บ่าวที่ดี นายที่เลว



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 มิถุนายน 2557

“บ่าวที่ดี นายที่เลว” เป็นนิยามหนึ่งของเงิน เงินมีคุณประโยชน์มากมายหากเรารู้จักใช้มัน นอกจากช่วยให้เราและครอบครัวมีชีวิตที่ผาสุกแล้ว เงินยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเกื้อกูลผู้อื่นและสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ส่วนรวม แต่หากเราปล่อยให้มันเป็นนายเรา ครอบงำชีวิตจิตใจของเรา ความเดือดร้อนก็จะตามมาทั้งกับเราและผู้อื่น คนจำนวนไม่น้อยยอมทำชั่วก็เพราะเงิน ไม่ใช่แค่คดโกงเท่านั้น แต่อาจถึงขั้นทำร้ายผู้อื่น แม้กระทั่งบุพการีก็ไม่ละเว้นหากมีมรดกก้อนใหญ่รออยู่หลายคนแม้จะหักห้ามใจไม่ทำชั่วเพราะเงิน แต่ก็ยอมตายเพื่อมันหากมีใครมาแย่งชิงเอาไป หรือตรอมตรมจนล้มป่วยเมื่อสูญเสียมันไป ที่ฆ่าตัวตายก็มีไม่น้อย เมื่อยอมให้เงินมาเป็นใหญ่เสียแล้ว เป็นธรรมดาที่ใครๆ ก็ย่อมหวงแหนมันยิ่งกว่าหวงแหนชีวิต

แต่จะว่าไปแล้ว ไม่ใช่เงินเท่านั้น ความคิดก็เป็น“บ่าวที่ดี นายที่เลว” ด้วยเช่นกัน ความคิดเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เราอยู่รอดปลอดภัยไกลจากอันตราย เราใช้ความคิดเพื่อแก้ปัญหาก้าวข้ามอุปสรรคทั้งหลาย ถ้าคิดไม่เป็นหรือคิดไม่ถูก ชีวิตเราย่อมเต็มไปด้วยความยุ่งยากนานัปการ แต่ถึงจะคิดเป็นหรือคิดเก่ง ถ้าวางความคิดไม่ได้ ปล่อยให้มันครอบงำจิตใจ ชีวิตก็เป็นทุกข์เช่นกัน เช่น ฟุ้งซ่านจนนอนไม่หลับ วิตกกังวลจนป่วย คนที่คลุ้มคลั่งจนเป็นบ้าหรือถึงกับฆ่าตัวตายก็เพราะปล่อยให้ความคิดรุมเร้าจิตบงการใจอย่างมิอาจควบคุมได้ มิใช่หรือ

ความคิดใดความคิดหนึ่งเมื่อกลายมาเป็นนายเรา มันไม่เพียงสร้างปัญหาให้เราเท่านั้น หากยังก่อความทุกข์แก่ผู้อื่นได้ด้วย อาการที่เกิดขึ้นบ่อยก็คือ เมื่อรู้ว่าคนอื่นมีความคิดที่แตกต่างจากเรา เราจะรู้สึกทนไม่ได้ ทั้งนี้เพราะรู้สึกว่าความคิดของเรากำลังถูกท้าทายหรือมีคู่แข่ง เราจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องความคิดนั้น เริ่มจากโต้แย้ง หักล้าง คัดง้างและโจมตีความคิดของเขา รวมทั้งลดความน่าเชื่อถือของมันด้วย ทั้งๆ ที่เขายังไม่ได้ทำอะไรเราเลย เพียงแค่แสดงความเห็นที่ต่างจากเรา เราก็รู้สึกไม่พอใจเขาเสียแล้ว นอกจากเล่นงานความคิดของเขาแล้ว เรายังอาจโจมตีตัวเขา ด้วยการต่อว่าด่าทอ หรือใช้ผรุสวาท หากเขาตอบโต้เพื่อปกป้องความคิดของเขา เราก็จะเล่นงานเขาหนักขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นการทะเลาะวิวาท

