แถบสีวิวัฒนาการทางสังคม
การก่อประกอบองค์กรขึ้นใหม่



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู และ ภัทระ กิตติมานนท์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2557

เรากำลังอ่านหนังสือเล่มหนึ่งอย่างเมามัน เพราะไม่ค่อยมีหนังสือที่ต่อยอดสิ่งที่กำลังค้นคว้าแบบนี้มา นานแล้ว หนังสือเล่มนี้ชื่อ Reinventing Organizations โดย Frederic Laloux และมีเคน วิลเบอร์ เขียนคำนำ โดยเขาได้ให้เครดิตหนังสือเล่มนี้อย่างมากมาย

ผู้เขียนได้แบ่งช่วงของวิวัฒนาการทางสังคมออกเป็นช่วง ๆ แทนด้วยสีต่าง ๆ และในบรรดาสีหรือช่วงวิวัฒนาการเท่าที่สอดคล้องกับงานที่เราทำอยู่ น่าจะมี

สีแดง - Impulsiveness แปลว่า ผลักดันหรือกดดัน เป็นกระทิงในผู้นำสี่ทิศ ธาตุไฟ ตัวอย่างคือ มาเฟีย



สีเหลืองอำพัน - Conformist บุคลิกแบบประนีประนอม เป็นหมีในผู้นำสี่ทิศ ธาตุดิน คือกฎกติกามารยาท โดยจะแบ่งคนในสังคมออกเป็นชั้นๆ และแบ่งหน้าที่กันชัดเจน "บทบาท" จะมีความสำคัญกว่าบุคลิกภาพ ตัวอย่างเช่น ระบบราชการ หรือลัทธิขงจื๊อ เป็นต้น

สีส้ม - Achievement เน้นความสำเร็จ วิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์เก่า ความจริงแบบภววิสัย (objective reality) เอาเหตุผลและความคิดเป็นหลัก ไม่สนใจอารมณ์ความรู้สึก ยังไม่เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบนิเวศ ไม่สนใจความคิดหลากหลาย พยายามจะยึดเอาข้อเท็จจริงและสิ่งที่พิสูจน์ได้เป็นหลัก

สีเขียว – Pluralistic เริ่มเอาวิทยาศาสตร์ใหม่เข้ามา เอาอัตวิสัย (subjectivity) เข้ามามีส่วนในการมองโลกแห่งความเป็นจริงด้วย เอาความหลากหลายทางความคิด ทางธรรมชาติเข้ามา เช่นเดียวกับที่ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศ เอาอีคิว เอาอารมณ์ความรู้สึกเข้ามา เพราะมนุษย์ไม่ใช่ฟันเฟืองของเครื่องจักร หากแต่มนุษย์ต้องได้รับความรู้สึกที่ดี จึงจะมีแรงบันดาลใจในการทำงานและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ

และสีสุดท้ายของวิวัฒนาการล่าสุดคือ สีเทอร์ควอยส์ (Turquoise)


Evolutionary สีเทอร์ควอยส์

เป็นการก้าวกระโดดจากวิวัฒนาการขั้นอื่นๆ ก่อนหน้า เพราะผู้คนที่อยู่ในวิวัฒนาการขั้นนี้จะเริ่มเห็นว่ากระบวนทัศน์ที่ตนดำรงอยู่ในขณะหนึ่งๆ นั้น เป็นเพียงแค่กระบวนทัศน์หนึ่งเท่านั้น หาใช่สัจจะที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง เกิดตัวความตระหนักรู้ (Awareness) ที่จะเห็นตัวเอง แตกต่างจากวิวัฒนาการในขั้นอื่นๆ ก่อนหน้า ที่มักจะเชื่อว่ากระบวนทัศน์ที่ตนอยู่นั้นเป็นทั้งหมด เหมือนปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำก็เชื่อว่าน้ำเป็นทั้งหมด แต่เมื่อมันกระโดดขึ้นมาพ้นผิวน้ำ ปลาก็ตระหนักว่ามันยังมีความจริงที่แตกต่าง คือยังมีโลกอีกใบด้วย ไม่ใช่มีเพียงโลกหนึ่งใบคือในน้ำที่ตัวเองอยู่

เมื่อเรามองชีวิตเป็นการเดินทาง มุมมองต่อสิ่งต่างๆ ของเราจะอ่อนโยนลง เราจะไม่มองผู้คนเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข แต่มองว่า คนเราเป็นสิ่งที่ยังไม่สมบูรณ์ เป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีศักยภาพซึ่งรอเวลาในการเผยตัวออก ข้อผิดพลาดถูกมองเป็นบทเรียนที่จะทำให้เราเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น เมื่อผู้คนสามารถกลั่นปัญญาออกมาจากอุปสรรคได้ เมื่อเกิดกระบวนการย้อนดูตน เมื่อนั้น ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจึงไม่มีอะไรเสียเปล่าหรือเป็นไปอย่างไร้ความหมาย ตรงนี้ มุมมองต่อคำว่า “ปัญหา” ก็จะเปลี่ยนไป

