โลกร้อน – ใช่ว่าไม่เคยมี แต่ครั้งนี้อันตราย

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 ตุลาคม 2550

ผู้เขียนเป็นแพทย์ จึงต้องเรียนวิทยาศาสตร์มาบ้าง โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน แต่เนื่องจากไปเรียนต่อทางด้านพยาธิวิทยาที่อเมริกา จึงต้องเรียนวิทยาศาสตร์กายภาพมากเป็นพิเศษ เพราะวิชาพยาธิวิทยาไม่ได้เรียนด้านการรักษา – นอกจากวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน - แพทย์ที่ทำหน้าที่รักษาคนป่วยจะต้องอาศัยการฝึกฝนหาประสบการณ์ด้วยตัวเอง ทั้งยังต้องอาศัยทักษะและศิลปะว่าด้วยจิตวิทยาพร้อมๆ กันไปด้วย ในขณะที่พยาธิวิทยาจะเรียนหนักไปทางการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วยสภาวะผิดปกติ และความเป็นมาของโรค โดยเน้นที่การวินิจฉัยสุดท้ายของเซลล์เนื้อเยื่อและระบบอวัยวะด้วยการผ่าศพผู้ตายจากโรคต่างๆ

ที่พูดมายาวก็เพื่อให้สาธารณชนโดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์สายตรงรู้ว่า พยาธิแพทย์ก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เน้นการวิจัยเป็นพื้นฐานเช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์สายตรงทั้งหลายทั้งปวง ดังนั้นเรื่องของโลกร้อนจึงเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ทุกคนสามารถแสดงความเห็นเชิงวิทยาศาสตร์ได้ ประเด็นก็คือ ผู้เขียนที่ติดตามเขียนเรื่องของโลกร้อนมานานกว่า ๑๕ ปี ค่อนข้างมีความเห็นที่ตรงไปตรงมาผิดไปจากนักวิทยาศาสตร์อื่นๆ บ้าง

เมื่อวาน หลานๆ มาเยี่ยมเพราะไม่ค่อยสบาย โดยเริ่มที่เป็นไข้หวัดใหญ่ธรรมดาๆ เพียงแต่ว่ามันเป็นนานเกินกว่า ๕๐ วันเพราะไม่ได้พักผ่อนจริงๆ เลย หลานชายคนหนึ่งที่มีอายุเพิ่งจะ ๑๙ ปี กำลังเรียนวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมหิดลและเรียนค่อนข้างดีมากๆ บ่ายวันนั้นแดดจ้าและร้อนมากทั้งยังไม่ค่อยหายดี เราจึงมีเวลาคุยกันไม่นานนัก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าช่วงเวลาจะสั้นแต่เราก็ได้พูดกันถึงสภาวะโลกร้อน ซึ่งเชื่อว่านักเรียนที่เรียนสาขาวิทยาศาสตร์สายตรงในมหาวิทยาลัยทุกคนต้องสนใจเป็นพิเศษมากกว่านักวิชาการปัญญาชนคนทั่วไป เพราะต้องหาสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนจนผิดปกติว่าเกิดจากอะไรอื่นได้บ้าง นอกจากความมักง่ายเอาแต่ได้ของมนุษย์ตามที่พูดๆ กัน อีกประการหนึ่งเพราะว่าสำหรับเด็กในวัยนี้ ในไม่ช้าไม่นาน ทุกคนจะต้องได้รับผลกระทบจากผลพวงของสภาวะโลกร้อนในรูปแบบต่างๆ ด้วยตัวเองทั้งนั้น

