มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 มีนาคม 2551
จริงๆ แล้วเรื่องที่จะเขียนในวันนี้ เป็นเรื่องของมายา ที่เรามักจะเรียกว่าภาพลวงตา - เพราะตาเป็นประสาทการรับรู้ที่มนุษย์และสัตว์โลกได้รับข้อมูลจากภายนอกมากที่สุด - สำหรับมนุษย์ ตาเป็นอวัยวะที่ให้การรับรู้สิ่งแวดล้อมภายนอกถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดเลยทีเดียว และเรื่องของมายานั้น มีคนเขียนมากมายอยู่แล้วในด้านของศาสนา คราวนี้เราจะพูดกันทางด้านของวิทยาศาสตร์บ้าง
แต่หากจะพูดในด้านของวิทยาศาสตร์ หลายตอนยังเป็นสมมติฐานหรือเพียงข้อสันนิษฐานที่มีความหมายทางวิทยาศาสตร์อยู่บ้าง จึงไม่ใช่ข้อพิสูจน์ และอาจต้องขอให้ผู้อ่านช่วยคิดต่อ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราและสัตว์โลกทั่วไปเห็นหรือรับรู้จากประสาทสัมผัสภายนอก แม้แต่สิ่งที่ได้จากความจำด้วยจิตสำนึกของเรา เช่น ความคิด ล้วนแล้วแต่เป็นความไม่จริงแท้ หรือหลอกให้หลง แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันทั้งสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของชีวิต (existence) นั้นๆ นั่นคือความจริงทางโลกที่สาธารณชนคนทั่วไปแย่งชิงต่อสู้กันเพื่อการได้มาหรือไม่ได้มา โดยคิดว่า ถ้ามีสิ่งนั้นหรือไม่มีสิ่งนั้น คือความสุข – โอ้! อนิจจา
นักปรัชญาได้พูดถึงโลกที่เราอยู่นี้ว่า “โลกแห่งภาพลวงตา” มาตั้งนานแล้ว แต่เพิ่งจะพิสูจน์ได้ว่า มันเป็นการรับรู้ที่ไม่ใช่ความจริงแท้ในทางวิทยาศาสตร์ – แควนตัม เมคคานิกส์ – เมื่อเพียง ๘๐ ปีมานี้เอง โดยเป็นความจริงทางแควนตัมข้อที่แปด (duplex world of Heisenberg) จากการแปลความจริงทางแควนตัมของการประชุมที่โคเปนเฮเกน (Copenhagen interpretation of quantum reality) กล่าวคือ เมื่อเรามองธรรมชาติรอบๆ ตัว เราจะมองเห็นคุณสมบัติที่ประกอบเป็นภาพลักษณ์ของสิ่งนั้น เช่น รูปร่าง สีสัน หรือกลิ่นของมัน ซึ่งคุณสมบัติที่ว่า ไม่มีโครงสร้าง มวล อะตอม หรือโมเลกุลอะไรทั้งนั้น เป็นเพียงเรื่องของ “ตา” และ “สมอง” ที่เห็นและแปลให้เป็นภาพลักษณ์นั้นๆ โดยที่ในสมองหรือลูกตาของเรา ไม่มีอะไรที่ชี้บ่งว่ามีรูปร่าง สีสัน หรือกลิ่น ของสิ่งที่เรากำลังดูและรับรู้นั้นๆ อยู่เลย พูดง่ายๆ คือ ทั้งรูปร่าง สีสัน หรือกลิ่น ล้วนไม่มีที่อยู่
โดยคุณสมบัติที่กำลังพูดถึงนี้เรียกว่า “ควาเลีย” (qualia) ที่ไม่เพียงไม่ดำรงอยู่จริงเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วเป็นเพียงความรู้สึกของการทำงานของสมองเรา “แต่ละคน” - ที่มีความแตกต่างกันในรายละเอียด - ให้รับรู้เช่นนั้น คือ สมองสามารถทำให้เราเชื่อ โดยรับรู้ว่า สิ่งๆ นั้นๆ มีอยู่จริง มีลักษณะหรือคุณสมบัติเช่นนั้นจริงๆ และเราสามารถสร้างมันขึ้นมาได้โดยอัตโนมัติ ด้วยความจำหลังจากที่เราเห็นมันอีกครั้งในภายหลัง
