โดย
ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2557
“ที่ร้องมานี่พี่พอใจแล้วหรอ”
ครูสอนร้องเพลงของผมพูดขึ้น หลังจากที่ผมร้องเพลงที่ไปฝึกหัดมาอย่างดีให้เธอฟัง ผมรู้สึกว่าเสียงที่เปล่งออกมามัน “ใช่” มาก รู้สึกใจฟู จึงตอบครูสาวโดยไม่เฉลียวใจว่าครูพูดประชด
“ครับ พอใจมากเลย”
“พอใจ งั้นก็ร้องแบบนี้ต่อไปก็แล้วกัน”
ผมก็เลยอึ้งไปชั่วขณะ อุทานเบาๆ ว่า “อ้าว” แล้วใจที่ฟูพองเมื่อสักครู่นี้ก็แฟบเหมือนลูกโป่งหมดลม
“คือ ผมก็นึกว่า...”
“ก็ครูบอกตั้งแต่วันแรกที่มาเรียนแล้วไงว่า ถ้าไม่เชื่อครู ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงก็เรียนของใหม่ไม่ได้ ครูถึงถามไงว่าถ้าพี่คิดว่ามันดีอยู่แล้ว ก็ร้องแบบนั้นต่อไป”
ประโยคสุดท้ายนี่คือปิดฝาโลงสำหรับผม อยากเรียนก็อยาก แต่ความรู้สึกในใจบีบคั้น เสียงในใจผุดขึ้นว่าทำไม “ฉัน” จะต้องฟังผู้หญิงคนนี้ เธออาจจะเก่ง แต่เธอสอนไม่ได้เรื่อง หรือเธออาจจะเรียนรู้มาแบบผิดๆ ก็ได้ จะเก่งสักแค่ไหนกันเชียว ฯลฯ คลื่นพายุความคิดแทรกเข้ามาล้วนแต่พาใจล้มคว่ำคะมำหงาย มันอยากจะเดินออกไปจากห้องเรียนเดี๋ยวนั้น ประตูอยู่ตรงนั้น เดินออกไปโดยไม่หวนกลับมาอีกเลย “ศรีจะไม่ทน!”
แต่แน่นอนว่าผมไม่ได้เลือกที่จะทำอย่างนั้น
ผมกลับมาอยู่ที่ความรู้สึกตัว รับรู้ร่างกาย และความเป็นไปตรงหน้า
ผม “รีเซต” จิตใจของตัวเอง
หลังจากนั้น ผมเรียนร้องเพลงคลาสสิคมาจนได้สามเดือนเข้าไปแล้ว ครูก็เริ่มชมว่าผมมีแวว มีพรสวรรค์ เสียงหัวเราะเริ่มมีให้ได้ยินในห้องเรียนเล็กอู้ แววตาของครูเมื่อเห็นลูกศิษย์ทำได้ดี และตัวเราเองก็รู้ว่าเราทำได้ดี มันช่างยิ่งใหญ่
มิตรสหายซึ่งเชี่ยวชาญด้านรากศัพท์ภาษาอังกฤษชี้ให้ผมเห็นคำว่า Tribulation หมายถึง Trouble หรือ Suffer ในภาษาอังกฤษซึ่งแปลเป็นไทยว่า “ความยากลำบาก” มีที่มาจาก terere ซึ่งแปลว่า ขัดหรือนวด และ -bulum ซึ่งอ้างถึงเครื่องมือบางอย่าง ถ้าหากวันนั้นผมไม่อดทน ผมเดินออกจากห้องไปก็จะไม่มีวันนี้
ทักษะชีวิตคือสิ่งที่เมื่อทำให้มีขึ้นเกิดขึ้นแล้วจะกลายเป็น “ของ” ที่ติดตัวเราไป เป็นเนื้อเป็นตัว ไม่มีใครจะพรากไปจากเราได้ ในทางพุทธศาสนาเรียกว่า “อินทรีย์” ในภาษาธุรกิจเรียกว่า Competency
การเรียนในระบบการศึกษาทั่วไปมี ระบบเชิงสัญญะ (Symbolic Order) กำกับอยู่ว่าใครควรผ่านเกณฑ์อะไรอย่างไร ในสำหรับวิชาชีวิตยากที่จะวัดผลอย่างนั้นได้ ทางศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ที่มหาวิทยาลัยมหิดล เคยคุยกับผมถึงความยากลำบากในการวัดผลนักศึกษาในวิชาว่าด้วยการ “ภาวนา” ว่า จะให้คะแนนกันอย่างไร ใครภาวนาดีกว่าใครวัดอย่างไร วัดที่ตรงไหน และที่สำคัญ “ใคร” คือผู้ที่จะสอน หรือสมควรจะเป็น “ครู” ในด้านนี้
