สร้างการเปลี่ยนผ่านที่ยิ่งใหญ่
ด้วยการสร้างจิตสำนึกใหม่ทางการศึกษา

โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 กันยายน 2550

หากพิจารณานวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่มนุษย์คิดค้น/พัฒนาขึ้น และมีผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์โดยทั่วไปอย่างทั่วถึง ที่ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งยิ่งใหญ่ของโลกมนุษย์ จะมีการปฏิวัติทางเทคโนโลยีที่สำคัญสามครั้งคือ การปฏิวัติเทคโนโลยีทางเกษตรกรรม (ยุคเกษตรกรรม) การปฏิวัติเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม (ยุคอุตสาหกรรม) และการปฏิวัติเทคโนโลยีไซเบอร์เนติก (ยุคไซเบอร์) ช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่านจะแตกต่างกันออกไป โดยระยะเวลาจะสั้นลง แต่รวดเร็วและรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

การปฏิวัติเทคโนโลยีด้านการเกษตร เริ่มเมื่อ ๑๑,๐๐๐ ปีก่อน ส่งผลให้สังคมมนุษย์เปลี่ยนจากการล่าสัตว์และเร่ร่อนมาเป็นการทำเกษตรกรรม ลงหลักปักฐานทำมาหากินทางเกษตรกรรม จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดชุมชนเมือง มีเมืองใหญ่เป็นศูนย์ตลาดการค้าและบริการต่างๆ เกิดอาชีพและการค้าเฉพาะทางเพิ่มขึ้น วิถีการดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปมากมาย

การปฏิวัติเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรม เริ่มเมื่อประมาณ ปี ค.ศ. ๑๗๐๐ เมื่อมีการผลิตเครื่องจักรไอน้ำมาใช้แทนแรงม้า มีการพัฒนาเครื่องจักรเหล่านั้นไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและการขนส่ง มีรถไฟพลังไอน้ำ มีการผลิตไฟฟ้า หลอดไฟฟ้า กล้องถ่ายรูป ภาพยนตร์ และอีกหลายๆ อย่าง การปฏิวัติอุตสาหกรรมนี้แผ่ขยายไปทั่วโลก ส่งผลต่อสังคม วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และวิถีการดำเนินชีวิตที่หลากหลายของมนุษย์เพิ่มมากขึ้น

การปฏิวัติเทคโนโลยีไซเบอร์เนติก (Cybernetic Technology) เริ่มในปี ค.ศ. ๑๙๓๗ เป็นการเปลี่ยนผ่านที่รวดเร็วต่อเนื่อง ในช่วงนี้มีการสร้างคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่โดยบริษัท IBM จากนั้นมาวิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์ก็ไม่เคยหยุดนิ่ง โทรศัพท์มือถือ และการพัฒนาระบบอินเตอร์เนท ทำให้มนุษย์สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ทั่วโลก พัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะ ไบโอเทคโนโลยี (Biotechnology) และ นาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology) เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิต ความคิดความเชื่อ และค่านิยมของมนุษยชาติเป็นอย่างมาก

การเปลี่ยนผ่านที่ยิ่งใหญ่ทั้งสามช่วง ดูเหมือนจะทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น มีความสะดวกสบายมากขึ้น และดูเหมือนมนุษย์จะมีการ “พัฒนา” แบบก้าวกระโดดมากขึ้น

แต่ทำไมโลกจึงเต็มไปด้วยการแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น เต็มไปด้วยสงครามและความขัดแย้ง เรามีสงครามโลกสองครั้ง เรามีสงครามในรูปแบบและลักษณะต่างๆ นับครั้งไม่ถ้วน เช่น สงครามระหว่างประเทศ สงครามภายในประเทศ สงครามระหว่างเผ่าพันธุ์ สงครามระหว่างศาสนา สงครามเศรษฐกิจ สงครามการเมือง สงครามเย็น ...

