โดย
พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2557
สมัยหนึ่ง พระองคุลิมาล ซึ่งเพิ่งบวชใหม่ ได้สนทนาธรรมกับพระนันทิยะ พระนันทิยะได้เล่าให้ฟังว่าพระพุทธองค์ได้สอนอะไรแก่ท่านบ้าง ตอนหนึ่งมีความว่า “เมื่อผู้ใดสรรเสริญเยินยอหรือบูชาเราด้วยลาภสักการะ จงนึกว่าลาภสักการะหรือชื่อเสียงนั้นเป็นผลแห่งความดี หรือเป็นเพราะผู้อื่นสำคัญว่าเราดี” แล้วท่านกล่าวต่อไปว่า “ผลแห่งความดีนั้นย่อมเป็นพิษแก่ผู้ที่ไม่พิจารณา แล้วหลงใหลยึดอยู่ในสิ่งนั้น จนกลายเป็นประมาทมัวเมา”
เวลาทำความดีแล้วมีคนยกย่อง มีลาภสักการะเกิดขึ้น คนส่วนใหญ่มักเผลอคิดไปว่าเป็นเพราะเรา หรือเป็นเพราะกู แต่พุทธภาษิตดังกล่าวเตือนให้เราตระหนักว่า ลาภสักการะนั้นเกิดขึ้นไม่ใช่เป็นเพราะเรา แต่เป็นเพราะความดีที่เราทำต่างหาก ความดีที่ทำนั้นเรียกว่าธรรมะ ข้อนี้เป็นสิ่งที่เราต้องแยกให้ดี หาไม่จะเกิดความหลงตัวว่าเป็นเพราะเรา สุดท้ายก็ทำให้ลืมตน
ความหลงตัวกับความลืมตนเป็นสิ่งคู่กัน เมื่อหลงตัวลืมตนแล้ว ในเวลาต่อมาผู้คนไม่ชมเรา ไม่เอาลาภสักการะมาให้ ก็จะเกิดความวิตกกังวลหรือความทุกข์ใจว่า เกิดอะไรขึ้น หลายคนมักจะพูดว่าทำไมฉันทำดีแล้วไม่ได้ดี คือนึกว่า ชื่อเสียง หรือรางวัลจะต้องเกิดขึ้นกับฉันเพราะฉันดีฉันเก่ง แต่ถ้าเราไม่ถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพราะเรา เป็นของเรา แต่เป็นเพราะความดีที่ได้ทำ ก็จะมีความหลงตัวลืมตนน้อยลง พูดง่ายๆ ก็คือยกสิ่งที่เกิดขึ้นให้เป็นผลของความดีไป ไม่ใช่เป็นเพราะเรา และหากคนอื่นจะนำลาภสักการะมาให้เรา ยกย่องชื่นชมเรา เพราะเห็นว่าเราดี ก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา
พุทธภาษิตอีกตอนที่สำคัญก็คือ ข้อความว่า “ผลแห่งความดีนั้นย่อมเป็นพิษแก่ผู้ที่ไม่พิจารณา แล้วหลงใหลติดอยู่ในสิ่งนั้น จนกลายเป็นประมาทมัวเมา” ลาภสักการะ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สมบัติเงินทองที่เกิดจากความเพียรของตน แม้จะมาจากน้ำพักน้ำแรงที่บริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่ได้มาโดยชอบธรรม ถ้าเราไปยึดติดมันเมื่อใด ก็เป็นอันตรายเมื่อนั้น ท่านใช้คำว่า “เป็นพิษ”
สิ่งดีๆ ที่ทุกคนปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นลาภสักการะ ชื่อเสียง ทรัพย์สมบัติ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือความสำเร็จทางโลก กลายเป็นพิษได้เสมอถ้าเรายึดติดมัน ที่ยึดติดก็เพราะไม่พิจารณาว่ามันมีโทษอย่างไรบ้าง ผู้คนมักจะมองว่าลาภสักการะ ชื่อเสียง ทรัพย์สมบัติ เงินทองเป็นของดี นั่นเป็นเพราะมองไม่เห็นโทษของมันว่าถ้ายึดติดมันเมื่อใด มันก็กลายเป็นของร้อนหรือเป็นยาพิษขึ้นมาทันที
ดังนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าพูดถึงการปล่อยวาง ท่านไม่ได้สอนให้ปล่อยวางเฉพาะสิ่งที่ไม่ดีหรือเป็นลบ เช่น ความโลภ ความโกรธ ความเกลียดแค้น ความเศร้า ความเสียใจ หรือคำตำหนิติเตียน แม้กระทั่งสิ่งที่ดีหรือเป็นบวก เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ หรือสุข เราก็ต้องรู้จักวางเช่นกัน อย่ายึดติด
