ชุมชนราชทรัพย์: กลุ่มผู้หญิงและการพัฒนาแบบนำร่วมในพื้นที่เมือง



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 สิงหาคม 2559

พื้นที่เมืองเป็นศูนย์รวมของเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา เทคโนโลยี หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง เมืองเป็นแหล่งรวม “ความเจริญ” ทางวัตถุ พร้อมกับเป็นแหล่งรวมของปัญหาหลากหลายรูปแบบ วิถีชีวิตของผู้คนในเมืองต่างเร่งรีบ มีความเป็นปัจเจกสูง ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายสำหรับคนทำงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่เมือง

ในพื้นที่เมืองผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างไร มีหลักคุณธรรมหรือชุดคุณค่าอะไร ที่ยึดโยงผู้คนให้อยู่ร่วมกันได้ จากคำถามนี้นำมาสู่การทำ “โครงการศึกษากระบวนการพัฒนาชุมชนเมือง: ชุมชนราชทรัพย์ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร” โดยทีมวิจัยและจัดการความรู้ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) โดยมองผ่านบทเรียนของชุมชนราชทรัพย์ ชุมชนเมืองที่มีประสบการณ์ในการทำงานพัฒนามาอย่างเข้มข้น

ชุมชนราชทรัพย์ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านบางโพ พื้นที่รอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ และนนทบุรี วันที่พวกเราเข้าไป ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เขตบางซื่อ มาจัดโครงการฝึกอบรมทำน้ำหมักชีวภาพในชุมชน คุณรุจิรัตน์ หาญรวีกุลนันท์ หรือพี่แหม่ม ประธานชุมชนราชทรัพย์ และคุณธนิดา ทองสุข หรือพี่ปิ๋ว ประธานกลุ่มแม่บ้าน พร้อมกับสมาชิกกลุ่มกำลังเตรียมสถานที่ และอาหารอย่างขะมักเขม้นที่ศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน

เมื่อถึงเวลานัด พี่แหม่ม และพี่ปิ๋วเดินมานั่งล้อมวงพร้อมพูดคุย พวกเราเริ่มจากนำข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนที่เขียนเป็นเส้นเวลา (Timeline) มาเป็นสื่อกลางชวนคุย ซึ่งข้อมูลส่วนมากเป็นมุมมอง “คนนอก” ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคมที่บอกเล่าเรื่องราวของชุมชนราชทรัพย์ การสนทนาในครั้งนี้พวกเราจึงตั้งใจว่าจะรับฟังเรื่องเล่าที่มาจากแง่มุมของ “คนใน” ชุมชนอีกทางหนึ่ง

ชุมชนราชทรัพย์เริ่มก่อรูปขึ้นมาในทศวรรษที่ ๒๕๒๐ พี่แหม่ม และพี่ปิ๋วเล่าว่า ผู้คนในชุมชนมาจากหลายพื้นที่ ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนช่วงแรกเป็นแบบต่างคนต่างอยู่ แบ่งตามพื้นที่ในซอย เป็นต้นซอย กลางซอย ท้ายซอย “สัญญาณ” ของความเป็นชุมชน เริ่มจากการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี ๒๕๒๖ ที่ท่วมมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท้ายซอย จนถึงถนนใหญ่หน้าปากซอยนานเป็นเดือน คนในชุมชนจึงร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสะพานไม้ เพื่อใช้เป็นทางเดินในชุมชน และชุมชนยังเผชิญกับน้ำท่วมใหญ่อีกครั้งในปี ๒๕๓๘ ซึ่งนอกจากทำสะพานไม้ใช้เดินทางในชุมชนแล้ว ชาวชุมชนท้ายซอยยังร่วมกันทำแนวกันน้ำจากแม่น้ำด้วย

ในปี ๒๕๓๙ ชาวชุมชนราชทรัพย์เตรียมกระบวนการจัดตั้งชุมชนอย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐ โดยตั้งต้นจากการทำแผนที่ชุมชน จนกระทั่งได้รับการจัดตั้งเป็นชุมชนเมื่อปี ๒๕๔๒

จุดเปลี่ยนสำคัญของชุมชนเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ เป็นวันที่อยู่ในความทรงจำของพี่แหม่ม พี่ปิ๋ว กลุ่มแม่บ้าน และชาวชุมชนราชทรัพย์ เพราะเกิดไฟไหม้ใหญ่ในชุมชน พี่แหม่มเล่าถึงเหตุการณ์ว่า ขณะที่หลายคนพากันขนของและวิ่งออกจากชุมชน พี่แหม่มกลับเลือกวิ่งย้อนเข้าไป เพื่อยกถังแก๊สที่อยู่ตามบ้านโยนลงแม่น้ำ ป้องกันไม่ให้ระเบิดสร้างความเสียหายกับชุมชน พวกเราถามถึงเหตุผลว่าทำไมพี่แหม่มถึงตัดสินใจทำแบบนั้น “ชุมชนราชทรัพย์ คือเรา” เป็นคำตอบของพี่แหม่ม เหตุการณ์นั้นมีบ้านถูกไฟไหม้ไปทั้งหมด ๑๖ หลัง คนในชุมชนต้องพักอาศัยที่ศาลาวัดบางโพนานถึง ๑๕ วัน และพี่แหม่มประเมินว่าต้องใช้เวลาเยียวยาจิตใจคนที่ประสบเหตุมากกว่า ๒ เดือน

