โดย
ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 มิถุนายน 2557
ตอบเป็นเบื้องต้นก่อนเลยว่า ปฏิรูปการศึกษาจะต้องคิดและทำเพื่อ
“ผู้เรียนรู้” ซึ่งได้แก่ผู้เรียน ผู้สอน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง การพัฒนาระบบ และการจัดการศึกษาทุกระดับทุกประเภทของการศึกษา เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ เรียนรู้ และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในตัวตนของผู้เรียนรู้ซึ่งเป็นมิติภายใน อันได้แก่อารมณ์ ความรู้สึก ความคาดหวัง ค่านิยม ทัศนคติ ความคิด และความเชื่อ ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงภายนอกด้านต่างๆ เช่นเทคโนโลยี การเมือง สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ...ซึ่งเป็นมิติภายนอก
ปฏิรูปการศึกษาจะต้องคิดและทำเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่พึงประสงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อ
“สร้างสรรค์สังคมคุณภาพและคุณธรรม” ไม่ใช่แค่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงที่ฉาบฉวย ผิวเผิน และชั่วคราวตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพียงเพื่อให้ดูดีมีความทันสมัย
การปฏิรูปการศึกษาจึงต้องเริ่มต้น และให้ความสำคัญอย่างแท้จริงกับการสร้างและพัฒนาคุณภาพภายในของครู/อาจารย์ ในฐานะที่เป็นผู้เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และในฐานะที่เป็นผู้ร่วมเรียนรู้ไปกับผู้เรียน
การพัฒนาครู เพื่อพัฒนาผู้เรียน ให้เป็นผู้เรียนรู้เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานสำคัญ (Fundamental Transformation) ในระดับบุคคล นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับองค์กร และสังคมโดยรวมจึงเป็นเรื่องสำคัญ จำเป็น และเร่งด่วน นอกจากจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาเพราะเป็นการพัฒนาจากภายในสู่ภายนอก จากบุคคลสู่สถานศึกษา ชุมชน และสังคมโดยรวมแล้ว การปฏิรูปโครงสร้าง และระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องสอดรับกันอย่างเป็นองค์รวม
ผมเคยเขียนบทความแสดงความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาในคอลัมน์จิตวิวัฒน์เป็นระยะๆ แต่ในการเป็นวิทยากร โดยเฉพาะในวงการศึกษา ผมจะพูดและย้ำตลอดเวลาว่า เราต้องปฏิรูปการศึกษาของเรา ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ทันสมัย ใกล้เคียงหรือเทียบเคียงกับประเทศอื่นที่เจริญ (ทางวัตถุ) แล้ว ด้วยการปรับโครงสร้างองค์กรทางการศึกษา ตั้งแต่ระดับบนสุดลงมาจนถึงแต่ละสถานศึกษา เพื่อให้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพตามแนวคิดและแนวปฏิบัติขององค์กรทางธุรกิจ ซึ่งถูกครอบด้วยระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม และปรับหลักสูตรที่เนื้อหาสาระให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลง (Change) ที่เป็นมิติภายนอก เพื่อจะได้เปลี่ยนปรับรับการเปลี่ยนแปลง
แต่เราต้องปฏิรูประบบและกระบวนการทางการศึกษาที่จะเอื้อให้ผู้เรียนเกิดอาการที่ผมเรียกว่า “ปิ๊งแว้บ” เป็นระยะๆ เป็นการศึกษาที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งการเปลี่ยนแปลงภายนอก และภายในตัวตนของตนเอง และที่สำคัญคือการรับรู้ การตระหนักรู้ และการเรียนรู้ความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างมิติทั้งสองและสรรพสิ่ง
