มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 พฤศจิกายน 2550
วันหนึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสนั่งคุยกับ ณัฐฬส วังวิญญู หลานชาย เรื่อง Evolve Your Brain ซึ่งเขียนโดย โจ ดิสเปนซ่า (Joe Dispenza) บทหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ ดิสเปนซ่าได้แยกแยะการทำงานของสมองซีกซ้ายซีกขวาไว้อย่างชัดเจน โดยกล่าวว่าเด็กจะใช้สมองซีกขวา ซึ่งเป็นสมองที่แสวงหาสิ่งใหม่ การเรียนรู้ใหม่ ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง แต่สมองซีกซ้ายซึ่งเป็นสมองของผู้ใหญ่ จะสรุป แล้วอยู่กับความรู้เก่า ความรู้เดิม
ก่อนอื่น เราต้องไม่ลืมว่าการรับรู้โลกของอายตนะ (senses) ต่าง ๆ ในสมองชั้นต้น การประมวลผลในสมองชั้นกลาง และส่งไปยังสมองซีกขวานั้น สมองซีกขวาจะเป็นความรู้แฝงเร้น (tacit หรือ implicit) เป็นศิลปะ เป็นปัญญาเชิงปฏิบัติ ซึ่งเมื่อถูกแปลความแล้วด้วยสมองซีกซ้าย จะเป็นความรู้เปิดเผย (explicit) เป็นตัวบทหรือเป็นทฤษฎีขึ้นมา
ที่สำคัญ ในหนังสือเล่มดังกล่าวของดิสเปนซ่า เขาได้เขียนถึงเรื่องการเริ่ม ‘หยุดการเรียนรู้’ ของผู้ใหญ่ ณ วัยประมาณยี่สิบตอนปลายและสามสิบตอนต้น กล่าวคือเมื่อคนเราเริ่มจะรู้สึกว่าตัวเองเห็นโลกมามาก มีประสบการณ์มาหลากหลายแล้ว และเริ่ม ‘ใช้ชีวิตด้วยความรู้สึก’
ดิสเปนซ่าได้เขียนไว้ในบทก่อนหน้าของหนังสือแล้วว่า ‘ความรู้สึกคือความทรงจำของประสบการณ์’ กล่าวคือมนุษย์จะจดจำประสบการณ์โดยผ่านความรู้สึก ความรู้สึกเป็นตัวจัดการ จัดแจง และจัดระเบียบประสบการณ์ ความจำ ตลอดจนความคิดที่เรามีต่อสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดที่ผ่านมาในชีวิตหรือผ่านวัยมา เขาบอกว่า ‘ทุกความคิดจะมีความรู้สึกกำกับอยู่’ ตรงนี้ทำให้ผู้เขียนนึกไปถึงความหมายที่แท้จริงของหนึ่งในขันธ์ห้า นั่นคือ ‘สังขาร’ ว่าสังขารคือการปรุงแต่ง คือความคิดที่ปนอยู่ในความรู้สึก หรือความรู้สึกที่ปนอยู่ในความคิดแล้วอย่างแยกไม่ออกและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นอะไรกลาง ๆ ที่สมองใช้ในการจัดระเบียบ จัดหมวดหมู่เพื่อจะนำกลับมาใช้งานได้ และเฉดสีของอารมณ์ความรู้สึกนี้เองที่จะช่วยในการจัดระเบียบความทรงจำแห่งประสบการณ์ รวมทั้งความคิดและความจำได้หมายรู้ต่าง ๆ ของมนุษย์
เมื่อเชื่อมโยงกับหนังสือว่าด้วยการทำงานของสมองอีกเล่มหนึ่งของ โจเซฟ ชิลตัน เพียซ เรื่อง From Magical Child to Magical Teen ซึ่งพูดถึงอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่ามีความสำคัญมากกว่า คือ สมองชั้นล่าง ๆ หรือสมองสัตว์เลื้อยคลาน และสมองชั้นกลาง จะเรียนรู้ร่วมกับสมองชั้นนอกด้วย ‘วิถีของการทำซ้ำ’ จนกระทั่งชำนิชำนาญ แล้วจะจดจำสิ่งเหล่านั้นเอาไว้อย่างเป็นอัตโนมัติ เมื่อเราคุ้นเคยกับการทำอะไรแล้ว ต่อไป เราก็อาจทำสิ่งนั้นกิจกรรมนั้นได้อย่างเป็นอัตโนมัติ อย่างเป็นกลไก อย่างเป็นเครื่องจักร โดยต้องเข้าใจว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของมนุษย์ที่จะดำรงชีวิตอยู่รอดในโลก และชุดอัตโนมัติเหล่านี้ จะถูกบันทึกไว้อย่างพร้อมนำกลับมาใช้ได้ตลอดเวลา ความรู้ที่ว่านี้เมื่อเพิ่มเติมด้วยการค้นคว้าของดิสเปนซ่าเข้าไป จะกล่าวได้ว่า ‘ทุกชุดอัตโนมัติเหล่านี้ล้วนมีอารมณ์ความรู้สึกกำกับอยู่ด้วย’