ดาวเคราะห์โลกที่เกิดตามมาหลังจากมีดวงอาทิตย์ได้ไม่นานเมื่อประมาณ ๔,๖๐๐ ล้านปีก่อน โดยเริ่มต้นมีวิวัฒนาการของชีวิตขึ้นมาเมื่อราวๆ ๓,๘๐๐ ล้านปีก่อน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์คลาสสิคที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยก่อนปี ๑๙๘๐ - ๑๙๘๕ แทบทั้งหมดหรือทั้งหมดก็ว่าได้ ล้วนเรียนมาว่าชีวิตมีขึ้นมาในโลกได้โดยความบังเอิญ เพราะสิ่งแวดล้อมบนผิวโลกมีความเหมาะสมที่เอื้ออำนวยให้สิ่งมีชีวิตสามารถมีวิวัฒนาการขึ้นมาได้ โดยทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากจะยอมรับในทฤษฏีอสุจิสากล (Panspermia Theory) ที่ว่า มีสารอินทรีย์แห่งชีวิต เช่น กรดอะมิโน หรือกระทั่งโมเลกุลของไวรัส ตกลงมาจากฟากฟ้าด้วยการอาศัยมากับอุกกาบาต นั่นทำให้เรานึกถึงเรื่องของอาภัสราพรหมซึ่งมีแสงในตัวเองที่จุติลงมากินง้วนดินบนโลก ใน อัคคัญสูตร ของพุทธศาสนาเรา และหากเป็นเช่นนั้นจริง มันก็จะไม่มีเรื่องของความบังเอิญอีก แต่น่าจะเป็นไปได้ว่าการสรรค์สร้างวิวัฒนาการทั้งหมดของโลกและจักรวาลเป็นไปตามรูปแบบของพิมพ์เขียว ดังที่ พอล เดวีส์ ไมเคิล โปแลงยี เซอร์ เฟรด ฮอยด์ และใครต่อใครคิด รวมทั้งผู้เขียนที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์สายตรงด้วย

สำหรับบ้านเรานั้น ตอนนี้ใครๆ ก็รู้ว่าโลกร้อนขึ้นมาก และเกิดจากฝีมือของเราเอง เพราะความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม ที่เพียงสิบปีกว่าก่อน พวกนักวิทยาศาสตร์สายสังคมโดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์และนักการเมืองส่วนมากพยายามปฏิเสธคอเป็นเอ็นว่า ไม่เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน โลกมันร้อนหรือเย็นเป็นน้ำแข็งของมันเอง คนไม่เกี่ยว แต่วันนี้คงไม่มีใครดันทุรังไม่เชื่ออีก เมื่อนักวิทยาศาสตร์กว่า ๒,๕๐๐ คนของไอพีซีซี (The Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ก็สรุปเช่นนั้นอย่างเป็นเอกภาพ เมื่อโลกร้อนขึ้นกว่าเก่ามาก แถมแดดก็ร้อนไปตามอายุของดวงอาทิตย์ที่แก่ตัวลงทุกๆ วัน ผิวของน้ำในทะเลในมหาสมุทรก็จะร้อนตามไปด้วย และจะระเหยเป็นเมฆที่ก่อฝนก่อพายุรุนแรงจนทำให้น้ำท่วมฉับพลันและดินโคลนถล่มที่โน่นที่นี่บ่อยๆ ตอนนี้และวันนี้ ไม่ว่าใครในโลกไม่เฉพาะที่บ้านเราก็ประสบกับสภาวะโลกร้อนจากภาวะเรือนกระจก ที่มีสาเหตุมาจากการพัฒนาสู่ความเจริญก้าวหน้าบนพื้นฐานของเงินกับระบบเศรษฐกิจเสรี ใครก็ตามที่หน้าดำคร่ำเครียดอยู่กับความโลภและความโลภตลอดเวลา ไม่มีทางที่จะมองเห็น เพราะมัวแต่หวังลมๆ แล้งๆ ว่าทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม ก็ขอบอกที่นี่และวันนี้ว่า หากเราไม่เลิกแสวงหาเงินและระบบเศรษฐกิจการตลาดเสรีทั่วโลกอย่างค่อยเป็นค่อยไปให้หมดภายในสองหรือสามปีนี้ ระหว่างนี้ ไม่ว่าเราจะสามารถหาพลังงานทดแทนอย่างไร หรือปลูกป่าอีกปีละกี่ล้านไร่ – ซึ่งเราควรและต้องทำมาตั้งแต่เมื่อ ๒๐ ก่อน อย่างน้อยก็ควรพิจารณาสิ่งที่ผู้เขียนได้พูดได้เขียนแม้ที่คอลัมน์นี้มานานกว่า ๑๕ ปี - มาถึงวันนี้ อะไรๆ ก็สายเกินไปจนสุดจะช่วย แม้แต่จะผ่อนหนักเป็นเบาอย่างไรได้ ดังที่ ปีเตอร์ รัสเซลล์ นักฟิสิกส์จากเคมบริดจ์กล่าวว่า มันเป็นกรรมร่วมของโลกและเผ่าพันธุ์ที่ต้องผ่านบทเรียนอันสุดเจ็บปวดในครั้งนี้ ที่เราส่วนน้อยนิดผู้สามารถอยู่รอดจากมหันตภัยธรรมชาติที่ต้องเกิดกับเราทั้งโลกในไม่ช้านี้ จะต้องนำไปสะท้อนอย่างล้ำลึกและต่อเนื่องที่ภายใน และหนทางนี้เท่านั้นที่จะช่วยได้

