จักรวาลกำลังเฝ้ามองตัวเอง…ผ่านเรา



โดย โอม รัตนกาญจน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 ตุลาคม 2557

ในชีวิตของเราเคยมีคำถามและรู้สึกสงสัยบ้างไหมว่า เราเกิดมาทำไม? เรามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร? ตัวเราเอง หรือมนุษย์คนอื่นนั้นเกิดมาในโลกอย่างบังเอิญเท่านั้นหรือ? …หรือชีวิตนั้นมีความหมายบางอย่างที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านิยามของแต่ละปัจเจกบุคคล? มีเจตจำนงอันลึกซึ้งของธรรมชาติบางอย่างที่อยู่เบื้องหลังการมีอยู่ของมนุษย์และสรรพสิ่งหรือไม่

…ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย นอกจากชีวิตวัยรุ่นโดยทั่วไปแล้ว ด้านหนึ่งผมเป็นคนที่มีความสงสัยใคร่รู้มากมายเกี่ยวกับชีวิตและคำถามข้างต้น ทำให้ผมชอบศึกษาเรียนรู้ตั้งแต่ ปรัชญา จิตวิทยา วิทยาศาสตร์ ศาสนา จนมาถึงธรรมะและการปฏิบัติสมาธิภาวนา เพื่อแสวงหาคำตอบให้กับชีวิต



ความสนใจนี้ดำรงอยู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผมเลือกเส้นทางอาชีพกระบวนกรหรือวิทยากรจัดกระบวนการเรียนรู้ เพราะวิถีนี้เอื้อให้การงานและความสนใจส่วนตัวของผมยังเป็นเรื่องเดียวกัน ช่วงที่ผ่านมาหลายปี ความสนใจหลักของผมอยู่ที่การศึกษาเพื่อบูรณาการและหลอมรวมศาสตร์ด้านจิตวิทยาที่น่าสนใจต่างๆ ของโลกตะวันตกและตะวันออก เข้ากับวิถีปฏิบัติเพื่อการตื่นรู้แห่งพุทธธรรม เพื่อออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่จะมีส่วนช่วยให้ผู้คนในสังคมได้บ่มเพาะและสร้างการตื่นรู้ ในท่ามกลางโลกยุคใหม่ที่เร่งรีบ วุ่นวาย และเต็มไปด้วยความขัดแย้ง

อาจพูดได้ว่า จุดเปลี่ยนสำคัญที่เปิดโลกการเรียนรู้ของผมในเรื่องนี้ เกิดขึ้นเมื่อ ๓ ปีที่ผ่านมา เมื่อผมได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อด้านจิตวิทยากระบวนทัศน์ใหม่แขนงหนึ่งที่เมืองพอร์ตแลนด์ มลรัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งที่เป็นศูนย์รวมของการเรียนรู้จิตวิทยากระบวนทัศน์ใหม่ และกลุ่มคนที่สนใจเรื่องจิตวิญญาณและพุทธศาสนา รวมถึงวิถีชีวิตทางเลือกในโลกตะวันตก

