จิตวิวัฒน์ในความแตกต่าง

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 กรกฎาคม 2549

ในเมืองไทยเวลานี้ หรือว่าเรากำลังมีความสับสนแบบฝรั่ง ในขณะที่ฝรั่งกำลังสับสนน้อยลงไปทุกทีกับคำว่า “จิตวิญญาณ หรือจิตวิวัฒน์” เมื่อแรกมีโครงการสุขภาวะทางจิตวิญญาณใน สสส. อันเป็นหน่วยงานที่ได้รับเงินจากภาษีเหล้าและบุหรี่เพื่อมาสร้างสำนึกให้คนกินเหล้าน้อยลง สูบบุหรี่น้อยลง และมีสุขภาพดีขึ้น แต่แล้วผู้บริหาร สสส. ก็ไม่เข้าใจในคำว่า “จิตวิญญาณ” โดยกล่าวกันเล่นๆ ว่า “จิตวิญญาณ” แปลว่า “ผี” หรือเปล่า? อันนี้ก็น่าเห็นใจอยู่เหมือนกัน เพราะว่าหมอสมัยใหม่ที่เชื่อในวิทยาศาสตร์ (ที่อาจจะเป็นกระบวนทัศน์เก่า) นั้น อาจจะเป็นการยากสำหรับเขาที่จะเห็น รับรู้ ในเรื่องราวที่ลึกซึ้งกว่าความเป็นไปทางกายภาพล้วนๆ ออกไป คุณหมอประเวศ วะสี ก็พยายามช่วยโดยเปลี่ยนชื่อเป็น “การพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ” แต่ตอนนี้แม้คำนี้ ว่ากันว่าหลายๆ คนก็อาจจะยังไม่เข้าใจ? หรือว่ากรุงศรีอยุธยาสิ้นคนดีแล้วจริงๆ

แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชนจิตวิวัฒน์ที่เชียงรายและเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันอยู่นี้ กลับสวนกระแสกับบรรดาหมอๆ ที่เข้ามาบริหารโครงการสาธารณะทั้งหลายอย่างน่าประหลาดใจ เพื่อนคนหนึ่งที่สงขลาเขียนอีเมล์มาดังนี้ครับ

เรียน พี่ใหญ่,

ทางสงขลามีแนวคิดที่จะหาลูกค้าเพื่อเพิ่มโอกาสฝึกหัดการเป็นกระบวนกรมากขึ้น
และคิดว่าชื่อกลุ่มการศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ของเรา
ยังไม่เป็นที่รู้จักมากที่นี่ แต่คนจะรู้จัก “จิตวิวัฒน์” มากกว่า
จึงเรียนมาเพื่อขออนุญาตอ้างอิงเพิ่มเติมว่าเป็นเครือข่าย
หรือแฟรนไชส์สังคมวิวัฒน์ ที่เชียงราย หากพี่ใหญ่ไว้วางใจ และอนุญาตแล้ว
นุชก็จะทำการประชาสัมพันธ์ตั้งแต่บัดนี้ไปค่ะ
และขอขอบคุณที่ครอบครัวใหญ่ที่เชียงรายให้โอกาสแก่พวกเราผู้น้อย
มิฉะนั้นก็ไม่มีครอบครัวน้อยแตกหน่อที่สงขลาเวลานี้
เดือนสิงหาคมนี้ก็ครบ 1 รอบที่เราได้รวมตัวเพื่อปฏิบัติการร่วมกัน

ด้วยความเคารพรักอย่างสูงค่ะ
นุชและทีม


อันนี้ก็นับว่าแปลก อย่างเป็นการสวนทางกันเลยโดยสิ้นเชิง เพราะว่าในแวดวงคนทำความดีดังกล่าว คำว่า “พัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ” ก็ยังยากเกินไปสำหรับบางคน คุณหมอประเวศ วะสี ก็พยายามแปลต่อไปให้เป็นเพียงการดูแลสุขภาพอย่างเป็นมนุษย์ แต่ทางสงขลาบอกว่า “จิตวิวัฒน์” เป็นที่เข้าใจได้มากกว่า มีเสน่ห์กว่า “การศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์” อันนี้หมายความว่าอย่างไร?

