ผู้นำร่วม ผู้นำแห่งอนาคต



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 กรกฎาคม 2557

คนอย่างขงจื๊อ เจ้าชายสิทธัตถะ คานธี เนลสัน แมนเดลา ก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนธรรมดาเหมือนอย่างเรา-เราท่าน-ท่าน แต่ทำไมผู้คนเหล่านี้จึงได้รับการยอมรับ มีผู้คนจำนวนมากให้ความเคารพศรัทธาเชื่อถือ และถือเป็นแบบอย่างของแรงบันดาลใจที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง?

เมล็ดพันธุ์แห่งภาวะผู้นำก็คงเหมือนกับเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะ ซึ่งถ้าหากเราเชื่อว่าเมล็ดพันธุ์เหล่านี้อยู่ในตัวของทุกคนอยู่แล้ว และสามารถบ่มเพาะให้เติบโตขึ้นมาได้ ทุกคนก็ย่อมเป็นผู้นำได้ เหมือนกับที่ทุกคนสามารถบรรลุความเป็นพุทธะได้

กระนั้น ท่านทะไลลามะก็เคยกล่าวว่า แม้ว่าตัวท่านเองจะเชื่อว่าตนเองเป็นการกลับชาติมาเกิดใหม่ของทะไลลามะองค์ก่อนหน้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านเกิดมาแล้วท่านจะรู้เรื่องพระไตรปิฎก พระคัมภีร์ หรือเนื้อหาทางพุทธศาสนาเลย ท่านก็ต้องหัดอ่านหัดเขียนหัดท่องตำราอย่างหนักเหมือนกัน เพียงแต่อาจจะใช้เวลาน้อยกว่าคนอื่นและเรียนเร็วกว่าคนอื่นเท่านั้นเอง

กระทั่งกรณีจีนกับทิเบต ที่ทำให้ท่านต้องระเห็จออกมาจากบ้านเกิด และรับทราบเรื่องทารุณกรรมที่คนทิเบตถูกกระทำอย่างต่อเนื่อง ท่านก็บอกว่า การฝึกฝนการให้อภัยไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และใช้เวลาเป็นสิบปี และท่านเองก็ไม่เคยบอกว่าการบรรลุธรรมเป็นเรื่องง่ายหรือทำได้ในระยะเวลาอันสั้น และทุกวันนี้แม้จะมีภารกิจ ก็ยังต้องนั่งสมาธิภาวนาศึกษาพระคัมภีร์รวมแล้วไม่ต่ำกว่าวันละ ๖ ชั่วโมง

ดังนั้นเอง แม้ว่าทุกคนจะมีศักยภาพในการเป็นผู้นำ แต่หากปราศจากการฝึกฝนปฏิบัติ เมล็ดพันธุ์แห่งภาวะผู้นำก็ยากที่จะเติบโต

แล้ว “ผู้นำตามธรรมชาติ” ล่ะ? – ผู้นำตามธรรมชาติก็ฝึกฝนตนเองผ่านปฏิบัติการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวการณ์ที่เผชิญหน้ากับปัญหาและต้องมีการตัดสินใจ และวิกฤติก็เป็นเครื่องมือทดสอบสำคัญ บางคนสอบผ่าน บางคนสอบตก และสำหรับผู้นำที่มีศักยภาพในการเรียนรู้ เขา/เธอก็ยังเรียนรู้ได้แม้ในความล้มเหลวผิดพลาดนั้น ผู้นำตามธรรมชาติเป็นเครื่องยืนยันว่า ภาวะผู้นำไม่ได้เกิดจากการเข้าห้องเรียนหรือต้องเข้าฝึกอบรมหลักสูตรนั้นได้ประกาศนียบัตรนี้ หากเป็นกระบวนการฝึกฝนเรียนรู้

การประสบความสำเร็จไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับการเป็นผู้นำ เพราะคนที่ประสบความสำเร็จในการเรียน/การงาน/ครอบครัวแต่ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลง/แรงบันดาลใจให้กับใคร ก็เป็นเพียงคนที่ประสบความสำเร็จ และถ้าถือว่าความมั่งคั่งทางสังคมเป็นเกณฑ์วัดความสำเร็จ คนอย่างขงจื๊อ เจ้าชายสิทธัตถะ คานธี เนลสัน แมนเดลาต้องถือว่าเป็นคนที่ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

โดยนัยยะนี้ คนที่จบการศึกษาสูง-สูง คนที่มีรายได้มาก-มาก คนที่มีชื่อเสียง คนที่มีตำแหน่งการงานหรือยศถาบรรดาศักดิ์ หรือคนที่อยู่ในตำแหน่งผู้บริหาร จึงไม่ใช่ผู้นำเสมอไป


แต่การเป็นผู้นำก็ไม่ใช่เป็นสิ่งเดียวกันกับการเป็นขงจื๊อ สิทธัตถะ คานธี เนลสัน แมนเดลา – สิ่งที่ผู้นำที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้มีร่วมกันในเบื้องต้นคือ การเป็นนายของตนเอง สามารถนำพาชีวิตตนเองให้อยู่ในครรลองที่ถูกต้อง ตั้งคำถามกับตนเองเกี่ยวกับคุณค่าและความหมายของชีวิต และมุ่งมั่นตั้งใจที่จะดำเนินชีวิตของตนไปสู่เป้าหมายแห่งชีวิตนั้น และสิ่งสำคัญคือ ผู้คนเหล่านี้มองเห็นประโยชน์ตนประโยชน์ท่านเสมอกัน การฝึกฝนตนเองของผู้นำเหล่านี้เป็นไปเพื่อขัดเกลาตนเองไปสู่จุดหมายอันประเสริฐแห่งชีวิต และขณะเดียวกันก็เป็นการรับใช้ประโยชน์สุขของผู้อื่น