ทำไมยิ่งพัฒนา ยิ่งมีความทุกข์ ยิ่งมีความขัดแย้ง ยิ่งต้องมีการแข่งขันช่วงชิง

ทำไมยิ่งมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มนุษย์ยิ่งมีความเครียด อยู่ร้อน นอนทุกข์

ทำไมการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเติบโตทางเศรษฐกิจ
การพัฒนาสังคม และการเมืองที่ดำเนินอยู่ จึงไม่สามารถทำให้คนมีความสุข มีความรัก ความเมตตา ไม่สามารถทำให้สังคมเข้มแข็ง อยู่เย็นเป็นสุข ไม่สามารถทำให้สภาพแวดล้อม และธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ขึ้น และที่สำคัญ ไม่สามารถทำให้โลกมีสันติภาพได้

หรือเราต้องหยุดคิด พินิจพิจารณาอย่างจริงจัง อย่างมีสติและปัญญา เกี่ยวกับทิศทางและเป้าหมายของการพัฒนาที่ไหลไปตามกระแสอย่างขาดสติกันใหม่

โดยเฉพาะระบบการศึกษา แทนที่จะช่วยเตือนสติ สร้างสติ และสร้างปัญญา กลับออกแบบและพัฒนาไปเพื่อรับใช้ทิศทางและเป้าหมายของการพัฒนาตามกระแสหลักดังกล่าวอย่างขาดสติ ขาดจิตสำนึกที่ดีงาม การศึกษาจึงมีแนวโน้มเป็นธุรกิจการศึกษาเพิ่มมากขึ้น

คงถึงเวลาที่ต้องมาสังคายนาระบบการศึกษากันใหม่ทั้งหมด เพื่อสร้างและพัฒนาจิตสำนึกใหม่ทางการศึกษา เพื่อเปลี่ยนทิศทางหรือรหัสการพัฒนา จากที่เน้นตัวเลขทางเศรษฐกิจ เน้นผลผลิตมวลรวม เน้นความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ มาเป็นการเน้นความสุขมวลรวม เน้นสุขภาวะและความมั่นคงองค์รวม (Holistic/integral Well-Being and Stability) ของคน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

จากทุกขภาวะในลักษณะที่รีบเร่ง เร่าร้อน แข่งขันเพื่อโค่นล้มเอาชนะ ตามแนวคิดเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม สู่สุขภาวะแบบองค์รวม ที่สงบเย็นเป็นสุข มีความพอประมาณ พอเหมาะพอดี มีเหตุผล มีคุณธรรม คุณงามความดี และปัญญา เป็นฐานของการพัฒนาตามแนวปรัชญาพอเพียงของพ่อหลวงของปวงชนชาวไทย

การศึกษาที่พึงประสงค์ควรจะเป็นเช่นไร จึงจะสร้างจิตสำนึกใหม่ทางการศึกษา นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่ยิ่งใหญ่ที่พึงประสงค์ดังกล่าว

ก่อนที่จะช่วยกันคิดเพื่อสร้างจิตสำนึกใหม่ทางการศึกษา ลองมาช่วยกันพิจารณาการศึกษาที่เป็นอยู่ว่าเป็นไปในลักษณะใด

อาจกล่าวได้ว่า การศึกษากระแสหลักโดยรวมที่ดำเนินอยู่ มีลักษณะที่สอดรับ สนับสนุนแนวทางการพัฒนาแบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ที่ “ทุ่มถมความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ เพ้อหาความสามารถในการแข่งขัน แย่งชิงกันเป็นหนึ่ง พึ่งพิงอิงติดเทคโนโลยี มีความคับแคบทางความคิด เสพย์ติดความเป็นเลิศ เชิดหน้าใส่ผู้ด้อยผู้น้อยนิด จิตเล็กและมืดมัว เห็นแก่ตัว ไม่กลัวผิด ... ไขว่คว้าไล่ล่าสุดชีวิต ไม่เคยคิดจะเพียงพอ”

การศึกษาที่เป็นอยู่เน้นเพียงให้เห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่เข้าใจ และไม่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง จึงมีวิชาการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) ในลักษณะของวิธีและขั้นตอน (How To) ที่เป็นระบบในการบริหาร หรือควบคุมการเปลี่ยนแปลง หาวิธีลดหรือป้องกันผลกระทบในทางลบด้วยวิชา การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) สอนให้คนเป็นคนดีด้วยวิชาศีลธรรม ...

ดูเหมือนการศึกษาในปัจจุบันถูกลดคุณค่าเหลือเพียงการเรียนวิชา แล้วเพิ่มมูลค่า และสร้างมูลค่าเพิ่มตามระดับวิชา หรือปริญญาที่สูงขึ้น

การศึกษาที่เป็นอยู่ในกระแสหลัก เน้นให้เห็นความสำคัญของการติดตามความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งตามทันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทันสมัยมากเท่านั้น

ดูเหมือนการศึกษาถูกลดค่าให้เหลือเพียงการติดตาม แล้วเพิ่มค่าได้ตามความรวดเร็วในการติดตามและปริมาณของสิ่งที่ตามทัน จึงต้องลงทุนด้านเทคโนโลยี มีการสร้างเครือข่ายที่ทันสมัย เพียงเพื่อตามไล่การเปลี่ยนแปลง ...