ยกตัวอย่างเช่นเมื่อผู้เขียนอายุราวๆ ไม่ถึงสองขวบ ผู้เขียนรู้สึกแปลกใจที่ดวงจันทร์บนฟ้าที่นอกชาน มันตามผู้เขียนมาถึงในห้องนอน ทำให้มองเห็นมันลอยอยู่นอกหน้าต่าง จำได้ว่านั่นเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นพระจันทร์ที่มีรูปร่างกลมและมีสีเหลือง “กลมและสีเหลือง” คือคุณสมบัติหรือลักษณะที่จำได้ตามที่ “มองเห็น” ในครั้งแรก โดยที่ไม่รู้ว่ากลมนั้นต่างจากสี่เหลี่ยมหรือรูปทรงอื่นๆ อย่างไร และไม่รู้ว่าสีเหลืองต่างจากสีน้ำเงินหรือสีแดงอย่างไร และไม่รู้ว่าดวงจันทร์คืออะไร จนโตขึ้นมา ที่จำได้คือ ดวงจันทร์ (ที่มารู้จักชื่อในภายหลัง) นั้น มีลักษณะกลมและสีเหลือง นั่นคือ ผู้เขียนรู้ว่าดวงจันทร์จะต้องกลมและมีสีเหลืองมาตั้งแต่เห็นพระจันทร์เป็น “ครั้งแรก” เลย
นักวิทยาศาสตร์บางคนอธิบายว่า สมองของเรานั้นประกอบขึ้นมาจากเซลล์ที่ประกอบด้วยโมเลกุลจำนวนนับแสนโมเลกุล และแต่ละโมเลกุลประกอบขึ้นมาด้วยอะตอมที่ประกอบด้วยอนุภาค เช่น อิเล็กตรอน โปรตอน ฯลฯ อีกที ดังนั้น สมองของเราที่แท้จริงแล้ว คือแหล่งชุมนุมของอนุภาคแหล่งหนึ่ง แต่ละอนุภาคอาจจะมีธรรมชาติของลักษณะ หรือมีคุณสมบัติที่ให้รูปร่าง กลิ่น สีสัน หรือรสชาติ เป็นของมันเองโดยเฉพาะก็ได้
ข้อสันนิษฐานดังกล่าว อาจจะอธิบายความสัมพันธ์ต่อกันและกันระหว่างจิตกับกาย - จิตในสภาพของคลื่น และกายที่ประกอบขึ้นโดยอนุภาค - ได้ด้วย (V.S. Ramachandran, Reith Lecture, quoted in The Spiritual Brain, 2007) ว่านั่นคือ “ธรรมชาติของจิต” ที่นักวิทยาศาสตร์กายภาพและนักประสาทวิทยาศาสตร์ไม่ชอบได้ยินเพราะตอบไม่ได้ ดังเช่น ฟรานซิส คริก นักชีววิทยารางวัลโนเบล และ แดเนียล เด็นเน็ต นักปรัชญาชื่อดังที่เป็นนักวัตถุนิยมอย่างสุดขั้วบอกว่า “สรุปได้เลยว่าในโลกนี้ (สำหรับผม) ไม่มีคำว่าควาเลีย” โดยไม่อธิบายใดๆ เลยต่อจากนั้นแต่อย่างใด
เรื่องของควาเลียหรือลักษณะที่ปรากฏให้เราแต่ละคนรู้ เพื่อการสื่อสารข้อมูลต่อกันและกันนั้น ผู้เขียนเคยนำมาเล่าสั้นๆ ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์อยู่บ้าง แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากพอที่จะทำให้ผู้อ่านรู้เรื่องได้ แต่ทุกวันนี้มีการพูดถึงเรื่องนี้กันมาก เพราะมีคนสนใจเรื่องของจิตมากขึ้น - จากการสำรวจเมื่อไม่นานมานี้พบว่าประมาณ ๗ ใน ๑๐ ของหนังสือขายดีที่อเมริกาจะเป็นเรื่องของจิต - และเพราะว่า “ควาเลียหรือธรรมชาติของจิต” แม้จะไม่มีมวล แต่เป็นประสบการณ์ที่มีจริง ซึ่งวิทยาศาสตร์กายภาพตอบอะไรไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่มันมีความสำคัญอย่างที่สุดต่อการดำรงอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนหรือสังคมของมนุษย์ เพื่อการ “รู้” ร่วมกัน เพื่อจะได้ “รอด” ด้วยกันนั้น เช่นเดียวกับ ข้อมูล (information) คณิตศาสตร์ หรือภาษา และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการสื่อ “ความหมาย” เพื่อให้จิตที่ “ตื่น” (self-awareness) ของแต่ละคนได้รู้ตัวและรู้ตัวเองว่า จะต้องทำอย่างไรในเวลานั้น เพื่อให้เราสามารถอยู่รอดและปลอดภัยได้ทั้งปัจเจกและโดยรวม
ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่า ในทางวิทยาศาสตร์คลาสสิคหรือเทคโนโลยีทางกายภาพนั้น เขาจัดให้ข้อมูลและคณิตศาสตร์เป็นภววิสัย (object) หรือ “สิ่ง” ที่วัดได้ รู้ได้ สังเกตได้ คือเป็นเรื่องของภายนอก ส่วนด้านที่เป็นภายในนั้น ไม่มีการพูดถึง และไม่มีแม้แต่ทฤษฎีที่ยอมรับกัน
คำว่า “ควาเลีย” นั้น วิทยาศาสตร์กายภาพแทบจะไม่ได้พูดถึงเลย ดังนั้น ในบทความนี้จะพูดแต่เรื่องของ “ความหมาย” ที่วิทยาศาสตร์คลาสสิคตอบให้แน่นอนไม่ได้เลย ซึ่งนอกจากเรื่องของควาเลียแล้ว ยังมีอีกหลายคำ เช่น ข้อมูล คณิตศาสตร์ หรือภาษา เป็นต้น
ในเรื่องของข้อมูล (information) นั้น วิทยาศาสตร์กายภาพได้สร้างทฤษฎีว่าด้วยข้อมูลขึ้นมา พร้อมๆ กับความก้าวหน้าอย่างหวือหวาทางด้านคอมพิวเตอร์เทคโนโลยีในช่วงทศวรรษ ๑๙๕๐ ที่แม้ผู้เขียนจะคิดว่าทฤษฎีดังกล่าวไม่ใช่ความจริง แต่ทว่ามันเป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับข้อมูลทั้งหลาย นั่นคือ การวัดข้อมูลเป็นบิตส์ (bits) จากสภาพของอะโตรปี หรือ ความไร้ระเบียบขององค์กรทางกายภาพที่เกิดจากความร้อน - ซึ่งเป็นไปตามกฎเทอร์โมไดนามิกส์ - นั่นคือ การใช้ข้อมูลทำให้เกิดความร้อนที่สามารถวัดได้ โดยวัดจำนวนบิตส์ของการเกิดอะโตรปี พูดง่ายๆ เป็นการวัดอะโตรปีหรือความไร้ระเบียบจากการเกิดความร้อน (heat) ในกรรมวิธีของการบริหารข้อมูลนั้นๆ ซึ่งให้ประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาคอมพิวเตอร์เทคโนโลยี ทำให้ข้อมูลเหมือนกับว่าเป็นสิ่ง (object) ที่อยู่ข้างนอก เป็นประเด็นทางกายภาพ ทั้งๆ ที่ข้อมูล รวมทั้งภาษา และควาเลียเป็นเรื่องของ “ความหมาย” ที่สัมพันธ์กับจิต - ไม่ใช่สมองที่ทำหน้าที่เป็นผู้บริหาร (processing) เท่านั้น - ความหมายที่จำเป็นต่อการ “รู้รอด” และ “รู้ว่ากูเป็นผู้รู้หรือผู้มีความรู้” ซึ่งแควนตัมฟิสิกส์ได้พิสูจน์ว่าเป็นเช่นนั้น
ในทางแควนตัมฟิสิกส์ ไม่ว่าจะเป็นควาเลีย ข้อมูล ภาษา ความรู้ หรือคณิตศาสตร์ ล้วนเป็นเสมือนภาพสองภาพที่จิตรู้ของมนุษย์แต่ละคนมีในขณะที่ตื่นอยู่ อย่างที่ จอห์น เอ. วีลเลอร์ (John Archibald Wheeler) นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ผู้นิยามคำว่า “หลุมดำ” หมุนกลับความสัมพันธ์และการมีปฏิกิริยาต่อกันและกันเป็นตรงกันข้าม โดยเริ่มที่จิตจักรวาลแล้วมาถูกบริหารที่สมองโดยจิตรู้เป็นผู้สังเกต นั่นคือวีลเลอร์เรียงใหม่ว่า ผู้สังเกต - เป็นข้อมูล - เป็นสสารวัตถุ ซึ่งเป็นเรื่องของแควนตัมฟิสิกส์ แทนที่จะเป็นจาก สสารวัตถุ - เป็นข้อมูล - เป็นผู้สังเกตหรือผู้ตรวจ-วัด (measurement) อันเป็นเรื่องของคลาสสิคัลฟิสิกส์ (รวมทั้งทฤษฎีของข้อมูลจากอะโตรปีที่กล่าวมาข้างบน) ทฤษฎีของ จอห์น วีลเลอร์ อาจสรุปได้ว่า ข้อมูลที่ได้และมีความหมาย มาจากข้อมูลดิบ (ก่อนการบริหารที่สมอง) หรืออาจจะพูดได้ว่า ข้อมูลที่มีค่ามีความหมายมาจากการบริหาร “ข้อมูลดิบหรือจิตจักรวาล” ด้วยจิตรู้ที่สมอง (It from bits) ทำให้ จอห์น เอ.วีลเลอร์ โด่งดังยิ่งขึ้นไปอีก
