านั้น

ขั้นที่สี่ เป็น “คนทำงานเก่ง” ในขั้นตอนนี้จะมีเรื่องราวของ “ญาณทัศนะ” เข้ามาเกี่ยวข้อง คือ ในขั้นที่สี่นี้ คนทำงานเก่งจะเริ่มฝึกฝนตัวเองในการใช้ “ญาณทัศนะ” ซึ่งจะเกิดขึ้นมาได้เมื่อสมองทั้งก้อนสามารถทำงานประสานสอดคล้องกัน

ขั้นที่ห้า เป็น “เซียน” ซึ่งเป็นขั้นตอนการเรียนรู้สูงสุดของมนุษย์ พัฒนาได้เต็มศักยภาพของมนุษย์ คือ สามารถนำ “ญาณทัศนะ” เข้ามาใช้ได้อย่างจริงจังเป็นเนื้อเป็นตัวของตัวเอง

และในชีวิตความเป็นจริงแล้ว มนุษย์สามารถที่จะ “พลิกแพลง” การทำงานของตัวเองไปได้ไกลกว่าการเรียนรู้ในสามขั้นตอนแรกที่เอ่ยถึงมาเบื้องต้นนี้ เช่น นักการตลาดที่เป็นเซียนจริงๆ แม้จะอาศัยข้อมูลเชิงตัวเลข แต่ในช่วงของการตัดสินใจจริงๆ นั้น พวกเขาไม่ได้ตัดสินใจเรื่องสำคัญบนฐานของตัวเลขแต่เพียงอย่างเดียว แต่อาศัย “ความรู้สึกลึกๆ” อะไรบางอย่างและหลายๆ ครั้งการตัดสินใจแบบนั้นดูเหมือนจะ “ขัดแย้ง” กับตัวเลข ขัดแย้งกับเหตุและผลที่ควรจะเป็น

“ความรู้สึกลึกๆ อะไรบางอย่าง” นี่แหละคือ “ญาณทัศนะ”

หลายๆ ท่านอาจจะคิดว่าสองขั้นตอนหลังนั้นเป็นเรื่องของ “ประสบการณ์” ที่ทำงานไปนานๆ ก็สามารถก่อเกิดได้เอง แต่เรื่องราวอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะผู้คนมากมายทำงานมาตลอดชีวิตก็อาจจะทำได้เพียงแค่ “คนทำงานเป็น” หรือขั้นที่สามเท่านั้น ในขณะที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่สามารถพัฒนาความสามารถในเรื่องราวบางอย่างได้ตั้งแต่ยังอายุไม่มาก

หลายๆ คนอาจจะไปเรียกขั้นตอนที่สี่และที่ห้านี้ว่า “เป็นพรสวรรค์”

ผู้ช่วยทันตแพทย์ผู้หนึ่งยกมือขึ้นทันทีเมื่อผมถามในเวิร์คช็อปครั้งหนึ่งถึง “ประสบการณ์ในการเป็นเซียน” ของผู้เข้าร่วมแต่ละท่านที่ประกอบไปด้วยพยาบาลอาวุโสหลายท่าน ผมก็งงๆ มากว่า “เอ๊ะ หรือว่าน้องผู้ช่วยท่านนี้จะเข้าใจเรื่องที่ผมอธิบายไปผิด” ผู้ช่วยทันตแพทย์ที่เพิ่งทำงานได้สองวันจะมีประสบการณ์อะไรที่อยู่ในขั้นที่ห้าซึ่งมีญาณทัศนะได้ เธอบอกว่า “เธอมีประสบการณ์เป็นเซียนในเรื่องระนาด” ตอนที่หัดเรียนใหม่ๆ ก็ต้องเรียนตามขั้นตอนต่างๆ ถือไม้ระนาดอย่างไร ตีตรงไหนเป็นเสียงอะไร จนกระทั่งสามารถตีระนาดได้เป็นและตีเก่งมากขึ้นเรื่อยๆ เธอสามารถตีระนาดได้ตามตัวโน๊ตทุกตัวได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ในระหว่างที่เล่นระนาดไปตามตัวโน๊ตในวันนั้น เธอรู้สึกว่า บางตัวโน๊ตเธอไม่อยากจะเล่นตามตัวโน๊ตที่กำหนดไว้ แต่อยากจะตีเสียงไปตามความรู้สึกและพบว่า “กินใจผู้ฟัง” ได้มากกว่าการเล่นตามตัวโน๊ตแบบทื่อๆ

ในความเป็นจริง “ญาณทัศนะ” เป็นวิทยาศาสตร์ซึ่งหากว่าเราสามารถเข้าใจ เราจะสามารถพัฒนาให้ก่อเกิดขึ้นมาได้จริง ทำซ้ำได้จริง และสามารถทำได้เรียนรู้กันได้ในระบบการศึกษา เช่น ระบบการศึกษาแบบ “จิตตปัญญา” ที่ว่านี้นี่เอง สำหรับผมแล้วปัจจัย “อะไรก็ได้” ที่สามารถเอื้อให้เกิดญาณทัศนะ ล้วนแล้วแต่เป็น “จิตตปัญญาศึกษา” ทั้งสิ้น

และท้ายสุดที่สำคัญที่ไม่อยากจะให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับ “เซียน” ก็คือ เราต้องการให้ผู้คนสัมผัส “ญาณทัศนะ” กันมากๆ และหาหนทางเพื่อการเรียนรู้ “ญาณทัศนะ” กัน แต่ไม่ได้หมายความว่า “เราต้องการให้เกิดความเป็นเลิศ” ในเชิงการแข่งขันนะครับ

Back to Top