คัมภีร์อีกครึ่งเล่ม



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 มีนาคม 2555

เพื่อนรักผมคนหนึ่งเรียนไดอะล็อคกับผมเมื่อหกเจ็ดปีที่แล้ว ก็เหมือนกับได้คัมภีร์กำลังภายในไปครึ่งเล่ม แต่จะว่าไป เมื่อหกเจ็ดปีที่แล้ว ผมก็ไม่ได้กั๊กคัมภีร์อีกครึ่งเล่มไว้หรอก เพียงแต่ว่ามันยังไม่ได้คลอดออกมา ผมเองก็เรียนจากการอ่านสุดยอดคัมภีร์ของโลกตะวันตก แล้วเอามา "ปฏิบัติ" จนเกิดปัญญาปฏิบัติ แล้วค่อยๆ ก่อรูปเป็นศิลปวิทยาการ หรือศิลปศาสตร์ จากนั้นจึงนำมาถ่ายทอดสู่ผู้คนที่สนใจ

สิ่งที่ขาดหายไปในคัมภีร์ครึ่งแรก
ที่จริงหากปฏิบัติคัมภีร์ครึ่งแรกอย่างจริงจัง ผู้ปฏิบัติก็อาจได้มรรคผลเช่นเดียวกับคนที่ได้คัมภีร์เต็มเล่มเหมือนกัน เพียงแต่อาจจะอ้อมไปหน่อย ยาวไกลไปหน่อย พอต้องเดินไกลๆ หลายคนก็อาจจะท้อและหยุดเดินไป อีกประการหนึ่ง ในระหว่างเส้นทางเดินนั้น จะมีอุปสรรคใหญ่หลวงมากมายหลากหลายขวางกั้นอยู่ อันยากที่จะฟันฝ่าไปได้

ส่วนคัมภีร์ครึ่งหลังนั้น เปรียบเหมือน "ทางลัด" ที่นำพาผู้คนข้ามอุปสรรคต่างๆ ได้ง่ายขึ้น และเส้นทางก็ตรงขึ้น เสียเวลาน้อยลง ความสำเร็จที่ได้มาระหว่างทางก็จะหล่อเลี้ยงขวัญกำลังใจ ทำให้โอกาสเดินทางได้ตลอดรอดฝั่งมีมากขึ้น

สิ่งที่มีอยู่ในคัมภีร์ครึ่งหลัง
สิ่งที่มีอยู่ในคัมภีร์ครึ่งหลังแต่ไม่มีอยู่ในคัมภีร์ครึ่งแรก ได้แก่
หนึ่ง ความเข้าใจในเรื่อง "คนอื่น" ใหม่ทั้งหมดว่า ชีวิตไม่มีพระเอกผู้ร้าย ไม่มีศัตรู ไม่มีปฏิปักษ์ บางครั้งบางคนอาจจะดูเหมือนเป็นปฏิปักษ์ แต่ที่จริงแล้ว เขาเพียงสวมบทบาทเฉพาะกาลเหมือนผีเข้า ผี หรือ spirit เข้ามาและออกไป อาร์โนลด์ มินเดล เรียกมันว่า time spirit เมื่อมัน "ดูเหมือน" เป็นปฏิปักษ์ แต่ที่จริงไม่ได้เป็น มันมาแล้วก็จากไป มาเพียงชั่วขณะหนึ่งๆ กาละหนึ่งๆ คนๆ นั้นไม่ได้เป็นผีตัวนั้น และผีตัวนั้นก็ไม่ได้เป็นตัวเป็นตนอย่างยั่งยืน แต่เขามาเพื่อปรับเปลี่ยนท่าที กระบวนความคิด ความรู้สึกให้เรา ชุมชน เครือข่าย หรือสังคม เพียงแต่เราต้องเปิดใจรับเท่านั้น

สอง คนในองค์กร หน่วยงาน เครือข่าย หรือสังคม มักจะไม่พูดกันตรงๆ กับคนที่เห็นท่าจะพูดกันยาก หรือบางทีก็พูดผ่านคนอื่น หรือไม่ก็นินทาลับหลังไปเสียเลย คือไม่สื่อสารกันตรงๆ ไม่พูดความจริงจากใจลึกๆ ให้แก่กัน เพราะกลัวความขัดแย้ง หรือคิดว่าพูดไปก็ไม่เป็นประโยชน์ อาจจะคิดว่า อีกคนไม่มีสติปัญญาพอ หรือไม่เป็นคนดีพอที่เราจะพูดด้วย เรื่องนี้เป็นกันมาก เรียกได้ว่าเป็นกันเกือบทุกผู้ทุกคน มากบ้างน้อยบ้าง ในทุกๆ องค์กร หน่วยงาน เครือข่าย และสังคม

