ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 มิถุนายน 2557

ช่วงที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้อาจารย์แพทย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ หลายแห่ง จนต่อมาอาจารย์เหล่านี้หาทางจัดกิจกรรมด้วยตัวเอง เพื่อต้องการนำความรู้และประสบการณ์แบบกระบวนกร มาใช้ในการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์ เป็นเรื่องน่าชื่นชมอย่างยิ่ง ผมเลยอยากมีส่วนร่วมโดยการยกร่างข้อเสนอแปลกๆ แหวกแนวออกไป เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์และเข้าตากรรมการที่ไหนบ้าง

การเรียนการสอนแบบนี้ เริ่มต้นที่การตั้งโจทย์ ข้อแรก ทำอย่างไร โจทย์จึงจะท้าทายผู้เรียนคือนักศึกษาแพทย์ให้อยากค้นหา ข้อสอง ทำอย่างไรผู้เรียนจะมีทักษะในการเรียนรู้ สิ่งที่ผมค้นพบมาในงานค่ายต่างๆ คือ เราจะต้องให้พวกเขาประจักษ์เสียก่อนว่า สิ่งที่เขาเรียนรู้มาในห้องเรียนนั้นส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่การเรียนรู้ที่แท้จริง แล้วการเรียนรู้ที่แท้จริงคืออะไรล่ะ? เราจะถ่ายทอดวิทยายุทธ์นี้ไปสู่พวกเขาได้อย่างไร?

แนวทางหนึ่ง คือการกลับไปหาต้นฉบับ ไปหาเอกสารชั้นต้นของคนที่ค้นคิดในเรื่องนั้นๆ อ่าน

ผมนึกถึงการเรียนรู้ของศัลยแพทย์คนหนึ่ง ที่เริ่มเรียนได้อย่างจริงจัง เมื่อเขาได้เข้าห้องผ่าตัด เขาบอกว่า ๓ เดือนที่เข้าห้องผ่าตัด เขาได้เรียนมากกว่า ๖ ปีที่เป็นนักศึกษาแพทย์ อันนี้คือ การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) ใช่ไหม? และเป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงด้วย

อีกประการหนึ่ง คือการเรียนเป็นทีม เอาจุดเด่นข้อด้อยของแต่ละคนมาผสมผสาน เอาด้านบวกของแต่ละคนมาเสริมแรง และสร้างทีมขึ้นมา ให้ทีมเกิดความรักใคร่กลมเกลียวกันอย่างที่เกิดขึ้นกับพวกอาจารย์หมอใน ๓ วันที่อยู่ในค่ายเรียนรู้ของผม อย่างพี่สอนน้อง ลากจูงกันไป

ทำอย่างไรจะเอาท่าทีเล่นๆ เข้ามาในงาน เข้ามาในการเรียนรู้

เช่น ตั้งหัวข้อที่จะเรียน ลองให้แต่ละทีมของนักศึกษาไปค้นหาความรู้ในอินเทอร์เน็ต แล้วนำมาเสนอในห้องเรียน รอบแรกให้ เสนอภาพรวมของหัวเรื่องนั้นๆ ว่ามีอะไรที่เป็นแกนเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ เข้ามาด้วยกัน และเชื่อมโยงกันอย่างไร แล้วให้ (จัดการกันเอง) แบ่งว่าทีมไหนจะศึกษาเรื่องอะไร ให้แต่ละทีมมานำเสนอในรอบต่อไป เมื่อทีมหนึ่งนำเสนอ ทีมที่เหลือให้คะแนน หรือบอกว่า หนึ่ง ข้อมูลเพียงพอหรือไม่ สอง การเชื่อมโยงเรื่องราวเป็นอย่างไร สาม การนำเสนอเป็นอย่างไร ชัดเจนไหม? น่าสนใจไหม? เป็นต้น

ลองเรียนแบบไม่ต้องอ่านตำราเลยได้ไหม? เรียนสดๆ จากอินเทอร์เน็ต เหมือนสมมุติขึ้นมาว่านักศึกษาแพทย์ทั้งหมดเป็นชุมชนนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นคว้าเรื่องนี้ รวมไปถึงการคาดเดาว่า เวลานี้วิทยาศาสตร์รู้อย่างนี้แล้ว ลองเดาซิว่า ก้าวต่อไปขององค์ความรู้นี้จะเป็นเช่นไร

