สองด้านของเหรียญ


โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2555

แม่กลุ้มใจที่ลูกชายวัย ๑๑ ขวบทำตัวเหินห่าง มีปัญหาอะไรก็ไม่เคยบอกแม่ จนแม่รู้จากปากของคนอื่นว่าลูกถูกเพื่อนร่วมโรงเรียนแกล้งเป็นประจำ กลายเป็นคนเงียบขรึม ไม่สุงสิงกับใคร ซ้ำยังมีปัญหากับครูที่ชอบดุด่า จนลูกไม่อยากไปโรงเรียน บางวันถึงกับแกล้งป่วย ครั้นแม่พยายามคะยั้นคะยอให้เปิดใจคุยกับแม่เรื่องเหล่านี้ ลูกก็มีอาการหงุดหงิด และถึงกับหัวเสียเมื่อแม่ให้คำแนะนำลูก

แม่เสียใจจนร่ำไห้ที่ลูกไม่เห็นตัวเองอยู่ในสายตา แถมมีอาการต่อต้านแม่ด้วย แต่วันหนึ่งเธอได้ร่วมกิจกรรมไตร่ตรองชีวิตและได้สนทนากับกัลยาณมิตรที่มีประสบการณ์ เธอก็พบความจริงอย่างหนึ่งว่า ตอนเธอเป็นเด็กนั้น เธอก็ทำกับพ่ออย่างเดียวกับที่ลูกทำกับเธอทุกวันนี้ แม้อยู่บ้านเดียวกันแต่เธอแทบไม่คุยกับพ่อเลย รู้สึกว่าห่างได้เป็นดี เจอหน้าทีไรก็รู้สึกมึนตึง ในใจนั้นรู้สึกเกลียดพ่อด้วยซ้ำ

เธอไม่ชอบพ่อก็เพราะพ่อชอบจู้จี้ขี้บ่น ต่อว่าเธอเป็นประจำ และไม่เคยฟังเธอเลย มีหลายครั้งที่พ่อระบายอารมณ์ใส่เธออย่างรุนแรง ยิ่งนึกถึงพ่อก็ยิ่งโกรธ แต่ชั่วขณะหนึ่งเธอก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า สิ่งที่พ่อทำกับเธอนั้น เธอก็เอาไปทำกับลูกเช่นกัน แม้จะรุนแรงน้อยกว่าก็ตาม เธอชอบจู้จี้กับลูกและต่อว่าเขาเป็นประจำ และไม่ค่อยฟังเขาเลย เธออดแปลกใจไม่ได้ว่า ทั้งๆ ที่เธอไม่ชอบนิสัยของพ่อ แต่เธอกลับรับเอานิสัยของพ่อมาใช้กับลูกของเธอ

เธอได้พบว่าลูกคือภาพสะท้อนของเธอตอนเป็นเด็ก ส่วนเธอก็เป็นภาพสะท้อนของพ่อในอดีต ตอนเป็นเด็กเธอรู้สึกว่าตนถูกกระทำจากพ่อ แต่ตอนนี้เธอกำลังเป็นฝ่ายกระทำต่อลูก มาถึงตอนนี้เธอเข้าใจลูกมากขึ้น ลูกไม่ใช่ตัวปัญหา ปัญหาอยู่ที่ตัวเธอเองต่างหาก นับแต่วันนั้นเธอพยายามระมัดระวังคำพูดมากขึ้น ไม่จู้จี้ขี้บ่น ขณะเดียวกันก็เปิดใจฟังลูก ไม่คิดแต่จะให้คำแนะนำสั่งสอนอย่างเดียว ไม่นานเธอก็พบว่าลูกเปิดใจให้เธอมากขึ้น นอกจากฟังเธอแล้ว ยังพร้อมจะเล่าความในใจให้เธอฟังเพราะรู้ว่าเธอจะฟังเขาอย่างจริงจังโดยไม่ด่วนตัดสิน

เราต่างเป็นทั้งผู้กระทำและถูกกระทำโดยไม่รู้ตัว แม่รู้สึกว่าลูกปฏิบัติไม่ดีกับแม่ แต่เมื่อสืบสาวก็จะพบว่า นั่นเป็นเพราะแม่ปฏิบัติไม่ดีกับลูกก่อน ที่ลูกไม่ฟังแม่ ก็เพราะแม่ไม่ฟังลูกหรือเอาแต่จู้จี้ขี้บ่น อย่างไรก็ตามหากสืบสาวไปให้ไกลอีกหน่อยก็จะพบว่า ที่แม่ทำตัวเช่นนั้นก็เพราะเคยถูกกระทำอย่างเดียวกันกับพ่อ (หรือแม่) ของตน

จากเรื่องราวข้างบน ความจริงอย่างหนึ่งที่ดูแปลกก็คือ ลูกสาวไม่ชอบสิ่งที่พ่อทำกับตน แต่พอเป็นแม่ก็ทำอย่างเดียวกันนั้นกับลูกของตน ราวกับว่าซึมซับรับเอาการกระทำของพ่อมาไว้กับตัว คงไม่ผิดหากจะพูดว่าความรุนแรงนั้นถ่ายทอดกันได้ ด้วยเหตุนี้คนที่เป็นฝ่ายถูกกระทำด้วยความรุนแรง จึงมักลงเอยด้วยการกลายเป็นผู้กระทำความรุนแรงนั้นเสียเอง

