โดย
ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 สิงหาคม 2557
“เหงาแล้วทำไม ไม่เห็นจะต้องเหงา”
พี่นิด สาวใหญ่นักบริหารพูดขึ้นในวงสนทนา ดูจากการพูดจาโผงผางของแกแล้ว เป็นคนที่คุยด้วยไม่ใช่ง่าย ถ้าพูดผิดหู รับรองเธอสวนกลับแน่นอน
“ถ้าเหงาขึ้นมาก็ไม่เห็นเป็นไร ก็เปิดเหล้านั่งกินคนเดียวที่บ้าน กินแล้วก็พูดกับตัวเอง เอ้า จริงนะ ไม่เห็นเป็นไร พี่ชอบพูดกับตัวเอง ตั้งคำถามเองแล้วก็ตอบ กินไปจนพูดไม่รู้เรื่องนั่นแหละถึงจะปิดสวิชท์ตัวเอง นอน!”
ระหว่างที่พี่นิดเล่า ผมอดนึกถึงตัวเองไม่ได้ ผมก็เคยดื่มเหล้าเมาอยู่คนเดียวที่บ้าน เพราะผิดหวังเรื่องความรัก ดื่มเกือบทุกวัน ผสมเหล้าดื่มเองไม่ต้องพึ่งบาร์เทนเดอร์ วอดกา เตกิล่า จิน แกรนมาเนียร์ คาลัวร์ ฯลฯ ให้เมา ๆ กึ่ม ๆ หน่อยแล้วก็ผล็อยหลับไป ทำอย่างนี้ติดต่อกันหลายเดือน จนมีอยู่วันหนึ่ง ผมได้อ่านหนังสือเรื่องอะไรจำไม่ได้ เหมือนพ่อกำลังสอนลูกชาย
“ดื่มเหล้าสังสรรค์กับเพื่อนน่ะพ่อไม่ว่าหรอก แต่ถ้าลูกพบว่าตัวเองกินเหล้าอยู่คนเดียวในบ้านเมื่อไหร่ ให้หยุดซะนะลูก มันไม่ดีหรอก เชื่อพ่อสิ”
ผมจำได้ว่าสะดุดกับเรื่องเล่านี้ และถ้อยคำนี้มีพลังบางอย่างฉุดผมให้ออกจากความซึมเศร้า และแสวงหาหนทางที่จะต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเอง ทีละเล็กละน้อย
จากวันนั้นถึงวันนี้ บนเส้นทางจิตวิวัฒน์ ผมพบความจริงข้อหนึ่งว่า นักคิดจะพูดเรื่องแนวคิดและทฤษฎี นักปฏิบัติจะพูดเรื่องประสบการณ์ แต่ทั้งคู่ไปไม่ถึงสิ่งที่ผมเรียกว่าความจริง ผมกำลังพูดถึงความจริงที่เกิดขึ้นกับจิตใจของเรา และความจริงนี้ต้องพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง ด้วยเหตุนี้ ผมจึงนับถือเดการ์ต เพราะเขาเป็นผู้แสวงหาความจริงโดย “อ้างอิงตัวเอง” เพราะเขาโยนตำราทิ้ง ตัดตัวเองออกจากผัสสะทั้งหลาย คือปริมณฑลของประสบการณ์ของมนุษย์ เมื่อตัดสิ่งเหล่านั้นออกไปหมดแล้ว เดการ์ตได้ค้นพบว่าเพราะเขาคิดเขาจึงมีอยู่
ถูกของเขา แต่ก็ผิด เพราะเมื่อเขาค้นพบความจริงข้อนี้ เขากลับเชื่อมโยงมันกลับเข้าไปที่พระเจ้า “ถ้าเช่นนั้นพระเจ้าต้องมีอยู่” เดการ์ตว่าอย่างนั้น ผมจะไม่พูดถึงเรื่องการดำรงอยู่ของพระเจ้า แต่ผมจะพูดว่าเดการ์ตไม่รู้ว่าเมื่อเขาค้นพบเรื่องความคิดยังไม่ทันไร กระบวนการทางความคิดก็เล่นงานเขา หมายถึงเขาไม่รู้ว่าเมื่อเขาอาศัยการสังเกตและพบเห็นร่องรอยของความคิดที่เกิดกับใจเขา เขากลับไม่ทันสังเกตว่าความคิดได้พาเขาไปสู่ข้อสรุปเรื่องพระเจ้า นี่อาจจะเป็นเหตุให้นักปรัชญาหลายคนงุนงงกับข้อสรุปซึ่งดูไร้เหตุผล ดูถอยหลัง ไม่น่าจะเป็นความเห็นของนักปรัชญาผู้บุกเบิกปรัชญาสมัยใหม่
ผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นนักค้นหาความจริงคล้ายกับเดการ์ต แต่ต่างกันที่เขาพยายามเหลือเกินที่ไม่ให้ตัวเองถูกหลอกด้วยความคิด เขาบอกว่าความรู้สึกไม่หลอกเขา เขาเฝ้าสังเกตอาการทางร่างกาย เช่น ความร้อนผะผ่าวที่ใบหน้า อาการหายใจถี่ๆ แสดงถึงความขุ่นใจกำลังขยายตัว เขาบอกกับผมว่าเมื่อจับอาการเหล่านี้ได้ บ่อยครั้งเข้า มันจะกลายเป็นความรู้ที่อยู่เป็นเนื้อเป็นตัว เป็นทักษะที่เมื่อสร้างให้เกิดขึ้นมีขึ้นแล้วย่อมเป็นที่ไว้วางใจได้ เรียกว่า “ปัญญาปฏิบัติ”
