มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 มกราคม 2549
ในเทศกาลขึ้นปีใหม่ เรามีวิธีการรับ-ส่งความสุขกันอย่างไรบ้าง ตัวแทนของความสุขอาจจะไม่เหมือนกัน เช่น บัตรอวยพร กระเช้าของขวัญ ขนมหวานอาหารอร่อย โทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นล่าสุด สร้อยทองหนักสัก ๒ บาท หรือเครื่องเพชรชุดใหญ่ แล้วแต่ฐานะและวิธีคิดของแต่ละคน บางกลุ่มก็จัดงานรื่นเริง เล่นดนตรี ร้องเพลงคาราโอเกะ ดื่มสุรากันจนเมา เข้าสถานบันเทิง ดูโชว์กินดื่มท่ามกลางเสียงอึกทึกสะเทือนแก้วหู เพื่อจะสนุกสุดเหวี่ยง แล้วโซเซกลับบ้านเมื่อรุ่งสาง บางทีก็กลับไม่ถึงบ้าน
เสียงดังกล่าวเป็นเสียงของความสุข ความร่าเริง สนุกสนาน เป็นเสียงที่ดึงตัวเราออกไปร้อง ออกไปเต้น คละเคล้ากับสิ่งชวนเสพนานาชนิด
เมื่อตัวเรากับสิ่งเสพผสมผสานกันได้ที่ เราจะเคลิบเคลิ้ม เมามัว และลืมตัวไปชั่วขณะ มันมีความสุข แต่หลายครั้งความสุขนั้นได้กลายเป็นเรื่องร้อน เกิดผลเป็นความทุกข์ ถ้าไม่สามารถควบคุมสติ และพฤติกรรมของตนได้
ความร่าเริงบันเทิงใจเป็นความสุขชนิดหนึ่งซึ่งมีประโยชน์ต่อการพัฒนาอารมณ์และสังคม เป็นสภาวะที่เกิดจากสิ่งเร้าและการแสดงออก ซึ่งถ้าอยู่ในระดับที่พอดี เหมาะสมกับวัย เวลา สถานที่ และผู้นั้นมีสติสัมปชัญญะ ควบคุมจิตใจอยู่ ย่อมเป็นสีสันหนึ่งของชีวิต แต่เมื่อใดที่บุคคลเสพสุขเกินขนาด แสดงสุดเหวี่ยง หรือลืมตัว เมื่อนั้นความสุขก็จะกลายเป็นความสนุกชั่วครู่ชั่วยาม ไม่มีความประทับใจดีๆ อันใดที่จะพึงจดจำ
วันหยุดเทศกาลปีใหม่ เป็นช่วงเวลาที่ผู้เขียนวางแผนว่าจะไม่เดินทางไปต่างจังหวัด ขออยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งกลายเป็นเมืองที่เงียบสงบและมีความปลอดโปร่ง สบาย ไม่มีโทรศัพท์และโทรสารมามอบหมายงาน ไม่ต้องตื่นแต่เช้าไปผจญกับรถติดและควันพิษ มีเวลาอยู่บ้าน จัดเอกสารและหนังสือที่กองสุมอยู่เกลื่อนห้อง ได้เดินดูต้นไม้ดอกไม้ ฟังเสียงนกกาเหว่า ที่สำคัญคือได้นั่งเงียบๆ สบายๆ ทบทวนชีวิตของตนเองตลอดปีที่ผ่านมา
เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๘ ผู้เขียนโชคดีอย่างยิ่งที่ได้เดินทางไปดูงานของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ไต้หวัน จัดโดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม การดูงานครั้งนี้ ได้พบคนดีจำนวนมาก ได้สร้างกำลังใจและรับประสบการณ์ที่ดีหลายเรื่อง ในบทความนี้จะขอเล่าถึงความสุขประการหนึ่งที่ได้รับ คือความสุขลึกซึ้งจากความเงียบ
เช้าวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ คณะดูงานเตรียมตัวพร้อมตั้งแต่ ๐๔.๐๐ น. เพื่อออกเดินทางไปดูงานที่สมณารามจิ้งซือ เมืองฮวาเหลียน เราไปถึงสมณารามเมื่อใกล้รุ่ง หมอกลงจางๆ ผู้คนหลั่งไหลไปฟังท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนแสดงธรรม และทำกิจกรรมอาสาสมัคร ซึ่งเป็นงานบุญยิ่งใหญ่ อากาศเย็นสบาย หอมกลิ่นสนที่ยืนต้นรายรอบ ไม่น่าเชื่อว่าสถานที่ซึ่งมีคนจำนวนมากมาทำบุญร่วมกัน จะเงียบถึงเพียงนั้น ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใสและมีกิริยาสำรวมตน บทความนี้จะไม่พรรณนาถึงสารธรรมที่เราได้รับรู้ แต่จะเล่าถึงความสุขสงบจากความเงียบท่ามกลางธรรมชาติอันงดงาม
ผู้เขียนได้มีเวลานั่งอยู่คนเดียวที่สนามหน้าห้องแสดงธรรม ทบทวนภาพที่ได้เห็นได้ฟังได้สัมผัสตลอด ๒ ชั่วโมงที่ผ่านมา ท่ามกลางชาวพุทธฉือจี้ที่มาฟังเทศน์และอาสาสมัครทำงานนับร้อย คุยกันค่อยๆ ช่วยกันทำงานเย็บถุงเท้า เสื้อผ้า ตัดผมแก่คนยากจน ทำครัว หล่อเทียนเล่มเล็กๆ รักษาพยาบาล ตรวจสุขภาพชาวบ้าน ฯลฯ ทั่วบริเวณสมณารามมีความเคลื่อนไหว กระฉับกระเฉง เงียบแต่ไม่เหงา ผู้เขียนพบแต่คนยิ้มแย้ม พร้อมที่จะต้อนรับและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ในความเงียบนั้น ผู้เขียนได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่ซื้อมาจากร้านเล็กๆ ในสมณาราม เวลาชั่วขณะนั้นอ่านได้เพียงบทกวี ซึ่งเป็นบทนำของหนังสือ “The Cycle of Beauty” รวมบทสารธรรมของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน
“We must show our love for the earth with our actions,
and not just with words.
The strength of each person is limited,
but when we join our efforts together,
the earth is sure to feel our love.”
“จงแสดงความรักต่อโลกหล้า
ปฏิบัติบูชาอย่างมุ่งมั่น
ดีกว่ากล่าวถ้อยคำรักรำพัน
คนหนึ่งนั้นเพียงพลังยังน้อยนัก
แต่เมื่อเราร่วมแรงและร่วมใจ
โลกก็ย่อมสดใสได้ตระหนัก
สัมผัสความงามละมุนอุ่นไอรัก
คือความงามที่ประจักษ์เป็นวงจร”
แสดงความคิดเห็น