แล้วลองเอาทั้งหมดที่ค้นคว้าขึ้นมาได้ไปเปรียบเทียบกับตำราเกี่ยวกับเรื่องนี้ ลองให้คะแนนเปรียบเทียบอย่างยุติธรรมว่า ของใครดีกว่ากัน ของนักศึกษาแพทย์ หรืออาจารย์ผู้เรียบเรียงตำราขึ้นมา ลองไปศึกษาแนวทางอื่นบ้างก็ได้ เช่น แพทย์แผนจีน ว่าเขามองเรื่องเดียวกันนี้แตกต่างอย่างไรกับแพทย์แผนตะวันตก

เนื้อหาที่เรียน ลองตั้งโจทย์ว่า หากเราไม่สามารถเรียนทั้งหมด จำทั้งหมด หากเราจะย่อเรื่องราวลงเท่าที่จำเป็นจริงๆ จะต้องเรียนเรื่องอะไร ให้นักศึกษาไปลองนำสรุปมา สมมุติเนื้อหามี ๑๐๐ หน่วย ย่อเหลือสัก ๑๐ หน่วย เราต้องเรียนอะไร และใน ๑๐ หัวข้อใหญ่นั้น แต่ละทีมเอามาเพียงหัวข้อเดียว ให้เลือกเรื่องที่ยากที่สุด และศึกษาเรื่องนั้นอย่างกระจ่างแจ้ง ให้รู้เลยว่าได้ทำงานที่ยากที่สุดไปแล้ว จำเป็นไหมที่เราต้องเรียนเนื้อหาทั้งหมด คณะแพทยศาสตร์ในเยอรมันแห่งหนึ่ง หลังจะสืบค้นวิจัยทำนองนี้แล้ว เขาตัดหลักสูตรออกไปครึ่งหนึ่งเลย แต่กลับสามารถผลิตแพทย์ออกมาได้มีคุณภาพดีกว่าเดิม

เพื่อนของผมบางคนอาจจะแย้งว่า "ใช่ครับ เรียนแพทย์มา ๖ ปี ไม่เท่ากับผ่าตัด ๓ เดือน แต่หาก ไม่ได้เรียนมาก่อน ก็ผ่าไม่ได้ครับ ความรู้ความสามารถมันจะค่อยๆ เพิ่มตามการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น หลายๆ เรื่องต้องมีการเตรียมตัว ปูพื้นมาบ้าง ก่อนจะเข้าสู่จุดที่สำคัญ ไม่เช่นนั้นจะทำให้มองข้ามจุดที่อาจจะเป็นความเป็นความตายของคนไข้ได้ครับ"

ผมขออภิปรายต่ออย่างนี้ครับ คือ ผมไม่ได้เสนอให้ไม่เรียนมาก่อนแล้วเข้าห้องผ่าตัดเลย แต่ลองช่วยกันคิดดูไหมครับว่า การเรียนที่จะเตรียมนักศึกษาแพทย์ก่อนไปทำงานจริง ควรจะเป็นเช่นไร? หรือเราจะนำพานักศึกษาไปในเหตุการณ์จำลองของการผ่าตัดแบบเหมือนจริง (simulation)

ลองฟังผลการวิจัยในสหรัฐอเมริกา ผมเอาข้อมูลมาจากหนังสือ How Doctors Think โดย นายแพทย์เจอโรม กรู๊ปแมน (Jerome Groopman, M.D.) สำคัญมากเลยครับ คือ ผลจากการชันสูตรคนตายที่โรงพยาบาล ปรากฏว่าร้อยละ ๓๐ อาจจะไม่ตายก็ได้ หากหมอวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง และผลการวินิจฉัยโรคผิดๆ มาจากหลายทาง แต่เหตุผลใหญ่ๆ ๒ ประการเป็นอย่างน้อย คือ หนึ่ง ปัญหาทักษะการสื่อสารกับคนไข้ เช่น การฟังและการรับรู้อวัจนภาษา และสอง กระบวนการคิดของแพทย์ ผมอยู่กับอาจารย์หมอ ๑๐ คน ๓ วัน หมอบางคนบอกว่า หากหมอไม่ได้ตื่นรู้ และไม่ทำงานกับตัวเอง เพียงความรู้สึกไม่พอใจ หรือหงุดหงิดกับคนไข้บางบุคลิกภาพ เท่านั้น ก็อาจวินิจฉัยโรคพลาดได้แล้ว

มีเพื่อนอีกคนบอกว่า ที่พูดมาทั้งหมดไม่เห็นภาพ ลองยกตัวอย่างให้เป็นรูปธรรมสักอย่างหนึ่งได้ไหมว่า เรียนรู้วิธีเรียนรู้ (learn how to learn) โดยไม่ใช่การเรียนที่เน้นการท่องจำจะทำได้อย่างไร