ผมจึงเสนอว่าในการปฏิรูปการศึกษา จะต้องคิดถึงการปฏิรูปครู/อาจารย์เป็นอันดับแรก ไม่ใช่โครงสร้าง ลำดับชั้นของตำแหน่ง ระบบการประเมิน ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาตามที่ทำกันอยู่ และระบบต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อหวังจะเพิ่มคุณภาพเชิงปริมาณภายนอก (คะแนนจากผลการสอบวัดประเภทต่างๆ ) แต่มีผลไปกดทับจิตวิญญาณของความเป็นครู/อาจารย์ แทนที่ครู/อาจารย์จะใช้เวลาอย่างมีคุณค่ากับลูกศิษย์ และชุมชน ก็กลับต้องมาใช้เวลาในการเตรียมรับการประเมินภายนอก และเตรียมตัวรับการประเมินเพื่อปรับระดับและเลื่อนตำแหน่งต่างๆ
ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า ระบบบริหาร โครงสร้างและสิ่งประกอบภายนอกอื่นๆ ไม่สำคัญ เพราะมันสัมพันธ์เชื่อมโยงกันไปทั้งหมด เพียงแต่จะเน้นให้เห็นความสำคัญของครู/อาจารย์ โดยเฉพาะการสร้างและพัฒนาจิตสำนึก/จิตวิญญาณของความเป็นครู ส่วนระบบ โครงสร้าง ระบบการให้ความดีความชอบ ระบบการวัดการประเมิน และส่วนประกอบอื่นๆ ที่จะปฏิรูป จะต้องไม่มาทำร้ายหรือทำลายจิตสำนึก/จิตวิญญาณของความเป็นครูไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม
ที่พูดเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า ความรู้ (รายวิชา หลักสูตร) และทักษะที่สำคัญและจำเป็นในแต่ละสาขาวิชาชีพไม่สำคัญ ยังสำคัญอยู่ครับ แต่ผมกำลังพูดถึงกระบวนการเรียนการสอนในแต่ละรายวิชาและแต่ละหลักสูตรเพื่อให้หยุดคิด ใคร่ครวญทบทวนอย่างมีสติ ว่าเราเน้นจากภายในสู่ภายนอก หรือเน้นเฉพาะเนื้อหาสาระ (ความรู้และทักษะ) ภายนอกเท่านั้น เราเน้นการเรียนรู้ หรือการสอน การเรียน และการสอบ ตามวิธีการแบบเดิมที่ทำกันอยู่ เราเน้นการเรียนรู้ของผู้เรียนหรือการสอนการถ่ายทอดเนื้อหาในรายวิชา เราเน้นการรู้เท่าทันซึ่งเป็นมิติภายในหรือการไล่ให้ทันความรู้และทักษะที่เป็นมิติภายนอก
ข้อสังเกตของผมก็คือ การศึกษากระแสหลัก มีการปฏิรูปมิติภายนอกเป็นหลัก เช่นปฏิรูประบบและโครงสร้างองค์กร ตำแหน่งและค่าตอบแทนตามตำแหน่ง มาตรฐานกลาง มาตรฐานสากล มากกว่าการสร้างและพัฒนาจิตสำนึก/จิตวิญญาณของความเป็นครู/อาจารย์ การปฏิรูปแต่ละครั้งไหลไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลงภายนอกเพื่อให้มีคุณภาพเหมือนหรือใกล้เคียงกับที่อื่นที่เหนือกว่าเมื่อเปรียบเทียบตามมาตรฐานสากล การปฏิรูปแต่ละครั้งเราพยายามจะหาตัวแบบที่ดีที่สุดเพื่อที่จะเทียบเคียงกับเขาโดยมิได้คำนึงถึงบริบทและเป้าหมายที่แตกต่าง เราทำเพียงเพื่อให้ดูทันสมัย มีผลการจัดอันดับที่ดีขึ้น แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการไล่ล่าตามมาตรฐานสากลที่เปลี่ยนไปตลอด
การปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ ขออย่าให้ติดกับดัก “ความก้าวหน้าและความทันสมัย” จนสูญเสียความเป็นไทย และความดีความงามของความเป็นคนไทย
ที่พูดเช่นนี้ ไม่ได้ปฏิเสธหรือประท้วงความก้าวหน้าและความทันสมัย แต่ต้องการให้มีสติและปัญญาที่จะรู้เท่าทัน แล้วร่วมด้วยช่วยกันเลือกและสร้างสรรค์ความก้าวหน้าและความทันสมัยที่พึงประสงค์สำหรับสังคมไทย เพื่อสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมคุณภาพและคุณธรรม เป็นตัวแบบที่ดีที่ให้ประเทศอื่นมาเรียนรู้และเทียบเคียงได้บ้าง
บทบาทและหน้าที่ที่สำคัญของการศึกษาคือการสร้างสติและปัญญาให้ปวงชนทุกหมู่เหล่า ไม่ใช่ทำให้ใหลหลงจนขาดสติ และปัญญา เมามัวกับการตามไล่ล่ามาตรฐานของคนอื่น วิ่งหาความก้าวหน้าและความทันสมัยตามความหมายที่ผู้อื่นกำหนด
ความก้าวหน้าที่ขาดสติ และความทันสมัยที่ไร้ปัญญา ไม่น่าจะเกิดขึ้นในการปฏิรูปการศึกษาและการปฏิรูปประเทศครั้งนี้
เพราะผมไม่อยากให้ใครมาวิพากษ์หรือวิจารณ์ตามหลังว่า การศึกษาของไทยนั้น “ทันสมัยแต่ขาดสติ และไร้ปัญญา” ครับ
ที่จริงผมมีแนวทางที่เสนอว่าจะทำอย่างไร แต่เนื้อที่มีจำกัดครับ แต่ก็เคยเขียนไว้ในคอลัมน์นี้แล้วหลายบทความ ลองหาอ่านดูได้ครับ
แสดงความคิดเห็น