วาระสุดท้ายของชีวิตในทัศนะของพุทธศาสนา



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 กันยายน 2557

ในทัศนะของพุทธศาสนา ความทุกข์เป็นความจริงของชีวิตที่ไม่มีใครหนีพ้น เมื่อเกิดมาแล้ว สิ่งที่ทุกคนต้องประสบก็คือ ความแก่ ความเจ็บป่วย ความพลัดพรากสูญเสีย และความตาย ทั้งนี้เพราะสรรพสิ่งล้วนไม่จีรังยั่งยืน มีความแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา (อนิจจัง) เต็มไปด้วยความบีบคั้นทั้งจากภายในและภายนอก ทำให้ไม่อาจทนอยู่ในสภาพเดิมได้ ในที่สุดต้องเสื่อมทรุดและดับสลายไป (ทุกขัง) ไม่มีตัวตนที่เป็นแก่นสารอันเที่ยงแท้หรือเป็นอิสระ (อนัตตา) สภาวะดังกล่าว อันได้แก่ ความแก่ ความเจ็บป่วย ความพลัดพรากสูญเสีย และความตายนั้น เราทำได้อย่างมากก็คือ หน่วงเหนี่ยวให้เกิดขึ้นช้าลง แต่ในที่สุดก็ต้องเกิดขึ้นกับเรา ถึงตอนนั้นทำได้อย่างมากก็แค่บรรเทาผลกระทบให้น้อยลง

อย่างไรก็ตามสภาวะดังกล่าวแม้จะก่อให้เกิดความทุกข์ทางกาย แต่ไม่จำเป็นต้องบีบคั้นจิตใจให้เป็นทุกข์ พุทธศาสนามองว่ามนุษย์ทุกคนสามารถฝึกฝนพัฒนาจิตใจจนสามารถเป็นอิสระจากความทุกข์ คือ แม้ต้องแก่ เจ็บป่วย สูญเสีย และตาย แต่จิตใจหาได้เป็นทุกข์ไม่ การยอมรับว่ามันเป็นธรรมดาของชีวิต ไม่ปฏิเสธ ไม่ต่อต้านขัดขืนมัน เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้จิตใจไม่เป็นทุกข์เมื่อสภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นกับเรา นอกจากไม่เป็นทุกข์แล้ว เรายังสามารถหาประโยชน์จากมันได้ด้วย กล่าวคือ อาศัยสภาวะดังกล่าวเปิดใจให้เห็นความจริงจนเกิดปัญญาแจ่มแจ้งว่า ไม่มีอะไรที่ยึดติดถือมั่นได้อย่างแท้จริง ปัญญาดังกล่าวจะทำให้จิตใจเป็นอิสระจนความทุกข์ไม่อาจแผ้วพานได้ ดังมีพระและฆราวาสจำนวนไม่น้อยบรรลุธรรมในขณะที่เจ็บป่วยและใกล้ตาย กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความแก่ ความเจ็บ ความพลัดพรากสูญเสีย และความตายนั้นเป็นตัวเร่งให้เห็นธรรมจนจิตหลุดพ้นได้


ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อการดูแลในระยะสุดท้ายหรือไม่ โดยไม่เลือกว่าจะเป็นศาสนาใด?

ว่าเฉพาะวาระสุดท้ายของชีวิต พุทธศาสนามองว่า ความสุขใจในเวลาสิ้นชีวิตนั้นเป็นไปได้ ไม่จำเป็นที่เราจะต้องทุกข์ทรมานเมื่อความตายใกล้มาถึง นี้เป็นศักยภาพที่มีอยู่ในคนทุกคน ไม่เลือกว่า นับถือศาสนาใด หรือแม้จะไม่นับถือศาสนาก็ตาม กล่าวได้ว่า ความสงบในวาระสุดท้ายของชีวิตนั้น เป็นสิทธิของทุกคน


ชีวิตที่ดีคืออะไร?

