โรงเรียนคือชุมชนแห่งการเรียนรู้



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 มกราคม 2559

เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ผมโชคดีได้รับเชิญให้ไปเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการกับศาสตราจารย์ ดร.มานาบุ ซาโตะ (Manabu Sato) แห่งมหาวิทยาลัยกักคุชุอิน (Gakushuin University) เรื่อง “โรงเรียนคือชุมชนแห่งการเรียนรู้” (School as Learning Community) ด้วยเหตุผลที่ว่า สิ่งที่ท่านจะนำเสนอนั้น ทั้งในเชิงแนวคิดและแนวปฏิบัติ มีความใกล้เคียงและไปในทิศทางเดียวกันกับแนวคิดและแนวปฏิบัติของจิตตปัญญาศึกษา จึงอยากให้ผมไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ผมได้อยู่ร่วมด้วยทั้งวัน รู้สึกดีมากๆ ที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นการส่วนตัวกับท่าน ดีใจที่มีนักการศึกษาที่มีชื่อเสียง มีแนวคิดในทิศทางใกล้เคียงกัน และทุ่มเทเผยแพร่แนวปฏิบัติลงไปในสถานศึกษาทั้งที่ในประเทศญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศในโลก จนได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของ National Academy of Education in the United States และเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว

ระหว่างวันมีเพื่อนอาจารย์รุ่นน้องหลายคนที่เคยอบรมและร่วมงานด้านจิตตปัญญาศึกษากับผมมาก่อน เข้ามาคุยและถามเพื่อตรวจสอบความเข้าใจของตนเองว่าแนวคิดและแนวปฏิบัติของเอสแอลซี (SLC: School as Learning Community) คล้ายกับจิตตปัญญาศึกษามากไหม

ผมก็ตอบตามตรงว่า เท่าที่ฟังและอ่านจากเอกสารที่แจก มีความใกล้เคียงกันในหลายเรื่อง แต่นี่เป็นการพบกันเป็นครั้งแรก และวันเดียว ยังไม่มีโอกาสแลกเปลี่ยนกันอย่างเต็มที่ มีบางจุดบางประเด็นที่ผมยังไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกต้องหรือไม่ คงต้องไปศึกษาผลงานของท่านเพิ่มเติมเพราะน่าสนใจจริงๆ

จุดเน้นประการแรกที่เหมือนกันของเอสแอลซีและจิตตปัญญาศึกษา คือการให้ความสำคัญกับเรื่อง “การเรียนรู้ (Learning)” ที่มีความหมายแตกต่างไปจากการเรียนรู้ที่เราเคยใช้และเข้าใจกันโดยทั่วๆ ในวงการศึกษา


การเรียนรู้ไม่ใช่การเรียน (Studying) และ/หรือการรู้ (Knowing) ตามตำราหรือตามที่ครูบอก ในเอสแอลซี อาจารย์มานาบุ ซาโตะ บอกว่าการเรียนรู้เป็นการร้อยเรียงความหมายและความสัมพันธ์ผ่านการสานเสวนา (Dialogue) ในสามด้าน ได้แก่การสานเสวนากับโลกภายนอก (texts) การสานเสวนากับคนอื่น และการสานเสวนากับตนเอง และสิ่งสำคัญในการเสวนานี้คือการฟัง เพราะการฟังเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นสปริงบอร์ดของการเรียนรู้ ท่านเขียนไว้ว่าการเรียนรู้เกิด/มาจากความสัมพันธ์ทางการฟัง (Learning derived from Listening Relation) และการฟังบ่งบอกถึงการเอาใจใส่ ชุมชนแห่งการเรียนรู้จึงเป็นชุมชนของการดูแลเอาใจใส่ระหว่างกัน การเรียนรู้จะเป็นแบบก้าวกระโดดได้จากการเรียนรู้ไปกับเพื่อนๆ

