การให้การศึกษาพลเมืองโลก
(Educating the World Citizens)



โดย อนุชาติ พวงสำลี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 ตุลาคม 2552

เมื่อวันที่ ๘-๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปเข้าร่วมประชุมเรื่อง “การให้การศึกษาพลเมืองโลกสำหรับศตวรรษที่ ๒๑ (Educating the World Citizens for the 21st Century)” ที่ DAR Constitution Hall ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งการประชุมครั้งนี้ จัดโดย Mind & Life Institute และมีองค์กรร่วมจัดเป็นสถาบันการศึกษาขั้นสูงในสหรัฐอเมริการจำนวนมาก อาทิ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สแตนฟอร์ด เพนซิลวาเนีย วิสเคาซิล-แมดิสัน จอร์จ วอชิงตัน มิชิแกน และสมาคมจิตวิทยาอเมริกา เป็นต้น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ ๒ พันคน

การจัดประชุมเป็นไปอย่างเรียบง่าย แบ่งเป็นการสนทนาในภาคเช้าและภาคบ่าย รวมเป็น ๔ ช่วง แต่ความสำคัญของการประชุมครั้งนี้ นอกจากองค์ดาไล ลามะ ซึ่งเข้าร่วมประชุมและเป็นผู้ร่วมสนทนาตลอดการประชุมแล้ว ผู้เข้าร่วมสนทนาในแต่ละช่วง ยังประกอบด้วย แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักการศึกษา นักบวช นักพัฒนา และครูอาจารย์ ที่มีชื่อเสียงและมีผลงานระดับโลก ซึ่งมีความร่วมมือกันในทางวิชาการมาเป็นระยะเวลายาวนาน

คำถามสำคัญของการประชุมในครั้งนี้คือ ข้อท้าทายที่ว่าระบบการศึกษาหรือระบบการเรียนรู้ในปัจจุบันจะสามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ ๒๑ ได้อย่างไร? เราจะสามารถจัดการศึกษาหรือกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความเมตตากรุณา (Compassion) มีสมรรถนะ (Competent) มีจริยธรรม (Ethic) และเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบต่อสังคม (Engaged Citizens) ในท่ามกลางพัฒนาการของโลกและสังคม ที่มีความสลับซับซ้อนและเชื่อมโยงไร้พรมแดนกันได้อย่างไร?

ฐานคิดและความเชื่อของการประชุมนี้ เล็งเห็นว่าการสร้างพลเมืองแห่งอนาคตนั้น มิสามารถวัดได้ด้วยความรู้และทักษะ (Cognitive Skills and Knowledge) เพียงเท่านั้น แต่เราต้องสร้างเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งกาย ใจ และสมอง ให้เพียบพร้อมด้วย ทักษะเชิงอารมณ์ สังคม และความมีคุณธรรม ซึ่งโดยรวมๆ เรียกว่า กระบวนการเรียนรู้แนวจิตตปัญญศึกษา (Contemplative Practices)

การสนทนาในช่วงแรก เริ่มจากวิสัยทัศน์หรือมุมมองต่อการพัฒนาพลเมืองของโลก ซึ่งผู้เข้าร่วมสนทนาต่างเห็นพ้องกันว่า เยาวชนพลเมืองของโลกกำลังตกอยู่ในสภาวะที่เลวร้ายจากสิ่งแวดล้อมรอบด้าน ปัญหาความรุนแรง สมคราม ความขัดแย้ง ระบบการแข่งขันที่เร่งเร้าความแตกแยกทั้งในด้านเชื้อชาติ สีผิว และฐานะทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกาเอง พบว่าความรุนแรงต่อเยาวชนทั้งในและนอกระบบโรงเรียน เพิ่มสูงขึ้นถึง ๓ เท่า เยาวชนในสหรัฐอเมริกากว่าร้อยละ ๖๐ กำลังตกอยู่ในสถานะล่อแหลมต่อความรุนแรง ปัญหาดังกล่าวจึงนับเป็นความน่าห่วงใยในอนาคตของสังคมโลกเป็นอย่างมาก

