โดย
วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 สิงหาคม 2557
ในปัจจุบัน ไดอะล็อคหรือที่เรียกกันว่าสุนทรียสนทนาบ้าง สานเสวนาบ้าง เริ่มมีคนนำไปใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างแพร่หลาย ผู้เขียนจึงอยากจะแบ่งปันประสบการณ์ในฐานะที่ใช้ไดอะล็อคเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องมานานกว่าสิบปี และพบว่ายังมีแง่มุมใหม่ๆ ให้เรียนรู้มาโดยตลอด
...
ไดอะล็อคไม่ใช่ทำได้เพียงแค่รู้วิธีทำไดอะล็อค แบบอ่านหนังสือมาสองหน้าแล้วทำได้เลย ตอนนี้ ผมกำลังศึกษา phronesis ของอริสโตเติลอยู่ บางคนแปลความว่า practical wisdom ผมเคยช่วยอีดิทหนังสือเล่มหนึ่งของเพื่อน ก็ใช้คำว่า “ปัญญาปฏิบัติ”เหมือนกัน แต่ผมมารู้ภายหลังว่า ยังไม่ใช่เสียเลยทีเดียว มันมีความหมายต่างออกไปมันเฉพาะเจาะจงมากกว่านั้น น่าจะใกล้เคียงกับคำที่อาจารย์สุลักษณ์ (ศิวรักษ์) ชอบใช้ คือ "ความเป็นเลิศ" คือหมายถึงความชำนิชำนาญ แบบเหมาะเจาะลงตัว นอกจากนี้ ยังสามารถหลอมรวมความดีงามอยู่ในนั้นด้วยอย่างกลมกลืน ทำให้นึกถึงบทกวี "คนเฉือนวัว" ใน
มนุษย์ที่แท้ ขึ้นมา
สอนโดยไม่สอน
ขั้นแรกเลย น่าจะสืบค้นว่าอะไรทำให้ผู้คนต้องการเรียนรู้ และสามารถเรียนรู้ กลไกธรรมชาติที่มีอยู่ในมนุษย์ หรือจะว่าอยู่ในสมองมนุษย์ก็ได้ อันมีศักยภาพมหาศาลนั้นเป็นอย่างไร เราจะนำมันออกมาใช้ได้อย่างไร ?
จอห์น โฮลต์ พูดเรื่องนี้ไว้ดีมากว่า มนุษย์มีความสามารถในการเรียนรู้อยู่แล้ว หากเราปล่อยให้มนุษย์ หรือเด็กคนหนึ่งได้เรียนรู้เอง โดยมีเราเป็นผู้ช่วยคอยสนับสนุน หากครูสอนและกำกับ การสอนและกำกับจะเข้าไปแทรกแซงกระบวนการเรียนรู้อันเป็นธรรมชาตินั้น และจะไปหยุดการเรียนรู้ จะไปสร้างกำแพงกั้นกลางระหว่างเด็กกับกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติที่อยู่ในตัว
การเข้าไปแทรกแซง (intervention) ทำงานอย่างไร ? เกิดอะไรขึ้น เมื่อเราไปกดปุ่มหยุดการเรียนรู้ในตัวเด็ก และเกิดอะไรขึ้น หากเราจะเข้าไปดูอย่างเนียนๆ ประณีตๆ
หนึ่ง เมื่อเราไม่เข้าใจเด็กจริงๆ เราไม่รู้จริงๆ ว่าเด็กยืนอยู่ตรงไหนในการเรียนรู้เรื่องราวนั้นๆ แต่ยังเข้าไปสอน เข้าไปกำกับแทรกแซง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การส่งสาส์นไปให้เด็กว่า ตัวเขาโง่เง่าเต่าตุ่น เข้าไปกระตุ้นโหมดปกป้อง (คำนี้ ผมอธิบายไว้ในหนังสือที่ผมเขียนแล้ว) ในตัวเขา ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้าน และทำให้เขาไม่อยากเรียนเรื่องนั้นๆ อีกต่อไป อาจจะเป็นภาษาอังกฤษ หรือเลข หรือการวาดรูป เป็นต้น
สอง อันที่จริงผู้ใหญ่ก็มีโหมดปกป้องอยู่ในตัวด้วยเช่นกัน ทำให้เวลาสอนเด็ก ผู้ใหญ่อดที่จะปล่อยพลังลบๆ ออกมามากมายไม่ได้ และพลังลบๆ นั้นก็จะไปคุกคามเด็ก ทำให้เด็กไม่อยากเรียน นอกจากนี้ ยังฝังชิปเสียงวิจารณ์ภายในตัวเด็ก ตามหลอกหลอน ตามวิพากษ์วิจารณ์เด็กคนนั้นไปตลอดชีวิตของเขา ทำให้เขาแหยและไม่สามารถ ในกรณีเลวร้าย ทำให้กระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติในตัวมนุษย์คนนั้นอันมีศักยภาพสูงล้นปิดตายลงไปเลย
แล้วผู้ใหญ่ ครู พ่อแม่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของเด็กอย่างไร?