ชีวิตที่ดี คือ ชีวิตที่มีสุขภาวะ ไม่ถูกเบียดเบียนด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ความยากจนข้นแค้น หรือการเอารัดเอาเปรียบ ขณะเดียวกันก็เป็นชีวิตที่ตั้งมั่นอยู่ในธรรม นอกจากไม่เอาเปรียบเบียดเบียนใครแล้ว ยังสร้างสรรค์คุณประโยชน์ทั้งแก่ผู้อื่นและส่วนรวม มีจิตใจที่สงบเย็น เปี่ยมด้วยเมตตากรุณา ไม่ถูกครอบงำด้วยความโลภ โกรธ หลง และไม่ถูกบีบคั้นด้วยความทุกข์ เพราะเห็นความจริงของชีวิต อีกทั้งยังมีปัญญาสามารถแก้ทุกข์ให้แก่ตนเองได้


ตายดีคืออะไร?

ตายดีในทัศนะของพุทธศาสนา ไม่ได้อยู่ที่ว่า ตายด้วยสาเหตุใด ที่ไหน หรือตายในวัยใด แต่อยู่ที่คุณภาพจิตเป็นสำคัญ กล่าวคือ ตายอย่างสงบ จิตใจไม่ทุกข์ทรมาน ไม่ทุรนทุรายในวาระสุดท้ายของชีวิต เพราะยอมรับความตายและปล่อยวางสิ่งทั้งปวง ไร้ความห่วงใยหรือหวงแหนในสิ่งใด ๆ อีกทั้งเมื่อตายไปแล้ว ก็ไปสุคติ คือไปเกิดในภพที่ดี (เช่น เกิดในโลกมนุษย์ หรือสวรรค์) ดียิ่งกว่านั้นก็คือ เมื่อจะตายใจก็สว่าง เกิดปัญญาเห็นสัจธรรม จนจิตหลุดพ้นจากความทุกข์ เป็นอิสระจากวัฏสงสาร ไม่ไปเกิดในที่ใดอีกต่อไป


ชีวิตที่ดีทำให้ตายดีเสมอไปหรือไม่?

ชีวิตที่ดีนั้นเอื้อให้เกิดการตายดีหรือตายสงบได้ แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะหากว่าตอนใกล้ตายนั้น จิตเกิดอารมณ์ที่เศร้าหมอง เนื่องจากยังมีความห่วงใยในลูกหลาน พ่อแม่ คนรัก ปล่อยวางทรัพย์สินหรืองานการที่คั่งค้างไม่ได้ หรือยังมีความรู้สึกผิดติดค้างใจ ก็จะรู้สึกต่อต้านขัดขืนต่อความตาย มีอาการทุรนทุราย กระสับกระส่าย และเมื่อสิ้นลมก็อาจไปอบายได้หากจิตสุดท้ายยังถูกอารมณ์อกุศลดังกล่าวครอบงำ นอกจากนั้นความเจ็บปวดจากโรคภัยไข้เจ็บอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดโทสะ จิตกระสับกระส่าย จนตายไม่สงบก็ได้


เป็นไปได้หรือไม่ที่จะตายดีแม้ไม่ได้มีชีวิตทีดี?

การตายดีสามารถเกิดขึ้นได้แม้ไม่ได้มีชีวิตที่ดี แต่เป็นไปได้ยาก เนื่องจากความชั่วที่ได้ทำ มักทำให้รู้สึกหวาดหวั่นต่อความตาย เพราะกลัวจะไปอบาย หรือถูกหลอกหลอนด้วยภาพแห่งความผิดที่ทำในอดีต ส่วนโลภ โกรธ หลงที่สะสมไว้ตลอดชีวิต ก็ทำให้ปล่อยวางสิ่งต่างๆ ได้ยาก ไม่ว่าทรัพย์สินเงินทอง หรือความโกรธแค้นพยาบาท จึงมักจะตายด้วยความทุรนทุราย อย่างไรก็ตามหากมีผู้นำทางที่ดี สามารถน้อมใจให้ ระลึกถึงสิ่งดีงามอันน่าศรัทธา หรือความดีที่ตนได้ทำ จิตก็จะเป็นกุศล และช่วยให้ไปดีได้


เราจะเตรียมตัวรับมือกับความตายได้อย่างไร?