องค์ดาไล ลามะ แสดงทัศนะในเรื่องนี้ว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องสร้างคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยความหวังและความรับผิดชอบต่อสังคม เราต้องสร้างระบบการศึกษาที่เติมเต็มด้วยความเมตตากรุณา (Education with Compassion) การศึกษาต้องสร้างให้คนมีความสุขด้านในอย่างแท้จริง (Truly Inner Happiness) ดังนั้น ในการจัดการศึกษาเพื่อเตรียมคนรุ่นใหม่ ครู-อาจารย์ จึงมีบทบาทที่สำคัญมาก ครู-อาจารย์ต้องมี สติ (Mindfulness) มี ความเมตตากรุณา (Compassion) ในการพัฒนาปัญญา ในความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ครูและนักเรียนต้องสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน โดยนัยนี้ การเตรียมความพร้อมของครู-อาจารย์ จึงนับเป็นหัวใจของการจัดการศึกษาเพื่ออนาคต

ในช่วงที่สอง ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่อง ความจดจ่อ (Attention) การควบคุมอารมณ์ (Emotion Regulation) และการเรียนรู้ (Learning) วิทยากรซึ่งเป็นจิตแพทย์ชี้ให้เห็นว่า ความมุ่งมั่นและการควบคุมอารมณ์มีความสำคัญอย่างมากต่อกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก หากเด็กมีภาวะอารมณ์ที่เป็นเชิงลบ มีอารมณ์โกรธที่มากเกินไป จะทำลายศักยภาพและความเมตตากรุณาในตน การสอนเยาวชนให้เรียนรู้การควบคุมอารมณ์จึงมีความสำคัญมาก ซึ่งในเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับการศึกษาถึงพัฒนาการของมนุษย์ ที่จะทำให้เข้าใจว่าพัฒนาการของร่างกายและสมองในช่วงใด ควรใส่การเรียนรู้ด้านจิตตปัญญาอย่างไรที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเยาวชน

นอกจากในเรื่องพัฒนาการของร่างกายและสมองของเด็กแล้ว นักการศึกษาอีกท่านยังชี้ให้เห็นว่า ความมั่นคง (Security) และความสัมพันธ์ในกระบวนการเรียนรู้ (Relationship in Learning) ก็นับว่ามีความสำคัญเช่นเดียวกัน หน้าที่ของครู คือการสร้างสำนึกของความรับผิดชอบ ความครุ่นคำนึง การเปิดใจ ความอดทน อุดมคติ เป้าหมายเชิงบวก และแรงจูงใจ เด็กจึงเปรียบเสมือนเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการการบ่มเพาะ รดน้ำพรวนดินอย่างดี ความรู้ว่าด้วยพัฒนาการของเด็ก (Child Development) จึงมีความสำคัญในการออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ (มิใช่เพียงคำนึงถึงแต่เนื้อหาทางวิชาการ – ผู้เขียน) เช่นเดียวกับความร่วมมือและทำงานร่วมกับชุมชน มีตัวอย่างที่ถูกหยิบยกมากมายของการจัดการศึกษาในแนวใหม่นี้ เช่น การนำโยคะ ห้องเงียบ สมาธิภาวนา มุมส่วนตัว การฝึกสติ การฝึกความเมตตากรุณา เข้าไปสอดแทรกในกระบวนการเรียนการสอนในสถานศึกษาต่างๆ เป็นต้น

ในช่วงที่สาม ลงลึกในส่วนของความเมตตากรุณา (Compassion) และความเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Empathy) วิทยากรในช่วงนี้อธิบายว่า แนวทางจิตตปัญญา (Contemplative Practices) มีความสำคัญต่อการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของพลเมืองและสังคม กระบวนการศึกษาต้องสร้างความเอาใจเขามาใส่ใจเราให้เกิดขึ้นในหัวใจของคน ซึ่งจะนำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจ (Sympathy) ในเพื่อนมนุษย์ การทำงานในเรื่องนี้จำต้องมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างเป็นระบบถึงปัจจัยแวดล้อมของแต่ละคน (Personal Environment) ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ (Emotion Regulation) พันธุกรรม (Genetics) ตลอดจน อารมณ์ทางสังคม (Social Emotion)

