มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 ธันวาคม 2550
ปัจจุบันนี้ งานวิจัยเรื่องสมองได้พัฒนาไปมาก เร็วๆ นี้ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง Evolve Your Brain: The Science of Changing Your Mind ของ โจ ดิสเปนซ่า (Joe Dispenza) หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ที่อยู่ในทีมผู้ผลิตภาพยนตร์เรื่อง What the Bleep do We Know!? ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับจิตใจอย่างเป็นวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ และในขณะนี้ พวกเราในเครือข่ายจิตวิวัฒน์กำลังแปลหนังสือชื่อเดียวกันนี้ ที่อธิบายเรื่องราวในภาพยนตร์อย่างละเอียดออกมา เพื่อเป็นเกียรติให้กับคนไทยผู้หนึ่งที่นำความรู้วิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่เข้ามาในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นเรื่องเป็นราว เป็นจริงเป็นจังที่สุดท่านหนึ่ง และยังเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งกลุ่มจิตวิวัฒน์ประเทศไทยด้วย คือ คุณหมอประสาน ต่างใจ หลายคนที่อยู่ในทีมแปลนี้ นับถือท่านเป็นพ่อทางจิตวิญญาณ และผมเองก็ถือว่าเป็นลูกเขยของท่าน เพราะคนใกล้ชิดของผมคือลูกสาวทางจิตวิญญาณคนหนึ่งของท่าน
เรื่องการซักซ้อมทางจินตนาการ (Mental Rehearsal) นี้ อยู่ในบทที่สิบเอ็ดและสิบสองของหนังสือ Evolve Your Brain เป็นเรื่องราวการทำงานของสมองส่วนหน้า ที่ถูกคลี่คลายความรู้ความเข้าใจมาตามลำดับ สมองส่วนหน้านี้เป็นวิวัฒนาการชั้นหลังสุดของสมองมนุษย์ แม้จะมีอยู่ในลิงด้วย แต่มีพัฒนาการสูงสุดในมนุษย์ ซึ่งมีดีเอ็นเอต่างจากลิงเพียงสองเปอร์เซนต์เท่านั้น
สมองส่วนหน้าจะเติบโตสมบูรณ์เมื่อเราอายุครบบวช คือ ๒๐ ปี โดยที่ตั้งของมันคือ ตาที่สาม ซึ่งเมื่อเปิดออก สติปัญญาของมนุษย์จึงจะสมบูรณ์ การคิดด้วยสมองส่วนหน้าจึงต่างจากการคิดด้วยสมองซีกซ้ายที่เรารู้จักกันดี และให้ความสำคัญมานาน นั่นคือการคิดในกระบวนการของเหตุผล หรือการคิดแบบเรขาคณิตของเพลโต้ อุดมคติของเพลโต้คงอยากจะให้โลกลงตัวดุจเดียวกับที่เทวดาทำเรขาคณิตกันเป็นงานอดิเรกบนสวรรค์ แต่ปัญญาปฏิบัติกำลังจะกลับมาพร้อมวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ และการค้นพบบทบาทที่ชัดเจนขึ้นของสมองส่วนหน้า (Frontal lobe) แนวปรัชญาแบบอริสโตเติล และวิทยาศาสตร์ของเกอเธ่ จะกลับมาเด่นเป็นสง่าอีกครั้งหนึ่ง อย่างแน่นอน
สมองส่วนหน้าเติบโตหลังสุด ช้าสุด เพราะได้เชื่อมโยงสมองส่วนต่างๆ ชั้นต่างๆ (สมองมีสามชั้น คือ สมองสัตว์เลื้อยคลาน สมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสมองมนุษย์หรือลิงชั้นสูง) เข้าด้วยกัน ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับการ เหมือนวาทยกรผู้กำกับวงออเครสต้าอย่างไรอย่างนั้น
โจ ดิสเปนซ่า และ โจเซฟ ชิลตัน เพียซ พูดไว้เหมือนกันว่า เวลาสมองส่วนหน้าทำงาน มันจะตัดขาดออกจาก การบัญชาการของสมองส่วนล่างๆ คือ อารมณ์ความรู้สึก และร่างกาย หรือสมองสัตว์เลื้อยคลาน สมองส่วนล่างทั้งสองนี้ ออกจะเป็นทรราช เมื่อเราปล่อยตัวปล่อยใจไปกับชีวิต และไม่ได้กุมบังเหียนชีวิตด้วยสมองส่วนหน้า ความเป็นทรราชของสมองชั้นกลางและชั้นล่างหรือชั้นในสุดนั้น น่าสนใจมาก และคงจะต้องเขียนเป็นอีกหนึ่งบทความต่างหากออกไป โจ ดิสเปนซ่า ได้ถอดรหัสการเสพติดทั้งหลายของมนุษย์ว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร และในทางกลับกัน สมองส่วนหน้านี่เองจะเป็นตัวถอดสลักการเสพติดทั้งหลายในชีวิตมนุษย์ ให้หลุดออกมาจากการย้ำทำย้ำคิดได้ ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า ‘การซักซ้อมในจินตนาการ’
