โดย
ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 พฤศจิกายน 2557
กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน (Amicable Contemplative Assessment-ACA) นวัตกรรมทางการประเมินที่ผู้เขียนริเริ่มพัฒนาทั้งแนวคิดและแนวปฏิบัติไว้ ได้มีโอกาสทดลองนำไปใช้อย่างเต็มรูปแบบแล้วกับโครงการประเมินผล โครงการพัฒนาการเกษตรยั่งยืนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในเขตโครงการจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน
ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นและภูมิใจมากที่การประเมินแนวใหม่นี้มีโอกาสได้นำไปทดลองใช้ในภาคสนาม (มหาสารคาม ศรีสะเกษ กาญจนบุรี และพิษณุโลก) เพื่อจะได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง แล้วนำประสบการณ์ตรงเหล่านั้นมาพัฒนาทั้งแนวคิด แนวปฏิบัติ และกระบวนการประเมิน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในภาควิชาการและภาคปฏิบัติ ผู้เขียนจึงมุ่งมั่นตั้งใจทำโครงการนี้ร่วมกับทีมงานและชุมชนเป้าหมายอย่างเต็มที่และอย่างมีความสุข
โครงการนี้แบ่งงานออกเป็นสองส่วน คือส่วนการพัฒนา มีทีมพัฒนาเป็นผู้ดำเนินการ และส่วนประเมินโครงการ มีทีมประเมินรับผิดชอบ (ผู้เขียนอยู่ในส่วนของทีมประเมิน) และมีทีมกำกับติดตามจากสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ
บทเรียนจากการเข้าร่วมโครงการนี้ในระยะแรก เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดและแนวปฏิบัติของกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน มีหลายประการ
ทีมงานจากสำนักงานจัดรูปที่ดินกลางแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า พยายามอธิบายเรื่องของการประเมินแนวใหม่ที่เรียกว่ากัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินให้ผู้บริหารฟังหลายรอบ แต่ไม่เป็นผล เมื่อเชิญผู้เขียนไปพูดให้ผู้บริหารฟังครั้งเดียว โครงการก็ผ่านไปได้ด้วยดี
ทีมพัฒนาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรและบริษัทรักลูก เล่าให้ฟังว่า ในตอนแรก รู้สึกแปลกๆ เกร็ง และอึดอัดพอควรที่มีทีมประเมินเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ของทีมพัฒนา ตั้งแต่การนำเสนอและพิจารณาโครงการพัฒนา การจัดกระบวนการและกิจกรรมของทีมพัฒนา เพราะไม่เคยมีประสบการณ์แบบนี้มาก่อน แต่เมื่อดำเนินการไปได้ระยะหนึ่งก็เริ่มรู้สึกดี มีความไว้วางใจและมั่นใจว่าทีมประเมินเข้ามาช่วยเสริม ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างโอกาสแห่งความสำเร็จให้มากขึ้น ทีมประเมินเป็นกัลยาณมิตรมากกว่าเป็นผู้มาจ้องจับผิดและตัดสินผลงานของทีมพัฒนา
การทำกิจกรรมทุกครั้งในแต่ละวันจะมีการล้อมวงพูดคุยกันเพื่อถอดบทเรียน ผ่านกระบวนการทางจิตตปัญญา ได้แก่ สุนทรียสนทนา การฟังอย่างลึกซึ้ง และการสะท้อนการเรียนรู้ ทีมพัฒนาก็จะนำความรู้สึก ความคาดหวัง ความกังวล ข้อสังเกต ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากสมาชิกในทีมพัฒนาด้วยกัน จากตัวแทนของสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง และจากทีมประเมิน ไปพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากิจกรรมและการจัดกระบวนการในวันถัดไป และจากชุมชนในพื้นที่หนึ่งไปสู่อีกพื้นที่หนึ่ง รวมไปถึงการปรับปรุงโครงการโดยรวม
ทีมประเมินหลายคนก็ถ่ายทอดประสบการณ์การเข้าร่วมทำโครงการนี้ว่า รู้สึกตื่นเต้น อยากเรียนรู้ว่าการประเมินแนวใหม่นี้เป็นอย่างไร เพราะไม่เคยเรียนรู้มาก่อน เมื่อได้มาเรียนรู้ในเรื่องนี้กับผู้เขียนก็รู้สึกดีกับการประเมินแนวนี้ และพร้อมจะเรียนรู้ไปด้วยกัน
เพื่อเป็นคู่มือและแหล่งอ้างอิง ผู้เขียนจึงได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งคือ
กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน โดยมีมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาคุณภาพสนับสนุนการพิมพ์
ผู้อ่านที่ยังไม่คุ้นเคยหรือไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน หากสนใจก็สามารถกลับไปหาบทความเรื่อง “กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน” ของผู้เขียน ที่เขียนลงในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันเสาร์ที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๗ ได้
สำหรับผู้ที่พอจะคุ้นเคยกับจิตตปัญญาศึกษาและกัลยาณมิตรประเมิน โดยสรุปแล้ว กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน จะตั้งอยู่บนหลักการจิตตปัญญาศึกษาที่ผู้เขียนสรุปไว้เพื่อให้จำได้ง่ายในรูปของตัวเลขคือ ๔-๓-๓ โดยในการดำเนินการมีความเป็นกัลยาณมิตรตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้น และเพื่อให้การประเมินแนวนี้มีโอกาสได้รับความสำเร็จเพิ่มขึ้น ผู้เขียนได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่า ผู้ประเมินควรมีทัศนคติซึ่งเป็นมิติภายในสี่ประการ แล้วสะท้อนออกมาเป็นพฤติกรรมภายนอกทั้งการคิด การพูด และการกระทำ
ทัศนคติสี่ประการได้แก่ มีความสุขที่ได้ทำการประเมินแนวนี้ มีความสนุกในการประเมินแนวนี้ มีความสร้างสรรค์และยืดหยุ่นตามบริบทและสถานการณ์จริง และมีความเชื่อมั่นในการทำงานแบบมีส่วนร่วมโดยเฉพาะในแนวระนาบ (Transversal Participation)
ดังนั้น กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน สามารถสรุปเพื่อให้จำได้ง่ายในรูปของตัวเลขคือ ๔-๓-๓-๔ โดยที่ ๔ ตัวสุดท้ายคือทัศนคติสี่ประการนั่นเอง
เมื่อสิ้นสุดโครงการในปีแรก ทีมพัฒนา ทีมประเมิน และทีมกำกับติดตามจากสำนักจัดรูปที่ดินกลางและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายก็ควรจะมีการล้อมวงพูดคุยกันผ่านกระบวนการทางจิตตปัญญา เพื่อสะท้อนการเรียนรู้ตลอดการทำงานร่วมกันในหนึ่งปีที่ผ่านมา แล้วร่วมกันวางแผนการดำเนินการในปีที่สองและปีที่สาม เพื่อช่วยกันดูว่าจะมีการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนอะไรบ้างเพื่อให้โครงการได้รับความสำเร็จสูงสุด และมีความยั่งยืน มีทั้งผลงานและความสุขความพึงพอใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
หากโครงการนำร่องนี้ได้รับความสำเร็จ การพัฒนาโครงการพัฒนาของสำนักจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน จะเป็นต้นแบบให้หน่วยงานอื่นๆ ทั้งของรัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆ ได้เรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักวิชาการ ก็อยากให้มีการนำนวัตกรรมการประเมินนี้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดทางวิชาการในสถาบันการศึกษาต่อไป
แสดงความคิดเห็น