ขวัญเจ้าเอย



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2555

จริงๆ ช่วงชีวิตของผมช่วงนี้มีความเข้มข้นมากที่สุดช่วงหนึ่ง แต่กลับผ่านเวลาไปอย่างไร้ถ้อยคำ

แล้วก็ได้หาหนังสือเกี่ยวกับ “ขวัญ” มาอ่านมากมายหลายเล่ม เมื่อก่อนอ่านงานเขียนของเจมส์ ฮิลแมน (James Hillman) ไม่รู้เรื่อง มาช่วงนี้ก็เริ่มจับต้นชนปลายงานของฮิลแมนได้ และเห็นว่า คนเขียนหนังสือเกี่ยวกับขวัญหลายคนอ้างอิงถึงเขาบ่อยๆ

คนหนึ่งที่อ้างอิงก็คือ บิล พลอตกิน (Bill Plotkin) ผู้เขียนเรื่อง Soulcraft: Crossing into the Mysteries of Nature and Psyche ซึ่งได้ให้แผนที่ที่อาจจะเทียบเคียงเรื่องขวัญ หรือ soul เข้ากับเรื่องอื่นๆ ได้

พลอตกินเขียนว่า เรื่องของ จิตวิญญาณ (spirit) นั้นคือการเดินทางขึ้นไปสู่ที่สูง ในขณะที่ ขวัญ (soul) เดินทางลงล่าง ลงใต้ดิน และ ตัวตน (ego) อยู่แดนกลาง แดนที่เราคุ้นเคย

อันหนึ่งที่จะจับความได้จากสายธารความรู้สายขวัญนี้ ก็คือ การให้ความสำคัญกับเรื่องเมล็ดพันธุ์ (seed) ที่จะต้องค้นพบตัวเองว่า ตัวเองจะเติบโตไปเป็นอะไรในที่สุด หรือการให้ความสำคัญกับเรื่องเป้าหมายปลายทาง

ในเรื่องขวัญนี้ ปลายทางของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน ในขณะที่เรื่องจิตวิญญาณ เรื่องราวของผู้คนทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน และการหลุดพ้นของคนทั้งหมด ก็เป็นเรื่องเดียวกัน เป็นเป้าหมายเดียวกัน

ในมุมมองทางจิตวิญญาณ ธรรมชาตินั้นดำรงอยู่อย่างเป็นกลางอย่างนั้นเอง เป็นเช่นนั้นเอง ที่สำคัญคือทำอย่างไรไม่ให้จิตของเรามองสิ่งต่างๆ หรือมองธรรมชาติอย่างบิดเบี้ยว หากจิตปกติ จิตเป็นอิสระ การมองธรรมชาติก็จะเป็นไปตามความเป็นจริง ซึ่งถือว่าใช้ได้

ส่วนในมุมมองของขวัญ ธรรมชาติก็มีขวัญ มีเส้นทาง มีปลายทาง และสามารถบอกอะไรเราได้เช่นกัน ในโลกของขวัญ ทุกสิ่งติดต่อปฏิสัมพันธ์กันได้ และธรรมชาติสามารถนำพาให้เราเข้าถึงเป้าหมายปลายทางที่จริงแท้ของเราได้ด้วย ถ้าเราเปิดใจออกให้ธรรมชาติเข้ามาเชื่อมโยงกับขวัญของเรา


กลับสู่ชีวิตประจำวัน

การปฏิบัติธรรมเหมือนจะนำเราออกไปจากโลกนี้ ไปให้พ้นโลกนี้ที่เป็นทุกข์ แต่ขวัญจะนำพาเรากลับมาหาโลก กลับมาสนิทแนบกับโลก เพื่อจะอ่านสาส์นจากโลก จากธรรมชาติ จากใบไม้ สายฝน พายุ คลื่นลม สิงสาราสัตว์และอื่นๆ เพื่อจะเรียนรู้ว่าชีวิตของเรามายังโลกนี้เพื่ออะไร เรามีอะไรเป็นเมล็ดพันธุ์ แม้ว่าเรา ณ เวลานี้อาจจะดำรงอยู่อย่างตรงกันข้ามกับเมล็ดพันธุ์ของเราเลยก็ตาม เพราะขวัญจะเป็น mysterious other คือเป็น “อื่น” ที่ลี้ลับ