สำหรับผม วิชาชีวิตจึงต้องมีสภาวะของการเป็นครู-ศิษย์ มันคือการสร้างสัมพันธภาพชนิดพิเศษแบบหนึ่ง ซึ่งผู้เรียนยินยอม “น้อมใจ” ลงเพื่อรับการเรียนรู้ กระบวนกรบางท่านใช้คำว่า “ศิโรราบ” ซึ่งผมไม่เห็นด้วย เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่ใครคนหนึ่งจะยอมอีกคนหนึ่งอย่างสงบราบคาบในทุกแง่มุม ในความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่งอกงามจึงต้องมีลักษณะของการต่อรอง การเชื่อมเข้าและถอยห่าง คล้ายกับการเต้นรำ
“ปัญญาสอนกันไม่ได้” ความรู้เก่าแก่บอกเรา แต่ชี้ชวนได้ “ท่านจงมาดูเถิด” หมายถึงชวนให้มาสัมผัสเอง เข้าใจและรู้ตามที่ผู้รู้ได้ชี้แนะเอาไว้ คำสำคัญคือคำว่า “รู้ตาม” ไม่ใช่ “รู้ได้เอง” คำว่า “รู้ตาม” สร้างความสัมพันธ์ครูศิษย์ให้ลึกซึ้ง ในขณะที่เมื่อเข้าใจไปว่า “รู้ได้เอง” สร้างความกระหยิ่มใจและอวดดี เวลาที่ผมพูดคำว่า “ครู-ศิษย์” โปรดอย่าเข้าใจว่าผมพูดถึงตัวบุคคลที่กำลังหายใจมีชีวิตอยู่ แต่ผมพูดถึงสภาวะซึ่งเป็นนามธรรมซึ่งเกิดขึ้นมีขึ้นในใจ ไม่ใช่คน สัตว์ ตัวตน บุคคล เรา เขา
แต่ศิลปะวิชาชีวิตใดๆ ที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อการละเลิกอัตตา ก็สามารถนำบุคคลที่เรียนไปสู่ความหายนะได้ ในวงการละครเวทีมีเรื่องนักเรียนด้านการเต้นรำในแบบที่เรียกว่า “การเต้นรำของด้านมืด” ซึ่งมอบกายถวายชีวิตให้กับครูสอนเต้น ตกอยู่ในสัมพันธ์ที่ตกเป็นเหยื่อ พ่อแม่ของเธอบอกว่าเธอถูกครูทิ้งให้อยู่ในต่างประเทศเมื่อไปทำทัวร์ ถูกครูขูดรีดเอาเงินของเธอไปจนหมดตัว ตลอดจนอ้างว่าเธอมีความสัมพันธ์ทางเพศกับครูหลายต่อหลายครั้ง
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นความเต็มใจของเธอเอง!
เรื่องทำนองนี้ไม่ได้มีเฉพาะแต่ในเมืองนอก ผมคิดว่ากรณีที่ครูใช้เล่ห์ลวงศิษย์ที่มีวุฒิภาวะน้อยกว่าเพื่อเป็นเหยื่อทางเพศนั้นก็คงจะมีไม่น้อย เพียงแต่จะเป็นข่าวหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง
วิชาชีวิตจึงต้องเสาะแสวงหาโดยไม่มีระบบชี้ทางหรือรับรอง ต้องนำพาตัวเองเข้าไปเรียนรู้ ถ้าได้ครูดีก็ดีไป ถ้าได้ครูไม่ดี ก็จะหลงทางและไม่นำเราสู่ความเจริญ บางครั้งได้ครูดี แต่ตัวเราเองไม่พร้อม ก็เลยเรียนไม่ได้ดี ก่อนจะโทษที่ครูให้ดูที่ตัวเองก่อน
แสดงความคิดเห็น