จอห์น โฮลต์ กล่าวว่า เราต้องให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยผู้ใหญ่ไม่เข้าไปแทรกแซง การสอนก็คือการไม่สอน แต่เราจะตอบสนองเฉพาะที่เขาขอมา และเท่าที่เขาขอมา โดยเด็กๆ ก็จะกลับไปทำงานของเขาต่อ และจะเป็นผู้กำหนดเองว่า จะให้เราช่วยในเรื่องอะไร อย่างไร เท่าไร คือให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของเขาเอง ให้เด็กเป็นองค์กรจัดการตัวเอง แล้วเด็กจะต่อติดกับกระบวนการธรรมชาติของการเรียนรู้ อันเป็นตาน้ำภายในของจิตที่มีศักยภาพมหาศาล
ผมได้ฟังเทศน์ของ เพมา โชดรอน ที่สอนวิธีการทำสมาธิ ท่านบอกว่า เราต้องเป็น ครูฝึกให้ตัวเอง (our own instructor)
ทั้งหมดนี้คือ เราต้องกลับมาเป็นเจ้าของชีวิตของตัวเอง กลับมาเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง (own your life, own your learning) ถ้าว่าด้วยทฤษฎี constructionism การเรียนรู้จะต้องก่อเกิดด้วยตัวผู้เรียน ก่อประกอบการเรียนรู้ขึ้นมาเอง ต่อจิ๊กซอว์เอง ก่อประสาททรายขึ้นมาเอง ครู โค้ช กระบวนกร หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ จะต้องเข้าถึงเด็กแต่ละคน ผู้เรียนแต่ละคน รับรู้รับทราบว่าเขาหรือเธอดำเนินมาในหนทางการเรียนรู้อะไร มาถึงแค่ไหน กำลังอยู่ ณ ตำแหน่งแห่งที่ใดในการเรียนรู้ และจะต้องรู้ศักยภาพของเขาด้วยว่า เขามีความสามารถแค่ไหน ทางที่ดีให้เขาขอความช่วยเหลือเอง ว่าเขาต้องการอะไร เมื่อไร อย่างไร เท่าไร โดยมีเป้าหมายว่า ในที่สุด มันจะเป็นความเข้าใจของเขาเอง เป็นเส้นทางการเรียนรู้ที่เขาจะต้องเดินผ่านเอง ยากลำบากเอง และมีความสุขเองเมื่อผ่านพ้นอุปสรรคแห่งการเรียนรู้นั้นๆ ไปได้
สิ่งที่ไม่ใช่ไดอะล็อคในไดอะล็อค และ วรรณคดีกับพิธีกรรม
ในไดอะล็อคจะมี non-dialogue elements หรือองค์ประกอบของสิ่งที่ไม่ใช่ไดอะล็อคด้วย นี้เป็นปัญญาที่ได้ก่อประกอบมาจากการฟังธรรมะที่หลวงปู่บ้านพลัมแสดง