เมื่อความคิดกลายเป็นนายเรา ก็ง่ายมากที่เราจะมองคนอื่นที่คิดต่างจากเราเป็นศัตรู หรือปฏิบัติต่อเขาราวกับเป็นคนละพวก แม้จะเป็นมิตรสหาย พี่น้อง คู่รัก หรือพ่อแม่ เราก็อาจตัดสัมพันธ์กันได้ง่ายๆ เพียงเพราะคิดต่างกัน แต่นั่นก็ยังไม่ร้ายเท่ากับการทำร้ายกันถึงชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในประวัติศาสตร์ สงครามระหว่างศาสนา สงครามระหว่างอุดมการณ์ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็เพราะผู้คนปล่อยให้ความคิดกลายเป็นนายตน จนพร้อมที่จะฆ่าฟันผู้คนทั้งๆ ที่ไม่รู้จักเพียงเพื่อปกป้องความคิดที่ตนยึดถืออย่างหัวปักหัวปำ

ผู้คนปล่อยให้ความคิดกลายเป็นนายตนได้อย่างไร คำตอบก็คือ ความยึดติดถือมั่น นี้เป็นสาเหตุเดียวกับที่เงินกลายเป็นนายของใครต่อใคร เมื่อใดก็ตามที่เรายึดติดถือมั่นว่าเงินก้อนนี้เป็น “ของกู” เราก็กลายเป็น “ของมัน” ไปทันที ยิ่งยึดติดถือมั่นอย่างแรงกล้า เราก็พร้อมจะตายเพื่อมัน หรือทำร้ายคนอื่นเพื่อมัน ความคิดก็เช่นกัน ทันทีที่เรายึดติดถือมั่นว่าความคิดนี้เป็น “ของกู” อีกทั้งยังเป็นความคิดที่ประเสริฐและถูกต้อง เราก็กลายเป็น “ของมัน” ไปโดยไม่รู้ตัว ยอมทำทุกอย่างเพื่อมัน แม้จะต้องตัดญาติขาดมิตรกับผู้คน ก็ไม่ยี่หระ

ความยึดติดถือมั่นหากกระทำอย่างเหนียวแน่น ก็ทำให้เราหลงตัวลืมตนได้ง่าย จนยอมทำทุกอย่างแม้เป็นความเลวร้ายหรือเป็นโทษทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ทั้งนี้ก็เพื่อสิ่งที่ตนยึดติดถือมั่นนั้น ผลก็คือ แทนที่มันจะเป็นเครื่องมือของเรา มันกลับมาเป็นนายเรา แม้ความคิดนั้นจะเป็นสิ่งประเสริฐหรือถูกต้อง แต่หากยึดติดถือมั่นจนลืมตัวแล้ว เราก็สามารถทำสิ่งต่ำทรามหรือความผิดอันมหันต์ได้ ดังคนจำนวนไม่น้อยที่ยึดติดถือมั่นในศาสนาที่รักสันติ แต่กลับลงเอยด้วยการประหัตประหารผู้คนเพียงเพราะเขานับถือศาสนาต่างจากตน

ถ้าอยากเป็นนายความคิด แทนที่จะให้ความคิดเป็นนายเรา เราจำต้องมีสติรู้ทันความคิดนั้น เมื่อมันผุดขึ้นมาในใจ ก็รู้ว่ามันเป็นแค่ความคิดไม่ใช่ “ตัวกู” อีกทั้งสามารถวางมันลงได้เมื่อไม่ใช้งาน ที่สำคัญก็คือหมั่นตรวจสอบใคร่ครวญมันอยู่เสมอ ประหนึ่งหยิบเครื่องประดับมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนทำให้เห็นตำหนิหรือข้อจำกัดของมัน ไม่สำคัญมั่นหมายว่ามันเลอเลิศสมบูรณ์พร้อม