ทำอย่างไรจึงจะไม่ยึดติด ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการมองหรือพิจารณาว่า ว่ามันไม่ใช่เป็นเพราะเราดีเราเก่ง แต่เป็นเพราะผลแห่งความเพียรที่ได้ทำ หรือเป็นเพราะธรรมะ อย่าไปเหมาว่ามันเป็นของเรา ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ เมื่อเสื่อมลาภ เสื่อมยศ หรือถูกต่อว่าด่าทอ ใจก็ไม่เป็นทุกข์
มีคนหนึ่งพูดไว้น่าคิดว่า “คำชมเหมือนกับหมากฝรั่ง เคี้ยวได้ แต่อย่ากลืน ” ต้องคายทิ้งเพราะถ้ากลืนลงไปแล้วมันจะเป็นโทษกับเรา ไม่มีใครกลืนหมากฝรั่งฉันใด ก็ไม่ควรกลืนคำชมคำสรรเสริญฉันนั้น ไม่เช่นนั้นมันจะเป็นโทษต่อจิตใจ
ของเลว หากยึดก็เป็นทุกข์ ของดี ถ้ายึด ทุกข์ก็ตามมาเช่นกัน เพราะล้วนไม่เที่ยง ไม่แน่นอน แปรเปลี่ยนได้เสมอ วันดีคืนดีก็เสื่อมไปหรือหายไป ถ้าวางใจถูก เมื่อใดที่สูญเสียมันไป ก็จะเสียอย่างเดียว เช่น หากเงินหาย ก็เสียแต่เงิน แต่ว่าใจไม่เสีย แต่หากติดยึดมันเมื่อใด ก็จะไม่เสียแค่เงินเท่านั้น แต่ใจยังเสียด้วย เมื่อใจเสียไปแล้ว ต่อไปสุขภาพก็จะเสียตามไปด้วย เพราะว่ากลุ้มใจ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ นั่งเจ่าจุก สุขภาพเสื่อมโทรม ต่อมาความสัมพันธ์กับคนอื่นก็เสียด้วย เพราะเมื่อเสียใจกลุ้มใจแล้วแล้วก็จะหงุดหงิด ไม่อยากพูดคุยกับใคร ใครมาพูดคุยด้วยก็รำคาญ เผลอไปด่าว่าเขา จนเสียความสัมพันธ์กันไป ใช่แต่เท่านั้น งานการก็เสียด้วย เพราะไม่มีสมาธิทำงาน ก่อผลเสียเป็นลูกโซ่ เสียทั้งใจ เสียทั้งสุขภาพ เสียทั้งความสัมพันธ์ และเสียงานเสียการ ล้มระเนนระนาด อย่างนี้เรียกว่าไม่ฉลาด
คนไม่ฉลาดนั้น แทนที่จะเสียอย่างเดียวก็เสียหลายอย่าง เพราะความยึดติดในสิ่งเหล่านั้น แม้ดูเหมือนว่ามันจะเป็นสิ่งที่ดีน่าครอบครองก็ตาม ลาภสักการะ ชื่อเสียง ทรัพย์สมบัติ แม้ให้ความสุขแก่เรา แต่มันก็พร้อมจะกลายเป็นถ่านก้อนแดงๆ ที่เผาลนใจให้เป็นทุกข์ได้ทันทีเมื่อมันแปรปรวนไป คนฉลาดจะไม่ยึดติดถือมั่นสิ่งเหล่านี้ ใครให้มาก็ไม่ยึดติดว่าเป็นเรา เป็นของเรา
สมัยหนึ่ง หลวงพ่อโตได้รับนิมนต์ไปร่วมงานบุญย่านราษฎร์บูรณะ ท่านนั่งเรือสำปั้นไปกับลูกศิษย์ ตอนนั้นท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์แล้ว จึงนำพัดยศไปด้วย ช่วงนั้นเป็นช่วงน้ำลง เรือเกิดเกยตื้น ลูกศิษย์จึงลงไปเข็นเรือ แต่ไม่ขยับเลย หลวงพ่อจึงลงไปช่วยเข็นด้วย ชาวบ้านบนฝั่งเห็นหลวงพ่อโตเข็นเรือจำท่านได้ จึงตะโกนบอกกันว่า “สมเด็จเข็นเรือโว้ย ”
ชาวบ้านเห็นเป็นเรื่องแปลก เพราะไม่เคยเห็นพระระดับสมเด็จ เข็นเรือ ครั้นหลวงพ่อโตได้ยินชาวบ้านตะโกนเช่นนั้น จึงเงยหน้าพูดกับชาวบ้านว่า “ฉันไม่ใช่สมเด็จหรอกจ๊ะ ฉันชื่อขรัวโตจ๊ะ สมเด็จอยู่บนเรือ” ว่าแล้วท่านก็ชี้ไปที่พัดยศบนเรือ
หลวงพ่อโตได้รับสมณศักดิ์เป็นสมเด็จก็จริง แต่ท่านไม่ได้สำคัญมั่นหมายว่าท่านคือสมเด็จ ท่านยังเห็นว่าท่านเป็นเพียงขรัวโต พอชาวบ้านพูดถึงสมเด็จ ท่านจึงชี้ไปที่พัดยศทันที พูดอีกอย่างหนึ่งท่านตระหนักอยู่เสมอว่า ตำแหน่งสมเด็จเป็นแค่หัวโขนเท่านั้น ไม่ใช่ตัวท่าน
นี้เป็นวิสัยของผู้ที่มีปัญญา ที่รู้ว่าลาภสักการะไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ดังนั้น แม้โลกจะผันผวนปรวนแปรไม่จีรังยั่งยืน ก็ยังอยู่ได้ด้วยใจที่สงบเย็นและเป็นสุข
แสดงความคิดเห็น