แล้วก็จะมีเสียงเรียกให้เราออกจากความสำเร็จหรือล้มเหลวแบบโลกๆ หรือให้ตายจากโลกของตัวตน (ego อันนี้มีส่วนคล้ายแต่ก็แตกต่างกับ อัตตวาทุปาทาน หรือการยึดมั่นถือมั่นในตน คือมันไม่ได้เป็นด้านลบอย่างเดียว หากเป็นด้านดีก็ได้ เป็นการพัฒนาตัวเองในหลายๆ ทางก็ได้ด้วย ego ของฝรั่งจึงมีความหมายต่างจากคำว่า อัตตาที่เรามักจะใช้กัน) เสียก่อน เพื่อจะได้ไปเกิดใหม่ในโลกของขวัญ ไปเริ่มต้นควานหาความหมายที่แท้จริงที่ทำให้เรามาเกิดบนโลกนี้

ขวัญจะกลับไปในโลกปกติ แต่ด้วยมุมมองใหม่ และจะทำให้ชีวิตร่ำรวยขึ้นในทุกๆ ทาง ไม่ใช้เงินทอง วัตถุสิ่งของ ทรัพย์สมบัติ แต่เป็นคุณภาพใหม่ของชีวิต มิติใหม่ในทุกๆ เรื่องราว ทุกๆ สิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องสัมผัสในชีวิตประจำวัน เราจะรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ เดิมๆ อย่างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป


กระบวนการกับเนื้อหา (process and content)

กลับมามองพุทธศาสนาหรือพุทธธรรม (สำหรับท่านที่นับถือศาสนาอื่นอาจลองเทียบเคียงไปด้วยกันก็ได้)

ในการปรับตัวตามตะวันตกให้ทันในทางพุทธิปัญญา เราได้ทิ้งสิ่งดีๆ ในพุทธศาสนาไปมากมาย โดยเฉพาะทางด้านการปฏิบัติ ผมได้เรียนจากพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ว่า พระพุทธเจ้าท่านเรียงลำดับคุณค่ากิจต่างๆ ของพระสงฆ์ไว้ดังนี้ คือเริ่มต้นที่การปฏิบัติก่อน หมายถึงการปฏิบัติอันเข้าถึงวิมุตติ หรือทางหลุดพ้นอันประเสริฐ และตามมาด้วยการศึกษา คือปริยัติ และสุดท้ายคืองานก่อสร้าง แต่เราจะเห็นว่าพระสมัยนี้นิยมงานก่อสร้างกันมากที่สุด

พอเราไปตามตะวันตก พุทธศาสนาก็จะเน้นไปทางพุทธิปัญญา ซึ่งยังไม่เข้าถึงภาวนามยปัญญา หากเพียงเป็นสุตมยปัญญากับจินตมยปัญญาเท่านั้น การปฏิบัติหากจะยังมีบ้าง ก็เน้นไปทางสมถะภาวนา ซึ่งเป็นงานระดับโยคีบางสำนักในสมัยพุทธกาลเท่านั้น ยังไปไม่ถึงพุทธศาสนา ยังไปไม่ถึงวิปัสสนา

เมื่อผมอ่านงานของ ดร.ฮัล และ ดร.ซิดรา สโตน (สามีภรรยาร่วมกันเขียน) ใน Embracing Each Other อีกรอบหนึ่ง เรื่องที่เด่นขึ้นมาก็คือ การลงไปมีประสบการณ์ในตัวตนต่างๆ ไม่ใช่หลบไปหาความสงบ โดยไม่เผชิญ หากแต่ต้องลงไปในตัวตนต่างๆ และพัฒนาความตื่นรู้ขึ้นมา จิตวิทยาตัวตนของสามีภรรยาคู่นี้ การลงไปในประสบการณ์นั้นสำคัญมาก และตัวตนต่างๆ หรือด้านต่างๆ ของความเป็นตัวเราเหล่านี้ ที่มันมีปัญหาขึ้นมา เพราะตัวตนเหล่านี้เคยเข้ามาในตัวเรา ในอดีตครั้งหนึ่ง ในภาวะที่เราเปราะบาง และบางทีอ่อนแอ ไร้เรี่ยวแรง พวกเขาเข้ามาเพื่อพิทักษ์ปกป้องอาการเปราะบางของเรา พวกเขาจึงเข้ามาแรง อย่างเข้มข้น ซึ่งก็ทำร้ายตัวเองบ้าง ทำร้ายคนอื่นบ้าง

