จิตวิวัฒน์สู่การศึกษา



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 ตุลาคม 2555

การศึกษาไทยเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องใช้กระบวนทัศน์ใหม่ทั้งหมดในการแก้ปัญหาและปฏิรูป สิ่งที่ทำกันอยู่มักเป็นวิธีใหม่ การเรียนแบบใหม่ การสอนแบบใหม่ และการสอบแบบใหม่ แต่ไปไม่พ้นกรอบความคิดชุดเดิม

การเรียน การสอน และการสอบ แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น มีการเรียนด้วยแท็บเล็ต การสอนที่น่าตื่นตาตื่นใจ การสอบที่วัดผลแม่นยำ แต่ถ้าอยู่ภายใต้เป้าหมายของศตวรรษที่ ๑๙ หรือ ๒๐ นั่นคือผู้รู้มากคือผู้มีการศึกษา ก็ยังคงมีความเสี่ยงว่าเด็กไทยจะก้าวตามอาเซียนไม่ทัน มิพักจะพูดถึงโลกทั้งใบที่ไร้พรมแดน



หากการศึกษาไทยอยากได้จิตวิวัฒน์ใหม่ไปสู่เป้าหมายในศตวรรษที่ ๒๑ ที่ซึ่งโลกแบนราบลงแล้วด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เด็กของประเทศต่างๆ รวมทั้งเด็กจากชาติพันธุ์ต่างๆ จำนวนมากสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและแหล่งเรียนรู้ทั่วโลกได้จากทุกสถานที่รวมทั้งทุกเวลา เราจะปล่อยให้เด็กไทยเรียนหนังสือในห้องเรียนด้วยการท่องจำตำรา และสอบวัดผลด้วยการท่องจำหรือใช้วิจารณญาณให้สอดคล้องกับเฉลยคำตอบที่ตายตัวได้อย่างไร

เราควรช่วยกันค้นหาหนทางให้เด็กไทย “อยากเข้า” และ “เข้าถึง” แหล่งเรียนรู้ต่างๆ โดยเสรีให้เต็มศักยภาพ

ที่สำคัญกว่าความรู้หรือรู้มาก จึงควรเปลี่ยนเป็นความใฝ่รู้และรู้วิธีที่จะเรียนรู้ รู้ว่าจะตนเองอยากรู้อะไรและจะไปหาความรู้ได้จากที่ไหน เมื่อได้มาแล้วรู้จักไม่เชื่อในทันทีและฝึกตั้งคำถาม จากนั้นจึงค้นหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องด้วยตนเอง นี่จึงเป็นเป้าหมายใหม่ของการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑

กระบวนทัศน์ใหม่คือวิธีหาคำตอบสำคัญกว่าตัวคำตอบเอง เด็กไทยควรเก่งในเรื่องกระบวนการหาคำตอบมากกว่าที่จะหลงเชื่อหรือติดกับกับคำตอบตายตัวใดๆ ของโจทย์ปัญหาใดๆ เพราะที่แท้แล้วปัญหาใดๆ ไม่เคยมีคำตอบเพียงหนึ่งเดียวอยู่ก่อนแล้ว

ความรู้มาพร้อมอบายมุขและเรื่องชั่วร้ายเสมอ

ดังนั้นนอกจากเด็กไทยควรเป็นคนอยากรู้ ใฝ่เรียนรู้ รู้วิธีหาความรู้และตั้งคำถามเป็นแล้ว ระหว่างที่ใช้ชีวิตเพื่อแสวงหาความรู้นั้นเอง เด็กไทยต้องเผชิญปัญหาเรื่องอบายมุข เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และความเห็นที่แตกต่างกับของตนตลอดชีวิต ที่สำคัญเท่าๆ กับ “ทักษะเรียนรู้” จึงเป็น “ทักษะชีวิต”



เด็กไทยจะใช้ชีวิตเผชิญกับอบายมุขและเรื่องยั่วยวนที่อยู่รอบตัวอีกทั้งมากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างไร จะดูแลการเงินของตัวเองอย่างไร จะเผชิญความผันผวนของธรรมชาติจากวิกฤตโลกร้อนได้อย่างไร และจะเคารพความเห็นต่างทางการเมืองหรือชาติพันธุ์ได้อย่างไร สี่ประเด็นนี้คือประเด็นด้าน health, economics, environment และ civil society เป็นเรื่องท้าทายชีวิตคนทุกคน ที่ซึ่งการใช้ชีวิตไม่ควรแยกออกไปจากการเรียนหนังสือ