เดวิด เดวิดสัน แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาสมองกับเรื่องราวของอารมณ์ความรู้สึก อีกทั้งยังทำงานใกล้ชิดกับสมเด็จองค์ทะไลลามะ ได้ค้นพบว่า สมองส่วนหน้ากับอมิกดาลา ทำงานอย่างเป็นปฏิภาคกัน แปลความว่า เมื่อสมองส่วนหน้าทำงาน อมิกดาลาจะหยุดทำงาน และเมื่ออมิกดาลาทำงาน สมองส่วนหน้าก็จะหยุดทำงาน
อมิกดาลาคือการทำงานของอารมณ์ลบที่ถูกบันทึกไว้อย่างเป็นอัตโนมัติ คือมันจะทำงานอย่างเป็นอัตโนมัติ โจเซฟ ชิลตัน เพียซ เขียนไว้ว่า เวลาเราเข้าสู่ความตื่นตระหนก ความกลัว หรืออาการปกป้องตนเอง เราจะถูกล็อคโดยสมองส่วนล่างคือ ความกลัวของสมองชั้นต้น อารมณ์ลบของอมิกดาลา และความฉลาดอย่างขี้โกงของสมองซีกซ้ายแบบแคบๆ (คือไม่มองให้รอบด้าน แต่จะคิดเห็นเฉพาะประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น หรือ คือ I in Me ในทฤษฏีตัวยู ของ ออตโต ชาร์มเมอร์ – หนึ่งในคณะองค์กรแห่งการเรียนรู้ของ ปีเตอร์ เซงเก)
ในทางกลับกัน เมื่อสมองส่วนหน้าทำงาน อมิกดาลาก็จะหยุดการทำงานในวงจรลบๆ ที่เป็นอัตโนมัติของตัวเอง
เพื่อเพิ่มเติมประโยชน์ในการปฏิบัติได้ให้แก่บทความนี้ที่จำกัดด้วยความสั้น เนื่องจากเป็นบทความในหนังสือพิมพ์ (เดี๋ยวนี้เวลาเขียนหนังสือ ผมจะเขียนเป็นเล่มไปเลย หรือไม่ก็เขียนเป็นบทความยาวๆ ไม่ค่อยได้เขียนเป็นบทความสั้นๆ อีกแล้ว) ผมอยากพูดถึง สี่ขั้นตอนของการซักซ้อมทางจินตนาการเพื่อก่อประสบการณ์ใหม่ พฤติกรรมใหม่ หรือการสร้างโลกใบใหม่ให้กับตัวเอง สี่ขั้นตอนนี้คือ
หนึ่ง Unconsciously unskilled คือ บรรดาวงจรอัตโนมัติทั้งหลายที่เรามีอยู่ สังเกตให้ดี เราจะพบว่า เราทำงานด้วยความเป็นอัตโนมัติ ระหว่างความคิด อารมณ์ความรู้สึก และร่างกายของเรา ทั้งหมดจะทำ คิด รู้สึกไปอย่างเป็นอัตโนมัติ ครึ่งหลับครึ่งตื่น เราไม่ได้ตื่นเต็มที่ ด้วยเหตุนี้ ในการปฏิบัติธรรมจึงพยายามทำให้เราตื่นขึ้นมาก่อน ขั้นตอนนี้ ผมสรุปเป็นภาษาไทยว่า “ไม่รู้ตัวว่า ไม่รู้”
ขั้นตอนที่สอง Consciously unskilled ‘เราเริ่มรู้ตัวว่า เราไม่รู้’ คือเริ่มเห็นข้อจำกัดของตัวเอง เมื่อเราเปลี่ยนผ่านจากความหลับใหลไปสู่ความตื่นรู้ เราจะเริ่มตระหนักและมองเห็นข้อจำกัดของตัวเอง
ขั้นตอนที่สาม Consciously skilled เป็นขั้นตอนการฝึกฝน เป็นการซักซ้อมทางจินตนาการพร้อมๆ ไปกับการปฏิบัติจริงในสนามจริง ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เช่น การฝึกเล่นสกี การเล่นเปียโน หรือเปลี่ยนวงสวิงกอล์ฟ หรือฝึกการตื่นรู้เพื่อออกจากพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อสร้างพฤติกรรมใหม่ก็ตาม จะต้องตื่นรู้ในทุกขณะจิต เพื่อตระหนักและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ สร้างวงจรสมองอย่างใหม่ขึ้นมา เกอเธ่กล่าวว่า มันเป็นการสร้างอวัยวะแห่งการรับรู้ใหม่ขึ้นมาเพื่อจะเรียนรู้เรื่องใหม่ มิฉะนั้น เราไม่อาจจะเข้าใจเข้าถึงเรื่องใหม่ที่ว่านั้นได้
ขั้นตอนที่สี่ Unconsciously skilled เมื่อฝึกฝนตามขั้นตอนที่สามไปเรื่อยๆ อย่างตั้งอกตั้งใจ และตื่นรู้ รู้ตัวตลอด จิตตื่นโพลง ทำซ้ำๆๆๆ จนกระทั่งมันค่อยๆ ประสาน ความคิด อารมณ์ และร่างกายเป็นหนึ่งเดียวกัน ร่างกายเริ่มจดจำได้อย่างเป็นอัตโนมัติ จนกระทั่งเราทำสิ่งนั้นได้โดยไม่ต้องคิด อย่างเช่น การปรับเปลี่ยนเกียร์รถแบบแมนนวลได้โดยที่เราไม่ต้องคิดเลย เป็นธรรมชาติ หรือเล่นสกีได้อย่างไม่ต้องคิดเลย มีจิตตื่นรู้อย่างไม่ต้องคิดเลย เหมือนกับที่ ไดเซตซ์ ไตตาโร สุซุกิ (Daisetz Teitaro Suzuki) ใช้คำว่า Unconsciously conscious หรือ Consciously unconscious ในขั้นตอนนี้ เราจะเริ่มปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันได้ตลอดเวลา
แต่เขียนมาถึงตอนนี้ ผมคิดว่าถ้าจะทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง อาจจะต้องเขียนลงอีกสักสามสี่ตอนกระมัง? แต่อย่างไรเสีย ของดีๆ ก็น่าจะให้ได้ชิมลองกันเสียก่อนจะดีกว่าไม่ได้สัมผัสเสียเลย
แสดงความคิดเห็น