หากเราย้อนกลับไปมองเรื่องของฟิสิกส์ปฐพีวิทยาของโลกกายภาพในอดีต โลกเราเคยปรากฏมีสภาวะโลกร้อนที่คล้ายคลึงกับสภาพที่เราคาดว่าจะเกิดขึ้นอีกในวันนี้พรุ่งนี้มาแล้วหลายครั้ง และทุกครั้ง สำหรับผู้เขียน ล้วนมีความหมายที่อาจใช้อธิบายจักรวาลที่มีแผนการสร้างสรรค์ไว้ล่วงหน้า สภาวะโลกร้อนครั้งหลังสุดที่เหมือนๆ กับคราวนี้ เกิดขึ้นเมื่อช่วงรอยต่อระหว่างปลายยุคพาลีโอซีน (Paleocene) กับอีโอซีน (Eocene) – เมื่อราวๆ ๕๕ ล้านปีมาแล้ว ช่วงเวลาที่ต้นตระกูลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเริ่มปรากฏขึ้นมาในโลกเป็นครั้งแรก จากการที่อยู่ๆ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนถึง ๐.๓ – ๓.๐ ล้านล้านตัน (terraton) ถูกปล่อยออกมาสู่บรรยากาศโลก ส่วนสาเหตุที่ทำให้ก๊าซเรือนกระจกอยู่ๆ ก็พรวดพราดถูกปล่อยออกมาจากไหนและอย่างไรนั้น แม้กระทั่งบัดนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ บ้างก็ว่ามาจากการปล่อยของก๊าซมีเธนที่ฝังตัวอยู่ในผลึกน้ำแข็งใต้ท้องมหาสมุทรใกล้ๆ ขั้วโลกเหนือ บ้างก็ว่าเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟใต้มหาสมุทรแอตแลนติกเหนืออีกเหมือนกัน การระเบิดทำให้ก๊าซคาร์บอนใต้ดินถูกปล่อยออกมา (Nature, Jun. 2004) อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่เคยเชื่อหรือยอมรับเรื่องความบังเอิญหรืออุบัติเหตุ เพราะเชื่อมั่นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับโลกกับจักรวาลรวมทั้งกับมนุษย์แต่ละคนหรือสังคมแต่ละสังคม ล้วนมีแผนหรือพิมพ์เขียวเขียนไว้ล่วงหน้าทั้งนั้น นั่นประกอบด้วยสองกลไกที่แยกกันทำ คือ กรรมร่วมของเผ่าพันธุ์หนึ่ง กับทฤษฏีการจัดองค์กรให้กับตัวเองดังที่เคยอธิบายไปแล้วหลายครั้ง

