ทุกอย่างของวันพรุ่งนี้จะหวนสู่องค์รวม

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 เมษายน 2549

นักวิชาการด้านการศึกษาหลายท่านทีเดียว ที่คิดทำนองเดียวกับ ฟรานซิส เบคอน คือคิดว่ามนุษย์แยกจากธรรมชาติอย่างสิ้นเชิง และเป้าหมายของมนุษย์คือการเอาชนะธรรมชาติ ขอเพียงได้เรียนรู้ - ด้วยศักยภาพที่แทบไร้ข้อจำกัด - มนุษย์สามารถควบคุมและนำ “ธรรมชาติ” มาใช้ได้ทั้งหมดตามแต่ใจปรารถนา

ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนน่าจะเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียวและผิวเผิน ผู้เขียนคิดว่าการแยกตัวเองออกจากธรรมชาติอันเป็นปฐมหลักการของการแยกส่วน โดยอาศัยอายตนะภายนอกทั้งห้า คือ ตา หู จมูก ฯลฯ เป็นเครื่องมือกำหนด “ความจริง” พฤติกรรมและสามัญสำนึกที่เราคุ้นเคยนั้น จริงๆ แล้วเป็นกับดักที่ทำให้สัตว์โลกทั้งหลายต้องว่ายเวียนอยู่ในวัฏสงสาร

เนื้อหาสาระของอวตัมสกสูตรของมหายานพุทธศาสนา มีศูนย์กลางอยู่ที่ “แหของพระอินทร์” (Indra’s jewel net) ที่ทุกจุดเชื่อมต่อของแหประกอบด้วยแก้วมณีที่เจียรนัยเป็นเหลี่ยมซึ่งสะท้อนแก้วมณีทั้งหมดเอาไว้อยู่ในเม็ดหนึ่งเม็ดใด นั่นคือ ทั้งหมดคือหนึ่ง และหนึ่งคือทั้งหมด อันเป็นหลักการนำของความเป็นองค์รวม (Holism) ที่บันทึกไว้ในพุทธศาสนา เท่าๆ กับที่ - ความรู้ที่อธิบายความจริงของธรรมชาติในช่วงหลังๆ - เป็นความจริงทางแควนตัม (ฟิสิกส์) อันเป็นหลักการนำในจักรวาลวิทยาใหม่ด้วย (Cosmological Anthropic Principle)

ทุกวันนี้ ทั่วทั้งโลกอาจมีนักวิทยาศาสตร์สายธรรมชาติโดยตรงรวมกันอยู่ประมาณสี่หรือห้าหมื่นคน นักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นคือผู้ค้นพบสิ่งใหม่และตอบคำถามว่าด้วยวิวัฒนาการใหม่ๆ ให้กับชาวโลกมากกว่าหกพันล้านคนได้รับรู้ ความก้าวหน้าใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ ของมนุษย์ชาติและสังคมมาจากผลงานร่วม ๒๐ ล้านวัน/คนของนักวิทยาศาสตร์เหล่านั้น น่าเสียดายที่คนเหล่านี้ - ส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมด - เป็นนักวิทยาศาสตร์ซึ่งอยู่กับเหตุที่ก่อผลที่ทำนายได้ หรือเป็นนักเทคโนโลยีที่มองทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งชีวิตเยี่ยงเครื่องจักรเครื่องยนต์ อย่างไรก็ตาม มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนแค่หยิบมือจำนวนหนึ่ง คงราวๆ ๕ เปอร์เซ็นต์เห็นจะได้ ที่มองเห็นว่ากระบวนทัศน์ที่มีแต่เทคโนโลยีสนองความอยากของมนุษย์ หรือคำตอบของวิทยาศาสตร์กายภาพแยกส่วนอย่างที่ว่า ไม่พอที่จะให้ความหมายต่อชีวิต หรือแม้แต่จะอธิบายธรรมชาติหรือความจริงได้เลย พวกเขาจึงต้องแสวงหาองค์ความรู้ใหม่หรือวิทยาศาสตร์ใหม่มาตอบ ที่น่าคิดคือ นักวิทยาศาสตร์จำนวนเพียงน้อยนิดดังกล่าวนั้นกลับมีอิทธิพลอย่างยิ่ง สามารถทำให้นักวิทยาศาสตร์แทบทั้งหมดพากันนั่งนิ่งเงียบและตั้งใจฟัง เพราะว่าพวกท่านล้วนเป็นผู้ที่ทุกคนให้ความเคารพนับถือ และอยู่ห่างไกลจากผลประโยชน์ส่วนตัวในทุกๆ ทาง (Arne Wyller : Creating Consciousness, 1999) นักวิทยาศาสตร์ส่วนน้อยเหล่านี้ เชื่อว่าจักรวาลนี้มีความหมายและเป้าหมาย “ว่าด้วยชีวิต” มาตั้งแต่ต้น และวิทยาศาสตร์กายภาพที่มองทุกสิ่งบนความบังเอิญกับบนเหตุผลของวัตถุที่แยกส่วน น่าจะถึงจุดจบสิ้นได้แล้ว