การศึกษาที่มีคุณค่าที่แท้จริง ไม่น่าจะเป็นเพียงการวิ่งไล่ตามการเปลี่ยนแปลง เพียงเพื่อให้รู้สึกเสมือนว่าได้ทันสมัย ไม่ตกยุค

ครู อาจารย์ ไม่น่าจะเป็นเพียงเครื่องมือหรือกลไกในการช่วยป้อนหรือชี้ช่องทางแสวงหาข้อมูล ข่าวสารที่ช่วยให้ผู้เรียนดูเหมือนจะทันสมัย หรือเรียกใหม่ว่า ”ทันสมัยเสมือน” (Virtual Modernization) ด้วยการให้ข้อมูล ข่าวสารสำเร็จรูปที่หยาบและฉาบฉวยให้ลูกศิษย์

นักเรียน นิสิต นักศึกษา จึงไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องรับข้อมูล ข่าวสารที่ “ทันสมัยเสมือน” ปราศจากการกลั่นกรอง สะท้อนคิด (Reflective Thinking) ทั้งจากผู้สอน และตัวผู้เรียนเอง

การศึกษาที่แท้ จึงมิใช่จำกัดแคบแค่เฉพาะการสอน การบรรยายในห้องเรียน การค้นและคว้าจากห้องสมุดหรือแหล่งข้อมูลที่ทันสมัยรูปแบบต่างๆ แล้วนำมาทำเป็นรายงาน หรือนำมาเสนอและอภิปรายในห้องเรียน

การศึกษาที่แท้ ไม่ใช่การโคลนนิ่ง (Cloning) ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ กรอบความคิด ทฤษฎี หรือระเบียบวิธี และโดยเฉพาะไม่ใช่การโคลนนิ่งความคิดความเชื่อของผู้สอนให้กับผู้เรียน

การให้การศึกษาในลักษณะวิ่งไล่ให้ทันการเปลี่ยนแปลง หรือเรียนลัดด้วยการลอก/ถอดแบบหรือโคลนนิ่ง อย่างเก่งก็ได้แค่รู้เท่า แล้วก็ต้องคอยตามการเปลี่ยนแปลง เพื่อจะได้วิ่งไล่ต่อไป

จริงๆ แล้วการคิดและการให้การศึกษาแบบนี้ ยังไงๆ ก็ไม่มีทางทันการเปลี่ยนแปลง เพราะคอยแต่จะไล่ให้ทัน ไม่เคยคิดที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่เคยมีสติที่จะหยุดคิดและถามตัวเองว่าจะวิ่งไล่การเปลี่ยนแปลงไปทำไม ไล่ให้ทันไปเพื่ออะไร

การจะทันการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การพยายามที่จะไล่ให้ทันการเปลี่ยนแปลง โดยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย หรือเรียนลัดด้วยการลอกเลียนแบบ เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่เคยหยุด จึงลอกเลียนไม่ได้ การจะทันการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง จึงต้อง “รู้เท่าทัน” การเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ แค่พยายามจะ “เท่า” หรือ “ไล่ทัน” การเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนผ่านทางการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ จึงต้องสร้างจิตสำนึกใหม่ทางการศึกษา พัฒนาการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียน (และผู้สอน) ให้เรียนรู้เพื่อที่จะ “รู้เท่าทัน” การเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรมชาติของสรรพสิ่ง นำไปสู่การเข้าใจ การยอมรับ และเคารพในตนเอง ผู้อื่น วัฒนธรรมที่แตกต่างและหลากหลาย สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ เพื่อทำให้

ไม่เป็นคน ยึดติด คิดแคบสั้น
แต่เป็นคน สติมั่น และเข้มแข็ง
มีจิตใหญ่ ใฝ่ดีงาม และแข็งแรง
เพื่อเป็นแหล่ง สร้างเมตตา ปัญญาธรรม


การเปลี่ยนผ่านทางการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ จึงควรเป็นการศึกษาที่มุ่งสร้างให้เกิดสังคมคุณภาพ ที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ความเมตตา ที่ความดี ความงาม และความจริงเป็นสิ่งเดียวกัน นำให้เกิดสังคมอยู่เย็นเป็นสุข เกิดสันติภาพในโลกได้

Back to Top