สิ่งที่จะมีมาในคัมภีร์ครึ่งหลัง ก็คือ "การพูดความจริงจากส่วนลึก" ซึ่งผู้พูดจะต้องมีศรัทธาในความดีงาม ในสติปัญญาของคนที่จะฟัง หากไม่มีศรัทธา ไม่มีความเชื่อมั่น เราจะไม่อยากพูดความจริง เพราะเราไม่คิดว่าเขาหรือพวกเขาจะรับได้ หรือหากพูดออกมา อาจจะเกิดผลเลวร้ายตามมา
อีกประการหนึ่ง ที่จะทำให้เราไม่พูดออกมาจากส่วนลึก คือความกล้าของเราเอง เพราะส่วนใหญ่ เราจะดำรงชีวิตอยู่ด้วย "ความกลัว" เราไม่ค่อยได้บ่มเพาะความกล้ากันเท่าไร ยิ่งในองค์กรเต็มไปด้วยความกลัวเท่าไร คนยิ่งไม่พูดกันเท่านั้น

สาม ลำดับขั้นพัฒนาการขององค์กร เครือข่าย หรือสังคมนั้นๆ ยังไม่ได้พัฒนาขึ้นมา หรือวัฒนธรรมองค์กร หรือสังคมนั้นๆ ยังอยู่ในลำดับขั้นต่ำๆ อันนี้เป็น s ตัวหนึ่งใน s สามตัวของ เคน วิลเบอร์ คือตัว s ที่เป็น stages# หรือแปลตรงๆ ว่าลำดับขั้นต่างๆ ของพัฒนาการทางสังคม ยกตัวอย่างเช่น สังคมศักดินา (สีน้ำเงิน) สังคมสมัยใหม่ (สีส้ม) เหล่านี้เป็นสังคมในระดับวิทยาศาสตร์เก่า ตรงทื่อ ทำลายล้างได้มากด้วย ก่อนมาเป็นสังคมนิเวศ (สีเขียว) และมาเป็นสังคมจิตวิญญาณ (สีฟ้า)

สี่ คัมภีร์ครึ่งแรกจะเน้นการปฏิบัติสมาธิแบบสมถะ เน้นเอาความสงบ แต่มันเป็น s ตัวแรกของวิลเบอร์ คือ state หรือ สภาวะจิต ซึ่งเหมือนกับก้อนเมฆที่ลอยไปลอยมา มันไม่มั่งคง ไม่อาจดำรงอยู่อย่างยั่งยืนได้ หากไม่ทำงานกับ s ตัวสุดท้ายคือ shadow คือเงามืดที่ทาบทับชีวิตของเราเอาไว้ หรือปมต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในจิตของเราลึกๆ เราจะมีสติ มีสมาธิอยู่ได้ไม่นาน ไม่มั่นคง เกิดๆ ดับๆ

เราต้องทำงานกับจิตส่วนลึกของเรา จะเรียกว่าจิตใต้สำนึกในสำนักของฟรอยด์ หรือจะเรียกว่าจิตไร้สำนึกในสำนักของ คาร์ล จุง ก็แล้วแต่ เพราะในจิตส่วนลึกนี้ มีปมต่างๆ นอนก้นอยู่ มีบาดแผลของชีวิตต่างๆ หลบซ่อนอยู่ หากยังไม่คลี่คลาย มันจะผุดขึ้นมาเล่นงานเราได้เรื่อยๆ ไป ตรงนี้เราต้องปฏิบัติธรรมระดับวิปัสสนา ซึ่งผมนำเอาจิตวิทยาเชิงลึกของสาย คาร์ล จุง เข้ามาให้ผู้คนได้เรียนรู้ที่จะเยียวยาตัวเอง จากสองครอบครัวที่เป็นศิษย์สาย คาร์ล จุง คือครอบครัวสโตน (ดร.ฮัล และซิดรา สโตน) และครอบครัวมินเดล ดังที่ปรากฏในค่ายเรียนรู้ของ "อิสระในความสัมพันธ์" และใน "จิตวิทยากระบวนการ" เป็นต้น

ห้า เรื่องนี้คงไม่เรียกว่าเป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในคัมภีร์ครึ่งแรกเสียทีเดียว คือมีอยู่ แต่ได้มีการเสริมเติมแต่งให้สมบูรณ์ทรงพลังยิ่งขึ้นในครึ่งหลัง ได้แก่ "ความเนียน" ของตัวกระบวนการ คือความเป็น how to หรือวิธีการ หรือพิธีการ ได้ถูกปรับเปลี่ยนไปเป็น "วิถี" มากขึ้น