เราลองหันมาดูเรื่องของชีวิต ที่วิทยาศาสตร์เก่าเห็นว่าไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับจักรวาลแห่งวัตถุและความบังเอิญเลย เราจะพบว่า - หากทำใจให้กว้างและคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์จริงๆ - ชีวิตและโดยเฉพาะมนุษย์คือ “จุดหมายปลายทาง” ของจักรวาล เป็นเรื่องที่เราจะมองผ่านไปเฉยๆ ไม่ได้ แท้ที่จริง ชีวิต - มนุษย์และจิตวิญญาณ - เป็นเป้าหมายของจักรวาลมาตั้งแต่ต้น ซึ่งการรู้และคิดเช่นนั้น ถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติทางความคิดที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง “อย่างถอนรากถอนโคน” ต่อทัศนคติการดำรงอยู่ของเรา นั่นคือโลกทัศน์ของสังคมเราจะต้องเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมดและโดยสิ้นเชิง

เรารู้ว่า จักรวาลมีฝุ่นละอองอวกาศอยู่ระหว่างทุกๆ กาแล็คซี่ รวมทั้งทางช้างเผือกของเราด้วย และในฝุ่นอวกาศเหล่านี้มีโมเลกุลแห่งชีวิตเต็มไปหมด นักฟิสิกส์ทฤษฏีรู้ต่อไปด้วยว่า โมเลกุลแห่งชีวิต “จริงๆ ไม่ใช่เพียง” สารเคมีอินทรีย์ เช่น อะมิโน แอซิด ฯลฯ เท่านั้น ที่เดินทางโดยอาศัย “ดาวหาง” วิ่งมาชนหรือมาปลูกฝังพืชพันธุ์แห่งชีวิตให้กับโลกของเรา (และโลกอื่นใดในจักรวาล หรือ Panspermia Theory of Origin of Life) มาตลอด ไม่ว่านั่น - จะทำให้เราคิดไปไกลถึง “ อาภัสราพรหม” ในอัคคัญสูตรของพุทธศาสนาเรา - หรือไม่?
จอร์จ วอลด์ นักชีววิทยารางวัลโนเบลถึงได้บอกว่า “ที่โลกเราต้องใช้เวลานานร่วม ๔.๘ ล้านปี “เรา” ถึงจะ “รู้” ว่าโลกมีชีวิต” สนับสนุนว่าโลก (และจักรวาล) มีเป้าหมายของการเป็นที่มาของชีวิตและมนุษย์ตั้งแต่ต้น (George Wald : Cosmology of Life and Mind; 1994)

เซอร์ เฟร็ด ฮอยล์ (Sir Fred Hoyle) นักฟิสิกส์ผู้ก่อตั้งภาควิชาดาราศาสตร์ทฤษฏีให้กับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์บอกว่า โมเลกุลแห่งชีวิตที่อยู่ในฝุ่นอวกาศระหว่างกาแล็คซี่ทั้งหลายนั้น - ในทางวิทยาศาสตร์ - ด้วยอายุของจักรวาลของเรา (ข้อมูลใหม่เรื่องเวลาที่แน่นอน จักรวาล “ของเรา” มีอายุ ๑๓.๗ พันล้านปี) ไม่มีทางเลยที่สารเคมีแห่งชีวิต - โฮโดรเจน คาร์บอน และอะตอมอื่นๆ - ที่กล่าวมาข้างต้นจะสามารถมารวมตัวกันเป็นสารแห่งชีวิตได้บนโอกาสแห่งความบังเอิญ ผลจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์โดยนักฟิสิกส์หลากหลายบอกว่านั่น - เป็นไปไม่ได้ เพราะโอกาสที่อะตอมจะมารวมกันเป็นสารแห่งชีวิตได้แม้เพียงหนึ่งโมเลกุลยังต้องใช้เวลาถึง ๑๐๒๐๐ ปี ในขณะที่จักรวาลของเรามีอายุเพียงประมาณ ๑๐๙ ปี เท่านั้น แปลว่าโอกาสของการเกิดสารเคมีแห่งชีวิตในฝุ่นอวกาศมีความเป็นไปได้เทียบเท่ากับศูนย์