ผู้ที่มีปัญญาปฏิบัติมักจะไม่ถูกใครหลอกเอาง่ายๆ โดยการตะล่อมเอาด้วยวาจาสละสลวย เทพกีต้าร์ กระบวนกรไร้สังกัด มักจะถามผมว่า “ศรชัย เชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำไหม มั่นใจในสิ่งที่ตนทำไหม” ผมฟังประโยคนี้อยู่หลายครั้งจึงเข้าใจว่า นี่คือตัวชี้วัดระหว่างผู้ที่รู้จริง กับผู้ที่รู้จำ เพราะผู้ที่จำขี้ปากเขามาพูด ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าใดก็ตามจะไม่มีความมั่นใจในความรู้นั้นเลย ด้วยเหตุที่ความรู้ที่ได้มาจากความคิดมักจะย้อนแย้งกันไปมาไม่จบไม่สิ้น ที่นักวิชาการเรียกมันว่า Postmodern Condition
ผมมักจะนึกสงสัยว่าเทพกีต้าร์ ไปเอาพลังมาจากไหนมาพูดและสนทนาเรื่องความแตกต่างระหว่างความคิดกับความรู้สึก ดูเหมือนเขาไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ภายหลังผมจึงเข้าใจว่านั่นคือพลังแห่งศรัทธา ไม่ใช่ศรัทธาสวยหรู หรืองมงาย แต่ศรัทธาในตัวเอง และสิ่งที่ตนทำ เหมือนการสร้างบ้าน เมื่อสร้างฐานมั่นคงแล้ว ผนัง เพดาน หลังคาบ้าน ก็ติดตามมา ถ้าปราศจากฐานที่มั่นคง ทุกอย่างก็รอการพังทลาย ปัญญาที่ได้จากการทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเห็นผลนับครั้งไม่ถ้วน จึงเป็นที่มาของความมั่นใจ ไม่ใช่ความมั่นใจก๋ากร่างแบบเด็กแว๊น และไม่ใช่แบบ “มันเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของลูกผู้ชาย” ซึ่งเอาภาพลักษณ์ภายนอกบางอย่างมาสวม (imaginary self) แต่เป็นความมั่นใจเพราะทำซ้ำจนเกิดขึ้นมีขึ้นในใจ ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ภาวนา”
ความมั่นใจนี้มีลักษณะคล้ายศรัทธาในทางศาสนา ผู้นับถือศาสนาจึงมีความฮึกเหิม แต่ถ้าเป็นศรัทธาจอมปลอมจะคงอยู่ไม่นาน ส่วนผู้ที่นับถือสัจจะ “ความจริง” พลังนี้จะไม่มีวันสิ้นสุด เพราะยิ่งปฏิบัติยิ่งเห็นผล ยิ่งเกิดความมั่นใจ นี่เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับ Secular Relativist ซึ่งถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนสัมพันธ์ ไม่มีความจริงแท้ “ขึ้นอยู่กับว่าใครมอง” ซึ่งเราก็ได้เห็นแล้วว่ามันทำให้สังคมยุโรปอ่อนแอลงขนาดไหน อย่างที่ บิล โอแรลลี่ กล่าวไว้ใน Culture Warrior ในเมื่อสังคมกำหนดให้ทุกคนต้องยอมรับความแตกต่างระหว่างกัน ดังนั้นก็ไม่มีอะไรเหลือให้เป็นพลังร่วมของสังคม จึงฉุดรั้งสังคมให้อ่อนแรง เพราะสิ่งเดียวที่เหลืออยู่ให้ทำก็คือการหาความสุขใส่ตัว โรคร้ายนี้ระบาดมาถึงเมืองไทยสักพักหนึ่งแล้ว พบได้ตามสเตตัสเฟสบุ๊กของวัยรุ่น ที่มีชื่อว่า
“ทำอะไรก็ได้ให้ตัวฉันมีความสุข ถ้ามันไม่หนัก(หัว)ใคร”