นอกจากนี้ วิทยากรยังได้เน้นย้ำเรื่องการพัฒนาครู-อาจารย์ อย่างมาก ปัจจุบัน ครู-อาจารย์ อยู่ในภาวะที่เครียดเกินไปที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่เรียกร้องได้ ครู-อาจารย์ ไม่สามารถจัดการสมดุลต่างๆ ได้อย่างดี ครู-อาจารย์ ต้องได้รับการพัฒนาชีวิตด้านใน (Inner Life) ให้เข้มแข็งทั้ง กาย ใจ และจิตวิญญาณ การปฏิบัติภาวนาและการเรียนรู้แนวจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Practices) จึงมีบทบาทที่สำคัญมากในการเตรียมความพร้อมและความเข้มแข็งของครู-อาจารย์ อย่างไรก็ตาม ท่านมาติเยอ ริการ์ นักบวชสายทิเบตชาวฝรั่งเศส ซึ่งร่วมอยู่ในวงสนทนาด้วย ก็ได้ตอกย้ำไว้อย่างน่าสนใจว่า หากเราสนใจเรื่องความเมตตากรุณาและความรัก (Compassion and Love) ที่อยู่ในระดับชีววิทยาหรือร่างกายเท่านั้น คงจะไม่เพียงพอและยั่งยืน แต่เราต้องสนใจในการสร้างความเมตตากรุณาและความรักที่มาและเกิดขึ้นจากด้านในของมนุษย์อย่างแท้จริงด้วย

และในช่วงสุดท้าย เป็นบทบูรณาการและการมองทิศทางในอนาคต ศาสตราจารย์ลินดา คณบดีวิทยาลัยศึกษาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด กล่าวว่า เราคงไม่สามรถทำเพียงแค่นำเรื่องปฏิบัติภาวนาหรือการนั่งสมาธิเข้าไปในระบบการศึกษาเฉยๆ เพราะระบบอาจจะยังไม่เอื้ออำนวย แต่เราต้องเน้นความสำคัญในเรื่องการศึกษาเพื่อสร้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เราต้องสร้างเรื่องความสุขหรือสุขภาวะทั้งระบบโรงเรียน (Whole School Happiness) ซึ่งกินความรวมถึงความสุขส่วนบุคคล ความรับผิดชอบต่อสังคม กระบวนการเรียนรู้เติบโตและพัฒนาร่วมกัน และการทำงานเป็นทีมของครู-อาจารย์ในสถานศึกษานั้นๆ

ดังนั้น การจัดการศึกษาจึงต้องมีความหลากหลาย ระบบการเรียนรู้ใหม่ต้องเข้าใจพัฒนาการมนุษย์ มีทรัพยากรที่พอเพียง และต้องไม่ทอดทิ้งให้เยาวชนคนใดตกขบวน (No Child Left Behind) ซึ่งในประเด็นนี้ ศาสตราจารย์ทากาโอะ เฮนซ์ แพทย์ทางสมองแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ก็ยังย้ำว่า ประสบการณ์ในช่วงต้นของชีวิต (Early Life Experiences) นับว่ามีความสำคัญมากต่อพฤติกรรมของมนุษย์ และเราจำเป็นต้องศึกษาและเข้าใจกลไกการทำงานของสมองว่า ช่วงที่เป็นวิกฤต (Critical Period) นั้นมีความสำคัญมากสำหรับกระบวนการเรียนรู้เพื่อความเมตตากรุณา