ผมจะเล่าเรื่องครั้งหนึ่งที่ผมเข้าไปแก้โจทย์ให้กับบริษัทจำหน่ายเครื่องมือแพทย์แห่งหนึ่ง ดังนี้

ผมเอาวิธี learn how to learn ไปแก้ปัญหา "พนักงานขายไม่มีความรู้ในตัวสินค้าเพียงพอ" แล้วพนักงานขายก็ไม่ยอมทำอะไรให้ดีขึ้นอีกด้วย แม้จะเคี่ยวเข็ญอย่างไรก็ตาม

ผมเริ่มจากการให้ผู้บริหารระบุว่า จะเอาตัวสินค้าตัวไหนมาให้ผมสาธิตวิธีเรียนรู้เรื่องสินค้าแบบกระบวนทัศน์ใหม่ พวกเขาเลือกสินค้ามาตัวหนึ่ง สมมุติว่าเป็นตู้อบเด็ก คือเวลาเด็กคลอดออกมาไม่แข็งแรง ตู้อบเด็กจะเป็นตัวช่วยดูแลเด็กให้มีโอกาสรอดได้มากขึ้น

ผมเริ่มสาธิตให้ดูโดยแบ่งพนักงานขาย ๑๐ คนเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มละ ๓ คน และมีกลุ่มหนึ่ง ๔ คน

ขั้นแรก ให้ ๓ กลุ่มนั้นไปหาความรู้และข้อมูลมา อย่างไรก็ได้ แล้วกลับมานำเสนอสินค้าให้ลูกค้าอย่างไม่ต้องอาศัยการจดอะไรมา จะกลับไปดูแคตตาล็อกหรือดูตัวสินค้าจริงเลยก็ได้ แล้วให้ทั้งสามทีมนำเสนอกันคนละรอบ พอพวกเขานำเสนอเสร็จ ก็ตั้งคำถามขึ้นมาว่า การนำเสนอของพวกเขา หากจะให้ดีกว่านี้ ยังขาดอะไรอยู่ ให้พวกเขาลงไปหาข้อมูลมาใหม่ และมานำเสนออีก ๑ รอบทั้ง ๓ ทีม พอเสร็จ ทีนี้ให้ผู้บริหารช่วยเติม เพื่ออุดช่องว่าง หรือจุดอ่อน หากต้องการให้ชนะคู่แข่งได้

ลองคิดดูสิครับว่า หนึ่ง พวกเขาผ่านการหาข้อมูล อ่าน ตีความและพยายามทำความเข้าใจข้อมูลกันกี่รอบ จนกระทั่งเสร็จสิ้นกิจกรรมทั้งหมด สอง ผมถามว่าเป็นไง เบื่อไหม สนุกไหม รู้สึกอย่างไรกับเวลาบ้าง พวกเขารู้สึกสนุกและเวลาผ่านไปเร็วมาก สาม การทำงานเป็นทีม ทั้งร่วมมือกันและแข่งขันกันในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม ทำให้พวกเขาสนิทสนมกันยิ่งขึ้นและพัฒนาความเป็นทีมมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ จะจำลองไปใช้กับการเรียนการสอนในคณะแพทยศาสตร์ได้ไหม? ตัวดัชนีชี้วัดการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ก็คือความสามารถที่จะยักย้ายถ่ายเทความรู้ในบริบทหนึ่ง นำเอาไปใช้กับอีกบริบทหนึ่งไม่ใช่หรือ เราจะเอาเรื่องนี้ไปปรับประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนในโรงเรียนเรียนแพทย์ได้หรือไม่?

สุดท้าย "ผมว่าในที่สุด เราเคารพสติปัญญาของเยาวชนของเราน้อยเกินไป เราเตรียมตัวกันน้อยเกินไปที่เราจะมาสอนพวกเขา เมื่อเตรียมตัวน้อย เราจึงใช้วิธีโบราณที่สุดในการเรียนการสอน ที่น่าเบื่อและไร้จินตนาการที่สุด และเราบอกว่าทำได้อย่างนี้อย่างเดียวแหละ จริงหรือครับ? หรืออันนี้มาจากความไม่รับผิดชอบ หรือความมักง่าย ที่คนที่เรียนมาอย่างไร้จินตนาการ จะได้ถ่ายทอดความไร้จินตนาการไปยังคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า??!!

Back to Top