มีท่าทีอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เราไม่หลงยึดมั่นในความคิดใดความคิดหนึ่งจนคับแคบมืดบอด พระพุทธเจ้าเรียกว่า “สัจจานุรักษ์” (การคุ้มครองสัจจะหรือรักความจริง)นั่นคือ การไม่ยืนกรานยึดติดว่าสิ่งที่ตนรู้หรือคิดเห็นเท่านั้นที่ถูกต้องและเป็นจริง ดังมีพุทธพจน์ว่า “วิญญูชน เมื่อจะคุ้มครองสัจจะ ไม่ควรลงความเห็นในเรื่องนั้นเด็ดขาดลงไปอย่างเดียวว่า อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเหลวไหล(ทั้งนั้น)” ทัศนคติดังกล่าวช่วยให้เราเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ดูถูกคนที่เห็นต่างจากตน หรือด่วนสรุปว่าเขา “โง่” “ผิด” หรือ “ชั่วร้าย”

ความคิดที่เรายึดถือนั้น แม้จะไตร่ตรองมาอย่างดี ก็ไม่ควรมั่นใจว่าเป็นความถูกต้องสมบูรณ์ ถ้าไม่อยากให้ความคิดพาเราเข้ารกเข้าพง ควรตรวจสอบหรือทักท้วงความคิดของตนอยู่เสมอ รวมทั้งคิดเผื่อไว้บ้างว่า ความคิดนั้นอาจมีข้อบกพร่องหรือผิดพลาดก็ได้ เพราะเราเป็นปุถุชน ย่อมมีการรับรู้ที่จำกัด หากเราตระหนักว่าสิ่งที่เราไม่รู้นั้นยังมีอีกมาก และอาจมากกว่าสิ่งที่เรารู้ด้วยซ้ำ เราจะไม่หลงยึดมั่นความคิดใดจนมืดบอด

เป็นธรรมดาที่ผู้ยึดติดถือมั่นในความคิด ย่อมรู้ตัวได้ยาก เพราะถูกความคิดนั้นครอบงำจิตใจจนลืมตัว แต่สิ่งหนึ่งที่เตือนให้เรารู้ตัวว่ากำลังยึดติดถือมั่นก็คือ เกิดความขุ่นเคืองใจหรือความโกรธทันทีที่ความคิดที่ตนยึดถือนั้นถูกวิจารณ์ หรือมีการนำเสนอความเห็นอื่นมาเทียบเคียงเสมือนเป็นคู่แข่งขันท้าทาย หากไม่มัวส่งจิตออกนอก หมายตอบโต้ผู้ที่คิดต่างจากตน แต่กลับมาตามดูรู้ทันอารมณ์ของตน ก็จะรู้ได้ทันทีว่า ที่เราโมโหโกรธาเขาก็เพราะยึดติดถือมั่นในความคิดของตนนั้นเอง นั่นจะช่วยให้เรายับยั้งชั่งใจไม่เผลอทำอะไรที่เลวร้าย แต่ถ้าไม่มีสติรู้ทันใจของตน หากความคิดสั่งให้ด่า เราก็จะด่าทันที ความคิดสั่งให้ทำร้ายเขา เราก็จะทำไม่ยั้ง มารู้ตัวอีกทีก็สายเกินแก้แล้ว

ผู้คนทุกวันนี้ทำร้ายจิตใจกัน ตัดสายสัมพันธ์กันจนขาดสะบั้น สร้างศัตรูมากมาย อีกทั้งยังทำร้ายร่างกายกันอย่างน่าสลดใจ ไม่ใช่เพราะความเห็นที่แตกต่างกัน แต่เป็นเพราะปล่อยให้ความคิดต่างๆ เถลิงอำนาจมาเป็นนายตน ยอมทำตามคำบงการของมัน เพื่อความเป็นใหญ่ของมัน หากเราไม่สามารถเป็นนายของมัน หรือนำมันกลับมาเป็นบ่าวได้ ก็ยากที่ชีวิตจะราบรื่นสงบสุข ซ้ำยังจะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายหนักขึ้นด้วย

One Comment

Unknown กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก
Back to Top