ในจิตวิทยาตัวตน เราจะต้องเข้าไปในประสบการณ์ด้านนั้นของเรา เมื่อก่อนเราเข้าไปและดำรงอยู่ในด้านนั้นๆ ของตัวเรา (ซึ่งเราเรียกว่าเป็นตัวตนต่างๆ ตัวนั้นตัวนี้ ด้านนั้นด้านนี้) อย่างไม่รู้ตัว อย่างไม่ได้เรียน อย่างไม่มีความรู้เท่าทัน เข้าไปโดยไม่มีกระบวนการตื่นรู้และเลือกเฟ้นที่เรียกว่า aware ego ก็คือเราใช้ชีวิตอย่างไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้ตื่นรู้ แต่เมื่อเอากระบวนการตื่นรู้เข้าไป เราเริ่มเห็น เริ่มรับรู้ ด้วยประสบการณ์จริง ทั้งศักยภาพและข้อจำกัดของตัวตนต่างๆ เราจะเริ่มเห็นอาการป่วยไข้ หรือความวิปริตของตัวตนต่างๆ ด้วย เป็นไปได้ไหม เมื่อเราตื่นรู้ ความวิปริตต่างๆ ถ้ามี จะบรรเทาเบาบางลงและได้เห็นถึงพลังบริสุทธิ์ของตัวตนต่างๆ ของด้านต่างๆ ในเรา

เมื่อเรานำเรื่องวงจรของสมองมาเปรียบเทียบ ด้านหนึ่งๆ ตัวตนหนึ่งๆ ก็คือเครือข่ายของสมองหนึ่งๆ คือมันก่อประกอบขึ้นเป็นวงจรด้วยสมองส่วนต่างๆ มีทั้งความคิด อารมณ์ความรู้สึก และเจตจำนง เป็นต้น เครือข่ายนั้นๆ อาจจะมีความทรงจำ หรือบาดแผล อาจจะมีความทรงจำซึ่งเป็นปฏิกิริยา หรืออาการปกป้องที่เคยเกิดขึ้น และเมื่อกลับสู่ตัวตนนั้นๆ ด้านนั้นๆ ของตัวเรา เราก็กลับไปสู่อาการปกป้อง อาการเป็นปฏิกิริยานั้นๆ อีก เหมือนการตกลงไปในร่องเดิมๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่พัฒนา แล้วเราก็จะออกอาการผีเข้า และทำลายข้าวของหรือทำร้ายจิตใจผู้คน

แต่เมื่อกระบวนการตื่นรู้เข้าไป ดุจดั่งแสงใสกระจ่างส่องทาบทาเข้าไป สิ่งที่ถูกมอง ถูกส่องก็อาจจะขยับเขยื้อนเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลง ตลอดจนเชื่อมโยงวงจรใหม่ๆ เข้ามาอีก ในเครือข่ายแห่งการตัดแต่งเก่าและเชื่อมโยงใหม่ ทำให้เกิดการรื้อสร้างเครือข่ายเซลล์สมอง ทำให้เกิดการก่อประกอบความเข้าใจใหม่ๆ ความรู้สึกใหม่ๆ ในด้านเดิมๆ หรือเสี้ยวเดิมๆ หรือตัวตนเดิมๆ ดร.สโตนสองสามีภรรยาเคยเขียนไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่งว่า ตัวตนต่างๆ เหล่านี้อาจจะเติบโต เยียวยาตัวเองได้ในกระบวนการตื่นรู้เช่นนี้

ไถ่ - นัท ฮันห์ เคยเขียนไว้เช่นกันว่า เพียงเราสามารถโอบกอดความไม่ปกติของเราทั้งหลายไว้ด้วยการตื่นรู้ ด้วยสติ ด้วยการรู้เท่าทัน บางทีความไม่ปกตินั้นๆ ไม่ว่าโกรธ เกลียด เบื่อ เหงา เศร้า เซ็งอันใด ก็จะบรรเทาเบาบางลงไปเองบ้าง และหาโอกาสในช่วงขณะที่จิตเข้มแข็ง กลับเข้าไปดูใหม่อีกครั้งก็ได้ เพราะความทรงจำนั้นๆ ยังอยู่ตรงนั้นตลอดเวลา ถ้าเรากลับเข้าไปด้วยความตื่นรู้ ความรัก และการใคร่ครวญ ก็อาจจะสามารถคลี่คลายบาดแผลและปมนั้นๆ ได้ ในระดับนี้ของพุทธศาสนากระมัง ที่อาจล้วงลึกเข้าไปแก้ไขความทุกข์ได้อย่างถาวร

Back to Top