องค์ความรู้นี้มีชื่อว่า จิตวิทยากระบวนการ (Process Oriented Psychology หรือเรียกสั้นๆ ว่า Process Work) พัฒนาโดยอาร์โนล มินเดล (Arnold Mindell) นักควอนตัมฟิสิกส์จากเอ็มไอที ที่ผันตัวเองมาศึกษาจิตวิทยาและภูมิโบราณวิถีตะวันออกแห่งเต๋านานกว่า ๔๐ ปี ด้วยความพยายามที่จะบูรณาการองค์ความรู้กระบวนทัศน์ใหม่ของตะวันตกและตะวันออกที่ก้าวหน้าของโลกหลายๆ แขนงเข้าด้วยกัน ทั้งควอนตัมฟิสิกส์ จิตวิทยาเชิงลึกสายคาร์ล จุง และเต๋าซึ่งเป็นภูมิปัญญาอันเก่าแก่ลึกซึ้งของตะวันออก เพื่อทำความเข้าใจและทำงานกับปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโลกตั้งแต่ระดับปัจเจก องค์กร และสังคม รวมถึงระดับชาติ ด้วยวิถีและมุมมองกระบวนทัศน์ใหม่ ทุกวันนี้ มินเดลเป็นนักจิตวิทยาแถวหน้าคนหนึ่งของโลก เป็นที่ปรึกษาให้แก่ผู้นำและรัฐบาลหลายๆ ประเทศที่ต้องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีความรุนแรงและสลับซับซ้อน (มินเดลบอกกับผมเป็นการส่วนตัวว่า ช่วงที่ผ่านมา เขาก็ได้รับการติดต่อจากผู้นำประเทศไทยที่มาปรึกษาและต้องการความช่วยเหลือจากเขาเช่นกัน)

ถ้าหากจะพูดถึงองค์ความรู้เรื่องนี้แล้ว คงต้องเริ่มต้นด้วยการค้นพบของ คาร์ล กุสตาฟ จุง (C.G. Jung) นักจิตวิเคราะห์คนสำคัญคนหนึ่งของโลกชาวสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเปรียบเหมือนบิดาแห่งจิตวิทยาเชิงลึกในฝั่งตะวันตก และเป็นรากของจิตวิทยากระบวนการของมินเดล จุงได้ศึกษาวิจัยผู้คนมากมายในระยะเวลา ๖๐ ปี กว่า ๘๐,๐๐๐ กรณีศึกษาในการทำงานเรื่องความฝันและจิตไร้สำนึก เขาได้ค้นพบว่าความฝัน (ตอนหลับ) นั้นเป็นช่องทางหลักของจิตไร้สำนึก (unconscious) ที่เผยตัว และสื่อสารข้อมูลบางอย่างที่สำคัญกับเรา จิตไร้สำนึกที่จุงพูดในที่นี้หมายถึง กระบวนการทำงานของสัญชาตญาณเบื้องลึก ที่มีอิทธิพลขับเคลื่อนชีวิต และอยู่เหนือการควบคุมจากความคิดนึกของมนุษย์ ซึ่งมีทั้งระดับจิตไร้สำนึกระดับปัจเจก (Personal unconscious) และจิตไร้สำนึกร่วมของจักรวาล (Collective unconscious)

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดและเป็นแก่นในงานทั้งหมดของเขาในเวลาต่อมาคือ การค้นพบแบบแผนหนึ่งที่เผยปรากฏขึ้นซ้ำๆ ในความฝันของมนุษย์อย่างไม่บังเอิญ ในทุกๆ ความฝัน สัญลักษณ์ต่างๆ (ความฝันสื่อสารผ่านเราด้วยภาษาของสัญลักษณ์) ได้เผยให้เห็นถึงกระบวนการอันลึกซึ้งและมีนัยยะสำคัญยิ่งยวดต่อการพัฒนาจิตสำนึกของมนุษย์ เขาเรียกสิ่งนี้ว่า Individuation Process หรือ กระบวนการ "การวิวัฒน์สู่อัตลักษณ์เดิมแท้อันบริบูรณ์" กระบวนการนี้เกิดขึ้นและมีอิทธิพลกับมนุษย์ทุกคนตลอดทั้งชีวิต ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ตั้งแต่การมองโลก เส้นทางชีวิต ความสัมพันธ์ที่เรามีต่อตัวเองและคนรอบข้าง หรือแม้กระทั่งเรื่องคู่ชีวิต อาจเรียกได้ว่าเป็นแบบแผนแห่งพรหมลิขิตหรือชะตาชีวิตทีเดียว พูดอีกนัยหนึ่ง ทุกสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ ภายในจิตของเรานั้น มีพลังงานของสัญชาตญาณเบื้องลึกที่ถูกบรรจุมาพร้อมกับชีวิต เพื่อขับเคลื่อนวิวัฒนาการของมนุษยชาติและสรรพสิ่ง ให้อยู่รอดและพัฒนาตัวเองอย่างเป็นพลวัต ตราบเท่าที่จักรวาลและโลกยังดำเนินไปเพื่อเข้าถึงความเต็มบริบูรณ์ในตัวเอง (wholeness)