ในการให้สัมภาษณ์ออกอากาศทางสถานีบีบีซีก่อนกลางปี ๑๙๘๑ โดย จอห์น แมดด็อกซ์ (John Maddox) เซอร์ เฟร็ด ฮอยล์ ถูกถามว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านเชื่อในเรื่องของ “มือที่ซ่อนตัว” (invisible hand) คือผู้ที่ทำเช่นนั้นหรือ?” เซอร์ เฟร็ด ฮอยล์ ตอบว่า “แน่นอน ผมเชื่อเช่นนั้น และตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผมจะใช้ชีวิตที่เหลือทั้งหมด ทำการวิจัยและค้นหาสิ่งที่ดำรงอยู่อย่างแน่นอนซึ่ง “ธรรมชาติ” (มหาปัญญาแห่งจักรวาล) ที่ละเอียดยิ่งนั้น” ความเชื่อของฮอยล์ ต่อมาได้นำมาซึ่งหนังสือที่อุดมไปด้วยสมการคณิตศาสตร์อันเขย่าวงการฟิสิกส์ทฤษฏีในช่วงก่อนกลางทศวรรษที่เก้าสิบ (Sir Fred Hoyle : The Intelligent Universe, 1983)

เกวิน เดอ เบียร์ นักชีววิทยาชาวอังกฤษ (Gavin De Beer : Homology, The Unsolved Problem) ได้เล่าให้ฟังถึงงานวิจัยของเขาที่ทำกับแมลงหวี่ (Drosophila) ว่า แมลงหวี่นั้นส่วนหนึ่งจะตาบอด (มันจึงชอบบินมาตอมตาของมนุษย์และสัตว์ต่างๆ ??) โดยมียีนส์พันธุกรรม (recessive gene) ที่ชื่อว่า “ไร้ตา” กำหนดและควบคุมให้เป็นเช่นนั้น (ถ้าทั้งพ่อกับแม่ต่างมียีนส์แบบนั้นพร้อมๆ กัน) แต่เมื่อ เดอ เบียร์ นำแมลงหวี่ที่ตาบอดและมียีนส์ “ไร้ตา” มาผสมพันธุ์กันซ้ำซ้อนไปเรื่อยๆ ประมาณสามหรือสี่ชั่ววัย แมลงหวี่ในรุ่นต่อๆ มากลับจะมีตาเป็นปกติ ทั้งๆ ที่แมลงหวี่เหล่านี้ ทุกตัวต่างมีหน่วยพันธุกรรมของยีนส์ “ไร้ตา” ตั้งแต่ต้นไม่เปลี่ยนแปลงเลย แล้วเราจะเรียกหน่วยพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอว่าเป็นเจ้านายผู้กำหนดพันธุกรรม (master genes or master DNA) ได้อย่างไร?

อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฟิสิกส์นิเวศวิทยาของสถาบันเทคโนโลยีเครนฟิลด์ที่อังกฤษ (CIT) ที่เป็นนักแควนตัมฟิสิกส์และนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ชื่อ เกล็น เชฟเฟอร์ (Glen Shaeffer : The Holistic Philosophy of Nature, in David Lorimer’s The Spirit of Science,1999) เขียนว่า “ในความเห็นส่วนตัว ผมขอสรุปว่า ยีนส์หรือสารเเคมีทางชีววิทยาในร่างกายมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอันหลากหลาย จริงๆ แล้วเป็นทาสผู้รับใช้ (มากกว่าที่จะเรียกว่าเป็นนาย) ยีนส์เป็นทาสของเจ้านายที่อยู่เหนือขึ้นไป องค์กรที่เป็นองค์รวมที่อยู่เหนือ ๑๐๒๐๐ ที่ว่ามาข้างต้น ยีนส์จึงเป็นเพียงทาสซึ่งมีหน้าที่สรรค์สร้างความแปลกแยกย่อยย่อโดยกลไกแยกส่วน กลไกที่ทาสมีหน้าที่ทำตามเจ้านายที่มีความเป็นองค์รวม ดังนั้น จริงๆ แล้วยีนส์เป็นเพียงทาสที่มีหน้าที่แยกย่อยไปตามคำสั่งเท่านั้น หากเราทำคำสั่งให้มืดมัวไร้ความชัดเจน หรือลบคำสั่งนั้นๆ ออกไป มันจะมีช่องใหม่คำสั่งใหม่มาแทน ฉะนั้น ยีนส์จึงมีความยืดหยุ่น กลไกก็มีความยืดหยุ่น ในที่นี้ ชีวิตเช่นแมงหวี่จึงมีความยืดหยุ่นตามไปด้วย”

