สังคม(ไม่)ปลอดเชื้อ



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 สิงหาคม 2559

ผมเพิ่งกลับจากแคนาดาไปอบรมหลักสูตร Theatre for Living ซึ่งเป็นการใช้กระบวนการละครเพื่อสร้างสังคมที่มีสุขภาวะ ระหว่างการอบรมได้สนทนากับเพื่อนฝูงร่วมชั้นเรียน และได้พบว่าประเทศแคนาดาที่เพิ่งถูกจัดให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลกโดยกลุ่มประชากรมิลเลนเนียล (อายุระหว่าง ๑๘ ถึง ๓๕ ปี)* ก็มีเรื่องเลวร้ายที่ไม่น่าเชื่อซุกซ่อนอยู่เช่นกัน

ในช่วงทศวรรษที่ ๑๙ รัฐบาลแคนาดาได้ออกกฎให้เด็กชาวอินเดียนแดงซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองของแคนาดาทุกคนจะต้องไปเข้าโรงเรียนซึ่งจัดตั้งขึ้นร่วมกับองค์กรศาสนาคริสต์ ในโรงเรียนดังกล่าวนักเรียนชาวอินเดียนแดงจะถูกห้ามไม่ให้พูดภาษาของตัวเอง ห้ามดำเนินพิธีกรรมใดๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมของตนเอง และที่สำคัญเด็กจะถูกนำออกจากชุมชนของตนเองไปอยู่ยังโรงเรียนประจำ

“โรงเรียนขโมยเด็ก” คำของแมนนี่ปรากฏขึ้นในใจ

นักวิชาการบางคนเรียกกระบวนการดังกล่าวว่าเป็น “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางวัฒนธรรม” และที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ มีรายงานมากมายในปัจจุบันที่ยืนยันได้ว่า เด็กอินเดียนแดงที่ถูกบังคับให้เข้าโรงเรียนเหล่านั้นถูกละเมิดและถูกทำทารุณกรรมจนตายไปมากกว่า ๖,๐๐๐ คน ที่น่าแปลกใจก็คือ โรงเรียนประจำแห่งสุดท้ายเพิ่งถูกปิดไปเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๖ หรือเมื่อ ๒๐ ที่แล้วนี่เอง เร็วๆ นี้ทางรัฐบาลแคนาดาเพิ่งออกมาขอโทษอย่างเป็นทางการในเรื่องดังกล่าว แต่หลายๆ คนกลับรู้สึกว่ารัฐบาลทำน้อยไปและสายเกินไป

ที่ผมพูดเรื่องนี้ก็เพราะว่า ภายใต้สังคมที่ดูมีความสงบสุขของแคนาดานั้น มีเรื่องที่เป็นเหมือนผีร้ายที่ตามหลอกหลอนทุกๆ คนในสังคมอยู่ อย่างน้อยก็ในระดับจิตใต้สำนึก นอกจากนั้นบรรดาผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวก็ยังมีชีวิตอยู่ในสังคมโดยแบกเอาประสบการณ์เลวร้ายนั้นเอาไว้กับตัว ไม่ได้หายไปไหน ถ้าเราเชื่อเรื่องการพึ่งพาอาศัยกันและกันลึกลงไปถึงระดับจิตใจ อย่างที่ยุงพูดถึงเรื่องจิตใต้สำนึกรวมหมู่ของสังคม (Collective Unconscious) เราคงจะเห็นได้ว่ามันเป็นเหมือนกับสารกัมมันตรังสีที่แผ่เอารังสีร้ายออกมาตลอดเวลา

สังคมในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างแคนาดา ได้เลือกหนทางที่จะเก็บกดความแตกต่างเอาไว้ โดยพยายามทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยดีงาม เพื่อนบางคนใช้คำว่า “สเตอริไลซ์” หรือการทำให้ปลอดเชื้อด้วยความร้อน ทอมซึ่งเป็นอาจารย์สอนด้านการแสดงที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียบอกผมว่า เดี๋ยวนี้แม้แต่การที่เด็กเล่น “ต่อสู้” กันในสนามเด็กเล่นของโรงเรียนยังถูกห้าม เพราะเกรงว่าจะบ่มเพาะความรุนแรง ผมยังจำเรื่องราวของเพื่อนคนหนึ่งที่พยายามจะทำบ้านให้ปลอดเชื้อ โดยดูแลอาหารที่ลูกทานให้ “ปลอดเชื้อ” ทุกอย่างสุดท้ายลูกกลายเป็นภูมิแพ้ เพราะไม่เคยได้สัมผัสกับเชื้อโรค จึงไม่สามารถพัฒนาภูมิต้านทานอะไรได้เลย การห้ามไม่ให้เด็กเล่นต่อสู้กันเป็นเรื่องน่าช็อคมากสำหรับผู้ชายวัยสี่สิบกว่าอย่างทอมซึ่งเป็นชาวแคนาเดียน และผมซึ่งเกิดในประเทศไทยและเผอิญมีอายุเท่ากับทอมพอดี เราต่างนึกไม่ออกเลยว่าเด็กจะเรียนรู้การมีความสัมพันธ์อันซับซ้อนกับเพื่อนได้อย่างไร ถ้าปราศจากการ “เล่นต่อสู้” ซึ่งไม่ใช่ด้วยการรูดหน้าจอโทรศัพท์ไปมา