การเตรียมตัวเผชิญกับความตายเป็นสิ่งที่เราไม่ควรละเลยเนื่องจากเราทุกคนต้องตายอย่างแน่นอน เมื่อจะต้องตาย จึงควรรับมือกับความตายให้ดีที่สุด เพื่อไม่ทุกข์ทรมานและไปดี วิธีที่ช่วยให้เรารับมือกับความตายได้ดีก็คือ การระลึกถึงความตายอยู่เสมอ เรียกว่ามรณสติ กล่าวคือ เตือนตนเป็นนิจว่าสักวันหนึ่งเราต้องตายอย่างแน่นอน แต่จะตายเมื่อไหร่มิอาจรู้ได้ อาจจะตายวันนี้วันพรุ่งก็ได้ จากนั้นก็ถามตนเองว่าหากต้องตายวันนี้วันพรุ่ง เราพร้อมตายหรือยัง กล่าวคือ ทำความดีมาพอหรือยัง ทำหน้าที่ครบถ้วนสมบูรณ์หรือยัง และพร้อมจะปล่อยวางทุกสิ่งหรือยัง หากไม่พร้อมก็ต้องเร่งทำความดี ทำหน้าที่ที่สำคัญให้เสร็จสิ้น และฝึกปล่อยวางอยู่เสมอ การทำความดี ไม่มีความชั่วให้ต้องเสียใจ และพร้อมปล่อยวาง ช่วยให้เราพร้อมเผชิญความตายได้ทุกเมื่อ


จะจัดการกับความกลัวอย่างไร?

ความกลัวตายเกิดขึ้นเพราะไม่เคยนึกถึงความตายหรือเตรียมตัวตายเลย อีกทั้งยังมีสิ่งค้างคาใจ ห่วงคนรัก และหวงแหนทรัพย์สมบัติ นอกจากนั้นความกลัวตายยังเกิดจากความไม่มั่นใจว่าตายแล้วจะไปไหน หรือกลัวว่าจะไปอบาย ความกลัวตายจะบรรเทาได้ เมื่อเจริญมรณสติเป็นนิจ พยายามทำดีที่สุดกับคนรัก จนสามารถปล่อยวางได้ ไม่มีเรื่องติดค้างใจ ไม่มีภารกิจที่ค้างคา พูดง่าย ๆ คือมีการเตรียมตัวอยู่เสมอ ยิ่งถ้าได้เจริญภาวนา ก็จะช่วยให้จัดการกับความกลัวตายได้อย่างดี รวมทั้งเห็นความตายเป็นเรื่องธรรมดา สามารถยอมรับมันได้ โดยไม่ปฏิเสธผลักไสมัน


สมาธิภาวนาจะช่วยลดความเจ็บปวดในระยะสุดท้ายได้หรือไม่ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ไม่เคยฝึกสมาธิมาก่อนเลย?

สมาธิภาวนาช่วยลดความเจ็บปวดในระยะสุดท้ายของชีวิตได้ กล่าวคือ เมื่อมีความเจ็บปวด ก็น้อมจิตมาอยู่ที่ลมหายใจ เมื่อจิตแนบอยู่กับลมหายใจอย่างต่อเนื่องก็จะเกิดสมาธิคือความสงบ ความสงบนั้นช่วยทำให้เกิดสารเคมีบางอย่างที่บรรเทาปวดได้ นอกจากนั้นการที่จิตไม่ไปรับรู้ความเจ็บปวดในร่างกาย ก็อาจทำให้ลืมปวด หรือรู้สึกปวดน้อยลง

นอกจากสมาธิแล้ว การเจริญสติ ก็ช่วยบรรเทาความปวดได้ กล่าวคือ เมื่อมีความเจ็บปวด สติช่วยให้ใจไม่ปักตรึงอยู่ในความปวด แต่จะถอนตัวออกมาเห็นความปวด ทำให้ใจไม่รู้สึกปวด แม้กายจะยังปวดอยู่ คือ เห็นความปวด แต่ไม่เป็นผู้ปวด ผู้ที่ไม่เคยทำสมาธิภาวนามาก่อน หากได้รับการแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ ก็สามารถลดความเจ็บปวดลงได้ สภาพแวดล้อมที่เกื้อกูล เช่น สงบ หรือน้อมใจให้ระลึกถึงสิ่งที่ตนศรัทธาหรือความดีที่ตนได้ทำ ก็ส่งเสริมให้การทำสมาธิภาวนาของผู้ป่วยเกิดผลดีเช่นกัน

Back to Top