การศึกษาต้องทำให้เด็กใฝ่เรียนรู้และรู้จักใช้ชีวิตไปพร้อมกัน

ครูยังคงเป็นคนสำคัญสำหรับกระบวนทัศน์ใหม่และจะสำคัญมากยิ่งขึ้น

แต่ครูจำเป็นต้องละทิ้งกระบวนทัศน์เดิมและวิธีการเดิม เลิกเป็นผู้สอน เลิกคิดว่าตนเองต้องเก่งกว่านักเรียน เปลี่ยนตนเองให้เป็นผู้อยากรู้และใฝ่เรียนรู้ไปพร้อมกันกับนักเรียน เป็นโค้ชและอำนวยความสะดวกให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างเสรีและเต็มศักยภาพโดยไม่มีผิดถูก ชวนนักเรียนร่วมออกแบบการเรียนการสอนที่วิวัฒน์ไปสู่จิตสำนึกใหม่ นั่นคือการศึกษาที่แท้เริ่มด้วยการลองผิดลองถูกและสุนทรียสนทนา(Dialogue) โดยมีหลักสูตรเป็นเป้าหมาย

ครูด้วยกันเองควรจับกลุ่มกันเพื่อสนทนาเรื่องนักเรียนทุกวัน หลักสูตรต้องการให้นักเรียนรู้อะไร เราจะออกแบบการเรียนการสอนให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเองได้อย่างไร ที่ออกแบบและทดลองทำไปแล้วนักเรียนได้รู้สิ่งที่ต้องรู้จริงหรือเปล่า และนักเรียนได้เพิ่มพูนความสามารถในการเรียนรู้และการใช้ชีวิตจริงหรือไม่ ครูยังสามารถทำอะไรให้ดีกว่าเดิมได้อีกหรือไม่และอย่างไร นี่คือการพูดคุยระหว่างเพื่อนครูในรูปแบบที่เรียกว่า After Action Review หรือ AAR

ครูที่ดีจะพูดคุยเรื่องลูกศิษย์ทุกวัน

การสอบจะมิใช่ทำไปเพื่อวัดผลได้ตก แต่ทำเพื่อประเมินและพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ทักษะการใช้ชีวิต และทักษะการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ของเด็กๆ ทักษะทั้งสามจะเดินคู่ขนานกันไปตลอดชีวิตการเรียนของเด็กนักเรียนหนึ่งคน อย่างน้อยก็จากอนุบาลจนกระทั่งจบชั้นมัธยมปลาย การสอบเพื่อวัดความรู้ในศตวรรษที่ ๒๐ วิวัฒน์ไปสู่การสอบเพื่อวัดทักษะสำหรับศตวรรษที่ ๒๑



ที่เขียนมาทั้งหมดสามารถทำได้จริงเพราะโรงเรียนทางเลือกหลายแห่งทำแล้ว ครูส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งสังกัดกระทรวงศึกษาธิการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็สามารถทำได้ โดยเริ่มด้วยการจับคู่ช่วยกันเปลี่ยนวิธีสอนหนังสือ แล้วประเมินตนเองว่านักเรียนได้อะไรด้วยการพูดคุยแบบ AAR ทุกวัน เมื่อครูเริ่มจากจุดเล็กๆ จับกันเป็นคู่ๆ จะนำไปสู่การรวมตัวของกลุ่มครูเพื่อการศึกษาในศตวรรษใหม่ได้อย่างแน่นอน เพราะครูสองคนที่จับเป็นคู่นั่นเองจะเป็นสองคนแรกที่ได้สัมผัสความสุขจากการได้ทำอะไรบางอย่างให้เด็กได้เจริญเติบโตอย่างแท้จริง มิใช่เพื่อเรียนเก่งสอบได้อย่างดาษดื่น และครูสองคนนั้นเองจะพบว่าสองคนไม่พอ มองรอบข้างและพบเพื่อนครูที่พร้อมจะร่วมทางไปสู่การศึกษาแบบใหม่



เพราะการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จะยังความสุขให้ทั้งแก่ครูและนักเรียน

Back to Top