ในขณะที่สังคมที่เจริญก้าวหน้าอย่างแคนาดาพยายามไปสู่การเป็นสังคมปลอดเชื้อ โดยพยายามที่จะจำกัดการพูดจาในที่สาธารณะให้อยู่ในขอบข่ายที่สังคมรับได้เท่านั้น นั่นหมายถึงการไม่พูดเรื่องที่จะทำให้ผู้อื่นขุ่นข้องหมองใจ จนกระทั่งในสื่อต่างๆ แม้กระทั่งในหนังสือเรียนยังต้องมีการขึ้นตัวอักษรเพื่อเตือนผู้อ่านล่วงหน้าก่อนที่จะมีข้อความ ภาพ หรือเสียง ที่อาจจะกระทบต่อจิตใจผู้อ่าน ประเทศไทยของเรากลับไปสุดโต่งอีกด้านหนึ่งก็คือ การไม่ต้องเตือนอะไรล่วงหน้าทั้งนั้น เพราะเราแทบไม่คำนึงถึงจิตใจของคนอ่านเลยว่าจะรู้สึกอย่างไร ผลก็คือเรามีไลน์กลุ่ม มีเฟซบุ๊กที่แต่ละคนจะโพสต์เรื่องความเห็นทางการเมืองอย่างสุดโต่ง เรื่องศาสนาอย่างบ้าคลั่ง เรื่องการดูหมิ่นเหยียดหยามผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจากตนเองอย่างที่ไม่น่าเชื่อว่าถ้อยคำผรุสวาทอันหยาบคายเหล่านั้นจะหลุดออกมาจากปากของผู้ที่มีการศึกษาสูงๆ และบางคนก็ไปร่ำเรียนมาจากเมืองนอกเมืองนา

ความพยายามที่จะทำให้สังคมปลอดเชื้อโดยการกำหนดว่าอะไรพูดได้ อะไรพูดไม่ได้ก็ดี ความไม่รู้เท่าทันว่า สิ่งที่ตนพูดจะไปมีผลกระทบต่อจิตใจของคนอื่นอย่างไรก็ดี ล้วนแต่เป็นทางสุดโต่งและจอมปลอม ปัญหาก็คือเรามักไม่เข้าใจว่า เรื่องที่เป็นปัญหาของสังคมนั้นต้องได้รับการพูดถึงและเข้าสู่กระบวนการสนทนาอย่างสร้างสรรค์ ความพยายามที่จะฆ่าการสนทนา ไม่ว่าจะด้วยการสร้างกลไกขึ้นมาเก็บกดด้วยกฎหมาย หรือบรรทัดฐานของสังคม หรือการชวนทะเลาะด้วยข้อความที่ดูหมิ่น ล้วนแต่เป็นการบ่มเพาะความรุนแรงให้เกิดขึ้นในสังคม และนั่นทำให้เกิด “เงามืด” ในระดับจิตใต้สำนึกรวมหมู่ของสังคมที่รอวันระเบิด

ผมชื่นชมสังคมเยอรมันที่กล้าเอาเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมาสอนเด็กโดยไม่ปิดบัง ผมรังเกียจสังคมไทยในแง่ที่เรามักจะสอนประวัติศาสตร์ชาติไทยโดยเอาแต่อวยบรรพบุรุษของเราในด้านดีอย่างสุดโต่ง จนทำให้มนุษย์คนหนึ่งกลายเป็นเพียงวัตถุธาตุซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความดีและความดีอย่างเดียวเท่านั้น ในเมื่อไม่มีมนุษย์คนไหนสามารถที่จะมีความดีเพียงอย่างเดียว จึงเท่ากับเรากำลังสอนให้เด็กเราหลอกตัวเองโดยเอาตนเองไปผูกเอาไว้กับอุดมคติอันเลื่อนลอย มันเป็นความฝันสวยหรูที่เป็นเครื่องมือสำหรับการครอบงำทางความคิด เพียงเพื่อทำให้พวกเด็กๆ ต้องตื่นขึ้นมาเผชิญกับความจริงอันเลวร้าย เป็นกัมมันตภาพรังสีทางความคิดที่แผ่ทะลุม่านมายาอันเปราะบางที่พวกเราพยายามช่วยกันหลอกตัวเอง เหมือนกับนิทานเรื่องผ้าคลุมของพระราชา ของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน นั่นเอง

แทนที่เราจะสร้างสังคมปลอดเชื้อ ทำไมเราไม่สร้างสังคมเข้มแข็งที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันตัวเองต่อเชื้อโรคที่มีอยู่และจะมีมาอีกในอนาคต

Back to Top