กล้าที่จะก้าวข้าม...

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 เมษายน 2549

วิกฤติการณ์ความขัดแย้งในบ้านเมือง อันเนื่องมาจากความข้องใจเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของรัฐบาล โดยเฉพาะด้านคุณธรรมจริยธรรมและการหาประโยชน์ของนายกรัฐมนตรีและบุคคลใกล้ชิดซึ่งมีผลกระทบต่อผลประโยชน์และความมั่นคงของประเทศ นำไปสู่การชุมนุมของเครือข่ายพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย การยุบสภาของรัฐบาล การประท้วงไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งของฝ่ายค้าน การจ้องจับผิดระหว่างกัน การพูดจากล่าวโทษซึ่งกันและกัน ดูเหมือนจะเพิ่มความร้าวฉาน และการแบ่งพรรคแบ่งพวกมากขึ้น จนอาจบานปลายกลายเป็นการใช้ความรุนแรงระหว่างประชาชนด้วยกัน นำไปสู่การสูญเสียโดยรวมของประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

ในฐานะที่เป็นอาจารย์อาวุโส เป็นครูของครูอยู่ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่ง ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องด้วยความเป็นห่วง ทุกครั้งที่มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเสนอทางออกเพื่อนำไปสู่การคลี่คลายสถานการณ์ด้วยเจตนาที่ดี จะรู้สึกยินดีและชื่นชมเสมอ จึงขอสนับสนุนให้กลุ่มคนจากทุกภาคส่วนเสนอทางออกเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศเพิ่มมากขึ้น สำหรับผู้เขียนมีความเห็นว่า เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในสังคมไทย จำเป็นที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักในบทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของตน กระทำการโดยคำนึงถึงความสุจริต ถูกต้องเป็นธรรม มีความอดทนอดกลั้น เสียสละ มองการณ์ไกล เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติในอนาคต

ด้วยจิตสำนึกและจิตวิญญาณของความเป็นครู อาจารย์ ที่หวังให้ทุกฝ่ายในสังคมประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ยุวชน และเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ปวงชนโดยส่วนรวม ผู้เขียนไม่ขอเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายถอยกันคนละก้าว แต่ขอร้องให้ทุกฝ่ายก้าวไปข้างหน้าอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ด้วยการเดินหน้าเข้าหากันอย่างมีสติและใช้ปัญญาในการก้าวข้ามตัวตน ก้าวข้ามพรรค ก้าวข้ามฝ่าย และก้าวข้ามวิกฤติการณ์ เพื่อแสวงหาทางเลือกที่พึงประสงค์ร่วมกัน ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นส่วนรวมอย่างแท้จริงโดยสันติวิธี

อยากเห็นแต่ละคน แต่ละกลุ่ม มีความกล้าหาญทางจริยธรรม กล้าที่จะก้าวข้ามความเป็นตัวกู ของกู สู่ความเป็นส่วนรวม สู่การสร้างประโยชน์สุขแก่ปวงชน เกิดผลดีมีสันติสุขในชาติ

ผู้เขียนได้มีโอกาสทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งให้ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) โครงการวิจัยนี้ชื่อว่า “การวิจัยและพัฒนากระบวนการสร้างความดี มีคุณธรรม” ในงานวิจัยนี้มีการศึกษารวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับความหมาย เกณฑ์ และกระบวนการส่งเสริมคน ครอบครัว และชุมชนดี มีคุณธรรม และที่สำคัญ มีการรวบรวมพระบรมราโชวาทส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และความดีที่ทรงพระราชทานให้แก่คณะบุคคล ในวาระต่างๆ กัน จึงจะขออัญเชิญนำมาเสนอในบทความนี้ เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติแก่ผู้จงรักภักดีทั้งมวล

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๑๘

“… ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึงความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญ หรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น ความเจริญที่แท้นี้มีลักษณะเป็นการสร้างสรรค์ เพราะอำนวยประโยชน์ถึงผู้อื่นและส่วนรวมด้วย ตรงกันข้ามกับความเจริญ อย่างเท็จเทียม ที่เกิดขึ้นมาด้วยความประพฤติไม่เป็นธรรมของบุคคล ซึ่งมีลักษณะเป็นการทำลายล้าง เพราะให้โทษเบียดเบียนทำลายผู้อื่นและส่วนรวม การเบียดเบียนทำลายนั้น ที่สุดก็จะกลับมาทำลายตน ด้วยเหตุที่เมื่อส่วนรวมถูกทำลายเสียแล้ว ตนเองก็จะยืนตัวอยู่ไม่ได้ จะต้องล่มจมลงไปเหมือนกัน …”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๑