ตอนหลังๆ เวลาผมทำค่ายเรียนรู้หนึ่งๆ ไม่ว่าจะใช้ชื่อว่าเป็นกระบวนการของไดอะล็อค หรือกระบวนการจิตตปัญญา ผมจะนำองค์ประกอบต่างๆ ทั้งหมดเข้ามาหลอมรวมทั้งสิ้น เพราะมันไม่มีเส้นกั้น เช่น สิ่งที่ผมเรียนรู้จาก พาร์คเกอร์ เจ. พาล์มเมอร์ คือ การเข้าหาเรื่องราวอย่างเฉียงๆ ผ่านบทกวี และโดยไม่รู้มาก่อน ผมจะใช้หนังสือ
มนุษย์ที่แท้ ที่เขียนโดยจางจื๊อ แต่แปลและเรียบเรียงโดย ทอมัส เมอตัน มาเป็นบทเรียนเหมือนกัน โดยฉบับภาษาไทยนั้น ส. ศิวรักษ์ แปลมาจากเมอตันอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้ เวลาทำค่าย เรายังเอาความเป็นกวีมาใช้ในเวิร์กช็อปในรูปแบบอื่นๆ อีกด้วย ช่วยเพิ่มสีสัน ความมีชีวิตชีวา และสามารถแตะสัมผัสดวงวิญญาณได้ดีกว่าท่าทีการสอนสรรพศาสตร์อย่างแห้งๆ
จากวรรณคดี ยังต่อมาถึงการใช้พิธีกรรมอีกด้วย ด้วยความคนไทยยังเชื่อมต่อกับโลกทางจิตได้ไม่น้อย วรรณคดีผนวกพิธีกรรมจึงทรงพลังเสมอ
อธิบายโดยไม่อธิบาย ตอบโดยไม่ตอบ
ผมเคยนำพาการเรียนรู้ในค่ายแบบเชื้อเชิญผู้เข้าร่วมว่า การเข้ามาอยู่ในค่ายเหมือนกับการมาอยู่ต่างดาว เรานำพาพวกท่านมาอยู่อีกโลกหนึ่งที่ธรรมเนียมปฏิบัติต่างออกไปจากดาวโลกที่ท่านอยู่อย่างชัดเจน หากเราปฏิบัติอย่างชาวโลกของท่าน ท่านจะได้ประโยชน์อะไร เพราะว่าทั้งหมดคือสิ่งที่ท่านรู้อยู่แล้ว แต่ที่นี่ ในบรรดาสิ่งต่างๆ ที่ท่านไม่รู้ และธรรมเนียมปฏิบัติอันแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง จะให้ความแปลกใหม่ที่วิเศษมาก การที่มนุษย์ชอบการท่องเที่ยวต่างแดน ต่างประเทศ ต่างทวีป ก็เพื่อจะได้ไปพบกับความแปลกใหม่ทางกายภาพ แต่ที่นี่เรานำเสนอความแปลกใหม่ทางจิตวิญญาณเลยทีเดียว
หลายเรื่องเราจึงไม่อธิบายมาก แต่แล้ว เราพบว่าอธิบายบ้างก็ดีเหมือนกัน ไม่อธิบายแบบอธิบาย อธิบายแบบไม่อธิบาย แต่ถึงแม้จะอธิบาย ก็ไม่สามารถตอบโจทย์ต่างๆ ได้กระจ่างอยู่ดี แต่อย่างน้อย ก็นำพาให้ผู้เข้าร่วมหลงเดินเข้ามาสู่เขาวงกต พอถึงตรงนั้น เราก็ให้พวกเขาดิ้นรนหาทางออกกันเอาเองส่วนหนึ่ง เราจะสอนโดยไม่สอน ช่วยโดยให้พวกเขาช่วยตัวเองเป็นหลักด้วยอีกส่วนหนึ่งเราต้องหาสมดุลระหว่างการอธิบายกับสัมผัสตรงด้วยประสบการณ์ตรงเสมอ ไม่อาจวางกฎเกณฑ์ตายตัวได้
แสดงความคิดเห็น