โดย
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 กันยายน 2557
การท่องเป็นกิจกรรมขั้นต่ำสุดของสมอง ไม่ตอบสนองการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ เชื่อว่ากระทรวงศึกษาธิการเข้าใจเรื่องนี้อย่างดีที่สุด
การอ่านเป็นกิจกรรมที่สูงกว่าการท่อง ต้องการความสามารถของสมองในระดับที่สูงกว่า สมองที่ดีจะอ่านหนังสือได้มาก อ่านหนังสือมากจึงได้สมองที่ดี การอ่านหนังสือหลากหลายและอ่านหนังสือบ่อยๆ มีส่วนอย่างมากต่อการกระตุ้นให้สมองส่วนที่รับผิดชอบการอ่านเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง
การอ่านกระตุ้นสมองให้เติบโตอย่างไร?
เมื่อเด็กไทยอ่านหนังสือ แสงจากตัวหนังสือที่เด็กไทยกำลังมองนั้นจะพุ่งผ่านตาดำ (คือพุ่งผ่านแก้วตาที่เรียกว่า cornea) ไปกระทบจอรับภาพด้านหลังของลูกตา (คือ retina)
แสงคืออนุภาคโฟตอน (photon) อนุภาคโฟตอนพุ่งผ่านตาดำกระทบจอรับภาพ ในการอ่านหนังสือซึ่งเด็กไทยต้องมองทีละตัวอักษรหรือหน่วยของตัวอักษร (เรียกว่า grapheme) โฟตอนมิได้กระทบไปทั่วทั้งจอรับภาพเหมือนการมองดูวิวทิวทัศน์ทั่วไป แต่โฟตอนจะกระทบบริเวณเล็กๆ ใกล้ศูนย์กลางของจอรับภาพที่เรียกว่าโฟเวีย (Fovea)
ที่โฟเวียเป็นศูนย์กลางของเซลล์ประสาท (เรียกว่า neurons) จำนวนมาก เซลล์ประสาทกลุ่มหนึ่งเมื่อถูกโฟตอนกระแทกจะส่งสัญญาณประสาทไปที่บริเวณด้านท้องของสมอง (เรียกว่า ventral area) กินอาณาบริเวณคาบเกี่ยวระหว่างเนื้อสมองสองส่วนคือเทมพอรัลโลบ (temporal lobe) และออกซิพิทัลโลบ (occipital lobe)
สมองส่วนนี้จะแปลตัวหนังสือเป็นภาพ!
ขั้นตอนแปลตัวหนังสือเป็นภาพนี้สำคัญมาก เพราะเด็กไทยจะทำได้ด้วยกระบวนการของสมองอีก สองกระบวนการ
กระบวนการแรก เรียกว่า การให้ความหมายแก่สัญลักษณ์ (เรียกว่า symbolization) กล่าวคือเมื่อเด็กไทยเห็นรอยขีดเขียนเป็นตัวอักษรแล้วประสมเป็นคำคำหนึ่ง สมองของเด็กไทยจะให้ความหมายแก่สัญลักษณ์นั้น เช่น เมื่อเด็กไทยเห็นรอยขีดเขียนว่า “หมา” ในหนังสือหรือผนังถ้ำ สมองของเด็กไทยจะให้ความหมายแก่สัญลักษณ์นั้นว่าหมายถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสี่ขาเห่าโฮ่งๆ ทำหน้าที่เฝ้าบ้าน แต่เด็กจีนไม่สามารถให้ความหมายแก่สัญลักษณ์ที่เป็นรอยขีดเขียนว่า “หมา” นี้ได้ ส่วนเด็กอังกฤษจะให้ได้เมื่อมองเห็นรอยขีดเขียนว่า “dog”
กระบวนการที่สอง เรียกว่ากระบวนการสร้างจินตภาพ (เรียกว่า mental representation) กล่าวคือเด็กไทยหลายคนกำลังอ่านคำว่า “หมา” จากหนังสือเล่มเดียวกัน จะสร้างจินตภาพเป็นหมาต่างพันธุ์กัน คนละตัว คนละขนาด หรือคนละเพศ นี่คือความมหัศจรรย์ของการอ่านและการพัฒนาสมองมนุษย์ ยิ่งอ่านมากยิ่งมีจินตภาพมาก ยิ่งมีจินตภาพมากยิ่งมีจินตนาการมาก
จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เชื่อว่าความข้อนี้กระทรวงศึกษาธิการเข้าใจดี
กระบวนการให้ความหมายแก่สัญลักษณ์และกระบวนการสร้างจินตภาพนี้เองคือสองกระบวนการยิ่งใหญ่ที่ทำให้สมองส่วนท้องของทั้งสองอาณาบริเวณเจริญเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพิ่มทั้งขนาด ปริมาตร น้ำหนัก จำนวนเซลล์ประสาท จำนวนข่ายใยประสาทและจำนวนวงจรประสาทมากกว่ามาก
ที่โฟเวียนั้นเอง เซลล์ประสาทอีกกลุ่มหนึ่งเมื่อถูกโฟตอนกระแทกจะส่งสัญญาณประสาทไปที่บริเวณด้านหลังของสมอง (เรียกว่า dorsal area) ทั้งส่วนเทมพอรัลโลบ (temporal lobe) และพารัยเอทัลโลบ (parietal lobe)
สมองส่วนนี้จะทำหน้าที่ประสมหน่วยคำ (เรียกว่า grapheme) ตามหน่วยเสียง (เรียกว่า phoneme) แล้วจึงแปลความหมาย ตัวอย่างในภาษาไทยที่คุ้นเคย เช่น ตากลม จะอ่านว่า ตา-กลม หรือ ตาก-ลม แล้วแต่ว่าเด็กไทยจะประสมหน่วยคำตามหน่วยเสียงอย่างไร