เช่น มีคนเคยตั้งข้อสังเกตเรื่องการเดินทางว่า เวลาเราเดินทางไปไหน ไปหาใครหรือไปท่องเที่ยว ขาไปและขากลับจะเกิดความรู้สึกแตกต่างกัน โดยเฉพาะความรู้สึกในเรื่องของเวลา คือขาไปจะยาวนานกว่าขากลับ หากลองกลับมาที่ข้อคิดของเพียซซึ่งเป็นนักค้นคว้าประมวลความรู้ทางสมองอย่างเอกอุอีกครั้งหนึ่ง เขาเคยกล่าวไว้ว่า มนุษย์จะทำซ้ำกับการเรียนรู้หนึ่งใด จนกระทั่งเป็นนายงานของเรื่องนั้น ๆ แล้วจึงจะผ่องถ่ายไปเก็บไว้ในแบบกลไกอัตโนมัติ คือ สามารถนำมาใช้งานได้อย่างเป็นอัตโนมัติในเวลาต่อมา ดังเราจะสังเกตเห็นได้ว่า หลายกิจกรรมในชีวิตของเราล้วนดำเนินไปอย่างเป็นอัตโนมัติ ซึ่งผู้เขียนเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น “อัตโนมัติที่หลับใหล” เพราะเราทำไปอย่างเป็นกลไก ทำไปอย่างเป็นเครื่องจักร ทำอย่างไม่ได้ตื่นรู้ แล้วเมื่อถามว่ามีอัตโนมัติอย่าง “ตื่นรู้” ได้ไหม ผู้เขียนคิดว่าเป็นไปได้ อย่างเช่นเวลาเรารำมวยจีน หรือเดินจงกรม หากเราตื่นรู้ มันจะเป็น “อัตโนมัติที่ตื่นรู้”
แต่ชีวิตส่วนใหญ่ของมนุษย์ดำเนินไปใน “อัตโนมัติที่หลับใหล” โดยเฉพาะคนอายุอานามเลยวัยสามสิบขึ้นไป ยิ่งสี่สิบห้าสิบยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเรามักจะคิดว่า ตัวเองรู้แล้ว รู้งานแล้ว รู้เรื่องราวในวิชาชีพตนเองดีแล้ว รู้ประสบการณ์ รู้ชีวิตแล้ว จึงปล่อยชีวิตโดยส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดให้เป็นไปอย่าง “อัตโนมัติที่หลับใหล”
กลับมาถึงตอนสำคัญของหนังสือ Evolve Your Brain ดิสเปนซ่าบอกว่า ในวัยยี่สิบตอนปลาย และสามสิบตอนต้น เราเริ่มเคลื่อนย้ายท่าทีของชีวิตจากการแสวงหา เรียนรู้ มาเป็นลงหลักปักฐาน เริ่มสร้างบ้านสร้างรถ เลี้ยงลูก ส่งลูกเรียนหนังสือ กล่าวคือชีวิตได้ปรับเข้าสู่การเอาชีวิตรอด หาความมั่นคงปลอดภัยให้กับครอบครัว เป็นการเคลื่อนย้ายออกมาจากวิถีชีวิตแห่งการเรียนรู้ ไปสู่วิถีชีวิตแห่งการสร้างความมั่งคงปลอดภัยให้กับครอบครัว และเราอาจจะสรุปไปแล้วโดยไม่รู้ตัวว่า ประสบการณ์ทั้งหมดที่อาจจะมีได้ในโลกนี้ ’ฉันรู้แล้ว’ และตรงนี้เองที่มนุษย์ ’หยุดการเรียนรู้’
ดังนั้น ขอให้ทุกท่านแยกแยะให้ออกระหว่างการเรียนรู้ กับการดาว์นโหลด “ความรู้เดิม” ที่ผู้เขียนมักเรียกว่าเป็น “เทปม้วนเก่า” มาใช้ คือ เรามักจะใช้ความรู้เก่า วิธีเก่า ในการประมวลผลหรือวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ และเรามักจะมองปัญหาต่าง ๆ จากมุมมองเดิม ๆ ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า เราไม่สามารถแก้ปัญหาหนึ่งใดได้ จากมุมมองที่เป็นตัวสร้างปัญหาขึ้นมา แม้การจะเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนมุมมองนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราจำต้องออกจาก “อัตโนมัติที่หลับใหล” ต้องออกจากการ “ดาว์นโหลด” เราจึงอาจจะมีมุมมองที่สด มีชีวิต และสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ และเมื่อนั้น การเรียนรู้จึงจะไม่หยุดอยู่กับที่อีกต่อไป
ผู้เขียนอยากให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูว่า ชีวิตของท่านนั้น นอกจากดาว์นโหลดความรู้เดิม วิธีคิดเดิม มุมมองเดิมไปวัน ๆ แล้ว ท่านได้มีโอกาสมองโลกจากมุมมองใหม่บ้างหรือไม่?
แสดงความคิดเห็น