การวิวัฒน์สู่อัตลักษณ์เดิมแท้อันบริบูรณ์นี้ ในแง่หนึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นอิทธิพลของพลังงานหยินหยางแห่งเต๋า หรือจิตไร้สำนึกร่วมของจักรวาลที่ทำงานเหมือนซอฟต์แวร์ทางจิตและชีวภาพที่จักรวาลใช้เพื่อขับเคลื่อนและวิวัฒน์สรรพสิ่งเพื่อเข้าถึงความเต็มเปี่ยมในตัวเอง แต่กระนั้นก็ตาม จุงพบว่า การเติบโตด้านในนี้แม้จะเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติระดับหนึ่งในตัวมนุษย์ทุกคน แต่มิใช่จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างเต็มศักยภาพกับทุกบุคคล นอกจากว่าเขาผู้นั้นจะสามารถสังเกตเห็น เข้าใจ และตระหนักรู้ถึงกระบวนการภายในแห่งจิตไร้สำนึกของตัวเองจริงๆ จุงกล่าวว่า ใครก็ตามที่สามารถพัฒนาตัวเองได้ถึงศักยภาพสูงสุดของกระบวนการ Individuation นี้ เขาหรือเธอจะเป็นคนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความบริบูรณ์ในทุกๆ ด้านในตัวเอง และยังคงดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของปัจเจก รวมถึงสามารถที่จะใช้ศักยภาพได้ถึงขีดสูงสุดอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะเป็น (maximum potential of human being) นั่นคือ เขาหรือเธอจะไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบความเชื่อ หรือข้อจำกัดของกายภาพ สิ่งแวดล้อม ครอบครัว สังคม หรือเชื้อชาติ และยังสามารถสร้างความเป็นไปได้ใหม่อันไม่มีขีดจำกัดบนเส้นทางที่เขาหรือเธอปรารถนาจะเดินไป

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นเกี่ยวกับการทำงานของจิตไร้สำนึกและกระบวนการ Individuation ที่มีอิทธิพลในชีวิตประจำวันของเรา อาจยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราส่วนใหญ่มักจะถูกดึงดูดให้ตกหลุมรัก หรือเป็นคู่กับคนที่มีแนวโน้มบุคลิกภาพ นิสัยใจคอ ต่างกับเราโดยสิ้นเชิง (คนกว่าร้อยละ ๘๐ ในโลกมักจะได้คู่ต่างเหมือนหยินกับหยาง) เช่น หากเราเป็นคนพูดน้อย เก็บอารมณ์ความรู้สึก รักสันโดษ เราก็มักจะมีแนวโน้มที่จะถูกดึงดูดได้เป็นคู่กับคนที่เป็นขั้วตรงข้ามคือ พูดเก่ง โผงผาง แสดงออกความรู้สึกแบบตรงไปตรงมา ชอบเข้าสังคมราวกับว่ามาจากคนละโลกก็ว่าได้ ซึ่งหลายคู่อาจจะเพิ่งมาพบความต่างสุดขั้วนี้หลังจากแต่งงานหรือคบกันมาสักพักใหญ่ หรือหลังหมดโปรโมชั่นช่วงตกหลุมรัก เป็นต้น ในอีกแง่หนึ่ง ในแต่ละช่วงชีวิตของเราไม่มากก็น้อย ทุกคนจะต้องเจอกับวิกฤต หรือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต ที่ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองครั้งใหญ่ ต้องเดินไปในเส้นทางที่ตัวตน (ego) ของเราไม่คุ้นชิน เพื่ออยู่รอดหรือก้าวข้ามอุปสรรคปัญหาอันยิ่งใหญ่บางอย่าง ทั้งนี้เหตุการณ์ต่างๆ จะเกิดขึ้นเป็นดั่งพรหมลิขิต ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม และทั้งหมดนี้จะเรียกว่าจักรวาลจัดสรรคงไม่ผิดนัก เพราะลึกๆ แล้ว จิตไร้สำนึกในตัวเรานั้น โหยหาการเติบโตด้านในเพื่อความบริบูรณ์ในตัวเองอยู่ตลอดเวลา (yearning to the wholeness)