ในปีต่อมาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้ามาพัฒนาชุมชน เริ่มทำโครงการบ้านมั่นคงและกลุ่มออมทรัพย์ และมีอีกหลายองค์กรที่นำโครงการพัฒนาเข้ามาในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ด้วยลักษณะนิสัยที่ชอบอาสา ชอบช่วยเหลือ และรู้จักคนในชุมชนทุกคน ทำให้พี่แหม่มเริ่มมองหากลุ่มมาร่วมกันพัฒนาชุมชน พี่แหม่มซึ่งบ้านอยู่กลางซอยได้ไปคุยกับพี่ปิ๋วที่บ้านอยู่ต้นซอย เพื่อชักชวนมาทำงานร่วมกัน หลังจากนั้นเส้นแบ่งของต้นซอย กลางซอย ท้ายซอยจึงค่อยๆ จางหายไป เมื่อกลุ่มผู้หญิงในชุมชนร่วมกันจัดงานวันเด็ก พี่ปิ๋วและครอบครัวทำอาหารเลี้ยงเด็กๆ และคนในชุมชนที่มาร่วมงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ปี ๒๕๕๑ พี่แหม่มได้รับเลือกเป็นประธานชุมชน และพี่ปิ๋วเป็นกรรมการชุมชน หลังจากนั้นกลุ่มผู้หญิงกลายเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนราชทรัพย์มาอย่างต่อเนื่อง มีการตั้งกลุ่มแม่บ้านอย่างเป็นทางการในปี ๒๕๕๓ มีพี่ปิ๋วเป็นประธานกลุ่ม เน้นสร้างอาชีพ ดูแลสิ่งแวดล้อม และจัดหาสวัสดิการให้กับคนในชุมชนทุกช่วงวัย พี่ปิ๋วเล่าถึงคติการทำงานว่า “เมื่อทำแล้วผูกพัน ทำอะไรต้องทำให้สำเร็จ” ซึ่งรูปธรรมของความสำเร็จนอกจากจะปรากฏในพื้นที่ชุมชนแล้ว ชุมชนราชทรัพย์ยังได้รับรางวัลจากภายนอกชุมชนอีกหลายรางวัล เช่น รางวัลชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) เขตบางซื่อ รางวัลชุมชนเข้มแข็ง (ภาคกรุงเทพเหนือ)

การขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนของกลุ่มแกนนำผู้หญิงอย่างพี่แหม่ม พี่ปิ๋ว และสมาชิกกลุ่มแม่บ้านชุมชนราชทรัพย์ยึดหลักคุณธรรมของการทำงานแบบ “นำร่วม” ที่ทำงานเข้มแข็งทั้งในพื้นที่ และประสานกับภาคีนอกชุมชนหลายภาคส่วน ภายในกลุ่มแม่บ้านมีการกระจายบทบาทผู้นำให้สมาชิกกลุ่มแบ่งกันรับผิดชอบ เพื่อให้ได้ฝึก เรียนรู้ และเข้าใจถึงความเป็นผู้นำ

พี่แหม่ม พี่ปิ๋ว และกลุ่มแม่บ้านชุมชนราชทรัพย์ ยังมองภาพอนาคตของชุมชนต่อไปว่า นอกจากดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม และสวัสดิการคนในชุมชนแล้ว ก้าวต่อไปที่สำคัญคือ การสร้างกระบวนการส่งต่อคุณธรรมการนำร่วม และสำนึกของความเป็นชุมชนสู่คนรุ่นใหม่ ท่ามกลางความท้าทายใหม่ที่เข้ามาในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่จากคอนโดมิเนียมที่เพิ่มขึ้นรอบชุมชนอย่างรวดเร็ว พร้อมกับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า แรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานก่อสร้างและอาศัยในพื้นที่ชุมชน เรื่องเล่าของชาวชุมชนราชทรัพย์จึงทำให้เห็นว่าท่ามกลางสังคมเมืองที่สร้างเงื่อนไขให้มนุษย์กลายเป็นปัจเจก ยังมีความพยายามของผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่ก่อร่างสร้างความเป็นชุมชนขึ้นมา และพยายามรักษาให้ดำรงอยู่ โดยมีหลักคุณธรรมของการนำร่วมเป็นหัวใจสำคัญที่ยึดโยงผู้คนในชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน

Back to Top