หนุ่มสาวสร้างโลก (๑)
การศึกษาเพื่อความเป็นไท ถูกและดี



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2557

ยี่สิบปีที่แล้ว ระวี กุลาติ - ชายหนุ่มวัยยี่สิบ ลาออกจากบริษัทที่แคนาดา หลังจากเรียนจบด้านบริหารธุรกิจและเริ่มชีวิตทำงานไปได้ ๘ เดือน เขากลับมาที่อินเดีย ตั้งใจว่าจะไปทำเกษตรกรรมในชนบท ดำเนินชีวิตเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกอย่างที่มาซาโนบุ ฟูกุโอกะ เขียนไว้ใน ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว แต่ก็พบว่าเด็กแถวบ้านเขาอยากได้ครูสอนพิเศษ และพบว่าเด็กที่คะแนนเลขห่วยแตกในโรงเรียนเป็นเด็กที่ฉลาดเป็นกรดและเรียนรู้ไว เขาเริ่มตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาในโรงเรียน?

ระวีเล่าว่า ในช่วงที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ แต่ระบบการศึกษาแบบอาณานิคมยังคงดำรงอยู่ นักคิดอินเดีย ๔ คน ได้แก่ มหาตมะ คานธี รพินทรนารถ ฐากูร กฤษณมูรติ และศรีอรพินโท ได้ตั้งคำถามกับระบบการศึกษา



ในหนังสือ Hind Swaraj ที่คานธีเขียนเผยแพร่เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๐๙ เพื่อนำเสนอแนวคิด “สวราช” หรือการเป็นเอกราชอินเดียนั้น คานธียืนยันว่าการเป็นไทของประเทศอินเดีย ไม่ได้หมายถึงการขับไล่คนอังกฤษออกไปจากแผ่นดินอินเดีย หากหมายถึงการที่คนอินเดียมีความเป็นไทแก่ตัว มีอิสรภาพภายใน รู้ว่าชีวิตต้องดำเนินไปในทิศทางไหน ตนเองต้องการอะไร ซึ่งความเป็นไทแก่ตัวนี้ ระวีเห็นว่าจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องผ่านการศึกษา

ทั้งนี้ ในบรรดานักปฏิรูปการศึกษาเองนั้น รพินทรนารถ ฐากูร ได้ก่อตั้งศานตินิเกตันขึ้นมา สาวกของกฤษณมูรติและศรีอรพินโทก็ก่อตั้งมหาวิทยาลัยทางเลือกหลายแห่ง แต่ปรากฏว่าในช่วงหลังดูเหมือนการศึกษาทางเลือกเหล่านั้นกลับกลายเป็นทางเลือกเฉพาะของคนรวย เพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก

โจทย์ของระวีในวัยยี่สิบต้นๆ ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานี้ก็คือ – เป็นไปได้ไหมที่จะมีการศึกษาเพื่อความไท ในราคาที่ถูก เพื่อที่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงได้?

ในปีค.ศ. ๑๙๙๖ เขาเริ่มก่อตั้ง แมนซิล (Manzil) ศูนย์เรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ขึ้นภายในบ้านเขาเอง ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนตลาด และเป็นที่อยู่ของคนจนทั้งหลายที่ทำงานให้กับคนรวยในกรุงเดลี พวกเด็กๆ ลูกของคนขับรถ คนครัว คนทำความสะอาดบ้าน คนรับใช้ ฯลฯ สามารถมาเรียนได้หลังเลิกเรียน โดยจะมานั่งพื้นด้วยกันในห้องขนาด ๑๒ ตารางเมตร ซึ่งสะอาด พื้นปูพรมผ้าพอสบาย มีกระดานดำขนาดย่อมติดบนผนังสองด้าน

วิชาที่เริ่มสอนคือ เลข ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ เริ่มเรียนกันหลังโรงเรียนเลิก โดยเน้นไปที่การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ไม่ใช่ผ่านการท่องจำ ผลจากกระบวนการเรียนรู้นี้ทำให้มีเด็กชวนกันเข้ามาเรียนเพิ่มมากขึ้นแบบปากต่อปาก จากไม่กี่คนก็กลายเป็น ๒๐๐ คน แถมยังเพิ่มวิชาเต้นรำ ละคร ภาพยนตร์ ฯลฯ ซึ่งปรกติเป็นวิชาที่มีค่าใช้จ่ายสูง แต่แมนซิลเปิดเป็นตลาดวิชาสำหรับทุกคน

ระวียืนยันว่า “Being is Doing” การสอนเป็นเรื่องของการเจริญสติภาวนาอยู่กับปัจจุบันขณะ ถ้าครูผู้สอนรู้เนื้อรู้ตัว รู้ว่าตนเองกำลังคิดและรู้สึกอะไรหรืออย่างไร ย่อมมีสัมผัสที่ว่องไวและตระหนักรับรู้ได้ว่าเด็กคนไหนในห้องตามสิ่งที่กำลังสอนได้มากน้อยหรือเร็วช้าแค่ไหน เมื่อรับรู้ได้ ครูผู้สอนก็ย่อมปรับกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับผู้เรียนได้เหมาะสมทันการณ์ หัวใจของกระบวนการเรียนรู้ที่แมนซิลจึงอยู่ที่บุคลากรครูผู้สอนนี่เอง