ดังนั้นเอง คนสามัญธรรมดาก็เป็นผู้นำได้ หากสืบค้นจนพบความปรารถนาอันมีความหมายในชีวิตของตนเอง และพยายามนำพาฝึกฝนตัวเองให้ไปสู่จุดหมายนั้นได้ โดยจุดหมายนั้นย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นเท่ากับที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง คนไร้บ้านอย่างลุงดำ-สุทิน เอี่ยมอิน แรงงานนอกระบบอย่างป้าจิน-สุจินต์ รุ่งสว่าง แรงงานในระบบอย่างพี่ปิ๊ก-สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ชาวบ้านผู้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่อย่างพี่หน่อย-จินตนา แก้วขาว ปกากะญอที่ยืนยันวิถีชีวิตอันสอดคล้องกับธรรมชาติอย่างพฤ โอ่โดเชา ผู้ชายที่ใส่เสื้อยืดเก่าขาดและทำงานเรื่องการพึ่งพาตนเองผ่านการลงมือทำในชีวิตตัวเองอย่างโจน จันได ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องยืนยันเป็นอย่างดี

ในปัจจุบันมีหลักสูตรพัฒนาภาวะผู้นำจำนวนมาก หลายหลักสูตรยกระดับจากการอบรมแบบเลคเชอร์เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ บางหลักสูตรขยายขอบเขตกระบวนการเรียนรู้ออกไปมากกว่าห้องเรียน น้อยหลักสูตรที่สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และที่น้อยมากที่สุดคือหลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนาภาวะการนำเชิงสมุหภาพ (Collective Leadership) นั่นคือ เน้นไปที่ภาวะการนำร่วม

แนวคิดการศึกษาที่เน้นการสร้างองค์ความรู้และผู้ชำนาญเฉพาะทางไม่อาจตอบสนองต่อวิกฤติปัญหาในโลกแห่งความซับซ้อนหลากหลายในปัจจุบันได้ ภาวะการนำเดี่ยวตามทฤษฎีวีรบุรุษจึงไม่สอดคล้องกับภาวการณ์ปัจจุบันอีกต่อไป ภาวะการนำร่วมจึงเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในหลายแวดวง

ผู้นำเดี่ยวหลายคนมีความอึดอัดไม่สบายใจสูงเมื่อต้องทำงานที่ต้องอาศัยการประสานความร่วมมือจากหลายภาคส่วน หลายครั้งที่ขาดความผ่อนปรนยืดหยุ่น กระทั่งไปจนถึงเข้าใจว่าหลักการเชิงคุณค่าในโลกนี้มีอยู่เพียงชุดเดียว ในที่สุดก็ขอแยกตัวออกไปทำงานแบบปัจเจกเดี่ยวเหมือนเดิม แต่ก็ไม่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากในโลกที่เปลี่ยนแปลงล่วงหน้าเราไปเสียแล้ว

ภาวะการนำร่วมนั้นต้องมีการทำงานกับตัวตนแบบปัจเจกเชิงเดี่ยวค่อนข้างมาก ปัจเจกที่ทีอัตตาตัวตนสูง มุ่งความเป็นเลิศอย่างไม่ให้เกียรติและยอมรับในคุณค่าการดำรงอยู่และความสำคัญของผู้อื่นเท่ากับตนเอง ย่อมเป็นผู้ปราศจากมิตรไมตรี เมื่อปราศจากมิตร ก็ย่อมมีโอกาสได้ยินเสียงจากกัลยาณมิตรน้อยลง ปัญญาเดี่ยวก็ลดคุณภาพลง

ขณะเดียวกันนั้นเอง ความเป็นเลิศของภาวะการนำในปัจเจกแต่ละคนก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในกลุ่มเครือข่ายของผู้ปราศจากมุทิตาจิต กัลยาณมิตรผู้มีใจสูงย่อมยินดีในความสุขและโชคของผู้อื่น และยินดีเกื้อกูลให้คนคนหนึ่งเข้าถึงศักยภาพที่ดีที่สุดที่เขาจะมีได้

ผู้นำเดี่ยวจึงเกิดขึ้นได้ในผู้นำกลุ่ม และกลุ่มผู้นำที่มีจิตใจเสมอกันก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณลักษณะของผุดบังเกิด นั่นคือ ทรงพลังกว่าเดิม มีประสิทธิภาพกว่าเดิม

การพัฒนาภาวะผู้นำร่วมจึงมุ่งไปที่การฝึกฝนลดอัตตาตัวตน ให้เจ็บปวดน้อยลง คาดหวังน้อยลง เมื่อสิ่งที่เราประสงค์ไม่เป็นไปตามปรารถนาภายใต้การทำงานร่วมกันในกลุ่ม ส่วนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมก็ต้องออกแบบกระบวนการทำงานโดยเฉพาะการตัดสินใจ รวมทั้งเรื่องทิศทาง การใช้ทรัพยากร ฯลฯ ให้อยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมมากขึ้น

นั่นคือ การฟังให้มากขึ้นจะทำให้ได้ยิน และเมื่อมีคนฟัง ความหลากหลายที่เป็นโจทย์ร่วมกัน และความขัดแย้งเชิงคุณค่าในแนวคิดก็จะมีพื้นที่ของการปรากฏตัว แนวทางการแก้ไขปัญหาจะถูกเปรียบเทียบวิพากษ์วิจารณ์อย่างรอบด้านก่อนที่จะมีการคัดสินใจร่วมกัน และ-รับผิดชอบร่วมกัน

Back to Top