เกล็น เชฟเฟอร์ ยังกล่าวต่อไปด้วยว่า “หากมองในภาพรวม เรามองอะไรกลับหัวกลับหางไปทั้งหมด ในความเป็นจริง เราเรียนวิทยาศาสตร์มาอย่างผิดๆ - เพราะหลักการแยกส่วนที่เราคิดว่า สรรพสิ่งประกอบขึ้นจากเล็กไปหาใหญ่ - หากเรียนรู้ชิ้นส่วนเรียนรู้อะไหล่ เราย่อมเรียนรู้สรรพสิ่งนั้นทั้งหมด - แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เช่นนั้นหากเป็นตรงกันข้าม คือจากใหญ่มาหาเล็ก - จากจักรวาลมาสู่โลกสู่สรรพสิ่ง - ดังนั้น ในความเห็นของข้าพเจ้า สิ่งที่อยู่เหนือ ๑๐๒๐๐ ก็ดี ความยืดหยุ่นของยีนส์ก็ดี หรือความยืดหยุ่นของกลไกหรือช่องของการทำงานก็ดี ล้วนเป็นเรื่ององค์รวม - ในรูปแบบหนึ่งใดของ “แสง” ทั้งสิ้น” ซี่งไปตรงกับความเห็นของศรีอรพินโท และตรงกับกลไกของจักรวาลที่มีพลังงานจิต ซึ่ง คาร์ล กุสต๊าฟ จุง เรียกว่า “อาร์คีไทป์” (archetype) ที่ถูกบดบังโดยกระแสนีโอดาร์วินนิสม์ในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๕๐

ทั้งหมดที่เอามาเขียนเล่านี้ ไม่ได้พิสูจน์อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดว่า เหนือคนยังมีฟ้า และเหนือฟ้ายังมีฟ้าในอีกรูปแบบหนึ่ง หรือมีปัญญาของจักรวาลหรือองค์รวมที่ยิ่งใหญ่สุดยอด ซึ่งทำหน้าที่กำหนดและควบคุมการสรรค์สร้างชีวิตและมนุษย์มาแต่ต้น ตั้งแต่บิ๊กแบ็งของการอุบัติของจักรวาลของเรา หรือจะสรุปว่าจักรวาลมีเป้าหมายของอุบัติการณ์ของชีวิตและมนุษย์มาตั้งแต่ต้น (Cosmological Anthropic Principle) เพียงแต่ว่าคณิตศาสตร์บางส่วนบอกว่า จริงๆ เป็นเช่นนั้น เพียงแต่ว่านักวิทยาศาสตร์จำนวนหยิบมือน้อยๆ (แต่น้ำหนักมากๆ ) ต่างคิดเช่นนั้น

แต่หากเป็นไปเช่นนั้นจริงๆ โลกแห่งความแปลกแยกย่อยย่อ สังคมที่แยกส่วน แยกก๊กแยกพวกออกเป็นหมู่เป็นเหล่า เป็นชาติและศาสนา (เฉพาะรูปแบบภายนอก) ที่เอื้อแต่ความแปลกต่างแข่งขันเป็นศัตรูกัน - อย่างที่เรากำลังประสบอยู่ในวันนี้ - น่าจะต้องถึงจุดจบกันเสียที การเปลี่ยนแปลงของสังคมและของเราแต่ละคน จะได้ก้าวล่วงวุฒิภาวะของเด็กอมมือกันเสียที

Back to Top