ที่น่าสนใจก็คือ การสลับเปลี่ยนบทบาทของครูผู้สอน-ผู้เรียนที่แมนซิล คนคนหนึ่งอาจจะไม่รู้ในเรื่องหนึ่งแต่อาจจะรู้ในเรื่องที่คนอื่นไม่รู้ ดังนั้นเอง ครูวิชาหนึ่งอาจจะไปร่วมเรียนในวิชาที่นักเรียนสอนในอีกวิชาหนึ่ง การหมุนเวียนบทบาทของครูผู้สอนกับผู้เรียนนี้จึงช่วยทลายโลกทัศน์และโครงสร้างความสัมพันธ์ที่ว่าครูเป็นผู้รู้และมีอำนาจเหนือคนอื่นตลอดเวลา แมนซิลจึงกลายเป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้ร่วมกันบนพื้นฐานของความสัมพันธ์แนวราบมากขึ้น

ครั้งหนึ่ง มีเด็กในห้องไปมีเรื่องต่อยตีกับเด็กคนอื่น ครูก็ถามว่าทำไมถึงไปทะเลาะชกต่อยกัน เด็กตอบว่าเพื่อนชวน คำตอบของเด็กทำให้ครูงุนงงสงสัย แต่แทนที่จะตำหนิ ครูถามต่อด้วยความสงสัยว่า แล้วทำไมเพื่อนชวนไปต่อยแล้วเราต้องไปด้วย เด็กตอบว่าก็เพราะเรารักเพื่อน ครูจึงถึงบางอ้อ แล้วค่อยถามต่อว่า เรามีหนทางที่จะรักและแสดงความรักกับเพื่อนในแบบอื่นนอกเหนือจากการตามเพื่อนไปต่อยคนอื่นไหม? เด็กก็หยุดนิ่งคิดแล้วก็ตอบว่าได้ – นี้แสดงให้เห็นถึงกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นการตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ใคร่ครวญ มากกว่าการสอนแบบสั่งให้ทำตาม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อครูผู้สอนมีความเป็นมิตรมาก และเชื่อมั่นในศักยภาพการเรียนรู้ผู้การเปลี่ยนแปลงของมนุษย์มาก ไม่น่าแปลกใจที่เด็กในห้องเรียนของแมนซิลมีดวงตาสงสัยใคร่รู้ เด็กหนุ่มวัยรุ่นมีประกายตาสว่างไสว ไม่หงอกลัวคนแปลกหน้า ขณะเดียวกันก็ดูสุภาพ

หากถามว่าแมนซิลอยู่รอดทางการเงินอย่างไร? ระวีตอบว่าเขาได้รับมรดกจากพ่อที่เพิ่งเสียชีวิตมา ๒ ชิ้น คือ (หนึ่ง) ในเชิงกายภาพ เขาได้รับมรดกร้านค้าที่มีผลกำไรพอเลี้ยงครอบครัวและใช้ในการดำเนินงานในศูนย์เรียนรู้นี้ได้ และ (สอง) ในเชิงจิตวิญญาณ เขารับเอาความสมถะและสันโดษมาเป็นวิถีชีวิต เขาในวัยสี่สิบปีใช้เงินเท่ากับตัวเองในวัยยี่สิบปี กินอยู่แบบคนอินเดียทั่วไป ไม่ซื้อเสื้อผ้าเลยมายี่สิบปีแล้ว

อย่างไรก็ดี เขาเพิ่มเติมว่า ความรู้เชิงบริหารธุรกิจที่เขาเคยรังเกียจจนกระทั่งละทิ้งหนทางชีวิตนั้นมา กลับยังหลงเหลืออยู่ในตัวและกลายเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในปัจจุบันมาก เขาเข้าใจแล้วว่า สินทรัพย์ของมนุษย์ไม่ได้หมายถึงตัวเงินเสมอไป ศักยภาพของมนุษย์ก็เป็นสินทรัพย์ได้ เวลาของผู้คนก็เป็นสินทรัพย์ได้ เครือข่ายความสัมพันธ์ก็เป็นสินทรัพย์ได้ ฉะนั้นเอง ศูนย์เรียนรู้ของเขาจึงประกอบด้วยอาสาสมัครรุ่นหนุ่มรุ่นสาวจำนวนมากที่สมัครมาเป็นครู และมาช่วยบริหารจัดการองค์กร โดยฝังตัวอยู่ด้วยอย่างน้อยหกเดือนถึงหนึ่งปี

ผลผลิตของการศึกษาเพื่อความเป็นไทของระวีที่เห็นได้ชัด อาจจะไม่ใช่จำนวนเด็กที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ของแมนซิล แต่เป็นบุคลากรของแมนซิลเอง ที่ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาววัยยี่สิบสองยี่สิบสามปี ดังเช่น อนุราต – หนุ่มวัยยี่สิบสี่ยี่สิบห้า อดีตนักเรียนแมนซิลเมื่อเจ็ดปีก่อน ปัจจุบันเขาเป็นผู้จัดการ และเป็นนักร้องประจำวงดนตรีของแมนซิล หรือศานจี – หญิงสาววัยยี่สิบสาม อาสาสมัครแมนซิล และเป็นครูใหญ่ประจำศูนย์เรียนรู้ - หนุ่มสาวเหล่านี้มีบุคลิกอ่อนโยน กระตือรือล้น ตอบคำถามข้อสงสัยได้อย่างฉาดฉาน – เป็นเรื่องน่าทึ่งที่ในพื้นที่ความเหลื่อมล้ำของอินเดีย สามารถสร้างคนหนุ่มสาวที่มีพลัง และทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมจากฐานราก ที่มีความสำคัญและยิ่งใหญ่ไม่น้อย อย่างมุ่งมั่นอาจหาญผ่านพื้นที่เล็ก-เล็กของตน

Back to Top