ถึงตรงนี้ ถ้าพูดในภาพใหญ่ ระดับสังคม การเมือง หรือระดับชาติ มิใช่เรื่องบังเอิญที่การเมืองในแทบจะทุกประเทศทั่วโลก จะมีสองฝั่งขั้วความคิด หรือขั้วอำนาจ ที่ต่อสู้งัดข้อกันมาตลอดประวัติศาสตร์ นี่ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นปรากฏการณ์แห่งหยินหยาง หรือ Collective Individuation Process เช่นกัน ที่จักรวาลสรรค์สร้างให้จิตสำนึกของมนุษย์ในระดับสมุหะเกิดการวิวัฒน์อย่างต่อเนื่อง อาร์โนล มินเดล สอนผมเสมอว่า ในทุกๆ ความขัดแย้งในสังคมและการเมือง คำตอบจะมิใช่การเลือกข้าง ๑ หรือ ๒ และกำจัดอีกฝ่ายทิ้งไป แต่สุดท้ายคือการเข้าไปหลอมรวมแก่น (essence) และปัญญาที่ไปพ้นแนวคิดและวิธีการที่แตกต่างของทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกัน เพื่อให้กำเนิดและสร้างสรรค์กระบวนการใหม่ที่จะวิวัฒน์จิตสำนึกของผู้คนในสังคมนั้นไปอีกขั้นหนึ่ง และนี่คืองานที่มินเดลทำมาโดยตลอด เพราะเขาเชื่อว่านี่คือวิถีแห่งเต๋า

โดยสรุปแล้ว กระบวนการการวิวัฒน์สู่อัตลักษณ์เดิมแท้อันบริบูรณ์นี้ ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับปัจเจกบุคคล หากแต่เกิดขึ้นในระดับของกลุ่ม สังคม ประเทศและโลกด้วย ใช่หรือไม่ว่า นี่คือพลวัติแห่งธรรมชาติและสรรพสิ่ง ซึ่งเป็นเหมือนกฏแห่งเอกภพ เป็นแบบแผนอันซ่อนเร้นแห่งเต๋า เป็นจิตอันศักดิ์สิทธ์ของพระเจ้า และเป็นดั่งสายธารให้กับสรรพสิ่งบนเส้นทางแห่งวิวัฒนาการอันยาวนานของสังสารวัฏ ในที่นี้อาจพูดได้ว่า จิตวิวัฒน์นั้นในความหมายหนึ่งคือจิตใหญ่ที่สามารถหลอมรวม แม้ขั้วตรงข้ามที่ดูขัดแย้งและแตกต่าง เพื่อไปพ้นทวิภาวะหรือความเป็นสอง จนเข้าถึงความเดิมแท้อันบริบูรณ์ในตัวเอง เพราะถึงที่สุดแล้วเราทุกคนต่างคืออณู หรืออวตารหนึ่ง (Avatar) ของจักรวาล ที่ล้วนมีเมล็ดพันธ์แห่งพุทธะภายในซึ่งรอการเติบโตงอกงามและสุดท้ายในมิติความจริงอันลึกล้ำที่สุดอาจกล่าวได้ว่า - จักรวาลกำลังเฝ้ามองตัวเอง... ผ่านเรา

Back to Top