ผมอยากจะลองมองเรื่องนี้ในแง่มุมของการจัดการความรู้ดูบ้าง ผมเคยเขียนไว้ในการรับรู้เรียนรู้ว่า

“อดีตของปฏิสัมพันธ์ที่บันทึกอยู่ในโครงสร้าง กระบวนการและแบบแผนในระบบชีวิต เป็นโลกที่ชีวิตก่อกำเนิดขึ้นมา โลกนั้นจำเป็นต้องมีก่อนที่มาของการรับรู้เรียนรู้ใดๆ แต่การที่จะดำรงความเป็นอิสระในการเรียนรู้และวิวัฒนาต่อไป ชีวิตต้องเปิดให้กับกาละแห่งการเรียนรู้และไม่ตกเข้าไปอยู่ในกาละแห่งการปกป้องตัวเอง ปกป้องโลกใบเดิม โดยไม่ปล่อยให้มีการวิวัฒนาของโลกภายในของระบบชีวิตใบนั้น


“ความกล้าที่จะเผชิญความผันผวนปั่นป่วนเป็นโอกาสที่ดีของการเรียนรู้ และวิวัฒนาโลกแห่งความเป็นจริงภายในที่เราสร้างขึ้นมาให้กว้างไกลลุ่มลึกยิ่งขึ้น แต่ทำไมหลายๆ ครั้ง เราจึงตกไปอยู่ในกาละแห่งการปกป้องตัวเอง มีอะไรที่เราควรจะเรียนรู้หรือไม่ ที่จะทำให้เราสามารถคลี่คลายตัวเราเองออกจากกาละแห่งการปกป้องตัวเอง ไปสู่กาละแห่งการเปิดออกและพร้อมที่จะเรียนรู้ให้มากขึ้น โลกใบเก่า แห่งโครงสร้าง กระบวนการและแบบแผน มีส่วนขัดขวางเราอย่างไรหรือไม่ ที่ทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงอิสระที่เราสมควรจะเข้าถึงได้”


ข้อสรุปตรงนี้ทำให้เห็นว่า ชีวิตจะเรียนรู้ได้ โดยเฉพาะในเรื่องราวใหม่ๆ ที่ยังไม่รู้ ชีวิตจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง หรือเปิดให้รับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น หรือเปิดให้กับอิทธิพลที่เรื่องราวหรือผู้คนอาจก่อเกิดได้ในตัวเรา

หนึ่ง แนวคิดของคนรุ่นก่อน หกสิบขึ้นไป บางทีอาจจะโน้มเอียงไปในทางการจัดการที่อาจจะหมายถึงการกำหนดวาระ ประเด็น หนทาง และควบคุมจัดการให้เป็นไปตามแนวทางนั้นๆ ตลอดจนในแนวคิดเก่าที่เชื่อความลดหลั่นของสติปัญญา ก็อาจจะเชื่อในระบบชนชั้นนิยมเพิ่มเติมเข้าไปอีก เป็นว่าชนชั้นนำจะต้องเข้ามากำหนดวาระ ประเด็น ความคุมผู้คนให้เกิดความดีงาม สิ่งที่เราค้นพบในจิตวิวัฒน์เชียงรายดำเนินไปอย่างเป็นตรงกันข้าม กล่าวคือการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นด้วยกระบวนการสุนทรียสนทนานั้น เราค้นพบมากยิ่งขึ้นทุกทีว่า ความเหลื่อมล้ำทางสติปัญญานั้น เป็นมายาการที่ชนชั้นนำสร้างขึ้น เราค้นพบว่า เมื่อมนุษย์ค้นพบศักยภาพแห่งการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง เส้นแบ่งกั้นระดับสติปัญญาก็มลายหายสูญ เป็นประสบการณ์ที่พานพบจริงในการทำงานกระบวนการเรียนรู้ทุกๆ ครั้งไป

สอง ในวงการทำความดี หรือในบรรดาองค์กรที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร ส. ต่างๆ ทำไมผู้คนจึงจำกัดอยู่ในแวดวงคนทำอาชีพหมอ เป็นความคิดเรื่องชนชั้นนำ หรือความเหลื่อมล้ำทางสติปัญญาหรือเปล่า หรือว่าจะเป็นเพราะความคุ้นเคยที่ดำรงอยู่ในแวดวงของตัวเอง และไม่ยอมเข้าไปในที่ที่ไม่สะดวกสบาย ที่ที่รู้สึกไม่ปลอดภัย เพื่อขยายโลกของตัวเองให้กว้างออกไป? พวกคนที่คิดว่าตนเองมีปัญญา คือผู้คนที่ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงอันจะเกิดจากการเรียนรู้หรือเปล่า? และการเรียนรู้ของพวกเขาเป็นเหมือนการจดจำเนื้อหา มากกว่าที่จะมีการเปลี่ยนแปลงจากโลกภายใน หากพวกเขาต้องการควบคุมสร้างอิทธิพลให้ผู้อื่นเปลี่ยนแปลงตามแนวความคิดของตนเท่านั้น