สังคมสีเทอร์ควอยส์จะกลับมาให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึก และปัญญาที่ไปเหนือเหตุผล แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งความคิดวิเคราะห์ จุดมุ่งหมายหนึ่งของสังคมขั้นนี้ก็คือ การหลอมรวมแง่มุมต่างๆ เข้ามาอยู่ด้วยกันโดยไม่เลือกยึดเพียงด้านใดด้านหนึ่ง และเมื่อผู้คนทำงานกับอัตตาของตัวเองได้มากขึ้น ก็จะสามารถรับรู้ความจริงบางแง่มุมที่ไม่ค่อยน่าพิสมัยหากแต่มีความสำคัญได้ง่ายขึ้นด้วย ตรงนี้ หากเทียบการคิดวิเคราะห์ของสังคมสีเทอร์ควอยส์กับสีส้มที่ยึดความคิดเชิงเหตุผลเป็นราชา เราก็อาจพูดได้ว่า การรับรู้ข้อมูล และความสามารถในการวิเคราะห์ของสังคมสีเทอร์ควอยส์จะแหลมคมและรอบด้านมากกว่า พร้อมจะเข้าใจโจทย์สมัยใหม่ที่สลับซับซ้อนได้มากกว่า ด้วยความที่ในสีส้ม เมื่อผู้คนตกอยู่ในแรงขับดันของความสำเร็จ อาการเร่งเร้าเหล่านั้น อาจจะทำให้พวกเขาตื้นเขิน และวิธีมองแบบวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์เก่าที่มองโลกและชีวิตเป็นสมการง่าย ๆ ก็อาจจะทำให้การรับรู้ความจริงบางอย่างผิดพลาดไปได้อย่างง่ายดาย

คำสำคัญอีกคำหนึ่งที่จะตามมาคือ คำว่า ความย้อนแย้ง (Paradox) สังคมสีเทอร์ควอยส์จะสามารถก้าวไปพ้นทวิภาวะ การแบ่งแยกเราเขาเริ่มเบาบางลง เช่น ความเป็นอัตลักษณ์กับความสัมพันธ์เชื่อมโยงซึ่งย้อนแย้งกัน จะกลับกลายมาเป็นคู่เสริมสร้างกันได้ กล่าวคือ ยิ่งเราเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริงได้มากเท่าไหร่ เรากลับยิ่งพบความเชื่อมโยงระหว่างตัวเรากับผู้อื่นได้มากขึ้นเท่านั้น โลกภายนอกหาใช่ทรัพยากรอันเป็นวัตถุให้เราเข้าไปจัดการ (สีส้ม) เท่านั้น และผู้คนก็ไม่ได้เป็นสิ่งแปลกปลอมที่เราต้องอดทนเพื่อความสมานฉันท์กลมเกลียว (สีเขียว) ณ จุดที่ลึกที่สุด เรากับสิ่งต่างๆ กลับเป็นหนึ่งเดียวอย่างไม่อาจแยกขาด


ความคิดที่ท้าทายจากหนังสือ

หนึ่ง ระดับวิวัฒนาการขององค์กร จะขึ้นอยู่กับผู้นำเบอร์หนึ่ง หรือ ซีอีโอ ไม่จำเป็นจะต้องมีผู้นำระดับกลางที่อยู่ในแถบสีเดียวกันจนถึงจำนวนวิกฤต หากซีอีโอไม่ได้อยู่ในแถบสีที่ต้องการจะไปถึง ไม่ว่าคนในองค์กรจะอยู่ในแถบสีนั้นมากมายเท่าไร องค์กรนั้นก็จะไม่สามารถบรรลุถึงแถบสีที่ต้องการจะไปถึงได้

สอง การใช้อำนาจในองค์กรเป็นการบั่นทอนประสิทธิภาพขององค์กร มีงานวิจัยจำนวนมากพอที่ระบุได้ว่าการนำที่ได้ผล สามารถกระทำได้โดยไม่ต้องใช้อำนาจ และการใช้อำนาจกลับทำให้เกิดความล้มเหลวในประสิทธิภาพของงาน

สาม องค์กรแบบเทอร์ควอยส์ มีปรากฏให้เห็นมากขึ้นแล้ว แม้จะยังน้อยอยู่ ในองค์กรชั้นนำระดับโลก โดยที่องค์กรเหล่านี้มีประสิทธิภาพในการแข่งขันมากกว่าองค์กรสีส้มที่เน้นความสำเร็จอย่างท่วมท้น ดังปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้

สุดท้าย ขอท้าทายบรรดาซีอีโอ หรือ ผู้นำสูงสุดขององค์กรในทุกรูปแบบในประเทศนี้ไว้ว่า คุณมักจะส่งลูกน้องมาเรียนจิตตปัญญา เรียนสิ่งที่พวกคุณเรียกว่า สายพิราบ (soft side) แล้วคุณมองตัวเองว่าเป็น สายเหยี่ยว (hard side) เราอยากบอกคุณว่า ตราบใดก็ตามที่คุณยังไม่เข้าใจและเข้าถึงวิวัฒนาการในขั้นสีเทอร์ควอยส์ แล้วกล่าวหาว่า สายพิราบ ไม่สามารถให้ประสิทธิภาพอย่างที่ต้องการได้ คุณกำลังเป็นปลาที่อยู่ในน้ำ ที่ไม่สามารถเห็นอะไรอื่นนอกจากแถบสีของตน แล้วคุณจะตัดสินแถบสีอื่นได้อย่างไร ในเมื่อคุณยังไม่รู้จัก อย่าว่าแต่หากรู้จักแล้ว และคุณต้องการจะเป็นอยู่ ดำรงอยู่ในแถบสีเทอร์ควอยส์ที่ว่านี้ คุณก็ยังต้องบ่มเพาะตัวเองอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนอีกไม่น้อย และไม่มีทางอื่นเลยที่จะเข้าถึงวิวัฒนาการในขั้นสีเทอร์ควอยส์ได้ หากคุณไม่ลดละอัตตาและก้มหัวให้กับคนในองค์กรของคุณเองด้วยความจริงแท้ของคุณ

Back to Top