เพื่อเป็นการเปรียบเทียบระหว่างกัน ตอนนี้เราได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกไปเรียบร้อยแล้ว อย่างน้อยก็ราวๆ ครึ่งล้านล้านตัน หรือราวๆ ๐.๕ terraton ซึ่งอยู่ในขอบเขตสูงกว่าระดับต่ำที่สุดของสภาวะโลกร้อนเมื่อ ๕๕ ล้านปีก่อน งานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้จากหลายมหาวิทยาลัยชี้บ่งว่า เมื่อ ๕๕ ล้านปีก่อน อุณหภูมิเฉลี่ยในแถบอบอุ่นของโลก เช่นที่ยุโรปสูงขึ้นไปกว่าปกติถึง ๘ องศาเซลเซียส ในขณะที่บริเวณแถบร้อนเช่นบ้านเรา สูงขึ้นไปกว่าปกติเพียง ๕ องศาเซลเซียส แต่ก็สูงพอที่จะทำให้ป่าฝนเขตร้อนกลายเป็นพุ่มไม้เตี้ยๆ สลับกับทะเลทรายไปทั้งหมด (Hadley Center 2004) และโลกอาจจะต้องใช้เวลาราวๆ ๑ แสน – ๒ แสนปีในการรักษาความป่วยเจ็บเป็นไข้สูงให้กับตัวเอง ที่ต้องใช้เวลานานขนาดนั้นก็เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต้องใช้เวลานานกว่าจะสูญสลาย แม้เมื่อ ๕๕ ล้านปีก่อนอาจเริ่มด้วยก๊าซมีเธน แต่มีเธนก็ย่อมถูกออกซิไดซ์เป็นก๊าซคาร์บอนกับละอองน้ำวันยังค่ำ

ส่วนเรื่องของน้ำท่วมโลกที่พูดๆ กันนั้น เป็นเพียงการเปรียบเปรย เพราะน้ำคงจะไม่มีทางท่วมโลกท่วมแผ่นดินรวมทั้งภูเขาเหมือนหนังเรื่อง Waterworld จริงๆ แล้วการที่น้ำทะเลจะสูงมากกว่า ๘๐ - ๙๐ เมตร คงเป็นได้ยาก เพราะนั่นหมายถึงน้ำแข็งที่กรีนแลนด์และทวีปแอนตาร์กติกาต้องละลายกลายเป็นน้ำไปแทบทั้งหมด แต่เป็นไปได้มากที่ระดับน้ำทะเลจะสูงกว่าระดับปัจจุบันขึ้นไปถึง ๒๐ - ๔๐ เมตร ภายใน ๓๐ ปีข้างหน้าตามที่ เจมส์ ลัฟล็อค ยืนยันว่าน่าจะเกิดมากกว่าไม่เกิด แล้วเราคนไทยโดยเฉพาะคนภาคกลางจะไปอยู่กันที่ไหนในเวลานั้น?

ก็เห็นมีแต่นักวิทยาศาสตร์ไม่กี่คนที่ยังคงดันทุรังคิดในเชิงอนุรักษ์นิยม โดยคาดหวังว่ามนุษย์และสังคมประเทศชาติอาจสามารถรู้ตัวได้ทันและเลิกคิดที่จะแข่งขันกัน ดังนั้นจึงคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่มนุษยชาติโดยรวมจะหวนกลับมาร่วมมือกันลดการเผาผลาญฟอสซิลคาร์บอนลงอย่างฉับพลันทันที (drastic world -wide reduction) ทำให้อุณหภูมิโลกที่คาดว่าจะสูงมากในปลายศตวรรษนี้อาจจะลดลงมาสูงเพียง ๒ องศาเซลเซียสเท่านั้น ทำให้เรื่องของน้ำท่วมโลกเป็นไปได้ยาก เพราะอย่างดีระดับน้ำทะเลที่อาจสูงขึ้นบ้าง ก็คงแค่ไม่เกิน ๓๐ เซนติเมตร (Tom Wigley and G.A. Meehl, Science, Mar. 2005) แต่ก็เห็นได้ชัดว่านักอุตุนิยมทั้งสองคนนั้น ไม่ได้นำเรื่องของสภาวะโลกในปัจจุบันที่กำลังอยู่ในช่วงของการย้อนกลับไปมาของความร้อนที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ (positive feedbacks) ไม่ว่าจะเป็นความร้อนจากสภาวะเรือนกระจกที่ทำให้น้ำแข็งในที่ต่างๆ เช่น จากขั้วโลกเหนือหรือยอดเขาสูงละลาย หรือป่าไม้ที่ช่วยดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือความร้อนจากการพัฒนาที่อยู่อาศัย เช่น เครื่องทำความเย็น และจากซีเอฟซีที่ยังคงมีใช้อยู่บ้าง และที่สำคัญที่สุดที่รายงานดังกล่าวไม่ได้นำมาคิดเลยคือ ระบบนิเวศของป่าฝนเขตร้อนกับระบบนิเวศของสาหร่ายโฟโตแพลงตอนสีเขียวที่ลดน้อยลงมากเมื่อโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ พืชพันธุ์ไม้สีเขียวพวกนี้ทำหน้าที่ดูดซับ หรือ ปั้ม (pump) ก๊าซคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศอันเป็นกลไกธรรมชาติที่สุดสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องสูญเสียไป ทำให้เกิดฟีดแบ็คกลับไปกลับมาจนอุณหภูมิสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