ผู้เขียนคิดเหมือนกับทฤษฎีของ จอห์น เอ. วีลเลอร์ อยู่ครึ่งหนึ่ง กล่าวคือ ผู้เขียนคิดว่า จักรวาลไม่มีที่สิ้นสุดดังที่นักฟิสิกส์ส่วนหนึ่งเชื่อ (Michio Kaku: Parallel Worlds, 2005) เฉพาะจักรวาลของเรานี้ ประกอบขึ้นด้วยจิตที่มีมาก่อนจักรวาลแห่งปรากฏการณ์หรือก่อนมี “บิ๊ก-แบง” ซึ่งจิตปฐมภูมิที่มีลักษณะเป็นคลื่นพลังงานนี้ จะมีความถี่ของคลื่นเป็นไปตามมิติเฉพาะของจักรวาลนี้ (สามมิติบวกหนึ่ง) และเพราะว่าการสังเกตหรือการตรวจวัดในขณะที่เราใช้จิตรู้ที่สมองไปมองดู สังเกต ทดลอง หรือพัวพันกับสภาพทางแควนตัมของข้อมูลดิบหรือจิตจักรวาล ทำให้ข้อมูลดิบกลายเป็นข้อมูล “เปิดเผย” อย่างที่เราใช้และรู้ๆ กัน จากการสลายไปของสภาพคลื่น (wave function collapse)
ถ้าหากเรามองทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในจักรวาลว่า ประกอบด้วยจิตเป็นปฐม โดยจิตในรูปหนึ่งจะคล้ายๆ กับสภาพทางแควนตัมของสสารวัตถุและปรากฏการณ์ทางกายภาพทั้งหลาย แต่จิตจะเป็นทั้งคลื่นและเป็นพลังงานปฐมภูมิ ซึ่งมีความละเอียดกว่าและมีที่มาก่อนพลังงานทางกายภาพ – พระจิตของพระเจ้าในศาสนาที่มีพระเจ้า หรือ โลกแห่งอุดมคติบริสุทธิ์ (the world of pure Idea) โลกแห่งคณิตศาสตร์ (the mathematic world of Plato) ของพลาโต - ซึ่งมีทั้งหลักฐานและเหตุผลทางวิทยาศาสตร์บางส่วนสนับสนุน
ถ้าหากเราคิดเช่นนี้ เราอาจนำทฤษฎีดังกล่าวมาใช้กับลักษณะหรือคุณสมบัติของประสบการณ์ใดๆ ก็ได้ที่ไม่ใช่เป็นสสารวัตถุ (object) และรับรู้ไม่ได้ เช่น ควาเลีย ข้อมูล ความคิด จินตนาการ ฯลฯ
เรื่องของภาพลวงตาหรือมายานั้น ก่อนหน้านี้มีอธิบายไว้แต่ในทางศาสนา จึงทำให้นักวิชาการกับปัญญาชนส่วนหนึ่งเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่ครั้งนี้เมื่อนำมาอธิบายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่ โดยเฉพาะด้วยแควนตัมฟิสิกส์ ถึงอาจจะยากไปสักหน่อย แต่ความจริงแท้ย่อมเป็นความจริงแท้อยู่วันยังค่ำ ไม่ว่าจากศาสนาหรือจากวิทยาศาสตร์ โดยที่ศาสดาของทุกๆ ศาสนา โดยเฉพาะพระพุทธเจ้า ซึ่งผู้เขียนพอจะรู้อยู่บ้างนั้น สิ่งที่พระองค์ท่านเห็น ไม่เคยมีอะไรที่ไม่เป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่เลย
เมื่อทั้งศาสนาและวิทยาศาสตร์ที่ให้ความรู้และความเชื่อเป็นอย่างเดียวกันเช่นนั้น ความรู้ที่เรามีอยู่ทั้งหมด ทั้งที่ให้ความจำ ความคิด มโนทัศน์ฯลฯ จึงเป็นเพียงภาพลวงตา แล้วจะเอาชนะกันไปถึงไหนกับสิ่งที่ไม่ใช่ความจริงเช่นนั้น?
แสดงความคิดเห็น