ยิ่งเด็กไทยอ่านหนังสือหลากหลายมากมายจะพบหน่วยคำมากมายเกิดหน่วยเสียงมากมายกระตุ้นสมองทั้งสองส่วนมากมายทำให้สมองส่วนหลังของทั้งสองอาณาบริเวณเจริญเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพิ่มทั้งขนาด ปริมาตร น้ำหนัก จำนวนเซลล์ประสาท จำนวนข่ายใยประสาทและจำนวนวงจรประสาทมากกว่ามหาศาล
จะเห็นว่าเมื่อเด็กไทยอ่าน โฟตอนจำนวนมากจากอักขระจำนวนมากพุ่งกระแทกกระทั้นโฟเวียเกิดประจุไฟฟ้าเป็นสัญญาณประสาทแตกกระจายไปสองทิศทางพุ่งไประดมยิงสมองสองอาณาบริเวณไม่ยั้ง เสริมสร้างทั้งจินตนาการและความรู้สุดจะบรรยาย
ยังมีสมองส่วนที่สาม ที่รับผิดชอบและเจริญเติบโตได้ด้วยการอ่าน นั่นคือสมองส่วนหน้าด้านซ้าย (เรียกว่า left frontal lobe) สมองส่วนหน้าด้านซ้ายของเด็กไทยจะประมวลข้อมูลจากสมองสองส่วนแรกแล้ว “เปล่งเสียง” ออกมา อาจจะเปล่งเสียงออกมาทางวาจาจากปาก หรืออาจจะเปล่งเสียงในใจ จะเป็นเช่นไรก็ตามนี่คือสมองส่วนปฏิบัติการอ่านในขั้นตอนสุดท้าย นั่นคือประสมคำแล้วอ่านและให้ความหมายไปพร้อมกัน
บริเวณแคบๆ ที่สำคัญที่สุดของสมองส่วนที่สาม นี้เรียกว่า Broca’s area ซึ่งเมื่อถูกทำลายจะทำให้พูดไม่ได้แม้ว่าจะอยากพูด ความข้อนี้กระทรวงสาธารณสุขรู้อยู่เต็มอก
การอ่านจึงเป็นกระบวนการยิ่งใหญ่ หากนับเวลาแล้ว การอ่านเริ่มจากเมื่อเด็กไทยวัย ๒-๓ ขวบสามารถให้ความหมายแก่สัญลักษณ์ (เรียกว่า symbolization) กระบวนการให้ความหมายแก่สัญลักษณ์นี้มิได้เกิดจากการอ่านเท่านั้น แต่เกิดจากการเล่นด้วย
การอ่านและการเล่นเป็นสองกิจกรรมที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กไทยในการพัฒนาความสามารถสมองจากการคิดเชิงรูปธรรม (เรียกว่า concrete operation) ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ ๒-๑๐ ขวบ ให้กลายเป็นความสามารถในระดับที่สูงขึ้นคือการคิดเชิงนามธรรม (เรียกว่า abstract operation)
การคิดเชิงรูปธรรมมีความหมายง่ายๆ ว่าเห็นอะไรก็เห็นอย่างนั้น เห็นหมาก็เป็นหมา ไม่มีอะไรซับซ้อน การคิดเชิงนามธรรมเป็นความสามารถระดับสูง สมองสามารถให้ความหมายแก่สิ่งที่เห็นและสามารถให้ความหมายแก่สิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น เห็น “คนดี” ก็จะให้ความหมายเชิงนามธรรมได้ ไม่บักแบนว่าคนดีต้องมีหน้าตาอย่างไร และสามารถให้ความหมายแก่คำว่า “ความดี” อย่างเปิดกว้าง
(อ่านถึงตรงนี้หากผู้อ่านท่านใดไม่เข้าใจคำว่า “บักแบน” แปลว่าท่านไม่สามารถให้ความหมายแก่สัญลักษณ์ที่เป็นรอยขีดเขียนนี้ได้ นั่นคือ You cannot symbolize “บักแบน” เพราะท่านมิได้มาจากท้องถิ่นที่ใช้คำคำนี้)
สูงขึ้นไปอีกจากการคิดเชิงนามธรรมซึ่งมักจะเกิดขึ้นหลัง ๑๐ ขวบไปเรื่อยๆ จนถึงประมาณ ๑๕-๑๘ ปี สมองก็พร้อมที่จะพัฒนาตนเองสูงขึ้นไปอีกนั่นคือมีความสามารถที่จะให้คุณค่าแก่ความเป็นนามธรรมนั้น เช่น ครูสามารถให้คุณค่าแก่ “วิชาชีพครู” หรือแพทย์สามารถให้คุณค่าแก่ “วิชาชีพแพทย์” นักศึกษาให้คุณค่าแก่ “ประชาธิปไตย” จะเห็นว่าคุณค่าเป็นอะไรบางอย่างในสากลจักรวาลที่จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น และไม่มีนิยามที่ตายตัวแต่อย่างใด
ความพยายามที่จะปั้นคุณค่าเป็นตัวนั้นสามารถทำได้ เรียกว่า “ค่านิยม”
ปรัชญาการปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญอันดับหนึ่งคือเด็กไทยต้องมีเสรีภาพในการคิดวิเคราะห์ เด็กไทยจะคิดวิเคราะห์ได้ดีต้องมีเสรีภาพที่จะคิดอย่างมีวิจารณญาณหรือคิดเชิงวิพากษ์ (เรียกว่า criticized thinking) เด็กไทยจะคิดอย่างที่ว่าได้ต้องมีสมองที่ดีก่อน
สมองที่ดีเกิดจากการอ่านมาก มิได้เกิดจากการท่องจำมาก
แสดงความคิดเห็น