เป็นมิตรกับความเครียด



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 สิงหาคม 2559

ความเครียดเป็นปัญหาสำคัญของคนในยุคนี้ มันไม่เพียงส่งผลต่อจิตใจเท่านั้น หากยังเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วย มีการศึกษาพบว่าร้อยละ ๕๐-๗๕ ของความเจ็บป่วยที่ผลักดันให้ผู้คนไปหาหมอนั้นสืบเนื่องจากความเครียด ใช่แต่เท่านั้นเมื่อพิจารณาจากสาเหตุการตายแล้ว กล่าวได้ว่าความเครียดเป็นภัยที่ร้ายแรงกว่าเหล้าหรือบุหรี่เสียอีก

อย่างไรก็ตาม ความเครียดมิใช่สิ่งเลวร้ายไปเสียหมด ความเครียดหากอยู่ในระดับพอประมาณก็ส่งผลดีได้ เช่น กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ เป็นที่รู้กันว่าหากเรียนแบบสบายๆ ไม่มีการบ้านยากๆ หรือฝึกทำสิ่งที่แปลกใหม่ไม่คุ้นเคย ( พูดง่ายๆ คือ ถ้าไม่ออกจาก “ไข่แดง” เสียบ้าง) พัฒนาการในทางสติปัญญาหรือทักษะก็เกิดขึ้นได้ยาก ในทำนองเดียวกันความเครียดที่เกิดจากเส้นตายหรือการแข่งขัน นอกจากไม่เป็นโทษแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการงานด้วย ทำให้ผู้คนเอาศักยภาพที่มีอยู่มาใช้อย่างเต็มที่

แนวคิดดังกล่าวเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันแนวคิดนี้กำลังถูกตั้งคำถามมากขึ้น งานวิจัยล่าสุดชี้ว่าสิ่งสำคัญมิได้อยู่ที่ระดับความเครียด แต่อยู่ที่มุมมองของเราที่มีต่อความเครียดต่างหาก ความเครียดอย่างเดียวกัน หากเรามองมันต่างกัน ปฏิกิริยาในร่างกายก็ออกมาต่างกัน ทำให้มีผลต่อสุขภาพและการทำงานต่างกันไปด้วย

เป็นที่รู้กันว่าเมื่อมีภัยคุกคาม คนเราจะมีปฏิกิริยาสองอย่าง คือ ไม่สู้ก็หนี ในภาวะดังกล่าวหัวใจจะเต้นเร็ว เส้นเลือดจะหดตัว เลือดจะถูกสูบฉีดเลือดไปยังกล้ามเนื้อมากขึ้น ขณะที่สมองจะจดจ่ออยู่กับภาพรวมและมองข้ามรายละเอียด ในกรณีที่สถานการณ์ไม่เลวร้ายมาก และหากเรามองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมิใช่ภัยคุกคาม แต่เป็นสิ่งท้าทายความสามารถ ร่างกายจะมีปฏิกิริยาแตกต่างกัน แม้หัวใจยังคงเต้นเร็ว แต่สมองจะคมชัดขึ้น และมีฮอร์โมนบางอย่างหลั่งออกมาเพื่อช่วยในการฟื้นตัวและการเรียนรู้ โดยเส้นเลือดยังคงเปิดกว้าง ในทางตรงข้าม แม้เจอสถานการณ์อย่างเดียวกัน (เช่น ทำข้อสอบ พูดในที่ชุมชน หรือเสนอแผนงาน) แต่เรามองว่ามันเป็นสิ่งเลวร้าย รู้สึกเหมือนกับว่ากำลังถูกกดดันบีบคั้น ร่างกายจะมีปฏิกิริยาอีกแบบหนึ่ง ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพและงานที่กำลังทำอยู่

มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์เคยทำการทดลองกับพนักงานธนาคารจำนวน ๔๐๐ คนในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มแรกได้ดูวิดีโอที่ตอกย้ำถึงผลร้ายของความเครียด กลุ่มที่สองดูวิดีโอที่พูดถึงความเครียดว่าสามารถเพิ่มพูนสมรรถนะของคนเราได้ ส่วนกลุ่มสุดท้ายไม่มีวิดีโอให้ดู หนึ่งสัปดาห์ต่อมา ผู้วิจัยพบว่ากลุ่มที่สองจดจ่อกับงานมากขึ้น มีส่วนร่วมมากขึ้น และมีปัญหาสุขภาพน้อยลง ส่วนสองกลุ่มที่เหลือไม่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเลย

ในการทดลองของมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ซึ่งทำกับนักศึกษาที่เตรียมสอบเข้าเรียนหลักสูตรปริญญาโท นักศึกษากลุ่มแรกได้รับการบอกว่าความเครียดระหว่างสอบเป็นเรื่องธรรมดาและอาจช่วยให้ทำข้อสอบได้ดีขึ้น ส่วนกลุ่มที่สองไม่มีการพูดคุยใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อมีการลองทำข้อสอบ ผลปรากฏว่ากลุ่มแรกทำคะแนนได้ดีกว่ากลุ่มที่สอง และเมื่อนำน้ำลายของนักศึกษาเหล่านี้ไปตรวจ ก็พบว่าความเครียดของนักศึกษากลุ่มแรกไม่ได้ลดลง ยังคงเครียดเท่าๆ กับกลุ่มที่สอง ไม่กี่เดือนต่อมาเมื่อมีการสอบจริง นักศึกษากลุ่มแรกที่ถูกสอนให้มองความเครียดเป็นบวก ก็ยังคงทำคะแนนได้ดีกว่ากลุ่มที่สอง

ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือเมื่อปี ๒๕๕๕ นักวิจัยชาวอเมริกันได้ย้อนกลับไปดูผลการสำรวจสุขภาพแห่งชาติเมื่อปี ๒๕๔๑ ซึ่งมีการสอบถามคน ๓๐,๐๐ คนเกี่ยวกับความเครียดที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา รวมทั้งถามความเห็นว่าเขาเหล่านั้นเชื่อว่าความเครียดมีผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่ เมื่อตามไปดูว่าคนเหล่านั้นมีใครบ้างที่เสียชีวิตไปแล้ว ผู้วิจัยพบว่าคนที่ระบุว่ามีความเครียดสูงและเชื่อว่ามันมีผลเสียต่อสุขภาพ มีโอกาสตายก่อนวัยอันควรมากกว่าถึงร้อยละ ๔๓ ส่วนคนที่มีความเครียดสูงแต่ไม่คิดว่ามันเป็นอันตราย มีโอกาสตายเร็วน้อยกว่าคนที่มีความเครียดต่ำด้วยซ้ำ

การศึกษาดังกล่าวชี้ว่า ความเครียดจะส่งผลดีหรือเสียอยู่ที่ทัศนคติของเราเป็นสำคัญ รู้กันมานานแล้วว่าใจมีผลต่อกาย แต่ที่ผ่านมาเรามักให้ความสำคัญกับภาวะอารมณ์ เช่น ดีใจหรือเสียใจ รักหรือโกรธ ผ่อนคลายหรือกังวล แต่ในความเป็นจริง แม้แต่ทัศนคติหรือมุมมองของเราก็ส่งผลต่อสุขภาพหรือความเป็นไปในร่างกายด้วย

เมื่อเร็วๆ นี้คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยลพบว่า คนอายุ ๔๐ ที่มีทัศนคติลบต่อวัยชรา (เช่น เห็นว่าคนแก่เป็นพวกเหม่อลอย เรียนรู้สิ่งใหม่ได้ยาก) เมื่อผ่านไป ๒๕ ปี เนื้อสมองในส่วนที่เรียกว่าฮิปโปแคมปัสของคนเหล่านี้จะฝ่อลงมากกว่า รวมทั้งมีลิ่มเลือดมากกว่า ซึ่งล้วนเป็นตัวบ่งชี้ของโรคอัลไซเมอร์ สอดคล้องกับการวิจัยก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าคนที่มีอคติต่อวัยชราจะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นใน ๔๐ ปีให้หลัง

ทั้งหมดนี้บอกเราว่า อะไรเกิดขึ้นกับเรา ไม่สำคัญเท่ากับว่าเรารู้สึกหรือมีทัศนคติต่อมันอย่างไร แม้สิ่งไม่ดีเกิดกับเรา แต่หากเรารู้สึกดีกับมัน หรือมองมันในแง่บวก มันก็อาจมีประโยชน์กับเราได้ หรืออย่างน้อยก็ก่อความเสียหายน้อยลง ผู้ป่วยหลายคนเมื่อรู้สึกดีกับมะเร็ง ก็สามารถอยู่กับมะเร็งได้อย่างมีความสุข แต่ถ้าหากรู้สึกลบกับมัน ก็จะทุกข์ทรมานและตายเร็ว

กับความเครียดก็เช่นกัน หากเราหนีมันไม่พ้น แทนที่จะผลักไสมัน หรือตีโพยตีพาย ควรมองมันในแง่บวก หรือปรับใจให้เป็นมิตรกับมัน ด้วยวิธีนี้เท่านั้นมันจะเป็นคุณกับเรา และกลายเป็นมิตรกับเราในที่สุด

Back to Top