สาม มีประเด็นเรื่องการผูกพันตัวเองเข้าไปในกระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวเอง (engaged spirituality) ผู้คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับมิติทางจิตวิญญาณ ที่แปลงจากภาษาอังกฤษว่า Spiritual Dimension ทุกคนจะผูกพันตัวเองเข้ากับการเปลี่ยนแปลง ไม่แยกตัวออกจากการเปลี่ยนแปลงนั้น คือผู้สังเกตไม่แยกออกจากสิ่งที่ถูกสังเกต เมื่อผูกพันตัวเองเข้ากับการเปลี่ยนแปลง พวกเขาจะต้องเข้าสังกัด อย่างน้อยก็ในใจตัวเอง ไม่ต้องสังกัดองค์กรจัดตั้งอันใดก็ได้ แต่เพียงผูกพันตัวเองเข้ากับวิถีหนึ่งใด ลัทธิหรือสำนักหรือความเชื่อหรือสมมติฐานหนึ่งใด และเติบโตจากพื้นดินอันอุดมที่ตนเลือกนั้นๆ แต่ถ้าไม่เลือก และช็อปปิ้งไปเรื่อยๆ อะไรจะเกิดขึ้น มันแตกต่างกันอย่างไรกับการลงลึกเข้าไปในวิถีใดวิถีหนึ่ง สิ่งที่จิตวิวัฒน์เชียงรายเลือก นั่นคือการเข้าไปผูกพันในวิถีหนึ่งใด แล้วใช้ฐานของวิถีนั้นๆ เปิดรับวิถีอื่นๆ ทุกเรื่อง แปลกที่เมื่อลงลึกมากขึ้นเท่าไร กลับยิ่งรับวิถีอื่นๆ ได้มากขึ้น (อันนี้เกิดขึ้นเมื่อ โทมัส เมอตัน บาทหลวงคาทอลิก ฤษีชาวคริสต์ยุคใหม่ ได้แปลบทกวีของจางจื๊อด้วยรหัสยนัย) และเราได้พบว่า โลกกำลังเคลื่อนกระบวนทัศน์ไปทางเดียวกันทั้งหมด บรรดาความรู้ที่พรมแดนทั้งหลายในทุกวิชาชีพกำลังมุ่งตรงไปในทางเดียวกัน นั้นคือทิศทางแห่งจิตวิวัฒน์

แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในบางส่วน (ไม่ใช่ทั้งหมด) ในเวทีจิตวิวัฒน์ที่กรุงเทพฯ ก็คือเรากำลังมองความรู้อย่าง explicit (คือมองสิ่งต่างๆ จากภายนอก จากที่เห็นได้ด้วยอายตนะหรือประสาทสัมผัส) หรือมองอย่างเป็น content-based คือเพ่งไปที่ตัวความคิดหรือตัวศาสตร์ แต่เราไม่ได้มองมันอย่างเป็นกระบวนการ หรือ process-based หรือในเชิงศิลปะ หรือในเชิงการเข้าไปสู่วิถีการปฏิบัติ เมื่อเข้าไปสู่วิถีการปฏิบัติอันลุ่มลึก เป็น Phronesis (ปัญญาเชิงปฏิบัติ) อันมี tacit knowledge (คือความรู้ที่จะเข้าใจได้ ต้องเข้าไปสัมผัสตรงในบรรดาสิ่งที่ถอดความออกมาเป็นภาษา ความคิด และถ้อยคำไม่ได้) ตามแนวความคิดของอริสโตเติลเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว เราจะเห็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของความรู้และเทคนิควิธีการของโลกทั้งโลกเป็นเรื่องเดียวกัน เราจะได้หยุดช็อปปิ้งและลงลึกเรื่องการปฏิบัติกันให้มากขึ้นเสียที

Back to Top