ถ้าพูดอย่างนี้ ก็จะมีคนเหน็บผมว่า ถ้าอย่างนั้น ก็ให้พวกเรากลายเป็นพวก Religious Fundamentalist / Extremist อย่างนั้นหรือ? ไม่ใช่เช่นนั้น ผมไม่ได้อยากให้ทุกคนกลายเป็นพวกคลั่งศาสนา บางคนระวังตัวมาก ผู้เข้าร่วมอบรมบางคนบอกกับผมว่า “ไม่ได้อยากจะไปนิพพาน” ทุกคนกลัวที่จะถูกตราหน้าว่าเป็นพวกงมงาย เขาเกลียดคำว่า “ยึดถือ” แต่ชอบคำว่า “ปล่อยวาง” ตกลงในสังคมไทยของเราก็เลยมีแต่คนที่ว้าเหว่ ไร้พลัง ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งพิงอะไร เพราะจะยึดถืออะไรก็ไม่กล้า จะไปทางไหนก็กลัวว่าคนอื่นจะมองอย่างไร ส่วนจะปล่อยวางก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ในที่สุดก็ต้องหันไปหาอะไรก็ได้ที่จะทำให้ตัวเองมีความสุข เช่น เหล้า สารเสพติด ความเพลิดเพลินซึ่งอยู่ได้ไม่นานก็กลับมาเปลี่ยวเหงาอีก และบางครั้งก็หนักกว่าเดิม
บางคนก็เข้าหาศาสนาอย่างผิวเผินเกินไป ไม่ศึกษาให้รู้จริง แต่เป็นแค่เพียงเอาศาสนามารับรองการกระทำของตัวเอง ผมเรียกพวกนี้ว่าพวกอีแอบทางจริยธรรม ในทางกลับกัน บางพวกก็ต่อต้านสถาบันศาสนาเพื่อเอามารับรองคำพูดและการกระทำของตัวเอง ก็เป็นพวกกินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้อง ส่วนพวกอเทวนิยม (Atheist) นี่น่าสงสารเป็นที่สุด เพราะเป็นพวกเกลียดตัวกินไข่ พวกเขาเหมือนถูกสาปให้ต้องศึกษาศาสนาอย่างจริงจังมากกว่าคนที่นับถือเสียอีก เพียงเพื่อจะได้หาหลักฐานจากศาสนาใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า “วิทยาศาสตร์” มาคัดง้างและโจมตีศาสนา ยังไม่รวมถึงพวกนิวเอจซึ่งแฝงมาในรูปกูรูยุคใหม่ ซึ่งก็ไม่รู้จะหันไปทางไหนนอกจากย้อนกลับไปหาเรื่องการคืนสู่ธรรมชาติ จิตวิญญาณชนเผ่า หรือที่เคน วิลเบอร์เรียกว่า Magical-Animistic แต่ถามว่ามีสักกี่คนในยุคนี้ที่จะเกิดมาในชนเผ่าซึ่งยังดำรงวิถีเช่นนั้นอยู่
น่าฉุกใจคิดไหมว่าคนอย่าง โต ซิลลี่ฟูลส์ นักร้องดัง ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงในโลกบันเทิง ซึ่งน่าจะมีความสุขทางโลกทุกอย่างที่เขาปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง เงินตรา รถ บ้าน ฯลฯ ทำไมจึงเลิกร้องเพลง หันกลับไปหารากเหง้าทางศาสนาของเขา และกลายเป็นผู้เผยแผ่ศาสนาอิสลาม สีหน้าของเขาครั้งสุดท้ายที่ผมเห็นดูอิ่มเอิบ มีความสุข และที่สำคัญ “มีพลัง”
เพราะการรับรองตัวเองได้ ทำให้มีพลัง เมื่อลงมือทำแล้วเห็นผลจากการกระทำ เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับใจของตัวเองทั้งๆ ที่แต่ก่อนไม่เห็น เป็นความจริงที่พิสูจน์ได้กับตัวเองและไม่อาจโต้แย้งได้ ยิ่งทำยิ่งเกิดความมั่นใจ ยิ่งทำยิ่งเกิดความชัดเจน
เดการ์ตหันไปหาการรับรองจากภายนอก พี่นิดที่ดื่มเหล้าแล้วคุยกับตัวเอง เลือกที่จะต่อยหน้าความเหงาที่ปลายคางของตัวเอง ผมเคยพ่ายแพ้และหนีความว้าเหว่ด้วยน้ำเมา ทั้งหมดนี้เป็นเพราะไม่พบหลักที่ทำให้สามารถรับรองตนเองได้ แต่เดี๋ยวนี้ผมพบแล้ว ผมจึงไม่ต้องการให้ใครมารับรอง แสต๊มป์ตราให้ผม
แสดงความคิดเห็น