“...บัณฑิตทั้งหลายคงจะมีความหวังตั้งใจอยู่เต็มเปี่ยมที่จะออกไปทำการงานด้วยความรู้ ความสามารถ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และด้วยความพากเพียรเข้มแข็ง เพื่อให้บังเกิดความเจริญก้าวหน้าแก่ชาติบ้านเมือง แต่บางคนก็อาจกำลังคิดอยู่ด้วยว่า ถ้าเราทำดีแล้วคนอื่นเขาไม่ทำด้วยจะมิเสียแรงเปล่าหรือ ความรู้ ความตั้งใจ ความอุตสาหะพากเพียรของเราทั้งหมดจะมีประโยชน์อันใด ข้าพเจ้าขอให้ทุกคนทำความเข้าใจเสียใหม่ให้ชัดแจ้ง ตั้งแต่ต้นนี้ว่า การทำความดีนั้น สำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวเอง ผู้อื่นไม่สำคัญ และไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องเป็นห่วงหรือต้องรอคอยเขาด้วย เมื่อได้ลงมือลงแรงกระทำแล้ว ถึงแม้จะมีใครร่วมมือด้วยหรือไม่ก็ตาม ผลดีที่ทำจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน และยิ่งทำมากเข้า นานเข้า ยั่งยืนเข้า ผลดีก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น และแผ่ขยายกว้างออกไปทุกที คนที่ไม่เคยทำดีเพราะเขาไม่เคยเห็นผล ก็จะได้เห็น และหันเข้ามาตามอย่าง หลักประกันสำคัญในการทำดีจึงอยู่ที่ว่า แต่ละคนต้องทำใจให้มั่นคง ไม่หวั่นไหวกับสิ่งแวดล้อมที่เห็นอยู่ทราบอยู่มากเกินไป จนเกิดความท้อถอย เมื่อใจมั่นคงแล้ว ก็ขอให้ตั้งอกตั้งใจสร้างนิมิตและค่านิยมใหม่ขึ้นสำหรับตัว ตามที่พิจารณาเห็นดี ด้วยเหตุผลอันถูกต้องเที่ยงตรง แล้วมุ่งหน้าปฏิบัติดำเนินไปให้เต็มกำลังจนบรรลุผลสำเร็จ ในที่สุด ความดีความเจริญที่ปรารถนาก็จะเกิดทวีขึ้น และจะเอาชนะความเสื่อมทราม ต่าง ๆ ได้ไม่นานเกินรอ ...”

พระราชดำรัสในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๒๕

“…คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติ มีอยู่สี่ประการ ประการแรก คือ การรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตัวเองที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจความดีนั้น ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออมที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าด้วยเหตุประการใด ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง คุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้ว จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไป ดังประสงค์…”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ว่าที่ร้อยตำรวจตรี ที่สำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ประจำปีการศึกษา ๒๕๒๘ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพรเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๒๙

“… การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจและความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ ความชั่วซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว ตำรวจแต่ละคนจึงต้องตั้งใจและเพียรพยายามให้สุดกำลัง ที่จะสร้างเสริมและสั่งสมรักษาความดีให้สมบูรณ์อยู่เสมอ...”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๘

“…ประโยชน์และความเจริญมั่นคงของส่วนรวมย่อมขึ้นอยู่กับประโยชน์และความเจริญมั่นคงของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ เพราะส่วนรวมนั้นประกอบขึ้นด้วยบุคคลที่รวมกันอยู่เป็นสำคัญ เป็นชาติบ้านเมือง ดังนี้ ผู้ใดก็ตามที่มุ่งหวังให้ส่วนรวมเจริญ มั่นคง จะต้องพยายามสร้างความมั่นคงให้แก่การงาน แก่อาชีพ และแก่ฐานะของตนเองให้ได้เป็นข้อแรกและข้อใหญ่ แต่ในการสร้างประโยชน์สร้างความเจริญให้แก่ตนเองนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องถือหลักปฏิบัติสองข้ออย่างเคร่งครัด ข้อแรก จะต้องมุ่งหมายกระทำแต่เฉพาะกิจการงานที่สุจริต ที่เป็นประโยชน์สร้างสรรค์ และที่ถูกต้องเป็นธรรม พร้อมกับจะต้องระมัดระวังควบคุมตนเองอยู่เสมอ มิให้ประพฤติปฏิบัติการสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ดำเนินทวนกระแสความถูกต้องเป็นธรรม และที่เบียดเบียนบ่อนทำลายผู้อื่นอย่างเด็ดขาด ครั้นเมื่อทำดีมีผลแล้ว ข้อต่อไป จะต้องพยายามขวนขวายประสานประโยชน์ของแต่ละคนเข้าด้วยกัน ด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญและจริงใจต่อกัน โดยไม่เพ่งเล็งถึงผลประโยชน์เฉพาะตัวจนเกินพอดี หรือจนทำให้เกิดความโลภเห็นแก่ตัวขึ้นมาปิดบังความสำคัญและประโยชน์ของคนอื่นเสียหมด การปฏิบัติตามหลักการดังนี้ แม้จะยากลำบากอยู่บ้างสำหรับบางคน แต่เมื่อฝึกหัดตั้งตัวตั้งใจให้ประพฤติปฏิบัติมั่นคงเหนียวแน่นอยู่ได้จนเป็นปรกติ ก็จะประคับประคองส่งเสริมให้สามารถสร้างความเจริญมั่นคงให้แก่ตัวแก่ส่วนรวมได้สำเร็จอย่างงดงามและแน่นอนที่สุด …”

หลังจากอ่านพระบรมราโชวาทข้างบนอย่างมีสติและใช้ปัญญาแล้ว ผู้เขียนขอเชิญชวนทุกท่านปฏิบัติตนเจริญตามคำสอนของพ่อหลวงของปวงชาวไทย มีความกล้าหาญทางจริยธรรม มีความกล้าที่จะก้าวข้ามประโยชน์สุขเฉพาะตัวสู่ประโยชน์สุขของชาติบ้านเมือง

มาร่วมกันก้าวไปข้างหน้า มาร่วมกันก้าวข้ามจากการมีชีวิตอยู่เฉพาะเพื่อตัวเองสู่การมีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่นและสรรพสิ่ง

จิตที่คิดให้ โปร่งใส...เบา
จิตที่คิดเอา มัวเมา...หนัก
ให้เมตตา กรุณา ให้ความรัก
จึงเปลี่ยนหนัก เป็นเบา ไม่เขลาเอย

Back to Top