ศาสตราจารย์ริชาร์ด เดวิด แห่งมหาวิทยาลัยวิสเคาซิล-แมดิสัน ซึ่งทำงานวิจัยระยะยาวในเรื่องนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นที่น่ายินดีว่า สิ่งที่เหมือนกันระหว่าง Contemplative Science และ Basic Science คือต่างเห็นพ้องกันว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปได้ (Change is Possible) และยังเน้นย้ำถึงทิศทางการวิจัยที่มีความสำคัญในอนาคตว่า ๑) การศึกษาว่าด้วยความเมตตากรุณานั้น ไม่ควรจำกัดอยู่ในระดับบุคคลเท่านั้น แต่ควรศึกษาว่า ความเมตตากรุณามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรอบข้างหรือสังคมอย่างไร (Social Impacts) ๒) เราควรก้าวข้ามการทดสอบทางการศึกษาแบบปรนัย (Choice Test) เพราะไม่สามารถวัดการเปลี่ยนแปลงได้เลย ดังนั้น เราควรเร่งศึกษาถึงศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงในตัวมนุษย์ที่มีความหลากหลาย ๓) ความสุขคือเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์และสังคม ความสุขของมนุษย์จึงมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งต่อสุขภาวะของสังคมโดยรวม ๔) นักวิทยาศาสตร์ต้องใส่ใจศึกษาเรื่อง ความจดจ่อ (Attention) เพราะความเข้าใจในเรื่องนี้จะนำไปสู่ความเข้าใจในพฤติกรรมของเยาวชนและกระบวนการเรียนรู้ของเขา เด็กติดเกมส์ เพราะเกมส์สร้างให้เกิดความจดจ่อในเด็ก เราไม่ควรเพียงแค่ปฏิเสธเกมส์ แต่ความท้าทายคือทำอย่างไรให้เกมส์เป็นเกมส์ที่สร้างสรรค์และสร้างให้เกิดความรักความเมตตา อนึ่ง เราต้องการกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย วิธีการหนึ่งจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมดอย่างแน่นอน และ ๕) สุดท้าย ทีมวิจัยแบบบูรณาการ (Transdisciplinary Team) และการเชื่อมโยงงานวิจัยพื้นฐานสู่ปฏิบัติการจริงในพื้นที่ (Translational Research to the Field) นั้น มีความสำคัญเป็นอย่างมากในเรื่องนี้

ในตอนท้าย องค์ดาไล ลามะ ได้กลับมาสรุปเพื่อตอกย้ำอีกครั้งว่า การสร้างแรงจูงใจและความตระหนัก ต่อการสร้างการเรียนรู้เพื่อการพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์นั้นมีความสำคัญมาก การสร้างทัศนะในเชิงบวก เราต้องสร้างสติทุกนาที เราต้องมีทั้ง วจีกรรม (Verbal Action) กายกรรม (Physical Action) และมโนกรรม (Mind Action)

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ อดสะท้อนย้อนนึกมาถึงกระบวนการเรียนรู้ของระบบการศึกษาของเราไม่ได้ว่า ณ ดินแดนพุทธภูมิแห่งนี้ เราดูเหมือนจะละเลยนำสิ่งที่ดีมีคุณค่ายิ่งในแผ่นดินมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนามนุษย์และเยาวชนคนรุ่นหลัง การจัดการศึกษาที่เดินรอยตามฝรั่งรังแต่จะสร้างสมปัญหาอย่างมากมายมหาศาล การศึกษาไทยเร่งสร้างให้เกิดการแข่งขันและเอาชนะ ในวันนี้การจัดการศึกษาในโลกตะวันตกกำลังเปลี่ยนไปเพื่อเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ของมวลมนุษยชาติ แต่การศึกษาของไทยและวงการวิชาการไทยกำลังติดกับอยู่กับการแข่งขันจนละเลยการพัฒนาความเป็นมนุษย์โดยสิ้นเชิง หากครู-อาจารย์ของเรายังอยู่ในภาวะเครียดและสับสน มุ่งถ่ายทอดความรู้จากเพียงตำราและเนื้อหาโดยไม่สนใจชีวิตของผู้เรียน แล้วเราจะสร้างเยาวชนในอนาคตที่มีความสุข มีความรักความเมตตา เป็นเยาวชนที่รู้จักการเรียนรู้และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างสันติสุขได้อย่างไร หากการปฏิรูปการศึกษารอบสองของเราไม่สามารถก้าวข้ามหลุมดำที่ยิ่งใหญ่นี้ไปได้ อนาคตของสังคมไทยคงอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วงยิ่ง

Back to Top