คำว่าวิถีในที่นี้คือ มันลงไปกลมกลืนกับความเป็นเนื้อเป็นตัวมากขึ้น ไม่ได้ดำรงอยู่เพียงในระดับความคิด หากลงลึกไปถึงความรู้สึก จิตใจ แรงบันดาลใจ และเจตจำนง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือมันได้ลงไปในความเป็นจริงระดับเซลล์ หรือระดับสนามควอมตัมของชีวิต

มีผู้เข้าร่วมคนหนึ่งเคยสะท้อนว่า เธอเคยเข้าค่ายเรียนรู้ของหลายสำนักในสายจิตตปัญญา เธอว่าส่วนใหญ่กระบวนการจะไม่เนียนเท่าไร เหมือนๆ จะแยกกันอยู่ระหว่างกระบวนการกับเนื้อหา เธออาจจะได้ถ้อยคำถ้อยความบางอย่างในเนื้อหาที่สะกิดใจ แต่ตัวกระบวนการยังแข็งๆ อยู่ พอได้มาเข้าค่ายของผม เธอรู้สึกว่า เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว รู้สึกผ่อนคลายมาก แต่การเรียนรู้ก็เป็นไปอย่างเข้มข้นด้วย บางทีไม่สามารถระบุเป็นถ้อยคำได้ แต่รู้ว่าลึกๆ การเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นแล้ว

เมื่อได้ฟังเธอ ผมรู้สึกกับคำว่า "ผ่อนคลาย" หลายสำนักให้ความสำคัญกับคำๆ นี้ แต่แล้วหลายที่ก็อดใจไว้ไม่ได้ ที่อยากจะให้ได้เรียนรู้เยอะๆ ในเชิงปริมาณ หรือพยายามขับดันให้คนได้บรรลุถึงการเรียนรู้บางอย่างที่คาดหวัง ความอยากมากๆ เหล่านี้อาจจะมีผลต่อ "ความผ่อนคลาย" ที่ว่า

แต่ "ผ่อนคลาย" ในที่นี้ก็ไม่ใช่ผ่อนคลายไปเลยจนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหมือนเป็นเพียงปาร์ตี้ที่ไม่ต้องการสาระอะไรครั้งหนึ่ง แต่เป็น open but charged ของ พาร์คเกอร์ เจ พาล์มเมอร์ มากกว่า คือให้เป็นวง "เปิด" แต่ก็ "เข้มข้น" แล้วการ "เปิด" อย่าง "เข้มข้น" นี้จะเป็นวิถีของผู้นำกระบวนการได้อย่างไร!!!

หก จุดมุ่งหมายของการพัฒนาคนในสายจิตวิทยาของ คาร์ล จุง จะอยู่ที่ wholeness หรือ ความครบครัน หรือความครอบคลุมในทุกๆ ด้าน ในทุกๆ เสี้ยวส่วน เพื่อก่อประกอบขึ้นเป็นองค์รวมที่ครบครัน

ถ้าพูดถึงประชาธิปไตยก็จะต้องฟังเสียงทุกๆ เสียง ไม่ใช่ประชาธิปไตยของเสียงส่วนใหญ่ แต่จะต้องฟังเสียงทุกๆ เสียง และให้เสียงทุกเสียงเข้ามามีส่วนร่วมในการก่อประกอบความเป็นไปในอนาคตร่วมกัน แม้กระทั่งเสียงของผู้คนที่ไม่ได้เข้ามาร่วมอยู่ในเวทีนั้นๆ

และที่จริงเสียงทุกเสียงของผู้คนภายนอก ก็ดำรงอยู่ในตัวเราด้วยอย่างครบครันในจิตไร้สำนึก ทั้งนี้เพราะปัจเจกและสมุหะ (individual and collective) ก็โยงใยเป็นหนึ่งเดียวกันในจิตไร้สำนึกนั้นเอง

ในการพัฒนาไปสู่ความครบครันนี้ โดยไม่รู้ตัว เรา และสังคม (ไม่ว่าสังคมระดับใดก็ตาม ในครอบครัว หน่วยงาน หรือชาติรัฐ) จะผลักบางเสี้ยวส่วนออกไป หากโอบกอดเข้ามาได้ แม้จะรู้สึกขัดขืนอยู่บ้าง การโอบกอดเข้ามานั้น จะทำให้เราค่อยๆ เติบโตสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้ได้อย่างน่าอัศจรรย์!!!

Back to Top