ชุมชนแห่งการเรียนรู้ของเอสแอลซีคล้ายกับ ชุมชนแห่งการปฏิบัติของจิตตปัญญาศึกษา ในนัยของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน

ความสัมพันธ์ทางการฟังของเอสแอลซีคล้ายกับการฟังอย่างลึกซึ้งของจิตตปัญญาศึกษา ในแง่ของการรักษาความสัมพันธ์ผ่านการดูแลเอาใจใส่ระหว่างกัน เพียงแต่การฟังอย่างลึกซึ้งของจิตตปัญญาศึกษาให้ความสำคัญกับการห้อยแขวนการตัดสินใจ และความเข้าใจความหมายอย่างเป็นองค์รวมภายใต้บริบทที่เกี่ยวข้อง หรือในอีกนัยหนึ่ง การห้อยแขวนการตัดสินใจและการพยายามเข้าใจความหมายอย่างเป็นองค์รวมผ่านกระบวนการสุนทรียสนทนาและการฟังอย่างลึกซึ้ง เป็นกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ทางการฟังระหว่างกันตามแนวทางของเอสแอลซี

การยอมรับและเคารพในความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชน เป็นจุดเหมือนประการที่สองของทั้งสองแนวคิด

ในขณะที่เอสแอลซีเน้นเรื่องการตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนในการเรียนรู้ จิตตปัญญาศึกษาเน้นเรื่องการยอมรับและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ โดยนัยนี้ ทั้งสองแนวคิดต่างเคารพและยอมรับในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล แต่บนความแตกต่างนั้น มีการยอมรับและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนของแต่ละบุคคลอย่างเสมอภาคกัน

สำหรับผม สิ่งที่น่าสนใจมากของเอสแอลซี คือรูปแบบและกระบวนการในการจัดพื้นที่การเรียนรู้ (Learning Landscape) สำหรับครูและผู้เรียนที่สะท้อนแนวคิดและแนวปฏิบัติของเอสแอลซีซึ่งมีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากห้องเรียนปกติทั่วไป

จากการศึกษาเอกสารที่แจกและการนำเสนอของอาจารย์มานาบุ ซาโตะ มีบางจุดที่เกี่ยวกับรูปแบบและกระบวนการของเอสแอลซีที่น่าจะแตกต่างไปจากแนวคิดและแนวปฏิบัติของจิตตปัญญาศึกษาตามที่ผมเข้าใจ และผมตั้งใจว่าหากได้อ่านเอกสารของอาจารย์เพิ่มเติมมากกว่านี้ ผมก็สามารถจะเทียบเคียงความเหมือนและโดยเฉพาะความต่างได้มากและชัดเจนกว่านี้

ในแง่ของการปฏิรูปการศึกษา ทั้งเอสแอลซีและจิตตปัญญาศึกษา ต่างก็ให้ความสำคัญกับเรื่องของการปฏิรูปการเรียนรู้ มากกว่าการปรับโครงสร้าง ระบบบริหาร และการจัดสรรทรัพยากร

การเรียนรู้ เป็นหัวใจของการปฏิรูป ไม่ใช่เวลาเรียน และเวลารู้ จะเพิ่มเวลาเรียนหรือลดเวลาเรียน จะเพิ่มเวลารู้หรือลดเวลารู้ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ หากทำแล้วไม่เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง ถ้าจะเพิ่มเวลา ควรเพิ่มเวลาของ “การเรียนรู้” ไม่ใช่แค่ เวลาเรียน หรือเวลารู้

ที่สำคัญคือ ทั้งครู และ ผู้เรียน ต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้เรียนรู้ ไม่ใช่ผู้สอน กับ ผู้เรียนในความหมายเดิม

การปฏิรูปโครงสร้าง ระบบบริหาร การจัดสรรทรัพยากร มาทีหลังการปฏิรูปการเรียนรู้ ทั้งของครูและผู้เรียน และควรมีรูปแบบและเป็นไปเพื่อเอื้อต่อการเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง

Back to Top