เปิดหัวใจ เปิดพื้นที่



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 ตุลาคม 2552

การมีโอกาสรับฟังเรื่องราวจากวิทยากรที่เชิญมาให้ความรู้กับวงจิตวิวัฒน์นั้นถือเป็นกุศลต่อการเสริมสร้างสติปัญญาให้ข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งรับฟังเรื่องราวชีวิตของแต่ละท่านก็ยิ่งรู้สึกว่า การที่งานของหลายท่านก่อให้เกิดประโยชน์โภชน์ผลต่อผู้คนในวงกว้าง และมีผลบวกในระยะยาวนั้น เกิดจากการที่ตัวตนของคนทำงานเล็กลง แต่หัวใจกลับเปิดกว้าง และเปิดพื้นที่ให้กับผู้คนมากมายเข้ามามีส่วนร่วมกับความสำเร็จในการทำงานนั้น

อย่างไรก็ดี กว่าที่ฮีโร่ของเราทั้งหญิงชายเหล่านั้นจะพาตนเองเข้าไปสู่ภาวะการเปิดหัวใจ หรือเปิดพื้นที่ – นั้นดูเหมือนไม่ง่ายเลย

แม่ติ๋ว บ้านโฮมฮัก เมื่อพบว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ในวัยที่อายุยังไม่ถึงห้าสิบปี และหอบสังขารหนีไปพักกายใจที่เสถียรธรรมสถาน เธอพบว่าตนเองกลัวตาย และที่กลัวยิ่งกว่าก็คือไม่มีคนดูแลเด็กที่บ้านโฮมฮักต่อ ซึ่งประกอบด้วยเด็กติดเชื้อเอชไอวี เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ เด็กถูกทำร้ายทุบตี ฯลฯ เมื่อรู้ว่าคนเก่งคนดีอย่างเธอก็ตายได้ หลังจากที่เยียวยาตนเองด้วยธรรมะและเมื่ออาการทางกายดีขึ้น เธอกลับไปที่บ้านโฮมฮัก และท่าทีในการทำงานก็เปลี่ยนไป

จากที่เคยคับแค้นใจว่า ทำไมเธอต้องทำงานอยู่คนเดียว ไม่มีใครเหลียวแลเด็กที่บ้านโฮมฮัก ถึงขนาดพาเด็กไปกินนอนประท้วงและอึฉี่ที่หน้าศาลากลางจังหวัด เธอสามารถยกมือไหว้ขอโทษผู้ว่าราชการจังหวัดได้ ทั้งยังยินดีที่จะร่วมทำงานกับผู้คนหลากหลาย มองเห็นกุศลเจตนาของคนอื่นได้มากขึ้น แม้ว่าวิถีในการทำงานจะแตกต่างกันก็ตาม เธอยอมรับว่า สักวันเธอต้องตาย การที่คนอื่นได้มีโอกาสเข้ามาช่วยเหลือเด็กบ้านโฮมฮัก ไม่ว่าจะถูกใจเธอหรือไม่ ก็เป็นผลดีกับเด็กทั้งสิ้น

คุณพิมใจ อินทะมูลก็เช่นเดียวกัน หลังจากพบว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวี แม้ว่าจะยอมรับสภาพได้ง่าย โดยเหตุที่เป็นคนร่างกายอ่อนแอ ป่วยกระเสาะกระแสะมาแต่เล็ก การที่พบว่าตนเองเป็นโรคร้ายและสังคมรังเกียจ กลับทำให้เธอเปลี่ยนแปลงชีวิตจากแม่บ้านธรรมดาไปสู่การรับใช้ผู้อื่น เธอทำนิคมผู้ติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มคนที่ไม่มีใครต้อนรับ รับทำงานฝีมือเพื่อหารายได้เลี้ยงชุมชน เยียวยาตนเองและชุมชนด้วยธรรมชาติบำบัด เพราะไม่มีปัญญาจ่ายค่าหมอค่ายา เธอทำให้เห็นว่า ๑๘ ปีของการเป็นผู้ติดเชื้อ ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ยังมีความสุขความเบิกบาน และยังประโยชน์กับผู้อื่น

อย่างไรก็ดี เธอเคยสารภาพว่า การที่งานของเธอขยายตัวออกไปกว้างขวาง เธอก็เกิดกังวลขึ้นมาว่า ถ้าเธอตายแล้วจะเป็นอย่างไร? คำตอบที่ได้หลังจากนั้นก็คือ การทำงานในลักษณะที่มีความยั่งยืนขึ้น โครงการที่คิดและทำจะต้องอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องมายึดติดกับบุคคลมาก เพราะฉะนั้นถ้าเธอจะตายไปไม่วันใดวันหนึ่ง งานก็น่าจะดำเนินต่อไปได้ หรือถ้าดำเนินต่อไปไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร

พวกเรา – คนหนุ่มสาวร่วมสมัย – มักจะคิดว่าตนเองทำงานเต็มที่แล้ว หากได้ทำในสิ่งที่ใช่ คือที่ชอบและเป็นประโยชน์ ก็พร้อมจะทุ่มเทพลังกายพลังใจลงไป แต่กลับปรากฏว่าการมุ่งผลสำเร็จของงานกลับทำให้ตัวตนใหญ่กว้าง ไม่แบ่งปันพื้นที่ให้คนอื่นได้เติบโต ตัวชี้วัดง่าย-ง่ายก็คือ หากคนเก่งคนดีทั้งหลายมองไปรอบกายแล้วมีแต่ผู้ร่วมงานไม่เก่ง คงต้องทบทวนกันอย่างจริงจัง ว่าทำไมทำงานมาตั้งนานตนเองถึงเก่งและดีอยู่คนเดียว? ที่สำคัญต้องตั้งคำถามว่างานนั้นเกิดประโยชน์ในวงกว้างจริงล่ะหรือ หากไม่มีคนทำงานด้านนี้เพิ่มขึ้นเลย ในขณะที่ปัญหาทุกวันนี้ก็ซับซ้อนมากขึ้นทุกที จะหวังพึ่งปัญญาเชิงเดี่ยว หรือฮีโร่เชิงเดี่ยวแบบโลกเก่า – นั้นเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว

อาจารย์ประเวศมักจะพูดเสมอว่า ให้หัดทำงานกันน้อย-น้อยแต่ได้ผลเยอะ นั่นคือ ถ้าหากงานนั้นมีคนทำอยู่แล้วก็คอยสนับสนุน อย่าไปแย่งคนอื่นทำ เราควรทำงานที่ยังไม่มีใครทำ บ้านเมืองจึงจะเคลื่อนตัวต่อไปข้างหน้าได้

ท่าทีเช่นนี้น่าประทับใจมาก สังคมไทยนอกเหนือจะต้องการอุเบกขา ความเมตตา ความกรุณาแล้ว ยังต้องการมุทิตาจิตอีกด้วย การที่มีคนทำเรื่องดีมีประโยชน์ หากยกย่องชื่นชมในวาระที่สมควร ถือเป็นเรื่องควรทำ และการมองเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว ย่อมทำให้ไม่หวงความสำเร็จ งานดีมีประโยชน์ใครทำก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเรา

บางคนหรือบางองค์กรนั้นหวงความสำเร็จ เรื่องนั้นฉันก็ทำ เรื่องนี้ฉันก็ทำ เธออย่าทำเชียวนะ – กลัวคนอื่นจะประสบผลสำเร็จ – สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ สังคมก็รอจนเหงือกแห้ง กว่าคนดี-ดี หรือองค์กรดี-ดีนั้นจะทำงานเสร็จสักชิ้น เพราะไม่รู้จักการสร้างเครือข่าย ไม่เปิดพื้นที่ให้คนอื่นหรือองค์กรเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา และบางเรื่องตายแล้วเกิดใหม่อีกสักสองสามชาติก็อาจจะยังไม่สำเร็จ เป็นต้นว่า เรื่องการศึกษา เรื่องความเป็นธรรม เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการสร้างสุขภาวะ ฯลฯ ดีไม่ดี คนทำงานก็อายุสั้นเกินควร ดูขงเบ้งเป็นตัวอย่างก็ได้ ตายตั้งแต่อายุเพียงห้าสิบสี่ ยังไม่ทันเกษียณอายุด้วยซ้ำไป

ในงานสานจิตรเสวนาที่ผ่านมา ก่อนเริ่มวงคุยจิตวิวัฒน์ มีเก้าอี้ว่างตั้งไว้ ๒ ตัว และมีผู้ “ฟัง” สองคน เดินขึ้นไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คุณศรชัย ฉัตรวิริยะชัย หนึ่งในสมาชิกจิตวิวัฒน์รุ่นเยาว์และข้าพเจ้าเห็นตรงกันว่า นี้เป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่ง เพราะเป็นเครื่องยืนยันว่า เมื่อมีการเปิดพื้นที่ สิ่งใหม่-ใหม่ก็เกิดขึ้นได้ และการเปิดพื้นที่จะเกิดขึ้นได้เมื่อหัวใจได้เปิดออกแล้วอย่างจริง-จริง

Back to Top