ผู้เขียนเชื่ออย่างมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์กายภาพในเรื่องของแรงที่กระทำไปย่อมจะก่อแรงสะท้อนที่เท่ากันตามกฏการเคลื่อนที่ข้อที่สามของนิวตัน ยิ่งกว่านั้น ผู้เขียนยังรู้ว่าโดยอภิปรัชญาที่ต่อยอดบนแควนตัมเมคานิกส์ซึ่งไม่มีตรรกะเลย แต่ได้รับการยอมรับกันโดยนักฟิสิกส์ระดับนำจำนวนมากของโลก ทำให้พวกเขาเหล่านั้นรวมทั้งผู้เขียนเชื่อมั่นว่า ไม่มีอะไรในโลกในจักรวาลที่ปรากฏขึ้นมาด้วยความบังเอิญ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีคุณค่าและความหมายหรือมีเป้าหมายอย่างหนึ่งอย่างใดทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าเรามองไม่เห็น ชี้วัดหรือคาดคิดด้วยสติปัญญาหรือสุตมยปัญญาไม่ได้ เราจึงเชื่อว่าเมื่อมองไม่เห็นและคิดไม่ถึงด้วยตรรกะและเหตุผลของตนแล้ว สิ่งนั้นปรากฏการณ์นั้นก็จะต้องไม่มี หรือ “บังเอิญ” มีขึ้นมาอย่างไร้สิ้นซึ่งความหมาย
เพราะฉะนั้น ในความรู้ความเห็นของผู้เขียน อุกกาบาตขนาดยักษ์ที่ตกลงมาชนโลกเมื่อ ๖๕ ล้านปีก่อนจนทำให้ไดโนเสาร์ต้องตายไปทั้งหมด จะต้องมีความหมายหรือมีความสัมพันธ์กับวิวัฒนาการของชีวิตที่ไล่สูงขึ้นไปกว่านั้น สภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในทันทีทันใดเมื่อ ๕๕ ล้านปีในยุคอีโอซีน ที่ทำให้โลกร้อนอยู่นานร่วมๆ ๒ แสนปี จนชีวิตอยู่แทบไม่ได้ นอกจากพื้นดินบริเวณใกล้ๆ ขั้วโลก ดังที่ปรากฏร่องรอยวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหรือแมมมอลชี้บ่งว่า เป็นแผนแม่แบบพิมพ์เขียวของจักรวาลที่แผ้วทางเพื่อให้ชีวิตที่อยู่สูงกว่าสามารถมีวิวัฒนาการขึ้นมาได้ ในความเห็นส่วนตัวเช่นเดียวกัน สภาพโลกร้อนเกิน ๕ องศาจะทำให้ชีวิตส่วนใหญ่อยูไม่ได้ในไม่กี่สิบปีข้างหน้า นอกจากแผ่นดินใกล้ๆ ขั้วโลก เช่น กรีนแลนด์ - ที่อาจใช้เเวลา ๑ แสนปีกว่าที่ก๊าซคาร์บอนจะสูญสลายไปหมด - และช่วงเวลาต่อไปจากนั้นจะเป็นช่วงเวลาที่มนุษยชาติสามารถวิวัฒนาการต่อไปได้ และคราวนี้ไม่ว่าเราจะเหลือน้อยสักปานใด จะไม่ใช่เรื่องของรูปกายที่วิวัฒนาการจบไปแล้ว แต่จะเป็นวิวัฒนาการทางจิตวิญญาณ ที่สำหรับผู้เขียน เส้นทางดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมายของจักรวาล

Back to Top