ในสังคมวงกว้างเรามักพบเช่นกันว่า คนที่ก่อความรุนแรงกับผู้อื่นนั้น ในอดีตก็เคยเป็น “เหยื่อ” หรือผู้ถูกกระทำมาก่อน โดยอาจจะเริ่มจากครอบครัว เยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ก่ออาชญากรรมทางเพศหรือยกพวกตีกันจนมีคนบาดเจ็บล้มตาย ล้วนเป็นคนที่มีบาดแผลในวัยเด็ก เช่น ถูกพ่อแม่ละทิ้งหรือทำร้ายร่างกาย ถูกเหยียดหยามจากคนรอบข้าง หรือถูกยัดเยียดให้รู้สึกว่าเป็นคนไร้ค่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นธรรมดาที่คนเหล่านี้ย่อมซึมซับความรุนแรงรวมทั้งความเกลียดชังไว้ในใจ และพร้อมจะระบายใส่คนอื่นเมื่อมีโอกาส ยิ่งถูกกระทำทารุณกรรมเมื่อถูกจับเข้าสถานพินิจฯ หรือเรือนจำ ก็ยิ่งสะสมความรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อคนรอบตัว



ประสบการณ์อันเลวร้ายที่ได้รับทำให้คนเหล่านี้เกลียดชังคนทั้งโลก ยกเว้นพวกเดียวกัน เพราะคนกลุ่มหลังนี้เป็นพวกเดียวที่ทำให้เขารู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า หรือมี “ตัวตน” อยู่ในโลกนี้ ดังนั้นเขาจึงพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ แม้นั่นจะหมายถึงการทำร้ายคู่อริหรือรุมโทรมหญิงก็ตาม

เป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะยอมรับว่า คนที่มีพฤติกรรมเลวร้ายนั้น แท้จริงเขาคือ “เหยื่อ” หรือผู้ถูกกระทำด้วยเช่นกัน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น เหยื่อหรือผู้ถูกกระทำ หาได้แยกจากกันไม่ ทำนองเดียวกับสองด้านของเหรียญเดียวกัน

ความจริงดังกล่าว ท่านติช นัท ฮันห์ ได้ถ่ายทอดเป็นบทกวีอย่างงดงามและสะเทือนใจ




“ฉันคือแมลงเม่า ที่กำลังกลายรูปบนผิวน้ำ
และฉันคือนก โฉบลงขยอกกลืนเจ้าแมลง
ฉันคือกบแหวกว่ายอย่างเป็นสุข
และฉันคืองูเขียว เลี้ยวลดกินกบอย่างเงียบเชียบ
ฉันคือเด็กในอูกันดา มีแต่หนังหุ้มกระดูก
ขาฉันเล็กบางราวลำไผ่
และฉันคือพ่อค้าอาวุธ ขายเครื่องประหัตประหารแก่อูกันดา
ฉันคือเด็กหญิงสิบสองขวบ ลี้ภัยในเรือน้อย
โถมร่างลงกลางสมุทร หลังถูกโจรสลัดข่มขืน
และฉันคือโจรสลัด
หัวใจฉันยังขาดความสามารถในการเห็นและรัก”
(จากบทกวี “เรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง” แปลโดย ร.จันเสน)


ผู้ที่ก่อความรุนแรงนั้นล้วนเป็นผลมาจากการที่เคยเป็นเหยื่อมาก่อน การรุมประณามหยามเหยียดหรือใช้ความรุนแรงกับเขา จึงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา มีแต่จะทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น ยังไม่ต้องพูดถึงว่า การทำเช่นนั้นเป็นความยุติธรรมจริงหรือ ประสบการณ์ของทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การปฏิบัติด้วยความรักความเคารพและให้เกียรติแก่เยาวชนที่ต้องโทษเพราะก่ออาชญากรรมนั้น สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาได้ เพราะจิตใจได้รับการเติมเต็ม รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และเกิดความเคารพในตนเอง จนไม่อยากทำชั่วอีกต่อไป พูดอีกอย่างคือ ความใฝ่ดีในจิตใจของเขาถูกกระตุ้นให้กลับมีพลังจนเอาชนะความเห็นแก่ตัวได้ เมื่อบาดแผลในใจที่เกิดจากการเป็น “เหยื่อ” ในอดีตได้รับการเยียวยา ความโกรธเกลียดที่เคยผลักดันให้เป็นผู้ก่อความรุนแรงก็เจือจางไป สามารถอยู่อย่างมีสันติกับตนเองและผู้อื่นได้ (อ่านเรื่องราวของเธอได้จากหนังสือเรื่อง เด็กน้อยโตเข้าหาแสง โดย “มิลินทร์” สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา)

คนที่แสดงแต่ด้านมืดออกมา มักเป็นเพราะมีเงามืดของคนอื่นมาทาบทับชีวิตของเขานานเกินไป การเปิดโอกาสให้เขาได้รับแสงสว่างในชีวิต ย่อมช่วยขยายด้านสว่างและลดทอนด้านมืดในใจเขา จนสามารถส่องสว่างให้แก่ผู้อื่นได้ในที่สุด

Back to Top